ประวัติศาสตร์รัสเซีย
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
ประวัติศาสตร์รัสเซียเริ่มต้นด้วยประวัติศาสตร์ของชาวสลาฟตะวันออก วันเริ่มต้นตามประเพณีของประวัติศาสตร์รัสเซียโดยเฉพาะคือการสถาปนารัฐรุสทางตอนเหนือใน พ.ศ. 1405 ซึ่งปกครองโดยชาววารันเจียน ใน พ.ศ. 1425 เจ้าชายออลิกูแห่งนอฟโกรอด ทรงยึดเคียฟโดยรวมดินแดนทางเหนือและทางใต้ของสลาฟตะวันออกไว้ภายใต้อำนาจเดียว ย้ายศูนย์การปกครองไปยังเคียฟในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 10 และบำรุงรักษาพื้นที่ทางตอนเหนือและทางใต้โดยมีความเป็นอิสระจากกันอย่างมีนัยสำคัญ รัฐรับเอาศาสนาคริสต์จากจักรวรรดิไบแซนไทน์ใน พ.ศ. 1581 โดยเริ่มต้นการสังเคราะห์วัฒนธรรมไบแซนไทน์และสลาฟซึ่งกำหนดวัฒนธรรมรัสเซียต่อไปในสหัสวรรษหน้า ท้ายที่สุด รุสเคียฟก็สลายตัวเป็นรัฐเนื่องจากการรุกรานของมองโกลใน พ.ศ. 1780–1783 หลังจากคริสต์ศตวรรษที่ 13 มอสโกกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดทางการเมืองและวัฒนธรรมในการรวมดินแดนรัสเซียเข้าด้วยกัน เมื่อถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 อาณาเขตเล็ก ๆ หลายแห่งรอบ ๆ มอสโกได้รวมตัวกับแกรนด์ดัชชีมอสโก ซึ่งเข้าควบคุมอำนาจอธิปไตยของตนเองอย่างเต็มที่ภายใต้การนำของอีวานมหาราช
อีวานผู้เหี้ยมโหดได้เปลี่ยนแกรนด์ดัชชีให้เป็นอาณาจักรซาร์แห่งรัสเซียใน พ.ศ. 2090 อย่างไรก็ตาม การสวรรคตของฟีโอดอร์ที่ 1 พระราชโอรสของอีวานโดยไม่มีปัญหาใน พ.ศ. 2141 ได้ก่อให้เกิดวิกฤติการสืบราชบัลลังก์ และนำรัสเซียเข้าสู่ยุคแห่งความโกลาหลและสงครามกลางเมืองที่รู้จักกันในชื่อสมัยแห่งความวุ่นวาย (Time of Troubles) ซึ่งจบด้วยพิธีราชาภิเษกของมีฮาอิล โรมานอฟในฐานะซาร์องค์แรกของราชวงศ์โรมานอฟใน พ.ศ. 2156 ระหว่างช่วงที่เหลือของคริสต์ศตวรรษที่ 17 รัสเซียเสร็จสิ้นการสำรวจและพิชิตไซบีเรีย โดยอ้างสิทธิ์ในดินแดนไกลถึงมหาสมุทรแปซิฟิกภายในสิ้นศตวรรษ ภายในประเทศ รัสเซียเผชิญกับการลุกฮือของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ มากมายภายใต้การควบคุมของรัสเซีย ตัวอย่างเช่นสเตนกา ราซิน ผู้นำคอสแซ็กซึ่งเป็นผู้นำการก่อกบฏใน พ.ศ. 2213–2214 ใน พ.ศ. 2264 หลังมหาสงครามเหนือ ซาร์ปีเตอร์มหาราชได้เปลี่ยนชื่อรัฐเป็นจักรวรรดิรัสเซีย พระองค์ยังมีชื่อเสียงจากการสถาปนาเซนต์ปีเตอส์เบิร์กให้เป็นเมืองหลวงใหม่ของจักรวรรดิของพระองค์ และสำหรับการแนะนำวัฒนธรรมยุโรปตะวันตกให้กับรัสเซีย ใน พ.ศ. 2305 รัสเซียตกอยู่ภายใต้การปกครองของเยกาเจรีนามหาราชินี ซึ่งยังคงดำเนินนโยบายแบบตะวันตกของจักรพรรดิปีเตอร์มหาราช และนำไปสู่ยุคเรืองปัญญาของรัสเซีย อะเลคซันดร์ที่ 1 พระราชนัดดาของเยกาเจรีนา ขับไล่การรุกรานของจักรพรรดินโปเลียนแห่งฝรั่งเศส ส่งผลให้รัสเซียก้าวเข้าสู่สถานะเป็นหนึ่งในมหาอำนาจ
การปฏิวัติของชาวนาทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนถึงจุดสูงสุดเมื่อจักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 2 ทรงประกาศเลิกทาสใน พ.ศ. 2404 ในทศวรรษต่อ ๆ มา ความพยายามในการปฏิรูป เช่น การปฏิรูปสโตลืยปินใน พ.ศ. 2449-2457 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2449 และสภาดูมารัฐ (พ.ศ. 2449-2460) พยายามที่จะเปิดและเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและระบบการเมือง แต่จักรพรรดิปฏิเสธที่จะละทิ้งการปกครองแบบอัตตาธิปไตยและต่อต้านการแบ่งปันอำนาจของพวกเขา การผสมผสานระหว่างการพังทลายทางเศรษฐกิจ การจัดการที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของรัสเซียในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และความไม่พอใจต่อระบบเผด็จการของรัฐบาล ทำให้เกิดการปฏิวัติรัสเซียใน พ.ศ. 2460 การสิ้นสุดของระบอบกษัตริย์ในตอนแรกนำแนวร่วมระหว่างเสรีนิยมและนักสังคมนิยมสายกลางเข้ามาดำรงตำแหน่ง แต่นโยบายที่ล้มเหลวนำไปสู่การปฏิวัติเดือนตุลาคม ใน พ.ศ. 2465 สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย พร้อมด้วยสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตเบียโลรัสเซีย และ สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตทรานส์คอเคซัส ได้ลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยการก่อตั้งสหภาพโซเวียต โดยได้รวมสาธารณรัฐทั้งสี่อย่างเป็นทางการเพื่อจัดตั้งสหภาพโซเวียตเป็นรัฐเดียว โดยพื้นฐานแล้ว ระหว่าง พ.ศ. 2465 ถึง พ.ศ. 2534 ประวัติศาสตร์รัสเซียได้กลายเป็นประวัติศาสตร์สหภาพโซเวียต ในช่วงเวลานี้ สหภาพโซเวียตเป็นหนึ่งในประเทศที่ชนะในสงครามโลกครั้งที่สองหลังจากฟื้นตัวจากการรุกรานอย่างไม่คาดคิดใน พ.ศ. 2484 โดยเยอรมนีนาซีและผู้ร่วมมือกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานกับสหภาพโซเวียต เครือข่ายรัฐบริวารของสหภาพโซเวียตในยุโรปตะวันออก ซึ่งถูกนำเข้าสู่ขอบเขตอิทธิพลในช่วงสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง ช่วยให้ประเทศกลายเป็นมหาอำนาจที่แข่งขันกับสหรัฐและประเทศตะวันตกอื่น ๆ ในสงครามเย็น
ในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1980 เมื่อความอ่อนแอของโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองของโซเวียตเริ่มรุนแรง มีฮาอิล กอร์บาชอฟจึงเริ่มดำเนินการปฏิรูปครั้งใหญ่ ซึ่งท้ายที่สุดก็นำไปสู่ความอ่อนแอของพรรคคอมมิวนิสต์และการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ปล่อยให้รัสเซียอยู่ตามลำพังอีกครั้งและเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์รัสเซียหลังยุคโซเวียต สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซียเปลี่ยนชื่อตัวเองเป็นสหพันธรัฐรัสเซียและกลายเป็นรัฐผู้สืบทอดลำดับแรกของสหภาพโซเวียต รัสเซียยังคงรักษาคลังแสงนิวเคลียร์เอาไว้ แต่สูญเสียสถานะมหาอำนาจไป ผู้นำคนใหม่ซึ่งนำโดยประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ล้มเลิกการวางแผนส่วนกลางและการเป็นเจ้าของทรัพย์สินของรัฐในยุคโซเวียตในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 ปูตินเข้ามามีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจหลัง พ.ศ. 2543 และดำเนินนโยบายต่างประเทศที่กล้าแสดงออก การผนวกคาบสมุทรไครเมียของรัสเซียใน พ.ศ. 2557 ทำให้เกิดการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่นำโดยสหรัฐและสหภาพยุโรป การรุกรานยูเครนโดยรัสเซียใน พ.ศ. 2565 นำไปสู่การคว่ำบาตรที่ขยายออกไปอย่างมาก ภายใต้การนำของปูติน การทุจริตในรัสเซียได้รับการจัดอันดับว่าเลวร้ายที่สุดในยุโรป และสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของรัสเซียก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ
