ต่ง ปี้อู่

นักการเมืองชาวจีน (ค.ศ. 1886–1975)

ต่ง ปี้อู่ (จีน: 董必武; พินอิน: Dǒng Bìwǔ; เวด-ไจลส์: Tung Pi-wu; 5 มีนาคม ค.ศ. 1886 – 2 เมษายน ค.ศ. 1975) เป็นนักปฏิวัติคอมมิวนิสต์และนักการเมืองชาวจีนผู้ดำรงตำแหน่งรักษาการประธานสาธารณรัฐประชาชนจีนระหว่าง ค.ศ. 1972 ถึง 1975

ต่ง ปี้อู่
董必武
ประธานสาธารณรัฐประชาชนจีน
รักษาการ
ดำรงตำแหน่ง
24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1972 – 17 มกราคม ค.ศ. 1975
ก่อนหน้าหลิว เช่าฉี
ถัดไปจู เต๋อ (ในฐานะประธานคณะกรรมการสภาประชาชนแห่งชาติ)
หลี่ เซียนเนี่ยน (ในฐานะประธานาธิบดี, 1983)
รองประธานสาธารณรัฐประชาชนจีน คนที่ 2
ดำรงตำแหน่ง
27 เมษายน ค.ศ. 1959 – 17 มกราคม ค.ศ. 1975
ดำรงตำแหน่งร่วมกับ ซ่ง ชิ่งหลิง
ประธานาธิบดีหลิว เช่าฉี
ว่าง (หลัง 1968)
ก่อนหน้าจู เต๋อ
ถัดไปโอลางฮู (1983)
เลขาธิการคณะกรรมการกำกับดูแลส่วนกลาง
ดำรงตำแหน่ง
31 มีนาคม ค.ศ. 1955 – 12 สิงหาคม ค.ศ. 1968
ก่อนหน้าจู เต๋อ
ถัดไปเฉิน ยฺหวิน
ประธานศาลประชาชนสูงสุด
ดำรงตำแหน่ง
27 กันยายน ค.ศ. 1954 – 27 เมษายน ค.ศ. 1959
ก่อนหน้าเฉ่น จฺวินรู่
ถัดไปเซี่ย จฺเว๋ไจ้
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด5 มีนาคม ค.ศ. 1886(1886-03-05)
หฺวางกัง หูเป่ย์ จักรวรรดิชิง
เสียชีวิต2 เมษายน ค.ศ. 1975(1975-04-02) (89 ปี)
ปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
พรรคการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน (1921–1975)
Dong Biwu
ภาษาจีน

ชีวิตช่วงต้น

แก้

ตง ปี้อู่ เกิดในหฺวางกัง หูเป่ย์ ในครอบครัวเจ้าของที่ดิน และได้รับการศึกษาแบบดั้งเดิม[1] ใน ค.ศ. 1911 เขาเข้าร่วมถงเหมิงฮุ่ย และมีส่วนร่วมในการก่อการกำเริบอู่ชาง ต่อมาใน ค.ศ. 1913 เขาเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อศึกษาด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยนิฮง ขณะอยู่ที่นั่น เขาได้เข้าร่วมพรรคปฏิวัติจีนที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นของซุน ยัตเซ็น ซึ่งต่อมากลายมาเป็นก๊กมินตั๋ง ใน ค.ศ. 1915 เขากลับมายังประเทศจีนเพื่อจัดตั้งกองกำลังต่อต้านระบอบยฺเหวียน ชื่อไข่ในหูเป่ย์บ้านเกิดของเขา ซึ่งส่งผลให้เขาต้องติดคุกเป็นเวลา 6 เดือน หลังได้รับการปล่อยตัว เขากลับไปยังประเทศญี่ปุ่นเพื่อศึกษาต่อทางด้านกฎหมาย ระหว่าง ค.ศ. 1919 ถึง 1920 เขาอาศัยอยู่ในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เขาสัมผัสกับลัทธิมากซ์ผ่านกลุ่มปัญญาชนคอมมิวนิสต์ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่หลี่ ฮั่นจฺวิ้น เมื่อกลับมายังหูเป่ย์ เขาได้จัดตั้งกลไกคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ขึ้น และใน ค.ศ. 1921 เขาได้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 1 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยเป็นตัวแทนจากอู่ฮั่นร่วมกับเฉิน ถานชิว[ต้องการอ้างอิง] เป็นเรื่องบังเอิญที่ต่งเป็นบุคคลคนเดียวนอกเหนือจากเหมา เจ๋อตงที่เข้าร่วมทั้งการประชุมก่อตั้งพรรคและพิธีประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในอีก 28 ปีต่อมา[2]

