งานสีเขียว (อังกฤษ: green job) เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (โปรดดู เศรษฐกิจสีเขียว) งานสีเขียวคืองานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือเกี่ยวข้องทางอ้อมด้วยการไม่สร้างมลพิษให้เกิดการปนเปื้อนหรือเป็นงานที่ใช้พลังงานสะอาด เป็นต้น

อรรถาธิบาย

แก้

โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติให้คำจำกัดความงานสีเขียวว่า “เป็นงานในภาคเกษตรกรรม การผลิต วิจัยและพัฒนา บริหารจัดการ บริการและกิจกรรมซึ่งส่งเสริมการอนุรักษ์และการฟื้นฟูธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานซึ่งช่วยปกป้องระบบนิเวศน์และความหลากหลายทางชีวภาพ ลดการใช้พลังงาน วัตถุดิบ และการใช้น้ำผ่านการวางยุทธศาสตร์เพื่อความคุ้มค่า หยุดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระบบเศรษฐกิจ ลดหรือหยุดการสร้างของเสียและมลพิษ” (โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ)[1] นอกจากนี้งานสีเขียวยังจัดเป็นหนึ่งในบรรดา “งานที่มีคุณค่า” (decent work) ตามการนิยามที่เสนอโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organisation : ILO) อีกด้วย

สำนักงานสถิติแรงงานแห่งสหรัฐอเมริกาได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับงานสีเขียวและได้ตีพิมพ์คำจำกัดความและการแบ่งประเภทงานสีเขียวอย่างละเอียดในปี พ.ศ. 2553 โดยระบุว่างานสีเขียวคือหนึ่งในงานสองประเภทระหว่างงานในธุรกิจซึ่งการผลิตสินค้าหรือการให้บริการส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมหรืออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยสินค้าและบริการเหล่านี้จำหน่ายให้กับผู้บริโภค รวมถึงการวิจัยและพัฒนา การติดตั้ง และการบริการบำรุงรักษา หรืองานที่คนงานต้องทำให้กระบวนการทำงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือใช้ทรัพยากรธรรมชาติน้อยลง รวมถึงการใช้และการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือและวิธีการที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม งานทั้งสองประเภทแบ่งออกเป็นห้ากลุ่มที่จะทำให้งานนั้นเป็นงานสีเขียว ดังนี้ (สำนักงานจัดพิมพ์แห่งสหรัฐอเมริกา)[2]

ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย

แก้

ปัจจุบันในประเทศไทย บรรษัทและภาคธุรกิจหลายแห่งได้หันมาให้ความสนใจในเรื่องงานสีเขียวมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมขนาดใหญ่จำพวกอุตสาหกรรมผลิตกระดาษ หรือ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เป็นต้น โดยบริษัทเหล่านี้ได้หันมาแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการสร้างงานสีเขียว ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นไม้ทดแทน หรือ การตั้งโรงงานที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในบริเวณใกล้เคียงให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างไรก็ตาม มีบ่อยครั้งที่กิจกรรมเหล่านี้ได้ถูกกระทำขึ้นเพื่อเป็น “พิธีกรรม” อย่างหนึ่งในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่ามีเป้าหมายเพื่อสร้างงานสีเขียวอย่างจริงจัง ยกตัวอย่างเช่น การจัดกิจกรรมเก็บขยะริมชายทะเลของบริษัทที่อาจไม่ได้มีที่ตั้งโรงงานติดชายทะเล หรือ ไม่ได้ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวข้องกับทะเล เป็นต้น ฉะนั้น กระแสงานสีเขียวในประเทศไทยแม้จะมีพลังที่ทำให้บรรดาธุรกิจต่างๆต้องหันมาพิจารณาผลกระทบ และความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่บางครั้งก็อาจมิได้ช่วยแก้ไขสภาพปัญหาได้อย่างจริงจัง และยั่งยืนได้เสมอไป

นโยบายของรัฐบาลไทยที่มุ่งส่งเสริมอาชีพสีเขียว เช่น สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีนโยบายแรงงานที่พยายามสร้างมาตรฐานการจ้างงาน และระบบประกันสวัสดิการทางสังคมให้กับแรงงาน และสร้างความร่วมมือในการคุ้มครองแรงงานที่ต้องไปทำงานในต่างประเทศ ต่อมาในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้มีนโยบายที่ส่งเสริมอาชีพสีเขียวเช่นกัน คือ การสร้างช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลด้านแรงงาน การคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยของแรงงาน พัฒนาแรงงานที่ไร้ฝีมือและกึ่งฝีมือ (non-skilled labor and semi-skilled labor) ทั้งในด้านภาครัฐและเอกชน และเตรียมพร้อมสำหรับการเคลื่อนไหวของแรงงานหลังการเปิดประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558[3]

อ้างอิง

แก้
  1. โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ. เข้าถึงวันที่ 30 กันยายน 2555 ใน http://www.mnn.com/eco-glossary/green-jobs.
  2. สำนักงานจัดพิมพ์แห่งสหรัฐอเมริกา. เข้าถึงวันที่ 30 กันยายน 2555 ใน http://www.gpo.gov/fdsys/pkg/FR-2010-09-21/html/2010-23485.htm.
  3. Anuchitworawong, Chaiyasit/ Leangcharoen, Prinyarat/ Thampanishvong, Kannika (2012). Green Growth and Green Jobs in Thailand: Comparative Analysis, Potentials, Perspectives. เข้าถึงวันที่ 30 กันยายน ใน http://library.fes.de/pdf-files/bueros/thailand/09423.pdf