ยุคก่อนประวัติศาสตร์
แก้ที่ราบทางตอนใต้
แก้จากหลักฐานการขุดค้นทางด้านโบราณคดี นักโบราณคดีได้ลงความเห็นว่าเขตทางภาคใต้ของรัสเซีย ซึ่งเรียกว่าเขตที่ราบสเตปป์ เป็นทางที่พวกเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์จากทวีปเอเชียมักจะเข้าไปตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอยู่เนือง ๆ เนื่องจากว่าพวกเร่ร่อนเหล่านี้พบว่าเขตสเตปป์นี้เป็นเขตที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การกสิกรรมและเลี้ยงสัตว์เป็นอย่างมาก ดังนั้น กลุ่มชนเร่ร่อนทั้งหลายผู้มีอารยธรรมเป็นของตนเองจากทวีปเอเชียจึงมักจะเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน และมักจะทำการรบการพุ่งกันเองอยู่เนือง ๆ และกับกลุ่มผู้เร่ร่อนจากต่างถิ่น ผู้ได้ข่าวว่าดินแดนทางเขตสเตปป์ของรัสเซีย เป็นบริเวณที่อุดมสมบูรณ์ ดังนั้นดินแดนทางภาคใต้ของรัสเซียจึงเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุด
จักรวรรดิเคียฟรุส
แก้ประวัติศาสตร์รัสเซียเริ่มขึ้นอย่างแท้จริงในปี พ.ศ. 1405 เนื่องจากในปีนั้นได้มีชนชาติสแกนดิเนเวียกลุ่มหนึ่งได้เข้ามารุกรานรัสเซียทางฝั่งทะเลบอลติก ชาวสแกนดิเนเวียเรียกตัวเองว่า "รุส" ในภาษานอร์แมนหรือพวกไวกิ้ง ยุโรปตะวันตกเรียกว่า "วาแรนเจียน" พวกชาวรุสกลุ่มนี้ได้โจมตีเมืองซูซอฟช์ในแคว้นไครเมีย และตั้งผู้นำของตัวเองที่ชื่อว่า รูลิค เป็นเจ้าผู้ครองเมืองนอฟโกรอด (Grand prince of Novgorod) ในปี พ.ศ. 1405 รูลิคครองนครนอฟโกรอด จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 1418 นายทหารคนสนิทของรูลิคนามว่า โอเลก ได้เข้ายึดอาณาจักรเคียฟในปี พ.ศ. 1425 ทำให้อาณาจักรนอฟโกรอดและอาณาจักรเคียฟมีกษัตริย์แห่งราชวงศ์รูลิคครองเหมือนกันพวกเชื้อพระวงศ์รูลิคทั้งหลายได้ปกครองเผ่าสลาฟตะวันออกเผ่าต่าง ๆ และได้ทำให้นครเคียฟมีความสำคัญและเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและการเมืองของเผ่าสลาฟต่าง ๆ เรื่อยมาจนกระทั่งถูกพวกมองโกลเข้ามารุกรานในราวคริสต์ศตวรรษที่ 13
เจ้าผู้ครองนครเคียฟได้มีการติดต่ออย่างใกล้ชิดกับจักรวรรดิไบแซนไทน์ ถึงกับที่เจ้าผู้ครองนครเคียฟองค์หนึ่งทรงพระนามว่า เจ้าชายวลาดีมีร์ที่ 1 แห่งเคียฟได้อภิเษกสมรสกับพระขนิษฐาของสมเด็จพระจักรพรรดิบาซิลที่ 2 แห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ (Emperor Basil II) ทั้ง ๆ ที่พระองค์มีมเหสีถึง 7 พระองค์แล้ว การอภิเษกครั้งนี้ได้ทำให้เจ้าชายวลาดีมีร์ทรงยอมนับถือศาสนาคริสต์นิกายรัสเซียนออร์ทอดอกซ์ ในปีพ.ศ. 1531 พระองค์ได้ทรงประกาศให้ประชาชนนับถือศาสนาตามอย่างพระองค์ด้วยมีการสร้างโบสถ์ทั้งราชอาณาจักรและมีการสร้างโรงเรียนในวัด เฉพาะแต่เด็กชายมีศักดิ์เท่านั้นที่จะศึกษาเล่าเรียนได้
เจ้าผู้ครองเรือนนครเคียฟที่สำคัญที่สุด ทรงพระนามว่า เจ้าชายยาโรสลาฟผู้ชาญฉลาด พระองค์ได้ทรงขยายอาณาจักรไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่ทางทะเลบอลติกเรื่อยลงไปถึงที่ราบลุ่มแถบทะเลดำทั้งหมดทางแถวปากแม่น้ำวอลกา จนถึงเทือกเขาคาร์เพเทียน เจ้าชายยาโรสลาฟได้ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ โดยจัดการให้พระญาติวงศ์อภิเษกพวกราชวงศ์ของประเทศยุโรปตะวันตก พระองค์เองนั้นได้อภิเษกกับเจ้าหญิงแห่งประเทศสวีเดน พระโอรสทั้งสามพระองค์ได้อภิเษกกับพระราชธิดาพระเจ้าแผ่นดินประเทศฝรั่งเศส ฮังการี และนอร์เวย์ พระขนิษฐาองค์หนึ่งของพระองค์เป็นพระมเหสีแห่งกษัตริย์โปแลนด์ และพระขนิษฐาอีกองค์หนึ่งเป็นพระชายาเจ้าชายแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ นอกจากทรงจัดการให้ราชวงศ์ของพระองค์ได้มีความสัมพันธ์กับพวกราชวงศ์ของประเทศในแถบยุโรป โดยการอภิเษกสมรสแล้ว เจ้าชายยาโรสลาฟยังทรงอนุญาตให้อาณาจักรเคียฟของพระองค์เป็นสถานที่ลี้ภัยของบรรดาผู้นำและเจ้าชายประเทศต่าง ๆ อีกด้วย เช่น เจ้าชายจากประเทศอังกฤษและฮังการีพระเจ้าแผ่นดินและพระโอรสแห่งประเทศนอร์เวย์
ในสมัยยาโรสลาฟนี้ รัสเซียได้มีกฎหมายเป็นครั้งแรกชื่อว่า "The Russian Justice" ในปี พ.ศ. 1579 จากกฎหมายฉบับนี้ทำให้ผู้สนใจประวัติศาสตร์รัสเซียสมัยอาณาจักรเคียฟ จะได้ทราบถึงสภาพสังคมและการดำรงชีวิตของอาณาจักรเคียฟได้เป็นอย่างดี นอกจากมีกฎหมายขึ้นใช้ในสมัยนี้แล้วเจ้าชายยาโรสลาฟยังทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ทางด้านศิลปะและด้านสถาปัตยกรรม มีการสร้างโบสถ์ฮาเกียโซเฟีย ในปี พ.ศ. 1580 ขึ้นในราชอาณาจักร นอกจากนี้ยังทรงจัดการให้มีโรงเรียนและห้องสมุดขึ้นในราชอาณาจักรเคียฟนี้ด้วย
นครเคียฟมีสำคัญและมีอิทธิพลสูงสุดแต่เพียงสมัยของเจ้าชายยาโรฟสลาฟเท่านั้น นครต่าง ๆ ในราชอาณาจักรรัสเซียต่างยอมอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรเคียฟมาตลอด ในช่วงศตวรรษที่ 11 เคียฟเป็นนครหลวง ศูนย์รวมของอำนาจกษัตริย์และเป็นศูนย์กลางของคริสตจักรออร์ทอดอกซ์ ในขณะที่เมืองอื่น ๆ ก็มีประชากรก่อตั้งขึ้นมาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้กล่าวอ้างถึงมอสโกครั้งแรกในปี พ.ศ. 1690 ว่ามกุฎราชกุมารแห่งนครเคียฟ เจ้าชายยูริ ดอลโกรูคี มีรับสั่งให้สร้างป้อมปราการไม้ หรือเครมลินขึ้นที่เนินเขาโบโรวิตสกายา ริมน้ำมอสควา และตั้งชื่อเมืองว่า มอสโก
แต่หลังจากที่ยาโรสลาฟสิ้นพระชนม์แล้ว บรรดาเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ พยายามปลีกตัวเป็นอิสระจากอาณาจักรเคียฟและประกอบกับการถูกโจมตีจากพวกเร่ร่อนกลุ่มต่าง ๆ อาณาจักรเคียฟจึงเริ่มเสื่อมโทรมลง ประชาชนต่างพากันอพยพโยกย้ายไปอยู่ตามชานแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นบริเวณทางภาคกลางของรัสเซีย ส่วนที่เป็นทวีปยุโรปในสมัยปัจจุบัน ประกอบได้มีการก่อตั้งนครใหม่ ๆ ขึ้นหลายนคร เช่น รอสตอฟ (Rostov) ซุซดัล (Suzdal) โปลอตสค์ (Polotsk) เป็นต้น
ภายใต้จักรวรรดิมองโกล
