ซากซุยโยมารุ (อังกฤษ: Zuiyo-maru carcass; ญี่ปุ่น: ニューネッシーโรมาจิNyū Nesshii; แปลว่า เนสซีใหม่) เป็นซากสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ตัวหนึ่ง ที่ถูกลากขึ้นมาจากท้องทะเลด้วยเรือประมงสัญชาติญี่ปุ่นชื่อ "ซุยโยมารุ" (ญี่ปุ่น: 瑞洋丸โรมาจิZuiyō Maru) นอกชายฝั่งของนิวซีแลนด์เมื่อปี ค.ศ. 1977 ซากดังกล่าวได้สร้างความฮือฮาและเป็นปริศนาในเชิงวิทยาศาสตร์

วันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1977 ที่นอกชายฝั่งเมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ประมาณ 30 ไมล์ เรือซุยโยมารุ ของญี่ปุ่นที่กำลังทำการประมงปลาแมกเคอเรลอยู่ ขณะกำลังดึงอวนในความลึก 300 เมตรขึ้นมา อวนนั้นได้ติดเอาซากของสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ที่มีรูปร่างประหลาดขึ้ันมาด้วย ซากนั้นมีสีขาวซีด ส่งกลิ่นเน่าเหม็นคละคลุ้งไปทั่ว กัปตันทานากะ อากิระ ได้วินิจฉัยด้วยตนเองว่าน่าจะเป็นซากวาฬที่กำลังเน่าเปื่อย แต่ถึงอย่างไรซากดังกล่าวก็ได้ถูกยกขึ้นมาแขวนและถ่ายรูปไว้ โดย มิจิฮิโกะ ยาโนะ นักสมุทรศาสตร์และผู้จัดการเรือ ก่อนจะทิ้งลงทะเลไป เพราะลูกเรือทนกลิ่นของมันไม่ไหว แต่ก็ยังคงมีเนื้อเยื่อติดอยู่จึงเก็บไว้สำหรับใช้ตรวจสอบต่อไป ลักษณะของซากดังกล่าว ดูคล้ายกับเพลสิโอซอร์ สัตว์เลื้อยคลานทางทะเลขนาดใหญ่ที่สูญพันธุ์ไปแล้วในยุคครีเตเชียสตอนปลาย เมื่อกว่า 65 ล้านปีก่อน คือ มีคอยาว ส่วนหัวเล็ก มีครีบสี่ข้างเหมือนใบพายขนาดใหญ่ โดยซากนี้ทีส่วนคอยาว 1.5 เมตร มีครีบสีแดงสี่ครีบ และส่วนหางยาวประมาณ 2 เมตร ไม่มีครีบหลัง ไม่มีอวัยวะภายใน แต่ไขมันและเนื้อไม่สมบูรณ์[1][2] [2][3]

เมื่อเรือกลับถึงฝั่งในอีกสองเดือนต่อมา กัปตันอากิระได้สเก็ตช์ภาพขึ้นมาพร้อมกับภาพถ่าย ทำให้เรื่องนี้ได้ถูกเผยแพร่ออกไปโดยสำนักข่าวท้องถิ่น ได้สร้างกระแสเป็นที่ฮือฮาในวงกว้างโดยเฉพาะในแวดวงวิทยาศาสตร์ ศาสตราจารย์โยชิโนริ อิมาอิซูมิ แห่งสถาบันวิจัยสัตว์ทะเลกรุงโตเกียว กล่าวว่า นี่ไม่ใช่ปลา วาฬ หรือกระทั่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมใด ๆ พร้อมกับได้เรียกชื่อมันเป็นภาษาญี่ปุ่นที่แปลได้ว่า "เนสซีตัวใหม่" ขึ้นมา พร้อมกับได้สันนิษฐานว่า มันน่าจะเป็นเพลสิโอซอร์ที่ยังคงดำรงเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน ด้วยการเอาตัวรอดได้ในกระแสน้ำเย็น หาอาหารและเอาชีวิตรอดในมหาสมุทร[4] สอดคล้องกับศาสตราจารย์โทกิโอะ ชิกามะ แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติโยโกฮามะ ที่เห็นว่ามันคล้ายเพลสิโอซอร์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว และศาสตราจารย์ฟูจิโร ยาซูดะ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ทางทะเลโตเกียว ที่เห็นว่า ภาพถ่ายแสดงให้เห็นถึงซากของสัตว์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์[2]

