จันเสน เป็นเมืองโบราณ ตั้งอยู่ที่ตำบลจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ผังเมืองมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม กว้าง 700 เมตร ยาว 800 เมตร เนื้อที่ประมาณ 300 ไร่เศษ มุมบนสร้างล้อมเห็นดินตามธรรมชาติ มีคูเมืองกว้าง 20 เมตร ไม่มีคันดินเพราะขุดคูเมืองล้อมรอบเนินดินตามธรรมชาติ ด้านในคูเมืองจึงมีลักษณะสูงตามธรรมชาติอยู่แล้ว

เมืองจันเสน เป็นเมืองที่มีคนอาศัยต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายจนถึงสมัยทวารวดี มีพัฒนาการและวิทยาการที่ซับซ้อน รู้จักการชลประทานระบายน้ำเข้าเมือง เลี้ยงสัตว์และเกษตรกรรม มีความสามารถในการทำเครื่องปั้นดินเผา รู้จักการถลุงโลหะ และมีการคมนาคมทำการค้าติดต่อกับชุมชนและเมืองอื่นในระยะเวลาเดียวกัน นับว่าเป็นชุมชนแรกเริ่มในสุวรรณภูมิที่มีการติดต่อกับอินเดียร่วมสมัยกับเมืองอู่ทองในลุ่มน้ำท่าจีน และเมืองฟูนันใกล้ปากแม่น้ำโขงดังเห็นได้จากโบราณวัตถุที่เป็นตราดินเผา เศษภาชนะประดับลักษณะเดียวกับที่พบในอินเดียและแคว้นฟูนัน[1] จันเสนกลับกลายเป็นชุมชนขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อมีการคมนาคมทางเรือไฟเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 มีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐาน มีการทำนาทำไร่ เกิดวัด บ้าน ตลาด โรงสีขึ้น[2]

ที่ตั้ง แก้

เมืองจันเสนตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มทางตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในสมัยโบราณเคยมีลำน้ำ เช่น คลองบ้านคลอง เข้ามาเลี้ยงตัวเมืองโดยเชื่อมกับแนวคูเมืองทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ทางด้านทิศตะวันออก ภายในเมืองมีสระหรือบึงขุดขนาดใหญ่ เรียกว่า บึงจันเสน มีความลึกมาก มีเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ คาดว่าเป็นสระประจำเมือง ส่วนทางด้านทิศตะวันออกของบึง มีคันดินโบราณกว้าง 20 เมตร มีความยาวเท่าที่พบประมาณ 4 กิโลเมตรเศษ มีลักษณะแนวตรงผ่านเข้าไปในทุ่ง เมื่อถึงบ้านหนองกระจอกแนวคันดินจะเลือนหายไป ไม่ชัดเจน ทางด้านเหนือของคันดิน มีคูน้ำเลียบเกือบตลอดแนว เรียก ลำคูหนุมาน คาดว่าใช้เป็นเขื่อนน้ำ สำหรับกั้นน้ำและรับน้ำจากพื้นที่ลุ่มทางตะวันออกเฉียงเหนือ[3]

หลักฐานทางโบราณคดี แก้

นายเบนเนต บรอนซัน ได้จัดทำลำดับเวลา ดังนี้[3]

ระยะที่ 1 (พ.ศ. 344 ถึง 543 ยุคโลหะตอนปลาย)

เริ่มมีการตั้งรกรากในจันเสน เป็นคนกลุ่มเล็ก ๆ มีการทำเกษตรกรรมใช้เครื่องมือเหล็ก สำริดและทำเครื่องปั้นดินเผา มีพิธีกรรมในการฝังศพ

ระยะที่ 2 (พ.ศ. 543 ถึง 743)

พบเครื่องปั้นดินเผาแบบเรียบมีสีแดง เหมือนกับเครื่องปั้นดินเผาของอินเดีย ยังพบหวีงาช้าง มีการตกแต่งลวดลายสลักเป็นรูปม้า 2 ตัว หงส์และมีสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาอยู่เป็นแถว ซึ่งเป็นแบบอมราวดีของอินเดีย ยุคสมัยนี้ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย เป็นการพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยว่า ศาสนาพุทธเข้ามาในประเทศไทยเกือบ 2,000 ปีแล้ว ในชุมชนยังเริ่มมีการเผาศพมากกว่าการฝัง

ระยะที่ 3 (พ.ศ. 793 ถึง 993 ร่วมสมัยกับวัฒนธรรมฟูนันตอนต้น)