แก้ชาวมองโกล หรือที่เรียกว่ากันในหมู่ชาวรัสเซีย ตาตาร์ เป็นเชื้อสายของเตมูจิน หรือที่เรารู้จักกันในนามว่าเจงกิสข่าน พวกมองโกลได้รุกรานเข้าโจมตีอาณาจักรจีน และเข้าตีอาณาจักรของชาวมุสลิมทางตอนกลางของทวีปเอเชีย พวกมองโกลได้นำทัพข้ามเทือกเขาคอเคซัสมาถึงทางภาคใต้ของรัสเซีย และได้ชนะชาวรัสเซีย ตีอาณาจักรโปลอตสค์บนฝั่งแม่น้ำกัลป์กา ในปี พ.ศ. 1766 แต่หลังที่เจงกิสข่านเสียชีวิตลง อาณาจักรมองโกลได้ออกเป็นส่วน ๆ ให้แก่ลูกชายทั้ง 4 คนของเขา แต่ชาวมองโกลมีธรรมเนียมที่ว่าประมุขมองโกลจะต้องมี 1 คน และดำรงตำแหน่งข่านผู้ยิ่งใหญ่ ออคได ลูกชายคนที่ 3 ของเจงกีสข่านได้รับตำแหน่งนี้ ออคไดได้ดำเนินนโยบายครองโลกตามบิดา โดยยกทัพไปรุกรานแคว้นเตอร์กีสถาน อาร์มีเนีย จอร์เจีย และเมืองต่าง ๆ บริเวณเทือกเขาคอเคซัส นอกจากนั้นพวกมองโกลยังได้ยกทัพไปตีเมืองต่าง ๆ บนลุ่มแม่น้ำวอลกา เมืองของพวกบัลคาร์ในรัสเซีย อาณาจักรเมโสโปเตเมีย ซีเรีย เกาหลี และอาณาจักรจีนทั้งประเทศ กุบไลข่าน เชื้อสายของเจงกีสข่าน (โอรสพระราชบุตรองค์ที่ 4 ของเจงกีสข่าน) ได้เป็นผู้ก่อตั้งราชวงศ์หยวนขึ้นในประเทศจีน ค.ศ.1240 มองโกลตั้งเมือง Солтая орда เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรขึ้นตรงต่อ บาตูข่าน ประมุขชาว มองโกล ในรัสเซีย ซึ่งประทับอยู่ที่ นคร คาซาน อีกที ถึงแม้มองโกลจะยึดรัสเซียไว้เป็นประเทศราช แต่มองโกลก็ให้อิสระแก่เจ้าชายต่าง ๆ ในการปกครองตนเอง และยังอนุญาตให้ชาวรัสเซียนับถือและประกอบศาสนกิจตามหลัก ศาสนาคริสต์นิกายรัสเซียนออทอดอกซ์ ได้อยู่เช่นเดิม ทำให้ชาวรัสเซียสามารถรักษาวัฒนธรรมของตนไว้ได้ในระดับหนึ่ง ชาวนากับขุนนางต้องอยู่อย่างลำบากแร้นแค้น ชาวนาถูกบังคับให้ทำงานหนักเพื่อเลี้ยงดูกองทัพมองโกล ถ้าหากต่อต้านข่าน จะถูกบังคับให้ส่งส่วยมากขึ้น คริสต์ศตวรรษที่ 14 อิทธิพลในทางการปกครองของพวกมองโกลที่มีต่อชาวรัสเซียได้หมดไปอย่างสิ้นเชิงในสมัยของพระเจ้าอีวานที่ 3 เหลือเพียงแต่ทางด้านวัฒนธรรมบางอย่างเท่านั้น ที่กษัตริย์ของอาณาจักรรัสเซียต่าง ๆ ก็พยายามที่จะให้ชาวรัสเซียได้มีวัฒนธรรมและอารยธรรมเทียบเท่าอารยประเทศในยุโรปตะวันออกในเวลาต่อมา
อาณาจักรมอสโก
แก้กำเนิดมอสโก
แก้เจ้าชาย ยูริ ดาลการูกี้ยได้สร้างมอสโกขึ้นที่กลางแม่น้ำ มีป่าไม้และบึงเป็นปราการธรรมชาติ ต่อมามอสโกได้กลายเป็นศูนย์กลางของศาสนาคริสต์นิกายรัสเซียนออร์ทอดอกซ์
ต่อมาในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 กองทัพมองโกลนำโดยบาตูข่าน เข้ารุกรานรัสเซีย และยึดเมืองเคียฟได้สำเร็จ หลังจากนั้นรัสเซียก็ถูกตัดจากโลกภายนอก ถูกควบคุมทางการเมือง การปกครอง และต้องจ่ายภาษีให้กับมองโกล กษัตริย์และพระราชาคณะจึงย้ายศูนย์กลางอำนาจมาทางตอนเหนือ ในปี พ.ศ. 1871 พระเจ้าอีวานที่ 1 แห่งรัสเซีย ได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์ พระองค์ทรงมีฉายาว่า lvan kalita หรืออีวานถุงเงิน เนื่องจากทรงเก็บส่วยและเครื่องบรรณาการให้มองโกล และในยุคนี้เองที่กษัตริย์ได้ย้ายที่ประทับมาที่มอสโก ต่อมาในยุคของพระเจ้าอีวานที่ 2 แห่งรัสเซีย มองโกลเริ่มเสื่อมอำนาจเจ้าชายดมิตรี ดอนสกอย โอรสแห่งพระเจ้าอีวานที่ 2 ทรงขับไล่มองโกลได้สำเร็จในสงครามกูลิโกโว บนฝั่งแม่น้าดอนในปี 1380 พระองค์ทรงได้รับการสถาปนาเป็น ดมีตรี ดอนสกอย (ดมีตรีแห่งแม่น้ำดอน) และได้รวมเมืองวลาดีมีร์และซุลดัช เป็นเมืองสำคัญของอาณาจักรมอสโกและยังได้บูรณะเครมลินเป็นกำแพงหินขาวแทนไม้โอ๊ก มอสโกจึงมีอีกชื่อเรียกว่า "เมืองกำแพงหินขาว" ในยุคนั้น แต่ไม่นานพวกตาตาร์ก็กลับมาทำลายเครมลินจนพินาศ รัสเซียต้องเป็นเมืองขึ้นของตาตาร์อีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 1925
ซาร์อีวานที่ 3
แก้ในสมัยของพระเจ้าอีวานที่ 3 แห่งรัสเซีย หรือ พระเจ้าอีวานมหาราช (พ.ศ. 2005-พ.ศ. 2048) ในยุคของพระองค์ได้ทรงรวบรวมดินแดนให้กลับเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2023 ทรงขับไล่กองทัพตาตาร์ของพระเจ้าบาตูข่านออกจากรัสเซียจนหมดสิ้นและทรงทำลายโกลเดนฮอร์ด (Golden Horde) ซึ่งประกอบด้วย 3 อาณาจักรใหญ่ของชาวมองโกลได้แก่ อาณาจักรไวท์ฮอร์ด (White Horde) ที่ก่อตั้งขึ้นโดยพระเจ้าโอดาข่าน, อาณาจักรกลุ่มบลูฮอร์ด (Blue Horde) ที่ก่อตั้งโดยพระเจ้าบาตูข่านและอาณาจักรเกรทฮอร์ด (Great Horde) ที่ก่อตั้งโดยพระเจ้าเคอชุก มุฮัมหมัด ปิดฉากสองศตวรรษภายใต้การปกครองของมองโกล
ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 อาณาจักรรัสเซียได้ฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ หลังจากที่จักรวรรดิของพวกมองโกลระส่ำระสายลง ผู้ แห่งอาณาจักรมอสโก พระองค์ได้ตั้งองค์เป็นกษัตริย์แห่งชาวรัสเซียทั้งปวง ในปี พ.ศ. 2036 พระเจ้าอีวานที่ 3 ได้ทรงสถาปนากรุงมอสโกเป็นราชธานี ชาวรัสเซียในสมัยนี้ถือว่าพวกตนเป็นทายาทอันชอบธรรมของจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์
เนื่องจากการที่พระเจ้าอีวานที่ 3 อภิเษกสมรสครั้งที่ 2 (พระมเหสีองค์แรกสิ้นพระชนม์เมื่อพระองค์ครองราชย์ได้ 5 ปี) กับเจ้าหญิงโซเฟียแห่งไบแซนไทน์ หรือ โซอี พาลีโอ โลกัส พระเจ้าหลานเธอของจักรพรรดิแห่งอาณาจักรไบแซนไทน์องค์สุดท้ายพระนามจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 11 พาลาโอโลกอส ซึ่งสวรรคตบนกำแพงเมืองกรุงคอนสแตนติโนเปิลในการโจมตีครั้งสุดท้ายของจักรวรรดิออตโตมันทำให้เกิดการเสียกรุงคอนสแตนติโนเปิล ในแต่ละส่วนแยกออกจากกันโดยมีป้อมปราการล้อมรอบ มีแม่น้ำมอสควาไหลผ่าน พวกช่างฝีมือและกรรมกร อาศัยอยู่ในบริเวณเมืองที่สร้างด้วยไม้ พวกพ่อค้าและพวกขุนนางอาศัยอยู่ในบริเวณที่เรียกว่าเมืองสีขาว (คือสิ่งก่อสร้างด้วยหินสีขาว ส่วนนี้จะเรียกว่า White City ถัดจาก White City จะเป็นส่วนที่เรียกว่า Kitatgrod) และพระองค์ทรงรับอินทรีสองเศียรเป็นสัญลักษณ์ของรัสเซีย
ซาร์อีวานมหาราชได้ทรงนำช่างชาวอิตาลีมาออกแบบสร้างพระราชวังป้อมปราการต่าง ๆ และพระวิหารในพระราชวังเครมลิน และที่อื่น ๆ ด้วยเช่น โปรดให้โรดอลโฟฟี โอราแวงเต สร้างมหาวิหารอัสสัมชัญ เป็นที่สำหรับซาร์ ทำพิธีบรมราชาภิเษกในพระราชวังเครมลินในกรุงมอสโก ในปี พ.ศ. 2042 ซาร์อีวานมหาราชโปรดให้สร้างพระราชวังที่ประทับชื่อว่า Kremlin’s Terem Palace และสถาปัตยกรรมชิ้นสุดท้ายที่สุดที่พระองค์โปรดให้สร้างสถาปนิกชาวมิลาน ชื่อ อาเลสซีโอนอฟ สร้างมหาวิหารอาร์คันเกล มิคาอิล ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นที่ฝังพระศพซาร์กษัตริย์แห่งรัสเซียในเวลาต่อมา
อาณาจักรซาร์แห่งรัสเซีย
