ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์

ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (อังกฤษ: LiVe Exchange, LiVEx) เป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งที่สามของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565[1] จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการระดมทุนในตลาดทุนของกิจการที่อยู่ในชั้นกำลังพัฒนาเช่น วิสาหกิจขนาดกลาง (SME) และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด โดย LiVEx มีแนวทางการกำกับดูแลการจดทะเบียนและการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดที่มีลักษณะผ่อนปรนทั้งในเรื่องคุณสมบัติการเข้าจดทะเบียนและการดำรงสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียน โดยเน้นหลักการเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ลงทุน และอัตราค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการเป็นบริษัทจดทะเบียนจะต่ำกว่ากรณีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) การซื้อขายจะเป็นแบบเจรจาต่อรองกันเอง โดยมี Live Platform เป็นตัวกลางระหว่างแหล่งทุนและบริษัท ซึ่งจะไม่มีการจับคู่ซื้อขายแบบอัตโนมัติเหมือน SET และ mai[2]

เกณฑ์เกี่ยวกับการซื้อขายบน LiVEx แก้

กำหนดให้ทำการซื้อขายผ่านบริษัทสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ เฉพาะผู้ลงทุนที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด ในรูปแบบบัญชีวางเงินล่วงหน้า (prepaid) โดยต้องมีหุ้น หรือเงินเพียงพอสำหรับการซื้อขาย

โดยเปิดให้ซื้อขายแบบประมูล (auction) ด้วยวิธีจับคู่อัตโนมัติ (Automatic Order Matching, AOM) วันละ 1 รอบ ระหว่าง 9.30–11.00 น. พร้อมชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์แบบทีละรายการ (Gross Settlement) ภายในวันเดียวกันกับวันที่ซื้อขาย (วันที่ T) ไม่มีการกำหนดราคาเสนอซื้อ/เสนอขายสูงสุดและต่ำสุดของหลักทรัพย์ (Ceiling/Floor) และไม่มีการหยุดการซื้อขายเป็นการชั่วคราว (Circuit Breaker)[2]

เกณฑ์การระดมทุนผ่านตลาดสำหรับ SMEs และ Startups แก้

ประเภทผู้ระดมทุน แก้

วิสาหกิจขนาดกลาง (SME) ตามนิยามของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ที่มีธุรกิจเงินร่วมลงทุน (VC) หรือบริษัทที่ทำหน้าที่บริหารหุ้นนอกตลาด (Private Equity Firm) ร่วมลงทุน[3] โดยจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด

มูลค่าการระดมทุน แก้

ตลาดแรก การระดมทุนสาธารณะในรูปแบบการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) มูลค่า 10–500 ล้านบาท และระดมทุนได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80[3]

ประเภทผู้ลงทุน แก้

  • ผู้ประกอบอาชีพลงทุน ได้แก่ นักลงทุนสถาบัน, ธุรกิจเงินร่วมลงทุน, บริษัทที่ทำหน้าที่บริหารหุ้นนอกตลาด, ผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ (angel investor)
  • ผู้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการลงทุน
  • ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนด ซึ่งเป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล มีรายได้ต่อปีไม่ต่ำกว่า 4 ล้านบาท หรือมีสินทรัพย์รวมไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และมีประสบการณ์ในการลงทุนไม่น้อยกว่า 1 ปี[2]
  • ผู้ที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทเช่น กรรมการ, ผู้บริหาร, พนักงาน, ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

หน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลของผู้ระดมทุน แก้

ก่อนจดทะเบียนเข้าตลาด แก้

เปิดเผยงบการเงินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (Publicly Accountable Entities, PAEs) 1 ปี และยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และหนังสือชี้ชวน (แบบ filing)

หลังจดทะเบียน แก้

รายงานงบการเงินทุก 6 เดือน และแสดงข้อมูลสำคัญตามเหตุการณ์[3]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. "ดีเดย์เกณฑ์ "ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์" มีผล 31 มี.ค. 65 สร้างโอกาส SMEs และ Startups เติบโต พร้อมมอบหมาย "ประพันธ์ เจริญประวัติ" เป็นผู้จัดการ". ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. 15 มีนาคม 2022.
  2. 2.0 2.1 2.2 "รู้จัก "LiVEx" กระดานเทรดหุ้น "SMEs-Startups" ต่างจาก SET และ mai อย่างไร ?". กรุงเทพธุรกิจ. 9 กันยายน 2022.
  3. 3.0 3.1 3.2 "Live Exchange ตลาดหลักทรัพย์ใหม่สำหรับ SME และ Startup". สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย. 8 ธันวาคม 2022.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  • LiVE Platform. เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์.