สมัยปฏิวัติ

แก้

ตลอดครึ่งแรกของคริสต์ทศวรรษ 1920 ต่งยังคงเป็นสมาชิกของทั้งก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตาม เมื่อความตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่ายเพิ่มมากขึ้น เขาจึงตัดสินใจเข้าข้างคอมมิวนิสต์ในช่วงฤดูร้อน ค.ศ. 1927 ในท้ายที่สุด หลังการก่อการกำเริบหนานชาง เขาถูกบังคับให้หลบซ่อนตัว โดยเริ่มจากไปหลบภัยที่เกียวโตเป็นเวลา 8 เดือน และจากนั้นจึงเดินทางไปสหภาพโซเวียต ที่นั่นเขาเข้าเรียนที่โรงเรียนนานาชาติเลนินและมหาวิทยาลัยซุน ยัตเซ็น มอสโก ระหว่าง ค.ศ. 1928 ถึง 1931 เมื่อกลับประเทศจีนใน ค.ศ. 1932 เขาก็เริ่มเคลื่อนไหวในโซเวียตเจียงซี โดยทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายการเมืองของสถาบันกองทัพแดงและประธานโรงเรียนพรรค ในช่วงเวลานี้ ต่งเข้าข้างเหมามากกว่าหลี่ ลี่ซานในการต่อสู้เพื่อชิงตำแหน่งผู้นำพรรคของทั้งสองคน ต่อมาเขาได้เข้าร่วมการเดินทัพทางไกล และเมื่อมาถึงเหยียนอาน เขาก็กลับมารับหน้าที่เป็นผู้นำโรงเรียนอีกครั้ง ในช่วงเวลานี้ ต่งเป็นที่รู้จักในฐานะหนึ่งใน "ผู้อาวุโสทั้งห้าแห่งเหยียนอาน" (จีน: 延安五老), ร่วมกับหลิน ปั๋วฉฺวี, สฺวี เท่อลี่, อู๋ ยฺวี่จาง และเซี่ย จฺเว๋ไจ

ในช่วงสงครามกับญี่ปุ่น ต่งแบ่งเวลาของเขาระหว่างอู่ฮั่นกับฉงชิ่งเพื่อประสานงานกับรัฐบาลชาตินิยม เนื่องจากเขาเคยเกี่ยวข้องกับก๊กมินตั๋งมาก่อน ใน ค.ศ. 1945 เขาเดินทางไปซานฟรานซิสโกเพื่อเข้าร่วมการประชุมก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ ในฐานะส่วนหนึ่งของคณะผู้แทนที่นำโดยที.วี. ซ่ง[3] เขาเป็นตัวแทนเพียงคนเดียวของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งคณะกรรมาธิการกลางพรรคได้ระบุวัตถุประสงค์ของการเดินทางไว้ดังนี้: "เพื่อชนะใจมิตรต่างชาติ ปรับปรุงสถานะพรรคในระดับนานาชาติ และเพื่อพยายามอยู่และทำงานในสหรัฐ"[4] หลังการประชุม ต่งใช้เวลาหลายเดือนเดินทางไปทั่วสหรัฐเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการทูตเหล่านี้ เมื่อใกล้จะสิ้นสุดสงครามกลางเมืองใน ค.ศ. 1948 หลังได้รับชัยชนะเด็ดขาดในภาคเหนือ ต่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานรัฐบาลประชาชนจีนเหนือ

สาธารณรัฐประชาชนจีน

แก้
 
ต่งยืนอยู่ด้านหลังเหมาในพิธีก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนใน ค.ศ. 1949

ภายหลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคณะกรรมาธิการการเงินและเศรษฐกิจของสภารัฐบาล ใน ค.ศ. 1954 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลประชาชนสูงสุด ด้วยประสบการณ์ก่อนหน้านี้ในด้านการทูตระหว่างประเทศจากการเยือนสหรัฐใน ค.ศ. 1945 ต่งได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนเยือนยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. 1958 ทำให้เขาต้องห่างจากปักกิ่งเป็นเวลาสองเดือน ในระหว่างที่เขาไม่อยู่ งานของศาลประชาชนสูงสุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้รับการตรวจสอบโดยกลุ่มที่นำโดยเผิง เจิน เมื่อกลับมา ต่งต้องพบกับข้อบกพร่องต่าง ๆ ที่ถูกเปิดเผยโดยการตรวจสอบ ซึ่งเขาต้องรับผิดชอบในการประชุมพิเศษของศาล