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ชาวตะวันตก เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าสนใจ โดยบางคนนำไปผูกโยงกับการค้นพบปลาซีลาแคนท์ ปลาทะเลกระดูกแข็งที่เชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้วในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ก่อนจะค้นพบอีกครั้งที่ชายฝั่งตอนใต้ของทวีปแอฟริกาใน ค.ศ. 1938 แต่บางคนก็เห็นว่าการค้นพบปลาซีลาแคนท์ไม่ใช่เรื่องแปลก หากจะนำไปเทียบกับเพลสิโอซอร์ ซึ่งเป็นสัตว์ขนาดใหญ่กว่ามากและหายใจด้วยปอด ซึ่งต้องโผล่ส่วนหัวพ้นน้ำขึ้นมาเพื่อที่จะหายใจ[2]

แต่การตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ด้วยการใช้เศษเนื้อเยื่อที่หลงเหลืออยู่นั้นด้วยการวิเคราะห์ทางชีวเคมี พบว่ากรดอะมิโนของซากมีลักษณะคล้ายกับกรดอะมิโนในปลากระดูกอ่อนจำพวกปลาฉลาม หรือปลากระเบน รวมถึงลักษณะของเนื้อเยื่อของครีบก็คล้ายกับครีบของปลาฉลามด้วย จึงเชื่อว่าน่าจะเป็นซากของปลาฉลามบาสกิน ปลาฉลามขนาดใหญ่ที่กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร ซึ่งเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากปลาฉลามวาฬมากกว่า อีกทั้งลักษณะทางกายภาคเมื่อเปรียบเทียบความยาว รวมถึงครีบและหางก็เหมือนกันด้วย โดยเชื่อว่าปลาฉลามตัวนี้ได้ตายมานานนับเดือนแล้ว และซากของมันบางส่วนได้หลุดหายไปจากการเน่าเปื่อยหรือถูกสัตว์อื่นกัดกินไป จึงทำให้มีลักษณะผิดแผกออกไปจากปกติ[2][5][6]

อย่างไรก็ตาม ซากซุยโยมารุ ก็ยังคงถูกอ้างอิงเสมอ ๆ ในแวดวงของวิทยาสัตว์ลึกลับตามภาพยนตร์สารคดีเรื่องต่าง ๆ เช่น Lost Tapes ตอน Monster of Monterey ในปี ค.ศ. 2009 ทางช่องดิสคัฟเวอรี[7], The Truth Behind ตอน The Loch Ness Monster ในปี ค.ศ. 2011 ทางช่องเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก[8] หรือกระทั่งถูกอ้างอิงถึงในเครดิตตอนต้นของภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง Godzilla ในปี ค.ศ. 2014 เป็นต้น[9]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. Bord, Janet and Colin (1990), in Varelser från det okända (Det oförklarliga), Bokorama.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Sjögren, Bengt, Berömda vidunder, Settern, 1980, ISBN 91-7586-023-6 (Swedish)
  3. Welfare & Fairley, 1981
  4. Ellis, Richard (2006). Monsters of the Sea. Guilford, Connecticut: First Lyons Press. p. 68. ISBN 978-1-59228-967-7.
  5. John Koster (November 1977). "What Was the New Zealand Monster?". Oceans. San Diego: Trident Publishers, Inc.: 56–59. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (Reprint)เมื่อ 2009-01-25. สืบค้นเมื่อ 2017-04-08.
  6. Glen J. Kuban (May–June 1997). "Sea-monster or Shark? An Analysis of a Supposed Plesiosaur Carcass Netted in 1977" (Reprint). Reports of the National Center for Science Education. 17 (3): 16–28. ISSN 1064-2358.
  7. "Monster of Monterey". แอนิมอลแพลนเนต.
  8. "THE TRUTH BEHIND THE LOCH NESS MONSTER". เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก.
  9. "Godzilla Map of the Pacific - Opening Credits". วอร์เนอร์บราเธอร์ส. 2014-08-22.