แก้พระเจ้าซาร์อีวานที่ 4 แห่งรัสเซีย หรือ "อีวานผู้โหดร้าย" เพราะพระองค์ทรงปกครองอาณาจักรด้วยความเหี้ยมโหด ปราศจากความเมตตา ว่ากันว่ามีรับสั่งให้ควักลูกตาสถาปนิกผู้ออกแบบสร้างมหาวิหารเซนต์บาซิล เพื่อมิให้สร้างสิ่งก่อสร้างที่งดงามเช่นนี้ได้ที่ใดอีก พระองค์เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าซาร์วาซิลีที่ 3 แห่งรัสเซีย และเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าอีวานที่ 3 พระองค์ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าผู้ครองนครมัสโกโวท์ที่ได้ตั้งองค์เป็นตำแหน่งซาร์ อย่างเป็นทางการ ซาร์อีวานที่ 4 ครองราชย์สมบัติตั้งแต่พระชนม์ได้ 3 ชันษา โดยที่พระองค์ยังทรงพระเยาว์อยู่ พระนางเยเลนา กลินสกายาพระราชมารดาทรงเป็นผู้สำเร็จราชการ
อย่างไรก็ตามเมื่อซาร์อีวานที่ 4 ได้ทรงทำพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อปี พ.ศ. 2090 และในปีเดียวกันนี้ได้ทรงอภิเษกกับอะนัสตาเซียแห่งสกุลราชวงศ์โรมานอฟ เป็นชื่อสกุลขุนนางที่สืบมาจากตระกูลเยอรมันชั้นสูงตระกูลหนึ่ง ซึ่งได้อพยพมาจากเยอรมนี ไปยังกรุงมอสโกในตอนต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 14 และได้เปลี่ยนสกุลใหม่ว่าสกุลคอชกิน สกุลนี้ได้รับราชการในพระราชสำนักของราชวงศ์รูริคตลอดมาเป็นเวลาร่วม 200 ปี ครั้งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 บุรุษในตระกูลคอชกินผู้หนึ่งชื่อว่า โรมานอฟ ยูริวิช เกิดความรู้สึกว่านาม "คอชกิน" นั้นยังไม่มีสำเนียงเป็นภาษารัสเซียพอ เขาจึงได้เปลี่ยนนามสกุลใหม่ โดยตั้งชื่อตามชื่อแรกของตัวคือ "โรมานอฟ"
ซาร์อีวานที่ 4 ได้ทรงเลือก อนาสตาเซียแห่งรัสเซียเป็นคู่อภิเษก พระองค์ทรงหลงรักเจ้าสาวของพระองค์อย่างดื่มด่ำมาโดยตลอด ดังนั้นเมื่อพระนางอนาสตาเซียสิ้นพระชนม์ในปีพ.ศ. 2103 ทำให้พระราชสวามีทรงโศกเศร้ามากถึงกับเสียสติไปและคอยทรงระแวงผู้คนตลอดเวลา โดยคิดว่าเขาเหล่านั้นได้วางยาพิษพระมเหสีสุดที่รักความแค้นเคืองเหล่านี้เลยทำให้พระองค์ทรงมีสติวิปลาสไป เวลาที่ซาร์อีวานที่ 4 จะเสด็จพระราชดำเนินไปไหน พระองค์จะทรงถือพระแสงหอกไปด้วยเสมอและเมื่อข้าราชบริพารคนใดทำสิ่งใดให้พิโรธ พระองค์ก็จะทรงใช้พระแสงนั้นทิ่มแทงผู้ที่เคราะห์ร้ายนั้นเสีย
ซาร์อีวานที่ 4 ทรงอภิเษกสมรสอีก 6 ครั้ง แต่ก็ไม่ทำให้พระองค์มีอาการดีขึ้นในบั้นปลายแห่งพระชนม์ชีพ อีวานทรงประสบกับการหลอกหลอนจากกรรมต่าง ๆ ที่ได้ทรงกระทำไว้ในอดีตจนพระเกศาร่วงหมดและทรงร้องครวญครางอยู่ทุกคืน กล่าวกันว่า พระองค์สวรรคตในปี พ.ศ. 2127 ด้วยพระชนม์เพียง 54 ชันษา
ช่วงวุ่นวาย
แก้พระราชโอรสของซาร์อีวานที่ 4 ทรงพระนามว่า ซาร์เฟโอดอร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย ได้ครองราชย์ต่อจากซาร์อีวานที่ 4 พระองค์ทรงอ่อนแอมาก ราชการแผ่นดินตกอยู่กับบอริส โกดูนอฟ ผู้เป็นพี่เขยของพระองค์ บอริส โกดูนอฟ ตั้งตนขึ้นเป็นซาร์ เมื่อเฟโอดอร์สวรรคต มีผู้กล่าวว่าเขาเป็นผู้ปลงพระชนม์เจ้าชายดมีตรี พระอนุชาของของเฟโอดอร์พระชนม์ 9 พรรษาครึ่งผู้ซึ่งประสูติจากพระมเหสีองค์ที่ 7 ของซาร์อีวานผู้โหดร้าย ซึ่งควรจะเป็นรัชทายาทของราชบัลลังก์รัสเซียต่อ เจ้าชายดมีตรีได้ประทับอยู่ในเมืองเล็ก ๆ ชื่อว่า อูกลิช (Uglich) ถูกลอบปลงพระชนม์โดยถูกตัดคอหอย ประวัติศาสตร์รัสเซียในสมัยโกดูนอฟครองราชย์อยู่นั้นเรียกว่า "สมัยแห่งความวุ่นวาย" คือมีสงครามทั้งภายในและภายนอกอาณาจักร และมีผู้อ้างตัวเป็นซาร์กันหลายครั้งหลายหน โกดูนอฟบังคับให้คณะเซมสกีซอเบอร์หรือคณะสมัชชาแห่งชาติเลือกเขาเป็นซาร์ต่อจากเฟโอดอร์
มีการแย่งชิงราชบัลลังก์ระหว่างราชวงศ์รูริคกับราชวงศ์โรมานอฟ ในที่สุดสมัชชาแห่งชาติและพระราชาคณะแห่งคริสตจักรออร์ทอดอกซ์ ก็มีมติเลือกมิคาอิล โรมานอฟ ขึ้นเป็นซาร์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์โรมานอฟ ซาร์มิคาอิลที่ 1 แห่งรัสเซีย ได้ขึ้นครองราชสมบัติหลังจากที่ความวุ่นวายทั่วราชอาณาจักรได้สิ้นสุดลงแล้ว เหตุผลที่พระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ เนื่องจากว่าทรงมีเชื้อสายของพระนางอะนัสตาเซียและมเหสีสุดที่รักของซาร์อีวานที่ 4 ซึ่งชาวรัสเซียไม่เคยลืมคุณงามความดีของพระนางเลยประชาชนจึงพร้อมใจกันเลือกเชื้อสายของพระนางอะนัสตาเซียให้เป็นกษัตริย์องค์ใหม่ มิคาอิลทรงขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2156 ด้วยพระชนม์เพียง 16 ชันษา พระองค์ทรงเป็นซาร์พระองค์แรกในราชวงศ์โรมานอฟ
จักรวรรดิรัสเซีย
แก้ซาร์ปีเตอร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย
แก้รัชสมัยของซาร์ปีเตอร์มหาราชจัดเป็นยุคใหม่ในประวัติศาสตร์รัสเซีย ประวัติศาสตร์รัสเซียในสมัยนี้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า "สมัยจักรวรรดิรัสเซีย" เพราะองค์เจ้าซาร์เป็นผู้สร้างยุคของพระองค์ขึ้นพระองค์ทรงได้เป็นซาร์ตั้งแต่ยังมีพระชันษาเพียง 10 ชันษาเท่านั้น ในปี พ.ศ. 2225 และในปีนั้นเองพระองค์ก็ต้องได้รับการแต่งตั้งใหม่ให้เป็นซาร์คู่กับพระเจ้าน้องยาเธอต่างพระราชมารดา คือ ซาร์อีวานที่ 5 แห่งรัสเซีย เมื่อซาร์อีวานที่ 5 สิ้นพระชนม์ ซาร์ปีเตอร์ที่ 1 มหาราชจึงมีพระราชอำนาจโดยแท้จริง ในยุคของพระองค์ทรงขยายอาณาเขตรัสเซียออกไปทางตะวันออกถึงวลาดีวอสตอค และทรงใช้นโยบายสู้ตะวันตก ทรงนำรัสเซียเข้าสู่ยุคใหม่
ในปี พ.ศ. 2242 (ค.ศ. 1699) ซาร์ปีเตอร์ก็ทรงคิดประดิษฐ์ธงชาติตามแบบอย่างชาติตะวันตก ประกอบด้วยแถบสีขาว น้ำเงิน แดงในแนวนอนเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศและสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวรัสเซียและของภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ ซึ่งธงสามสีดังกล่าวนี้ก็ได้ใช้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ยกเว้นในช่วงเวลางระหว่างที่รัสเซียเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสังคมนิยม
