คลองวัดประดู่ (จังหวัดสมุทรสงคราม)
คลองวัดประดู่ หรือ คลองประดู่ เป็นคลองที่แยกจากคลองแควอ้อม (หรือแม่น้ำอ้อมซึ่งเชื่อว่าเป็นลำน้ำแม่กลองเก่า) ที่แนวแบ่งเขตระหว่างตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม กับตำบลวัดเพลง อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี ไหลไปทางใต้โดยเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม กับอำเภอวัดเพลงและอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี และระหว่างอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม กับอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี จากนั้นไหลเข้าเขตอำเภอเขาย้อย แล้วไปลงคลองบ้านน้อยที่หมู่ที่ 7 บ้านบางสามแพรก ตำบลเขาย้อย มีความยาวประมาณ 27 กิโลเมตร[1] ปากคลองด้านเหนืออยู่ข้างวัดแก้วเจริญ ชาวบ้านเรียกปากคลองด้านนี้เป็น 2 ชื่อ คือ "ปากคลองวัดประดู่" หรือ "ปากคลองวัดแก้ว"
ปากคลองบริเวณวัดแก้วเจริญเป็นชุมชนเก่าแก่ที่เรียกว่า "สวนนอก" และวัดแก้วเจริญเป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นวัดร้างมานานจนชาวบ้านท่าใหญ่กรุงศรีอยุธยาได้อพยพหลบภัยพม่า เมื่อเสียกรุง พ.ศ. 2310 พบวัดร้างนี้ ภายหลังได้มีการปฏิสังขรณ์วัดนี้ และปรากฏหลักฐานใน จดหมายเล่าเรื่องตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประพาสหัวเมืองเมื่อ ร.ศ. 123 (พ.ศ. 2447) ปรากฏชื่อ "ตลาดปากคลองวัดประดู่" ชุมชนคงอาศัยอยู่บนเรือนแพ ภายหลังได้สร้างบ้านแถวไม้ปลูกต่อ ๆ กันไป[2] ปัจจุบันราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนมะพร้าวและส้มโอ ทำนาข้าว และเลี้ยงปลา และมีวุ้นมะพร้าวเป็นผลิตภัณฑ์ที่สำคัญของชุมชน[3]
ตอนกลางของคลองวัดประดู่เป็นชุมชนสวนมะพร้าว นาข้าว และบ่อเลี้ยงปลา น้ำในคลองวัดประดู่ไหลไปลงทะเลได้สองทาง ทางแรกไปทางจังหวัดเพชรบุรี อีกทางหนึ่งไหลผ่านฝายที่ตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา ผ่านชุมชนยี่สาร ทั้งสองทางไปบรรจบกับแม่น้ำบางตะบูนและไหลลงทะเลบริเวณจะงอยปากของอ่าวไทยรูปตัว ก ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงหอยแครงแหล่งใหญ่ น้ำบางส่วนจากคลองวัดประดู่ไปถึงคลองโคน คลองช่อง แพรกทะเล และไหลออกทะเล บางส่วนเข้าคลองขุดดอนจั่น และคลองประชาชมชื่น แตกแขนงไปตามคลองซอยอีกหลายสาย[4]
อ้างอิง
แก้- ↑ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม ๓ (อักษร น-ม) ฉบับราชบัณฑิตยสภา. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2560.
- ↑ อรุณวรรณ ศิริวชิราภรณ์. (2550) ปัจจัยที่มีผลต่อการดำรงอยู่ของการตั้งถิ่นฐานดังเดิมของชุมชนปากคลองวัดประดู่ จังหวัดสมุทรสงครามและจังหวัดราชบุรี . จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย/กรุงเทพฯ. DOI : https://doi.nrct.go.th/ListDoi/listDetail?Resolve_DOI=10.14457/CU.the.2007.1129
- ↑ "ชุมชนริมคลองวัดประดู่". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.
- ↑ "น้ำ คือ ชีวิตของพวกเรา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-31. สืบค้นเมื่อ 2022-10-31.