องค์การแรงงานระหว่างประเทศ

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ (อังกฤษ: International Labour Organization; ILO) องค์การไอแอลโอ ตั้งขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของสันนิบาตชาติ เมื่อ พ.ศ. 2462 (ค.ศ. 1919) เป็นองค์การชำนาญเฉพาะเรื่อง และเข้ามาอยู่ในสังกัดของสหประชาชาติเมื่อสันนิบาตชาติถูกยุบลง


องค์การแรงงานระหว่างประเทศ
ธง
ประเภททบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ
รัสพจน์ไอแอลโอ
หัวหน้าโตโก กิลเบิร์ต ฮองโบ (ผู้อำนวยการ)
สถานะดำเนินงานอยู่
จัดตั้ง11 เมษายน 1919; 104 ปีก่อน (1919-04-11)
สำนักงานเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
เว็บไซต์www.ilo.org
ต้นสังกัดสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ
คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ

ภารกิจหลัก แก้

ภารกิจหลักของไอแอลโอ คือช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานทั่วโลกให้ได้รับความยุติธรรมจากสังคม ให้มีชีวิต และสภาพการทำงานที่ดีขึ้น ผลงานขององค์การทำให้ได้รับรางวัลโนเบล เพื่อสันติภาพ เมื่อ พ.ศ. 2512 (ค.ศ. 1969) [1] ทั้งนี้โดยที่องค์การยึดมั่นในหลักการที่ว่า สันติสุขแห่งโลกจะเกิดขึ้นได้และมีความต่อเนื่องมั่นคงก็ด้วยการที่มีความยุติธรรมในสังคม มีฐานรากคือ ความเคารพในสิทธิมนุษยชน มีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดี มีสภาพการทำงานซึ่งเกื้อกูลความผาสุกของผู้ใช้แรงงาน การมีโอกาสทำงานและมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ยุทธศาสตร์การปฏิบัติงานของไอแอลโอ แก้

ยุทธศาสตร์การปฏิบัติงานของไอแอลโอ คือจัดให้มีการเจรจาร่วมของผู้เกี่ยวข้องสามฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายแรงงาน ในกรณีที่มีความขัดแย้งและพยายามแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยมีมติเป็นเอกฉันท์ ภารกิจขององค์การนี้ในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกมีความหลากหลายและยุ่งยาก เพราะประเทศต่างๆ มีสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน ทั้งในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม โครงสร้าง รายได้และสวัสดิการสังคม การพาณิชย์ การลงทุน แรงงาน ปัญหาด้านสังคมและแรงงาน ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้านเศรษฐกิจและสังคม ในประเทศที่เริ่มเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ก็ได้นำมาซึ่งปัญหาใหม่ๆ อีกมากมาย

ไอแอลโอ จัดลำดับเรื่องสำคัญรีบด่วนไว้สามประการ คือ

  • การจัดให้มีงานทำและขจัดความยากจน
  • การคุ้มครองผู้ใช้แรงงาน
  • ส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิแห่งมนุษยชน

ในข้อแรกไอแอลโอ ช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในการฝึกอบรมผู้ใช้แรงงานให้มีประสิทธิภาพ ในข้อที่สอง ไอแอลโอ ช่วยประเทศต่างๆ ให้เพิ่มพูนประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความปลอดภัย และให้ตระหนักถึงภัยที่เกิดจากการทำงานในโรงงาน ในข้อที่สามไอแอลโอช่วยเหลือในการออกกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน และอุตสาหกรรมสัมพันธ์ระหว่างแรงงานกับนายจ้าง สนับสนุนองค์การของผู้ใช้แรงงาน ได้กำหนดมาตรฐานสากลเกี่ยวกับแรงงาน ซึ่งช่วยในการสร้างเสริมประชาธิปไตยและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

สำนักงานประจำภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก แก้

องค์การไอแอลโอ มีสำนักงานภูมิภาคและสำนักงานประจำประเทศหลายแห่งในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการ จัดการฝึกอบรม ทำการศึกษาวิจัย เพื่อส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างรัฐบาล แรงงานและนายจ้าง ในระดับประเทศ สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร

อ้างอิง แก้