ชาวศรีลังกาเชื้อสายมลายู
ชาวศรีลังกาเชื้อสายมลายู (สิงหล: ශ්රී ලාංකා මැලේ, อักษรโรมัน: Ja Minissu, แปลตรงตัว 'ชาวชวา'; ทมิฬ: இலங்கை மலாய், อักษรโรมัน: Ilaṅkai Malai) เป็นชาวศรีลังกาที่มีเชื้อสายมลายูจากอินโดนีเซียและหมู่เกาะมลายู (ส่วนมากมีเชื้อสายชวา) มีประชากรราว 40,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.2 ของประชากรทั้งหมด และเป็นชาติพันธุ์หลักหนึ่งในห้าของประเทศศรีลังกา
ශ්රී ලංකා මැලේ இலங்கை மலாய் | |
---|---|
ชายมลายูและบุตรในคริสต์ศตวรรษที่ 19 | |
ประชากรทั้งหมด | |
40,189 คน[1] (ร้อยละ 0.2 ของประชากร) (ค.ศ. 2012)[A] ไม่รวมชาวศรีลังกาเชื้อสายมลายูมีบรรพบุรุษย้อนหลังไปถึงคริสต์ศตวรรษที่ 13[B] | |
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ | |
จังหวัดตะวันตก | 24,718 คน |
จังหวัดใต้ | 8,343 คน |
จังหวัดกลาง | 2,889 คน |
จังหวัดตะวันตกเฉียงเหนือ | 1,675 คน |
ภาษา | |
ภาษามลายูศรีลังกา · ภาษาสิงหล บางส่วนใช้ภาษาทมิฬ และอังกฤษ | |
ศาสนา | |
อิสลาม · พุทธ | |
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง | |
ประวัติ
แก้ชาวมลายูเริ่มเข้าไปตั้งถิ่นฐานบนเกาะลังกาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 คือพระเจ้าจันทรภาณุแห่งอาณาจักรตามพรลิงค์ สามารถพิชิตเกาะลังกาตอนเหนือได้เมื่อ ค.ศ. 1247 โดยผู้ติดตามของพระองค์สมรสกับประชากรในท้องถิ่น[3] บุคคลเชื้อสายมลายูกลุ่มนี้ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธและสมรสข้ามกลุ่มกับชาวสิงหล[2] นักวิชาการศรีลังการะบุว่าชาวสิงหลจำนวนไม่น้อยมีเชื้อสายหรือบรรพบุรุษเป็นมลายู[2]
หลังจากนั้นหลายศตวรรษต่อมามีคลื่นผู้อพยพกลุ่มแรกเป็นชาวมลายูจากหมู่เกาะอินโดนีเซียเข้าอาศัยบนเกาะลังกาในช่วงที่ทั้งศรีลังกาและอินโดนีเซียตกเป็นอาณานิคมของดัตช์ และคลื่นผู้อพยพกลุ่มที่สอง มาจากคาบสมุทรมลายูอพยพเข้าไปในช่วงที่ศรีลังกาและมลายาเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิบริเตน[2]
ภาษา
แก้ชาวศรีลังกาเชื้อสายมลายูมีภาษาเฉพาะกลุ่ม คือภาษามลายูศรีลังกา มีรูปแบบเป็นภาษาลูกผสมระหว่างภาษาสิงหลและโศนัม (ภาษาทมิฬมุสลิมในศรีลังกา) โดยมีภาษามลายูเป็นพื้น (lexifier)[4] เชื่อว่าสำเนียงใกล้เคียงกับภาษามลายูถิ่นบาตาเวีย[5] พบได้ในชุมชนเชื้อสายมลายูในเมืองแคนดีในจังหวัดกลาง เมืองฮัมบันโตตาและคิรินเดในจังหวัดใต้ เกาะสเลฟในจังหวัดตะวันตก และพบผู้พูดกลุ่มใหญ่ทางตอนเหนือของกรุงโคลัมโบ[4] แต่ชาวมลายูในเมืองคินนิยาและมูตูร์เลิกพูดมลายูไปแล้ว โดยหันไปพูดภาษาทมิฬและมัวร์ทมิฬแทน[6] และยังพบผู้ใช้ภาษานี้ในชุมชนเชื้อสายสิงหลในเมืองฮัมบันโตตา (Hambantota)[7]
นอกจากภาษามลายูศรีลังกาแล้ว ชาวมลายูสามารถใช้ภาษาสิงหลและทมิฬได้ตามปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมต่าง ๆ จากการสำรวจสำมะโนประชากรเมื่อ ค.ศ. 2012 พบว่า ชาวศรีลังกาเชื้อสายมลายูพูดภาษาทมิฬ 28,975 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 79.2 และพูดภาษาอังกฤษ 24,202 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 66.2[8]
ศาสนา
แก้ชาวศรีลังกาเชื้อสายมลายูส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามเช่นเดียวกันกับชาวมลายูในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย มีการสร้างมัสยิดตามชุมชนที่ตนอาศัย[9] อย่างในกรณีโมฮัมมัด บาลันกายา (Mohammed Balankaya) เจ้านายผู้ลี้ภัยแห่งราชวงศ์โกวา (ปัจจุบันคือเกาะซูลาเวซี ประเทศอินโดนีเซีย) ร่วมก่อสร้างมัสยิดใหญ่แห่งศรีลังกา[10] ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวมุสลิมบนเกาะลังกา[11]
นอกจากนี้ยังมีชาวศรีลังกาเชื้อสายมลายูบางส่วนเปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธที่เกิดขึ้นจากการสมรสข้ามชาติพันธุ์[2]
ชื่อบุคคล