ซาร์ปีเตอร์ที่ 1 ทรงพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมและวัฒนธรรมของรัสเซียที่มีลักษณะเป็นแบบตะวันออกให้เป็นตะวันตกโดยการประกาศพระราชโองการให้ประชาชนโกนหนวดเคราทิ้งให้สอดคล้องกับความนิยมของนานาประเทศในยุโรปตะวันตกขณะนั้น เพราะพระองค์ถือว่าหนวดเคราเป็นสัญลักษณ์ของ "โลกเก่า" หรือโลกตะวันออกที่ล้าหลัง หากผู้ใดขัดขืนจะถูกลงโทษ นอกจากนั้นยังทรงนำปฏิทินจูเลียน (Julian Calendar) ที่นิยมกันในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์มาบังคับใช้ในรัสเซียในปี พ.ศ. 2242 (ค.ศ. 1699) แทนปฏิทินแบบเก่าที่นับปีตั้งแต่มีการสร้างโลก ซี่งมีปีศักราชมากกว่าปฏิทินตะวันตก 6,508 ปี โดยในปฏิทินใหม่ให้ถือเอาวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2243 (ค.ศ. 1700) เป็นวันเริ่มปีและศักราชใหม่ของรัสเซีย (เดิมใช้วันที่ 1 กันยายน เป็นวันขึ้นปีใหม่) เพื่อให้นับวันเวลาเดียวกันกับประเทศเหล่านั้น นอกจากนี้ในปี ดังกล่าวและปีต่อมายังทรงออกประกาศบังคับให้ชาวรัสเซียเปลี่ยนแปลงการแต่งกายจากเสื้อคลุมยาวหลวมรุ่มร่ามไม่กระชับตัว เสื้อคลุมมีขนาดยาวประมาณหัวเข่า พร้อมกับมีการจัดแสดงแบบเครื่องแต่งกายทั้งชายหญิงไว้ในที่สาธารณะ เพื่อให้ดูเป็นตัวอย่างซึ่งแบบการแต่งกายที่เริ่มนิยมกันในประเทศอังกฤษในปลายราชวงศ์สจ๊วต ผู้ฝ่าฝืนที่ปรากฏตัวที่ประตูเมืองในชุดเสื้อคลุมยาว จะไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่านประตูเมืองจนกว่าจะยอมตัดชายเสื้อคลุมให้มีขนาดสั้นขึ้น
เมื่อปี พ.ศ. 2248 (ค.ศ. 1705) พระองค์ทรงออกพระราชโองการเก็บ “ภาษีหนวดเครา” กับผู้ที่ฝ่าฝืนซึ่งเห็นว่าหนวดเคราเป็นสิ่งที่พระเป็นเจ้าประทานหรือกำหนดให้ผู้ชายต้องมี และการโกนหนวดเคราจึงถือว่าเป็นบาปโดยทรงกำหนดอัตราภาษีหนวดเคราสูงถึง 60-100 รูเบิล กับชนชั้นต่าง ๆ นับแต่พวกราชสำนัก พ่อค้า ชาวเมือง คนรับใช้ คนขับรถม้า คนขับเกวียน และชาวมอสโกทุกคน (ยกเว้นพวกพระและนักเทศน์) ส่วนชาวนาที่ยากจนก็ถูกกำหนดให้จ่ายภาษีหนวดเคราครั้งละ 2.5 โคเปก ทุกที่เดินเข้าออกประตูเมืองกรุงมอสโก อีกทั้งได้มีการพิมพ์หนังสือสมบัติผู้ดีชื่อ The Hunourable Miror of Youth (พ.ศ. 2260) ขึ้นเพื่อให้เยาวชนลูกผู้ดีมีสกุลได้เรียนรู้กิริยามารยาทในการเข้าสังคมแบบตะวันตกอีกด้วย
ในปี พ.ศ. 2255 ทรงย้ายเมืองหลวงจากมอสโกมาที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของอ่าวฟินแลนด์เพื่อเป็น “หน้าต่างแลยุโรป” และเป็นครั้งแรกที่มีการจัดตั้งกองทหารราชนาวีขึ้นในรัสเซีย ทั้งยังทรงนำช่างฝีมือจากฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ มาสร้างวิหารและพระราชวังที่งดงามอีกมากมาย และทรงนำพาจักรวรรดิรัสเซียให้เป็นที่รู้จักเกรียงไกรในสังคมโลก
พระเจ้าปีเตอร์ได้ทรงแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 8 เขตแดน (guberny) ได้แก่ มอสโก อินเกอร์แมนแลนด์ เคียฟ สโมเลนสค์ คาซาน อาร์คันเกลสค์ อาซอฟ และไซบีเรีย ทุกเขตแดนยกเว้นมอสโกจะมีข้าหลวงซึ่งเป็นคนสนิทของซาร์ออกไปประจำอยู่ ข้าหลวงดังกล่าวมีอำนาจสูงสุดในเขตแดน ทั้งในด้านการบริหาร ตุลาการ การคลัง ตลอดจนการรักษาความปลอดภัย การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางในลักษณะนี้เป็นการลดอำนาจของขุนนางท้องถิ่น อย่างไรก็ดี ต่อมาในปี พ.ศ. 2262 (ค.ศ. 1719) ได้มีการแบ่งเขตแดนออกอีกเป็น 45 มณฑล (ภายหลังเป็น 50 มณฑล) แต่ละมณฑลปกครองโดย "นายทหารข้าหลวง" มีการแบ่งการปกครองเขตมณฑลย่อยลงเป็นเขต (district) และให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นดูแลปกครองตามแบบอย่างการปกครองท้องถิ่นของสวีเดน แต่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก็ไม่สามารถเก็บภาษีได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะภาษีบุคคลจึงมอบอำนาจให้ทหารปกครองเขตแทนในปี พ.ศ. 2265 (ค.ศ. 1722)
ส่วนพวกขุนนางเก่าถูกบังคับให้มอบมรดกที่ดินแก่บุตรชายคนโตเพียงคนเดียวและให้ส่งลูกชายคนรอง ๆ เข้ารับราชการทหารและราชการพลเรือน ยกเลิกยศขุนนางระดับสูงที่เรียกว่า "โบยาร์" และให้ใช้ยศเคานต์ (count) และบารอน (baron) แบบยุโรปตะวันตกแทน พวกขุนนางหนุ่มดังกล่าวก็จะถูกส่งตัวไปรับการศึกษาในประเทศต่าง ๆ ในยุโรปตะวันตกเพื่อนำเอาความรู้ใหม่ ๆ มาพัฒนาประเทศ แต่ขณะเดียวกันซาร์ปีเตอร์ก็ทรงพยายามลดบทบาทของขุนนางโดยทำให้สภาโบยาร์หมดความสำคัญลงด้วย โดยทรงใช้วิธีจัดตั้งสภาองคมนตรี เพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา
ปกครองจักรวรรดิ
แก้เมื่อจักรพรรดินีเอลิซาเบทแห่งรัสเซียสวรรคตในวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2259 ซาร์ปีเตอร์ที่ 3 แห่งรัสเซียได้ขึ้นครองราชย์ พระองค์ก็ทรงบริหารจักรวรรดิแบบตามอำเภอใจ ทรงถอยทัพขณะบุกปรัสเซีย ซึ่งทรงชื่นชอบชาติปรัสเซียมากกว่าเชื้อชาติรัสเซียในตัวพระองค์เอง ทรงเปลี่ยนเครื่องแบบราชสำนักรัสเซียให้กลายเป็นสีของทางราชสำนักปรัสเซีย สร้างความไม่พอใจให้ทั้งกองทัพ ประชาชนชาวรัสเซีย พวกขุนนาง แม้แต่พระนางแคเทอรินมเหสีด้วย และเมื่อถึงขีดสุด วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2305 หลังจากที่ปกครองจักรวรรดิได้เพียงแค่ 6 เดือน ก็ทรงถูกพระนางเจ้าแคเทอรินยึดอำนาจอธิปไตยทั้งหมด และถูกนำตัวไปกักขังในคุกชานกรุงเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก หลังจาก 3 วันหลังยึดอำนาจกองทัพก็ได้พระกาศให้พระนางแคเทอรินเป็นจักรพรรดินีแคเทอรินที่ 2 แห่งรัสเซียครองรัสเซียสืบไป
สมัยพระนางเจ้าแคเทอรินที่ 2 การพัฒนาทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมในราชอาณาจักรรัสเซียไม่ค่อยได้สัดส่วนกับการพัฒนาทางด้านการเมือง ตัวอย่างที่เห็นได้ว่าคือเมื่อสิ้นสุดของคริสต์ศตวรรษที่ 18 แล้วรัสเซียได้ถีบตัวเองให้ก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจ แต่เมื่อเทียบกับสภาพชีวิต สังคม และวัฒนธรรมของประชาชนแล้ว อาจกล่าวได้ว่าความเป็นอยู่และการดำเนินชีวิตของชาวรัสเซียนั้นล้าหลังมากเมื่อเทียบกับสภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนของประเทศยุโรปตะวันตก
พระนางทรงการยึดคาบสมุทรไครเมียมาจากจักรวรรดิออตโตมัน เพื่อที่รัสเซียจะได้มีทางออกสู่ทะเลดำ และพระนางเจ้าแคเทอรินก็ทรงมีชัยเหนือจักรวรรดิออตโตมันในการครอบครองแหลมไครเมียเป็นพระองค์แรก
ตลอดการครองราชสมบัติของพระนางเจ้าแคเทอริน พระองค์ทรงทำนุบำรุงจักรวรรดิ ปฏิรูปประเทศ วางตัวเหมาะสมเพื่อให้เป็นที่สนใจ และยังนำเบี้ยกำนัลจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นของขวัญให้กับชาวไร่ชาวนาและทาสมากมาย พระนางเจ้าแคเทอรินมีพระโอรส 1 พระองค์ นามว่าพอล พอลเป็นโอรสของพระนางแคเทอรินกับพระเจ้าปีเตอร์ที่ 3 ถึงแม้พระนางแคเทอรินจะมีสามีใหม่ พอลก็ไม่ค่อยจะยอมรับสักเท่าไหร่ ถึงแม้ระยะครองราชย์จะยาวนานแต่ไม่ว่ากิจการใดที่เป็นหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ แคเทอรินก็ไม่เคยย่อท้อ เมื่อพอลอภิเษกสมรสก็มีโอรส 1 พระองค์นามว่า อเล็กซานเดอร์ที่ 1 ซึ่งแคเทอรินหวังจะให้เป็นองค์รัชทายาทสืบไปหลังจากที่แคเทอรินทรงเล็งเห็นว่าพอลไม่สามารถเป็นซาร์ได้ เสด็จสวรรคตโดยปกครองจักรวรรดิ 34 ปี การปกครองของพระองค์เป็นการอธิบายถึงการเป็น พระประมุขสูงสุดที่ทรงภูมิธรรม (an enlightened despot)
