กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ

(เปลี่ยนทางจาก จิ้น กรรมาชน)

เภสัชกรกุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ หรือ จิ้น กรรมาชน หัวหน้าวง “กรรมาชน” ซึ่งเป็นวงดนตรีเพื่อชีวิต ที่ก่อเกิดจากนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ในช่วง เหตุการณ์ 14 ตุลา

จิ้น กรรมาชน
ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อเกิดกุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ
รู้จักในชื่อจิ้น
เกิด16 มกราคม พ.ศ. 2495
แนวเพลงเพื่อชีวิต
อาชีพนักร้อง, เภสัชกร
ช่วงปี2517 - ปัจจุบัน
ค่ายเพลงอิสระ
ครีเอเทีย

จิ้น เกิดที่กรุงเทพ เรียนชั้นมัธยมศีกษาที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เริ่มเล่นดนตรีครั้งแรกในวงดุริยางค์ของโรงเรียน ต่อมาได้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2516 และได้เข้าร่วมในวงดนตรี “ลูกทุ่งวิดยา-มหิดล” จนกระทั่งในช่วงปิดเทอมเดือนมีนาคมปี 2517 ได้มีโอกาสไปออกค่ายในโครงการเผยแพร่ประชาธิปไตย ที่ อำเภอท่าตะโก นครสวรรค์ จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม หลังจากกลับมาจึงรวมวงในรูปแบบใหม่ โดยมี องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลสนับสนุน และได้เล่นเปิดวงครั้งแรกในงาน 14 ตุลาคม 2517 ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยใช้ชื่อวงว่า “กรรมาชน” อันนำมาจากชื่อหนังสือที่แจกหน้าหอใหญ่ในงานนั่นเอง

วงกรรมาชนมีการบันทึกเทปครั้งแรก ประมาณปี พ.ศ. 2517 มีเพลง กรรมาชน, คนกับควาย, ข้าวคอยฝน, เปิบข้าว, เพื่อมวลชน, กูจะปฏิวัติ, ชาวนารำพึง, แสง, เจ้าพระยาฮาเฮ, สู้ไม่ถอย, มาร์ชประชาชนเดิน

วงกรรมาชนมีการบันทึกเทปครั้งที่ 2 ประมาณปี พ.ศ. 2518 มีเพลง อินโดจีน, รักชาติ, ใช้ของไทย, โปสเตอร์, เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ, รำวงเมย์เดย์, บ้านเกิดเมืองนอน, ศักดิ์ศรีแรงงาน

ในเวลาไล่เลี่ยกัน วงกรรมาชน มีการบันทึกเทปชุดที่ 3 ชุดนี้ส่วนใหญ่เป็นเพลงมาร์ช ซึ่งเป็นผลงานของ จิตร ภูมิศักดิ์

วงกรรมาชน ได้มีบทบาทต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองในขณะนั้นเป็นอย่างมาก จิ้นได้เข้าร่วมในการประท้วงหลายครั้ง และมีการแต่งเพลงเพื่อนำมาเล่นในวง เช่น เพลงแสง อันเกิดจากกรณีลอบสังหาร “แสง รุ่งนิรันดร์กุล” ผู้นำนักศึกษาคนหนึ่งในสมัยนั้น กรรมาชนได้มีบทบาทเรื่อยมาจนกระทั่งถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็ต้องกระจัดกระจายกันออกไป จิ้นจำเป็นต้องหลบหนีเข้าเขตป่าเขา และได้มีโอกาสศึกษาดนตรีชั้นสูงร่วมกับศิลปินปัญญาชนคนอื่นๆ ที่ประเทศจีน จนกระทั่งเหตุการณ์คลี่คลายลงได้เดินทางกลับประเทศไทย

ภายหลังที่จิ้นเข้าเมืองแล้วก็ได้รวมเพื่อนเก่าจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมกันทำผลงานเพลงขึ้นมาอีก ในราวปี 2532 โดยใช้ชื่อว่า “วงพันดาว” มีเทปออกมา 1 ชุด โดย จิ้นได้แต่งเพลงในชุดนี้ด้วยคือ เก็บข้าวโพด, มาตุภูมิ, ฮุยเลฮุย

ภายหลัง จิ้น กรรมาชน ออกผลงานเดี่ยวชุด เพื่อมาตุภูมิ ในปี 2532 กับค่ายครีเอเทีย อาร์ติสต์ โดยมี จิรพรรณ อังศวานนท์ เป็นโปรดิวเซอร์ และทีมงานกลุ่ม บัตเตอร์ฟลาย มีส่วนในการทำงานดนตรีของอัลบั้มนี้อีกด้วย

หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 จิ้นได้ร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารกับแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) จนกระทั่งหลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 พรรคพลังประชาชนได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นปก. ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จึงยุติบทบาทไประยะหนึ่ง จนกระทั่งเกิดการสลับขั้วทางการเมือง พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นปช. จึงกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง และเคลื่อนไหวต่อต้านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้งในช่วงการชุมนุมใหญ่ เมื่อเดือนมีนาคม-เมษายน พ.ศ. 2552 และเดือนมีนาคม-เมษายน พ.ศ. 2553 จิ้นได้แต่งเพลงให้ นปช. หลายเพลงด้วยกัน เช่น มาร์ชแดงทั้งแผ่นดิน, นักสู้ธุลีดิน, เดิมพัน, ปณิธานแห่งเสรีชน, เอาคืน, สีแดง, วันของเรา และอีกหลายๆ เพลง

ปัจจุบันจิ้นประกอบอาชีพเภสัชกร

ผลงานเพลง

แก้
  • เพื่อมาตุภูมิ (2532)

ผลงานร่วมกับศิลปินอื่น

แก้

อ้างอิง

แก้