ในช่วงต้น ค.ศ. 1959 ต่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองประธานาธิบดีจีนร่วมกับซ่ง ชิ่งหลิง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เขาดำรงอยู่กระทั่งเสียชีวิต ในช่วงปลายปีเดียวกันนั้น ต่งได้ปกป้องเผิง เต๋อหวยจากการวิพากษ์วิจารณ์ในการประชุมหลูชาน แต่ก็ยังคงได้รับความโปรดปรานจากเหมา ไม่เหมือนกับคนอื่น ๆ ที่ยืนหยัดปกป้องนายพลผู้ถูกตำหนิ ในทำนองเดียวกัน ต่งไม่ได้รับผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมืองของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมในเวลาต่อมา ถึงแม้เขาจะมาจากภูมิหลังที่มีสิทธิพิเศษค่อนข้างมากก็ตาม กลับกัน เขากลับมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักต่อสาธารณชนมากขึ้นในช่วงหลายปีที่วุ่นวายเหล่านี้ โดยรับหน้าที่ทางการทูตและพิธีการต่าง ๆ มากมายที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นของหลิว เช่าฉีผู้ถูกกวาดล้าง นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าข้อเท็จจริงที่น่าสนใจนี้ไม่ได้เกิดจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ชาญฉลาด แต่เกิดจากความสัมพันธ์พิเศษระหว่างต่งกับเหมา และทั้งสองก็เข้ากันได้ดีมาตลอด นับตั้งแต่การพบกันครั้งแรกในการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ใน ค.ศ. 1921[5]

ในช่วงภาวะสุญญากาศทางอำนาจที่เกิดขึ้นหลัlการล่มสลายของหลิน เปียว ต่งได้กลายมาเป็นรักษาการประธานาธิบดีของจีน โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1972 ถึงมกราคม ค.ศ. 1975 ณ จุดนั้น สำนักงานประธานาธิบดีถูกยุบเลิก และจู เต๋อ ประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติในขณะนั้นกลายเป็นประมุขแห่งรัฐอย่างเป็นทางการ ต่งได้รับเลือกให้เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติ

ต่งเสียชีวิตที่ปักกิ่งในวันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 1975 ขณะมีอายุได้ 89 ปี ในคำไว้อาลัยอย่างเป็นทางการของเขา เขาได้รับการบรรยายว่าเป็น "หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน มาร์กซิสต์ผู้ยิ่งใหญ่ นักปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพที่โดดเด่น บิดาผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน" และ "ผู้ก่อตั้งระบบกฎหมายสังคมนิยมของจีน"

ใน ค.ศ. 1991 มีการสร้างรูปปั้นของต่งขึ้นที่จัตุรัสกลางแห่งหนึ่งของอู่ฮั่น ซึ่งก็คือจัตุรัสหงชาน พิพิธภัณฑ์ประจำมณฑลหูเป่ย์เป็นที่เก็บรวบรวมข้าวของส่วนตัวของต่ง

 
รูปปั้นตง ปี้อู่ในอู่ฮั่น

อ้างอิง

แก้
  1. Bartke, Wolfgang. Who was Who in the People's Republic of China. Vol 1. Munich: K.G. Saur, 1997. p. 85
  2. Saich 2020, p. 1.
  3. Chai, Winberg (1970). "China and the United Nations: Problems of Representation and Alternatives". Asian Survey. 10 (5): 397–398. doi:10.2307/2642389. ISSN 0004-4687. JSTOR 2642389.
  4. Qiang, Zhai. The Dragon, the Lion, and the Eagle: Chinese-British-American Relations, 1949-1958. Kent, OH: Ken State UP, 1994. p. 232, n. 44
  5. Song, Yuwu. Ed. Biographical Dictionary of the People's Republic of China. Jefferson, NC: McFarland, 2013. p. 69

บรรณานุกรม

แก้
  • ไซช์, โทนี (2020). Finding Allies and Making Revolution: The Early Years of the Chinese Communist Party. บอสตัน: บริลล์.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
ก่อนหน้า ต่ง ปี้อู่ ถัดไป
วาระในพรรคการเมือง
สมัยก่อนหน้า
หลี่ เหวย์ฮั่น
ประธานโรงเรียนกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ค.ศ. 1935–1937
สมัยต่อมา
หลี่ เหวย์ฮั่น
ตำแหน่งทางนิติศาสตร์
สมัยก่อนหน้า
เฉิ่น จฺวินรู่
ประธานศาลประชาชนสูงสุด
ค.ศ. 1954–1959
สมัยต่อมา
เซี่ย จฺเว๋ไจ
ตำแหน่งทางการเมือง
สมัยก่อนหน้า
จู เต๋อ
รองประธานสาธารณรัฐประชาชนจีน
ค.ศ. 1959–1975
Served alongside: ซ่ง ชิ่งหลิง
สมัยต่อมา
โอลางฮู
ยุบเลิกตำแหน่งถึง ค.ศ. 1983
สมัยก่อนหน้า
หลิว เช่าฉี
ประธานสาธารณรัฐประชาชนจีน
รักษาการ

ค.ศ. 1972–1975
สมัยต่อมา
หลี่ เซียนเนี่ยน
ยุบเลิกตำแหน่งถึง ค.ศ. 1983