แก้ชื่อของชาวศรีลังกาเชื้อสายมลายูส่วนใหญ่เป็นภาษาสันสกฤต ใกล้เคียง (หรือเหมือนกับ) ชื่อบุคคลที่ชาวสิงหลใช้[12][13] นามสกุลที่ปรากฏอยู่ทั่วไป เช่น จายะห์ (Jayah, จาก "ชย"), วีราบังซา (Weerabangsa, จาก "วีรวํศ"), ซินฮาวังซา (Sinhawangsa, จาก "สิงฺหวํศ"), ซินฮาวันซา (Sinhawansa, จาก "สิงฺหวํศ"), จายาวังซา (Jayawangsa, จาก "ชยวํศ"), ซินฮาลักซานา (Singalaxana, จาก "สิงฺหลกฺษณ"), บังซาจายะห์ (Bangsa Jayah, จาก "วํศชย") และ วังซา (Wangsa, จาก "วํศ")[12] นามสกุลที่เป็นมลายูดั้งเดิม ได้แก่ ลี (Lye), จุนจี (Chunchie), ปรีนา (Preena), ฮันนัน (Hannan), ซัลเลย์ (Sallay), ดูเล (Doole), กิตจีลัน (Kitchilan), กูตีนุน (Kutinun), กันจิล (Kanchil), ไซนน (Sainon), บงโซ (Bongso), โบโฮรัน (Bohoran), กุปเปิน (Kuppen) และ ลัปเปิน (Lappen)[12] และนามสกุลที่เป็นภาษาอาหรับ ได้แก่ ซัลดิน (Saldin), อัซซัน (Assan), ระฮ์มัน (Rahman), ดราฮามัน (Drahaman), บักเกอร์ (Bucker), รัมลัน (Ramlan), ราจัป (Rajap), จูมัต (Jumat) และ มันนัน (Mannan)[12]
ส่วนคำนำหน้านามแบบมลายูดั้งเดิม ได้แก่ ตูวัน (Tuan) มาซ (Maas) และราเดน (Raden) สำหรับเพศชาย และ เญ (Gnei) โนนา (Nona) และโญญา (Gnonya) สำหรับผู้หญิง นำหน้าชื่อตัว[12][13]
เชิงอรรถ
แก้- หมายเหตุ
- ↑ ตัวเลขนี้คือจำนวนชาวศรีลังกาเชื้อสายมลายูเฉพาะที่มีบรรพบุรุษอพยพเข้ามาเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 13 ไม่รวมกลุ่มที่อพยพมาก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 13 ที่แต่งงานกับชนพื้นเมืองเมื่อหลายพันปีก่อน[2]
- ↑ เพื่อจำแนกความต่างระหว่างกลุ่มผู้อพยพยุคเก่าที่แต่งงานกับชนพื้นเมืองก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 13 หรือเมื่อหลายพันปีก่อน[2]
- อ้างอิง
- ↑ "A2 : Population by ethnic group according to districts, 2012". Census of Population & Housing, 2011. Department of Census & Statistics, Sri Lanka. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-04-28. สืบค้นเมื่อ 2021-04-30.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 Goonewardene, K.W. (July 1843). "Journal of the Royal Asiatic Society Vol. VII". Journal of the Royal Asiatic Society. 7: 257. สืบค้นเมื่อ 21 April 2020.
- ↑ "Malays in Sri Lanka". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-25. สืบค้นเมื่อ 2021-04-30.
- ↑ 4.0 4.1 "APiCS Online - Survey chapter: Sri Lankan Malay". apics-online.info (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2018-10-06.
- ↑ Mahroof, M. M. M. (1992). "Malay Language in Sri Lanka: Socio-mechanics of a Minority Language in Its Historical Setting". Islamic Studies. 31 (4): 463–478. ISSN 0578-8072. JSTOR 20840097.
- ↑ Saldin, B. D. K. (27 May 2011). "Converting Sri Lankan Malay into a written language". The Island. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-07-01. สืบค้นเมื่อ 2021-04-30.
- ↑ http://sealang.net/archives/nusa/pdf/nusa-v50-p43-57.pdf
- ↑ "Census of Population and Housing 2011". www.statistics.gov.lk. Department of Census and Statistics. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-16. สืบค้นเมื่อ 14 November 2018.
- ↑ Kalabooshana S. B. C. Halaldheen (25 January 2002). "Features: Sri Lanka Malays in focus". Daily News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2003-04-27.
- ↑ B. D. K. Saldin (1996). Orang Melayu Sri Lanka Dan Bahasanya. Sridevi Printers Publication. p. 17. ISBN 95-594-1902-1.
- ↑ DK Eyewitness Travel Guide Sri Lanka. Dorling Kindersley Ltd. 2016. p. 69. ISBN 978-02-412-8997-6.
- ↑ 12.0 12.1 12.2 12.3 12.4 Hussainmiya, Bachamiya Abdul (1987). Lost Cousins: The Malays of Sri Lanka. Institut Bahasa. p. 8.
- ↑ 13.0 13.1 "Names in Sri Lanka". asian-recipe.com. Asian-Recipe. สืบค้นเมื่อ 20 April 2020.