คอสแซ็ก

กลุ่มประชากรผู้พูดภาษาตระกูลสลาฟและนับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ มีต้นกำเนิดจากทุ
(เปลี่ยนทางจาก คอสแซค)

คอสแซ็ก (อังกฤษ: Cossacks; ยูเครน: козаки́, kozaky; รัสเซีย: каза́ки́, kazaki; โปแลนด์: Kozacy) เดิมเป็นสมาชิกของกลุ่มทหารในยูเครนและทางตอนใต้ของรัสเซีย[1] แต่ที่มาของคอสแซ็กยังคงเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันในบรรดานักวิชาการอยู่

ภาพวาดของคอสแซ็กซาปอริฌเฌีย

ในตอนปลายของคริสต์ศตวรรษที่ 15 กลุ่มคอสแซ็กซาปอริฌเฌีย (Zaporozhian Cossacks) ก็ได้ก่อตั้งกองทหารคอสแซ็ก (Cossack host) ขึ้นในทุ่งหญ้าสเตปป์ในยูเครน (ยูเครน: дике поле) ในบริเวณแม่น้ำนีเปอร์ ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 กลุ่มคอสแซ็กดอน (Don Cossacks) ก็ได้ก่อตั้งกองทหารคอสแซ็กขึ้นอีกกองหนึ่งในบริเวณลุ่มแม่น้ำดอน กองทหารคอสแซ็กกองอื่น ๆ ก็ได้รับการก่อตั้งขึ้นต่อมาทางตอนใต้ของเทือกเขายูราล, ไซบีเรีย และคอเคซัส

คอสแซ็กนีเปอร์แห่งยูเครนมีศูนย์กลางอยู่ในบริเวณหมู่เกาะนีเปอร์ที่มีการสร้างเสริมการป้องกันทางทหาร เดิมคอสแซ็กเป็นอาณาจักรบริวารของเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย แต่ความกดดันทางสังคมและศาสนาจากเครือจักรภพทำให้คอสแซ็กประกาศตนเป็นรัฐเฮตม่านคอสแซ็ก (Cossack Hetmanate) อิสระจากโปแลนด์-ลิทัวเนีย โดยการริเริ่มการลุกฮือคแมลนึตสกึย (Khmelnytskyi Uprising) ภายใต้การนำของบอห์ดัน คแมลนึตสกึย ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในปี ค.ศ. 1654 คอสแซ็กก็ลงนามในสนธิสัญญาเพเรยาสลาฟและอาณาจักรซาร์แห่งรัสเซียที่เป็นผลให้รัฐต่าง ๆ ในเครือรัฐเฮตม่านคอสแซ็กตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของรัสเซียต่อมาอีกสามร้อยปี[2]

คอสแซ็กดอนผู้ตกลงเป็นพันธมิตรกับอาณาจักรซาร์แห่งรัสเซียเริ่มรุกรานและยึดดินแดนต่าง ๆ ในบริเวณแม่น้ำวอลกา, ไซบีเรียทั้งหมด, แม่น้ำยูราล และ แม่น้ำเทอเร็คมาเป็นอาณานิคม

ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 นโยบายการขยายดินแดนของจักรวรรดิรัสเซียก็หันมาพึ่งความภักดีของคอสแซ็ก ที่สร้างความกดดันให้แก่คอสแซ็กผู้ที่นิยมการดำรงชีวิตอย่างอิสระ ซึ่งในที่สุดก็ทำให้เกิดการปฏิวัติที่นำโดย สเตงคา ราซิน, คอนดราตี บุลาวิน และ เยเมลิยัน พูกาเชฟ เมื่อมาถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 คอสแซ็กก็เปลี่ยนไปมีฐานะพิเศษ ที่ทำหน้าที่เป็นทหารประจำการชายแดนทั้งชายแดนระดับชาติและชายแดนระหว่างชนเผ่าต่าง ๆ และเป็นผู้ส่งกองกำลังในการสนับสนุนปัญหาขัดแย้งทางทหารต่าง ๆ เช่นในสงครามรัสเซีย-ตุรกี เป็นการแลกเปลี่ยนกับความเป็นอิสระทางสังคมในการปกครองตนเอง ที่ทำให้เกิดการสร้างสามัญทัศน์ที่เกี่ยวกับคอสแซ็กกันไปต่าง ๆ นานาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทั้งในจักรวรรดิรัสเซีย และในรัฐบาลภาพในของตนเอง

ระหว่างสงครามกลางเมืองรัสเซีย ภูมิภาคต่าง ๆ ของคอสแซ็กกลายเป็นศูนย์กลางของขบวนการขาว (White movement) ในการต่อต้านพรรคบอลเชวิค คอสแซ็กดอนและคอสแซ็กคูบันถึงกับก่อตั้งรัฐอิสระขึ้นอยู่พักหนึ่ง เมื่อกองทัพแดงได้รับชัยชนะ คอสแซ็กก็ตกอยู่ในสภาวะอดอยาก และ ได้รับการกดขี่จากผู้เป็นปฏิปักษ์

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองคอสแซ็กก็ต่อสู้ให้กับทั้งฝ่ายสหภาพโซเวียต และฝ่ายนาซีเยอรมนี ที่เป็นผลให้เกิด 'กรณีทรยศต่อคอสแซ็ก' (Betrayal of Cossacks) ขึ้นโดยฝ่ายพันธมิตรหลังสงคราม เมื่อสหภาพโซเวียตทำการสังหารคอสแซ็กที่ถูกส่งกลับมารัสเซียโดยฝ่ายพันธมิตรตามนโยบายการกดขี่คอสแซ็ก แต่หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเป็นต้นมา ชีวิตและปรัชญาของความเป็นคอสแซ็กก็กลับมาเป็นที่นิยมกันในรัสเซียขึ้นอีกครั้ง ในกองทัพรัสเซียถึงกับมีกองทหารพิเศษของคอสแซ็ก คอสแซ็กกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมร่วมสมัย และมีองค์การของตนเองในรัสเซีย คาซัคสถาน ยูเครน และในประเทศอื่น ๆ

ที่มาของคำว่าคอสแซ็ก

แก้

คำว่า "Cossack" เข้ามาในภาษาอังกฤษจากคำว่า "Cosaque" ในภาษาฝรั่งเศส ที่แผลงมาจากภาษาเตอร์กิกเดิมว่า "qazaq" ที่แปลว่า "นักผจญภัย" หรือ "คนอิสระ"[3][4][5] นอกจากนั้นคอสแซ็ก (Qazaqlar) ก็ยังเป็นผู้พิทักษ์ชายแดนในอาณาจักรข่านคาซาน (Khanate of Kazan)

อ้างอิง

แก้
  1. R.P.Magocsi "A History of Ukraine", pp.179-181
  2. From Da to Yes: Understanding the East Europeans, Yale Richmond, Intercultural Press, 1995, p. 294
  3. "Online Etymology Dictionary".
  4. Encyclopædia Britannica, Article Cossack
  5. Iaroslav Lebedynsky, Histoire des Cosaques Ed Terre Noire, p38
  • Knotel, Richard, Knotel, Herbert, & Sieg Herbert, Uniforms of the World: A compendium of Army, Navy and Air Force uniforms 1700-1937, Charles Scribner's Sons, New York, 1980

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้