ท่านผู้หญิงขจร ภะรตราชา (21 กรกฎาคม พ.ศ. 2433 – 23 กันยายน พ.ศ. 2529) เป็นภรรยาของพระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา)

ท่านผู้หญิง

ขจร ภะรตราชา
เกิด21 กรกฎาคม พ.ศ. 2433
เสียชีวิต23 กันยายน พ.ศ. 2529 (96 ปี)
คู่สมรสพระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา)
บิดามารดาร้อยโทจร ทับเป็นไท
หวาน ทับเป็นไท

ประวัติ แก้

ท่านผู้หญิงขจรเป็นธิดาของร้อยโทจร กับหวาน ทับเป็นไท เกิดเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2433 บิดารับราชการในกองมหาดเล็ก รับใช้เบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อย่างใกล้ชิดอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ด้วยเหตุนี้เมื่อท่านผู้หญิงขจรกำพร้าบิดาลงขณะอายุเพียง 10 เดือน สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงพระกรุณาโปรดให้ท่านผู้หญิงขจรเข้ามาอยู่ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เข้าไปเป็นข้าหลวงและเป็นพระสหายของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่อายุได้ 7 ปี ทั้งยังมีพระเมตตาให้เรียนหนังสือทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ครั้นเมื่ออายุได้ 13 ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าพิธีโกนจุกกับเจ้านายชั้นหม่อมเจ้า ตามขนบประเพณีไทยสมัยนั้น ต่อมามีพระราชประสงค์จะส่งกุลสตรีไปศึกษาวิชาการช่าง ณ ประเทศญี่ปุ่น ก็ได้ทรงเลือกท่านผู้หญิงขจรซึ่งขณะนั้นอายุได้ 14 ปี พระราชทานทุนให้ไปเรียนวิชาเขียนภาพ ปักสะดึง และการฝีมือ นับเป็นหญิงไทยรุ่นแรกรวมสี่คนที่ได้ไปศึกษา ณ ประเทศญี่ปุ่น จนอายุได้ 18 ปี ท่านผู้หญิงขจรจึงกลับมารับราชการฉลองพระเดชพระคุณโดยเป็นครูสอนวิชาการฝีมือ ณ โรงเรียนราชินี

ท่านผู้หญิงขจรได้ปฏิบัติหน้าที่ของภรรยาที่ดีโดยครบถ้วนตลอดมา บำเพ็ญตนในทางที่ดีงาม สนับสนุนส่งเสริมและเป็นกำลังของสามีในทุกหน้าที่ของท่าน เมื่อสามีไปรับราชการเป็นผู้ดูแลนักเรียนในประเทศอังกฤษ ท่านผู้หญิงขจรก็ได้ให้ความอบอุ่นเป็นกันเองแก่บรรดาคนไทยที่ไกลบ้าน จนเป็นที่รักใครนับถือโดยทั่วไป เมื่อสามีกลับมาเป็นผู้บังคับการโรงเรียนวชิราวุธ ท่านผู้หญิงขจรก็รับดูแลสวัสดิการของนักเรียน ดูแลตกแต่งสถานที่ด้วยพื้นฐานวิชาศิลปะที่ท่านได้เล่าเรียนมา ทำให้โรงเรียนวชิราวุธซึ่งทรุดโทรมลงเต็มทีในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง กลับมีชีวิตแจ่มใสงดงามเป็นสง่าแก่ผู้พบเห็นขึ้นอีกวาระหนึ่ง ในด้านสังคมสงเคราะห์ท่านผู้หญิงขจรก็เข้าร่วมกิจกรรมตามความเหมาะสมเสมอมา เช่น เป็นอาสากาชาด เป็นกรรมการสมาคมไทย-ญี่ปุ่น อยู่หลายสมัย ร่วมในคณะบำเพ็ญประโยชน์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ร่วมในการบำเพ็ญกุศลประโยชน์ในกิจการแห่งพระพุทธศาสนา ทำนุบำรุงสถาบันต่าง ๆ เพื่อความยั่งยืนถาวรแห่งศาสนาและสังคมไทยที่ดีงาม ในด้านความจงรักภักดีต่อพระราชวงศ์นั้น ท่านผู้หญิงขจรถือเป็นเรื่องสำคัญที่ใกล้จิตใจเป็นที่สุดตลอดชีวิต เมื่อเธอได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นสายสะพายนั้นครั้งหนึ่ง และได้เข้ารับพระราชทานน้ำสังข์จากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสอายุครบแปดรอบ อีกครั้งหนึ่ง ประมาณสองเดือนก่อนที่เธอจะถึงแก่อนิจกรรม เป็นวาระสุดท้ายที่ยังความปลาบปลื้มอบอุ่นใจในพระมหากรุณาธิคุณเป็นที่สุด

ชีวิตครอบครัว แก้

เมื่ออายุได้ 22 ปี ท่านผู้หญิงขจรได้เข้าพิธีสมรสกับหลวงอภิบาลบุริมศักดิ์ (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) ต่อมาเป็นพระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) โดยสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงสวมมงคลและประทานน้ำสังข์ นอกจากทำหน้าที่เป็นศรีภรรยาที่ดีงามแล้ว ยังเป็นมารดาที่ประเสริฐให้ความรัก ความห่วงใย อบรมดูแลบุตร-ธิดาอย่างใกล้ชิดสนิทสนม ให้การศึกษาอย่างดีที่สุด สั่งสอนให้อยู่ในคุณงามความดีในทุกวิถีทาง ทำให้ชีวิตของบุตร-ธิดาทุกคนประสบความสำเร็จภายใต้คุณธรรมด้วยดีทุกคน ท่านผู้หญิงขจรและพระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) มีบุตร-ธิดา 4 คน คือ

  1. กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา
  2. อายุส อิศรเสนา ณ อยุธยา
  3. สุคนธา โบเยอร์
  4. ท่านผู้หญิงทัศนีย์ บุณยคุปต์ (อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนจิตรลดา)

ท่านผู้หญิงขจร ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2529 สิริอายุ 96 ปี โดยเวลา 17.05 นาฬิกา ของวันที่ 29 ตุลาคม ปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาในการพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส[1]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย แก้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ แก้

เข็มพระราชทาน แก้

  • เข็มเสาวภาผ่องศรี ประดับเพชร
  • เข็มข้าหลวงเดิม ประดับเพชร

อ้างอิง แก้

  1. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวในพระราชสำนัก วันพุธที่ ๒๙ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๙ เล่ม 103 ตอนที่ 191 ฉบับพิเศษ หน้า 46 วันที่ 1 พฤศจิกายน 2529
  2. "แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ประจำปี 2528" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 102 (60ง ฉบับพิเศษ): 20. 16 พฤษภาคม 2528.
  3. "แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 88 (125ง ฉบับพิเศษ): 12. 19 พฤศจิกายน 2514.