ในสมัยซาร์พอลล์ที่ 1 แห่งรัสเซียมีพระชนมายุ 42 ชันษา การกระทำแรกของพระองค์ในการเป็นพระจักรพรรดิคือการสั่งให้ไต่สวนเรื่องที่เกิดขึ้น เมื่อทราบแน่ชัดแล้วว่าพระราชมารดาสวรรคตจริงจึงได้ออกคำสั่งให้ทำลายพินัยกรรมของพระมารดาทิ้ง ซึ่งเป็นที่กล่าวลือกันว่าพินัยกรรมฉบับนี้เขียนขึ้นจากความปรารถนาที่แคทเธอรีนต้องการจะกีดกันพระองค์จากราชบัลลังก์รัสเซียและยกให้อเล็กซานเดอร์ พระนัดดาพระองค์โตแทน ซึ่งจากความกลัวนี้เองที่น่าจะทำให้พระองค์ประกาศพระราชบัญญัติว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์รัสเซียปี พ.ศ. 2340 หรือเป็นที่รู้จักในนาม "กฎหมายพอลล์ไลน์" เพื่อเป็นการจำกัดหลักในการสรรหารัชทายาทขึ้นสืบราชบัลลังก์ในราชวงศ์โรมานอฟ ซึ่งก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขโดยรัชทายาทของพระองค์เลย พระองค์ขึ้นครองราชย์ ได้เพียง 4 ปี ก็สวรรคต ต่อมาสมัยของซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 ทรงเป็นซาร์ของรัสเซียที่เปิดศักราชของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ของรัสเซียในช่วงที่อเล็กซานเดอร์ครองราชย์อยู่นั้น นักประวัติศาสตร์รัสเซียได้แบ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยของพระองค์ออกเป็น 3 สมัยคือ
- สมัยแรก เป็นช่วงเหตุการณ์ตั้งแต่ปีที่ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 ครองราชย์จนถึงปีที่รัสเซียสนธิสัญญาสันติภาพแห่งเมืองทิลซิทกับฝรั่งเศสอันเป็นสมัยแห่งการประกาศพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับการปฏิรูปทางด้านการเมือง และสังคม-ภายในประเทศจนกระทั่งนโยบายปฏิรูปต่าง ๆ ต้องหยุดชะงัก เนื่องจากประเทศต้องทำสงครามกับนโปเลียน
- สมัยที่สอง จากเหตุการณ์ตั้งแต่รัสเซียทำสนธิสัญญาสันติภาพแห่งเมืองทิลซิทจนถึงสมัยของการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา ในช่วงนี้ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 ได้ทรงหันมาเอาพระทัยใส่ในการปฏิรูปทางด้านต่าง ๆ อีก เลยทำให้การเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสเริ่มสั่นคลอนลง ในที่สุดเลยทำให้รัสเซียต้องทำสงครามกับนโปเลียน
- สมัยที่สาม จากเหตุการณ์หลังการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา จนถึงช่วงสุดท้ายของรัชกาล จัดว่าเป็นสมัยแห่งความวุ่นวายในราชอาณาจักร เนื่องจากชาวรัสเซียได้มีโอกาสติดต่อกับประเทศต่าง ๆ ในยุโรป หลังจากสงครามนโปเลียน เลยทำให้ชาวรัสเซียที่มีการศึกษาเกิดความคิดที่ต้องการจะปฏิรูปสังคมและวิถีชีวิตตามแบบพวกยุโรปภาคตะวันตก แต่เป็นที่น่าเสียใจที่ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 ไม่ทรงเอาพระทัยใส่ต่อเสียงเรียกร้องของบุคคลกลุ่มใดเลย เนื่องจากชีวิตของพระองค์ในช่วงหลังการประชุมที่กรุงเวียนนานั้น พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่แต่กิจการต่างประเทศและหมกหมุ่นอยู่กับศาสนา
อาณาจักรโปแลนด์ ความฝันของซาร์ตอรีสกีที่ต้องการเห็นประเทศชาติของเขาได้มีอาณาเขตเท่ากับก่อนที่จะถูกแบ่งแยกให้กับชาติมหาอำนาจ 3 ชาติ เมื่อครั้งสมัยพระนางเจ้าแคเทอรินเกือบจะเป็นความจริง เนื่องจากที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนาได้ลงมติให้มี "อาณาจักรโปแลนด์" ขึ้นมาโดยให้เป็นประเทศที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
สิ้นสุดจักรวรรดิรัสเซีย
แก้จักรวรรดิรัสเซียในช่วงปี พ.ศ. 2368- พ.ศ. 2391 เป็นสมัยที่ชาวรัสเซียทั่วไปต้องประสบกับการถูกควบคุมตัวอย่างใกล้ชิดจากสถาบันสูงสุดของชาติ เนื่องจากซาร์ที่ปกครองรัสเซียในสมัยนี้คือซาร์นิโคลัสที่ 1 แห่งรัสเซียนั้น ทรงปกครองประเทศอย่างเข้มงวดเด็ดขาดมาก เนื่องจาก พระองค์นั้นทรงยึดมั่นในทฤษฎีการเป็นกษัตริย์ตามแบบเทวสิทธิ์ที่ว่า กษัตริย์ทรงเป็นผู้ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงแต่งตั้งขึ้นมา สถาบันกษัตริย์จึงเปรียบเทียบได้ว่าเป็นตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้าบนพื้นพิภพ ดังนั้น อำนาจของกษัตริย์จึงเป็นอำนาจสูงสุดที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้ ผู้ใดที่บังอาจคิดร้ายต่อสถาบันกษัตริย์ ต้องถือว่าเป็นกบฏเป็นอาชญากรรมอย่างร้ายแรง ซาร์นิโคลัสที่ 1 ได้ทรงตั้งจุดประสงค์ในการครองราชย์ของพระองค์ซึ่งทางราชการเรียกว่า "Official-Nationality" ในปี พ.ศ. 2376 อันมีคำขวัญว่า อนุรักษนิยม อัตตาธิปไตย และสัญชาติ ผู้ที่ถวายความคิดนี้ คือ เคานต์เซียร์เกย์ อูวารอฟ ดังนั้น ในสมัยนี้จึงจัดว่าเป็นสมัยที่ชาวรัสเซียต้องกระทบกระเทือนกับระบบกลไกต่าง ๆ ของรัฐบาล
มีฮาอิล บาคูนิน ผู้รู้จักกันในนามบิดาแห่งอนาธิปไตย เขาออกจากรัสเซียไปยุโรปตะวันตกในปี พ.ศ. 2385 และกลายเป็นนักสังคมนิยมหลังจากเขามีส่วนร่วมในการปฏิวัติที่เดรสเดินในปีพ.ศ. 2392 เขาถูกจำคุกไปที่ไซบีเรีย ในที่สุดเขาก็หลบหนีมาได้และกลับไปยุโรป เผยแพร่ทฤษฎีอนาธิปไตยจนแพร่หลายในยุโรป ทฤษฎีสังคมของเขาเป็นประโยชน์มากสำหรับกลุ่มหัวรุนแรงที่ต่อต้านระบอบกษัตริย์และพระราชวงศ์ เป็นเหตุให้มีการปฏิวัติขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ เขาคัดค้านลัทธิคอมมิวนิสต์ของคาร์ล มาร์กซ ด้วยเหตุผล ที่ว่าลัทธิคอมมิวนิสต์รวมอำนาจทุกชนิดของสังคมเข้าสู่รัฐ และลงท้ายด้วยการรวมกรรมสิทธิ์ไว้กับรัฐ ซึ่งเขาเห็นว่าจะมีชนชั้นหนึ่งได้ผลประโยชน์จากการให้คงมีรัฐอยู่เสมอ และในกรณีของรัฐคอมมิวนิสต์คือชนชั้นข้ารัฐการ
ตั้งแต่รัสเซียประสบกับความพ่ายแพ้ในสงครามไครเมียแล้ว สถานการณ์ดังกล่าวนี้ได้ทำให้ชาวรัสเซียทั้งมวลทุกชั้นวรรณะ ตลอดจนพระองค์ซาร์เองก็ได้มีความเห็นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันถึงความจำเป็นในการที่อาณาจักรรัสเซียควรจะเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองและสภาพสังคมในแทบทุก ๆ เรื่อง
