ขลู่

สปีชีส์ของพืช
ขลู่
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Asterids
อันดับ: Asterales
วงศ์: Asteraceae
สกุล: Pluchea
สปีชีส์: P.  indica
ชื่อทวินาม
Pluchea indica
(L.) Less.
ชื่อพ้อง

ขลู่ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Pluchea indica (L.) Less.) เป็นพืชที่พบมากในประเทศเขตร้อน เช่น ประเทศไทย มาเลเซีย จีน และฟิลิปินส์ เป็นต้น ชอบขึ้นตามพื้นที่ชื้นแฉะ ขยายพันธุ์โดยการปักชำ เป็นพืชที่ปลูกค่อนข้างง่าย ขึ้นได้ในดินแทบจะทุกชนิด ขลู่มีชื่อพื้นบ้านว่า หนาดวัว หนาดงิ้ว หนวดวัว หรือหนวดงิ้ว (อุดรธานี), ขลู คลู (ภาคใต้), เพี้ยฟาน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ขี้ป้าน (แม่ฮ่องสอน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

แก้

ขลู่เป็นพืชที่มีลักษณะเป็นไม้พุ่ม ขึ้นเป็นกอ แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นสูงประมาณ 0.5–2.5 เมตร ใบมีลักษณะค่อนข้างเรียบรูปไข่กลับ กว้างประมาณ 1–5 เซนติเมตรและยาว 2.5–10 เซนติเมตร ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย โดยรอบมีขนขาว ๆ ปกคลุม ก้านใบสั้นมาก เนื้อใบบาง แผ่นใบเรียบเป็นมัน ใบค่อนข้างแข็งและเปราะ ใบมีกลิ่นหอมฉุน ช่อดอกงอกออกมาจากด้านบนและซอกของใบ กลีบดอกสีม่วง ส่วนของดอกสีม่วงหรือม่วงอ่อน ประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก มีทั้งดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย ผลแห้งเมล็ดล่อน รูปทรงกระบอกเป็นสันเหลี่ยม 10 สัน ระยางค์มีน้อย สีขาว ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร ลำต้นกลมสีน้ำตาลแดง หรือเขียว ลำต้นและกิ่งก้านมีขนละเอียดปกคลุม เมล็ดมีลักษณะเป็นฝอยเล็ก ๆ เมื่อแก่จะปลิวไปตามลม[1][2]

ขลู่เป็นพืชที่สามารถพบได้ตลอดปี สารเคมีที่พบในขลู่ ได้แก่ โซเดียม คลอไรด์[3] และโพแทสเซียม ขลู่เป็นพืชที่สามารถสะสมโครเมียมในชีวมวลได้ถึง 51.3 มิลลิกรัม/กิโลกรัม[4]

การใช้ประโยชน์

แก้

ขลู่เป็นพืชที่รับประทานได้ ใบนำไปลวกจิ้มน้ำพริก หรือใส่ในแกงคั่ว[5] นอกจากนั้น ยังนำใบไปตากแห้ง ใช้ทำชา ดื่มแก้กระหายน้ำ ช่วยลดน้ำหนัก ยอดอ่อนรับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือกินกับน้ำแกง[6] ดอกนำไปยำกับเนื้อสัตว์ต่าง 

ฤทธิ์ทางยาของขลู่ ทั้งต้นใช้ต้มเป็นยาช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ เบาหวาน, ต้มอาบ แก้ผื่นคันและโรคผิวหนัง, ใบและรากใช้แก้ไข้, พอกแก้แผลอักเสบ, ใบกับต้นอ่อนใช้รักษาอาการปวดตามข้อ[6] ใบช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร โดยการคั้นน้ำจากใบสด, แก้กระษัย เป็นยาอายุวัฒนะ, รากสด รับประทานเป็นยาฝาดสมาน, แก้บิด, ไข้หวัด

อ้างอิง

แก้
  1. "กลุ่มยารักษาริดสีดวงทวาร, ขลู่". โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ.
  2. "ขลู่". ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.
  3. อรสา สุริยาพันธ์. "บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน, ใบขลู่: คุณค่าทางโภชนาการ ฤทธิ์ทางชีวภาพและความเป็นพิษ". คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. Sampanpanish, Pantawat (2007). "Chromium removal by Phytoremediation and Biosorption". ScienceAsia. 33: 353–362. doi:10.2306/scienceasia1513-1874.2007.33.353.
  5. อรทัย เนียมสุวรรณ; นฤมล เส้งนนท์; กรกนก ยิ่งเจริญ; พัชรินทร์ สิงห์ดำ (กรกฎาคม–กันยายน 2012). "พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของพืชกินได้จากป่าชายเลนและป่าชายหาดบริเวณเขาสทิงพระ จังหวัดสงขลา" (PDF). วารสารวิทยาศาสตร์. มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 40 (3): 981–991.
  6. 6.0 6.1 มัณฑนา นวลเจริญ (2009). พรรณไม้ป่าชายหาด. ปทุมธานี: สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. p. 19. ISBN 978-616-12-0030-5.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้