พบโบราณวัตถุ เช่น กระดิ่งสำริด ต่างหูดีบุกเป็นห่วง ดินเผาสำหรับทำลวดลาย ภาชนะเนื้อแกร่ง และเคลือบสีน้ำตาลอมเขียว ซึ่งถือเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่เก่าแก่มากที่พบในประเทศไทย

ระยะที่ 4 (พ.ศ. 993 ถึง 1143 ร่วมสมัยกับวัฒนธรรมฟูนันตอนปลาย)

พบเครื่องปั้นดินเผามากกว่าระยะที่ 3 และมีเครื่องปั้นดินเผาชนิดต่าง ๆ มากขึ้น บางชนิดก็จะมีเหมือนกับบริเวณอื่น เช่น อู่ทอง แต่มีหลายแบบที่พบที่จันเสนเท่านั้น ชุมชนจันเสนมีการขยายตัวใหญ่ขึ้น มีการติดต่อกับชุมชนอื่น ๆ เช่นเดียวกับระยะที่ 3

ระยะที่ 5 (พ.ศ. 1143 ถึง 1343 สมัยทวารวดี)

เป็นช่วงเจริญที่สุด มีการขุดคูน้ำคันดินเพื่อกันศัตรู และขุดบึงขึ้นทางด้านนอกคูเมืองไปทางตะวันออกเพื่อจ่ายน้ำเข้าเมือง สร้างเขื่อนกั้นน้ำทำการชลประทานในระยะที่ 5 ได้พบโบราณวัตถุมากมาย เช่น สิงโตดินเผา รูปปั้นดินเผาขนาดเล็กเป็นรูปพระนางลักษมีหรือพระนางสิริมหามายา ชิ้นส่วนรูปปั้นขนาดเล็กรูปผู้ชายกับลิงมีลักษณะเหมือนที่พบที่อู่ทอง ยังพบเครื่องปั้นเผาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็น 2 ลักษณะพิเศษคือ เป็นไหตกแต่งด้วยลวดลายที่ประทับลงไป พบที่จันเสนและลพบุรีเท่านั้น อีกแบบคือ พบไหที่มีปากผาย และที่รอบ ๆ ปากมีแถบสีแดงและขาว นอกจากนั้นก็เป็นเครื่องปั้นชนิดเดียวกับที่พบในบริเวณอื่น ๆ อย่าง นครปฐม อู่ทอง อู่ตะเภา โคกไม้เดน หรือเกือบทุก ๆ บริเวณซึ่งเป็นเมืองสมัยทวารวดี

ระยะที่ 6 (พ.ศ. 1343 ถึง 1543 สมัยทวารวดีตอนปลาย)

เริ่มมีประชากรน้อยลงและร้างไปในภายหลัง ไม่ทราบเวลาชัดเจนว่าเริ่มต้นและสิ้นสุดลงเมื่อใด พบของสมัยลพบุรีไม่มากนักที่จันเสน สันนิษฐานได้ว่า เมืองจันเสนได้ร้างไปภายหลังที่ได้ตั้งเมืองข้าหลวงขอมขึ้นที่ลพบุรีในระหว่าง พ.ศ. 1634–2343 ต่อมาในสมัยปัจจุบันนี้เอง จึงมีคนเข้าไปอาศัยอยู่ในบริเวณเมืองโบราณจันเสนอีกครั้งหนึ่ง โบราณวัตถุที่พบ มีไม่มากเท่าระยะ 5 แต่ฝีมือในการประดิษฐ์มีมากขึ้น

ปัจจุบัน แก้

เมืองจันเสนถูกค้นพบครั้งแรกจากภาพถ่ายทางอากาศและสำรวจเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2509 โดยอาจารย์นิจ หิญชีระนันท์ แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑ์จันเสนในวัดจันเสน ที่มีการจัดแสดงประวัติความเป็นมาของเมืองจันเสน[4]

อ้างอิง แก้

  1. "พิพิธภัณฑ์จันเสน". มิวเซียมสยาม. 8 ธันวาคม 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 กรกฎาคม 2022.
  2. "คำจารึกที่ฐานพระมหาธาตุเจดีย์ศรีจันเสน พระมหาธาตุเจดีย์ศรีจันเสน". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. 26 กุมภาพันธ์ 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 กรกฎาคม 2022.
  3. 3.0 3.1 สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. 1999. p. 1429. ISBN 9748365301.
  4. เที่ยว "เมืองจันเสน" แหล่งเรียนรู้ทางโบราณคดีของไทย ไม่ใกล้ ไม่ไกล อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์. มติชน. 20 มกราคม 2017.