ดังนั้นหลังจากที่ได้มีการเซ็นสัญญาสงบศึกกับสัมพันธมิตรเพื่อสงบศึกไครเมียแล้ว ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 แห่งรัสเซียจึงทรงปรึกษาหารือกับบรรดาขุนนาง ถึงการที่จะมีพระราชโองการปลดปล่อยทาสติดที่ดิน ในตอนนี้ปัญหาที่ว่ายังไม่มีถึงเวลาที่จะปลดปล่อยทาสนั้นได้หมดสิ้นไปแล้ว แต่ในที่สุดก็ได้มีปัญหาใหม่ว่าการปลดปล่อยทาสนั้นจะมีวีการอย่างไร แต่ในที่สุดก็ได้มีพระราชโองการปลดปล่อยทาสได้ในที่สุด และผลที่ตามมาก็คือ รัสเซียได้ปฏิรูปงานบริหารราชการแผ่นดินอีกหลายอย่าง รวมทั้งระบบเศรษฐกิจ การทหาร การปกครองในจังหวัดต่าง ๆ และทางด้านการศึกษา
ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ทรงตั้งพระทัยที่จะเปลี่ยนการปกครองเป็นประชาธิปไตยแต่ในตอนเช้าของวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2424 ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ขณะมีพระชนมพรรษา 62 พรรษา ทรงถูกปลงพระชนม์ในขณะเสด็จกลับจากการตรวจแถวทหารมายังพระราชวังฤดูหนาว และพระองค์ก็เสด็จสวรรคตในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา พระองค์ถูกปลงพระชนม์โดยพวกอนาธิปไตย
รัสเซียในช่วง พ.ศ. 2424 จนถึง พ.ศ. 2437 เป็นสมัยที่ชาวต่างชาติมักจะมองกันว่ารัสเซียสงบราบรื่น ถึงขนาดที่มีผู้ให้สมญาซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 แห่งรัสเซีย ว่าทรงเป็น "ซาร์แห่งสันติภาพ" ซึ่งผู้ที่ให้สมญาดังกล่าวอาจจะมองรัสเซียอย่างผิวเผินเฉพาะเหตุการณ์ทางด้านการต่างประเทศ และความสงบจากการที่รัสเซียสามารถแก้ปัญหาจากการปฏิวัติทุกรูปแบบภายในประเทศได้สำเร็จ ทางด้านการต่างประเทศนั้น รัสเซียได้ดำเนินนโยบายเป็นมิตรสนิทกับจักรวรรดิเยอรมนีและจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี จนกระทั่งเกิดปัญหาเรื่องดินแดนในคาบสมุทรบอลข่านในช่วงปลายปี พ.ศ. 2413 ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับออสเตรียและเยอรมนีก็เริ่มเสื่อมคลายลง รัสเซียจึงเปลี่ยนนโยบายไปเป็นมิตรสนิทสนมกับฝรั่งเศสและอังกฤษ ในรัชสมัยของซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 กลุ่มต่อต้านระบอบกษัตริย์เงียบหายไปอย่างรวดเร็ว มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งได้พยายามวางแผนลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระจักรพรรดิในงานครบรอบหกปีการเสด็จสวรรคตของพระชนกนาถ ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ที่จัดขึ้น ณ ป้อมปีเตอร์และปอล มหาวิหารสุสานหลวงแห่งราชวงศ์โรมานอฟในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เหล่านักวางแผนก่อการร้ายได้ยัดระเบิดลงไว้ในไส้ข้างในของหนังสือเรียนที่พวกเขาตั้งใจจะขว้างใส่จักรพรรดิขณะเสด็จกลับจากมหาวิหาร อย่างไรก็ตาม ตำรวจลับรัสเซียได้เปิดโปงแผนการร้ายก่อนที่ถูกทำให้สำเร็จลุล่วง นักศึกษาจำนวนห้าคนถูกจับแขวนคอ รวมทั้งอเล็กซานเดอร์ อูลยานอฟ เขามีน้องชายที่มีพรสวรรค์คนหนึ่ง ซึ่งมีความคิดทางการเมืองในเชิงปฏิบัติดังเช่นพี่ชาย เด็กชายคนนั้นคือ วลาดีมีร์ เลนิน ซึ่งอีกหลายปีต่อมาได้ใช้เวลาส่วนมากกับขบวนการปฏิวัติใต้ดินอยู่ในทวีปยุโรปในการหล่อหลอมแนวคิดและทฤษฎีทางการเมืองที่เขาจะนำมาใช้ในประเทศรัสเซียหลังจากการกลับมาในปี พ.ศ. 2460 เพื่อล้างแค้นให้กับการตายของพี่ชาย ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนพ.ศ. 2437 ณ พระราชวังลิวาเดีย ที่ประทับตากอากาศบนแหลมไครเมีย ขณะมีพระชนมพรรษาได้ 49 พรรษา
หลังจากซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 แห่งรัสเซียสวรรคต มกุฎราชกุมารนิโคลัสได้ครองราชสมบัติต่อเป็นซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย พระองค์ทรงเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของรัสเซีย พระองค์ขึ้นครองราชย์พร้อมกับการเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส ไม่สามารถตกลงอะไรกันได้กับอังกฤษ ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นจักรพรรดิที่อ่อนแอ ไม่สามารถจัดการกับสถานการณ์ที่ปั่นป่วนของประเทศ พ่ายแพ้การรบทางเรือในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2447-พ.ศ. 2448 ได้ทรงเข้าบัญชาการรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่พระองค์ไม่สามารถควบคุมกองทัพได้
ในปีพ.ศ. 2458 หลังเกิดสงครามโลกเพียงปีเดียว ได้ทรงเข้าเป็นผู้บัญชาการกองทัพรัสเซียเพื่อสู้รบการฝ่ายทหารส่วนกลางและกลุ่มชนชั้นกลางซึ่งเป็นฝ่ายปฏิวัติ ทำให้ราษฎรไม่พอใจลุกขึ้นต่อต้านเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังทรงปล่อยให้ เกรกอรี รัสปูติน พระนอกรีตลึกลับ เข้าไปมีมีอิทธิพลในราชสำนักโดยเฉพาะช่วงที่ขณะออกสงคราม และมีจักรพรรดินีอเล็กซานดราทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ทรงถูกครอบงำ พระองค์จึงถูกโค่นราชบัลลังก์โดยถูกพวกบอลเชวิคที่เป็นฝ่ายปฏิวัติบังคับให้สละราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2460 ถูกนำไปกักขังไว้และถูกยิงสิ้นพระชนม์พร้อมพระราชวงศ์หลายพระองค์ นับเป็นการสิ้นสุดราชวงศ์โรมานอฟอันยาวนาน
สหภาพโซเวียต
แก้การปฏิวัติรัสเซีย
แก้การตัดสินใจเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ของซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย ได้นำมาซึ่งความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง ทั้งชีวิตของทหารและชาวรัสเซียนับล้าน และเกิดการจลาจลขึ้นทั่วประเทศ ในที่สุดปี พ.ศ. 2460 จึงเกิดการปฏิวัติล้มล้างระบบซาร์ พระเจ้านิโคลัสที่ 2 สละราชสมบัติ และได้มีการจัดตั้งคณะรัฐบาลชั่วคราวเคเรนสกีขึ้นบริหารประเทศ แต่พรรคบอลเชวิค นำโดย วลาดีมีร์ เลนิน ก็ทำการปฏิวัติยึดอำนาจการบริหารประเทศไว้ได้ โดยการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ พร้อมทั้งประกาศให้ประเทศเป็นสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต
สงครามกลางเมืองรัสเซีย
แก้สงครามกลางเมืองรัสเซีย เกิดขึ้นนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2461 กองทัพแดงของพรรคบอลเชวิคถูกคุกคามจากรอบด้าน โดยในยูเครนนั้น เยอรมนีได้สนับสนุนรัฐบาลแยกดินแดนชาวยูเครน ส่วนทางใต้นายทหารซาร์คือ นายพลเดนีกิน (Denikin) ได้จัดตั้งกองทัพอาสาสมัคร มีกำลังสำคัญคือ ทหารคอสแซคขับไล่พวกแดงออกจากเทือกเขาคอเคซัส ในเทือกเขายูรัลและไซบีเรีย นายพลสมัยซาร์คือนายพล เอ. วี. คอลชัค จัดตั้งกองทัพของตนขึ้นมาพร้อมกับประกาศตนเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในรัสเซียในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2461 กองกำลังของทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งเข้าโจมตีมอสโกใน พ.ศ. 2462 แต่กองทัพคอลชัคถูกกองทัพแดงขับไล่ไปยังไซบีเรียในปี พ.ศ. 2463 ต่อมา กองทัพของนายพลเดนีกินถูกทำลายใน ค.ศ. 1920 และเมื่อมีกองทัพของอดีตนายพลสมัยซาร์อีกคนหนึ่งคือ ยูเดนิช ซึ่งได้ยกจากเอสโตเนีย สู่เปโตรกราด ในฤดูร้อน พ.ศ. 2462 ก็ต้องเป็นฝ่ายแพ้เช่นเดียวกัน การคุกคามครั้งสำคัญเกิดขึ้นอีกเมื่อโปแลนด์ยกกองทัพบุกยูเครน ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2463 กองทัพแดงขับไล่ทหารโปแลนด์ถอยร่นไปถึงแม่น้ำวิสตูลา แต่ชาวโปแลนด์ผู้รักชาติสามารถร่วมมือกันรักษากรุงวอร์ซอไว้ได้ และทั้งสองฝ่ายได้ลงนามสงบศึกในเดือนตุลาคม
ความพ่ายแพ้ของฝ่ายขาวทุกด้าน ทำให้บอลเชวิคสามารถขยายอิทธิพลเข้าไปในทุกภูมิภาค แห่งสุดท้ายคือ วลาดีวอสตอค ซึ่งได้รับการฟื้นฟูขึ้นภายหลังการยึดครองของญี่ปุ่นพ.ศ. 2461 ได้ถอนตัวออกไปใน พ.ศ. 2465
ชัยชนะของบอลเชวิคเกิดขึ้นด้วยหลายปัจจัย เช่น การที่เลออน ทรอตสกี สามารถระดมกำลังทหารของซาร์จัดเป็นกองทัพแดงที่แข็งแกร่ง การควบคุมเขตอุตสาหกรรมสำคัญทางภาคกลาง และความสามารถในการส่งกำลังจากมอสโกออกไปยังที่ที่ต้องการได้เป็นรัศมีกว้าง
ยุคสตาลินและยุคหลังสตาลิน
แก้เลนินถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2467 โจเซฟ สตาลินขึ้นบริหารประเทศแทนด้วยความเผด็จการ และกวาดล้างทุกคนผู้ที่มีความคิดต่อต้าน เขาเปิดการพัฒนาประเทศสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่จนเทียบเคียงสหรัฐอเมริกา แต่ปัญหาความอดอยากที่เรื้อรังมานานก็ยากเกินเยียวยา และยิ่งเลวร้ายเมื่อฮิตเลอร์สั่งล้อมมอสโกไว้ โดยเฉพาะที่เลนินกราดถูกปิดล้อมไว้นานถึง 900 วันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ชาวรัสเซียเรียกสงครามครั้งนั้นว่า The Great Patriotic War กระนั้นสตาลินก็มีบทบาทในการพิชิตนาซีเยอรมนี ในสงครามโลกครั้งที่สอง
สมัยเริ่มต้นสงครามเย็น น่าจะอยู่ในสมัยวิกฤตการณ์ทางการทูตในตอนกลางและปลาย พ.ศ. 2490 เมื่อสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตเกิดขัดแย้งเรื่องการจัดตั้งองค์การสันติภาพในตุรกี ยุโรปตะวันออก และเยอรมนี ซึ่งทำให้สหรัฐอเมริกาเริ่มตระหนักว่าเป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องเป็นผู้นำต่อต้านแผนการยึดครองโลกของสหภาพโซเวียตที่เป็นผู้นำฝ่ายคอมมิวนิสต์
ปี พ.ศ. 2498 นิกิตา ครุสชอฟ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำโดยมีแนวคิดในการบริหารประเทศที่เน้นการอยู่ร่วมกัน มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนผ่อนคลายความเข้มงวดให้น้อยกว่าสมัยสตาลิน รวมถึงเปิดพระราชวังเครมลินเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ประชาชนได้เข้าชมอีกด้วย ปี พ.ศ. 2507 ครุชชอฟลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคแทน เบรจเนฟแผ่อิทธิพลไปถึงจีน คิวบา และอัฟกานิสถาน เพิ่มความเครียดไปทั่วโลก เขาจึงนำนโยบายต่างประเทศที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในชื่อ การผ่อนคลายความตึงเครียด มาใช้โดยปีพ.ศ. 2523 มอสโกได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 22
การล่มสลายของสหภาพโซเวียต และสู่สหพันธรัฐรัสเซีย
แก้มิคาอิล กอร์บาชอฟ ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมิวนิสต์ และขึ้นเป็นประธานาธิบดีแทนนายอังเดร โกรมิโกรที่ลาออกในปี พ.ศ. 2531 เขาเป็นผู้นำการปฏิรูปโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่เรียกว่า เปเรสตรอยกา (Perestroyka) โดยนำพาประเทศเข้าสู่ระบบทุนนิยม มีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และพัฒนาฝีมือแรงงานรวมถึงเสนอนโยบายเปิดกว้างกลาสนอสต์ (Glasnost) คือให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณชน มีการติดต่อด้านการค้ากับตะวันตก รวมถึงถอนกำลังออกจากยุโรปตะวันออกและอัฟกานิสถานและยังได้เข้าร่วมกับองค์การนาโต้หรือองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ในปี พ.ศ. 2533 กอร์บาชอฟได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ รวมถึงได้รับยกย่องจากนิตยสารไทม์ให้เป็นบุรุษแห่งทศวรรษ (Man of the Decade) กระนั้นปัญหาขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค และความล้าหลังทางการผลิตที่สั่งสมมานานก็ทำให้นโยบายเปเรสตรอยกาล้มเหลว ความนิยมในกอร์บาชอฟเริ่มตกลง
ต่อมาเกิดรัฐประหารขึ้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2534 โดยกลุ่มคอมมิวนิสต์หัวเก่าที่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงสู่ตลาดเสรี แต่บอริส เยลต์ซิน ก็สามารถกู้สถานการณ์เอาไว้ได้ กอร์บาชอฟจึงสิ้นคะแนนนิยมอย่างแท้จริง เขาประกาศลาออกจากตำแหน่ง รวมถึงประกาศยกเลิกพรรคคอมมิวนิสต์ต่อหน้ามหาชน พร้อมด้วยการก้าวขึ้นเป็นผู้นำของเยลต์ซิน สหภาพโซเวียตจึงล่มสลาย สาธารณรัฐต่าง ๆ 15 แห่งประกาศแยกตัวเป็นอิสระ หนึ่งในนั้นคือสาธารณรัฐรัสเซียซึ่งใช้ใหม่ชื่อว่า สหพันธรัฐรัสเซีย โดยมี 11 รัฐที่รวมตัวกันตั้งเป็นเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent Stage หรือ CIS) ซึ่งมีรัสเซีย, ยูเครนและเบลารุส เป็นแกนนำสำคัญ กับการบริหารปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยที่ส่งให้เยลต์ชินดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีถึง 2 สมัย ปี พ.ศ. 2543 มีการเลือกตั้งครั้งที่ 3 นายวลาดีมีร์ ปูติน ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจนถึง 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ก็หมดวาระ ประธานาธิบดีคือ ดมิตรี มิดเวดิฟ และต่อมานายวลาดีมีร์ ปูตินได้ชนะการเลือกตั้งดำรงต่อในปัจจุบัน
อ้างอิง
แก้- http://www.wt.ac.th/~piram/Russia.ppt เก็บถาวร 2009-06-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- http://www.bangli.net/5/Jiraporn/Jiraporn6.1/noname3.htm เก็บถาวร 2008-04-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Sergey Solovyov. History of Russia from the Earliest Times, ISBN 5-17-002142-9
- Nikolay Karamzin. History of the Russian State, ISBN 5-02-009550-8
- Full Collection of Russian Annals, Moscow,2001, ISBN 5-94457-011-3.