การอ่าน

กระบวนการรู้การถอดรหัสสัญลักษณ์เพื่อสร้างหรือเอาความหมาย เป็นวิธีการได้มาซึ่งภาษา

การอ่านเป็นกระบวนการรู้การถอดรหัสสัญลักษณ์หรืออักษรที่ซับซ้อนเพื่อสร้างความหมาย (ความเข้าใจซึ่งการอ่าน) การอ่านเป็นวิธีการได้มาซึ่งภาษา การสื่อสารและแบ่งปันสารสนเทศและความคิด เช่นเดียวกับทุกภาษา การอ่านเป็นอันตรกิริยาซับซ้อนระหว่างข้อความและผู้อ่านซึ่งเกิดขึ้นโดยความรู้ ประสบการณ์ เจตคติและชุมชนภาษาเดิมของผู้อ่านซึ่งวัฒนธรรมและสังคมกำหนด กระบวนการการอ่านต้องอาศัยการฝึกฝน การพัฒนาและการขัดเกลาอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากนี้ การอ่านยังต้องการความคิดสร้างสรรค์และการวิเคราะห์วิจารณ์ (critical analysis)

ภาพเฟรซโกเกี่ยวกับการอ่าน

ประวัติศาสตร์

แก้
 
ผู้ชายกำลังอ่านหนังสือ

การอ่านได้เกิดขึ้นบนโลกพร้อมกับการเขียน คือสหัสวรรษที่ 4 ก่อนคริสต์ศักราช ในอดีตคนทั่วไปไม่สามารถเสพข้อมูลจากการอ่านสิ่งตีพิมพ์เหมือนกับปัจจุบัน ก่อนสมัยการปฏิวัติอุตสาหกรรม มีไม่กี่คนเท่านั้นในแต่ละประเทศที่รู้หนังสือ และก่อนสมัยปัจจุบัน อารยธรรมที่โดยรวมมีอัตราส่วนการรู้หนังสือสูง ได้แก่ เอเธนส์ยุคคลาสสิกและรัฐเคาะลีฟะฮ์[1]

นักวิชาการสันนิษฐานว่าคนโบราณทั่วไปมักอ่านข้อความด้วยการอ่านออกเสียง (ละติน: clare legere) และการอ่านในใจ (legere tacite หรือ legere sibi) ถือเป็นเรื่องผิดธรรมดา[2] ในอัตชีวประวัติจากศตวรรษที่ 4 ชื่อ คำสารภาพ (ละติน: Confessions) ของนักบุญออกัสติน นักบุญออกัสตินได้กล่าวถึงการอ่านหนังสือแบบเงียบ ๆ ของนักบุญแอมโบรสซึ่งเขามองว่าเป็นนิสัยที่ประหลาด[2][3]

ในยุคเรืองปัญญา อภิชนมักส่งเสริมการอ่านแบบอกัมมันต์ ไม่ใช่แบบสร้างสรรค์ โดยเชื่อว่า การอ่านไม่มีกฎเกณฑ์ที่เป็นรูปธรรม แต่สามารถทำให้ผู้อ่านหลบหนีไปสร้างผลงานของตนเองได้โดยอาศัยอันตรวินิจ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการสำรวจข้อความต่าง ๆ อย่างลึกซึ้งขณะที่ตีความข้อความนั้นอยู่ นักคิดบางคนในยุคนั้นยังเชื่ออีกว่าการสร้างผลงานเขียนแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมในสังคมแบบกัมมันต์และสร้างสรรค์ และเชื่อว่าการเสพผลงานเขียนของผู้อื่นเป็นเพียงแต่การรับรู้สิ่งประดิษฐ์ของผู้อื่นเท่านั้น[4] และในยุคนั้น การเขียนถือว่ามีค่าในสังคมมากกว่าการอ่าน โดยถือว่าผู้อ่านสมัยนั้นเป็นประชาชนที่ไม่มีบทบาทในสังคมเพราะไม่ได้สร้างผลงานใด ๆ มิเชลเดอแซกโต นักวิชาการและสมาชิกคณะเยซูอิตชาวฝรั่งเศส ได้ให้เหตุผลว่าอภิชนในยุคเรืองปัญญาเป็นผู้ที่ทำให้ความเชื่อแบบนี้เกิดขึ้นในสังคม แต่มิเชลเดอแซกโตเองเชื่อว่าการอ่านต้องอาศัยการผจญภัยไปสู่ดินแดนของผู้เขียน แต่ต้องอาศัยการขจัดสิ่งจำเพาะที่ผู้อ่านประสงค์ มุมมองนี้ถือว่าการเขียนเป็นศิลปะที่เหนือกว่าการอ่านภายใต้เงื่อนไขบังคับของระบบการเรียงลำดับชนชั้นในยุคนั้น[4]

ในระยะสั้นของศตวรรษที่ 18 ชาวยุโรปถือว่าการอ่านหนังสือบนเตียงเป็นการเสี่ยงอันตรายและผิดศีลธรรม ทัศนคติแบบนี้เกิดขึ้นเมื่อการอ่านออกเสียงเริ่มไม่ได้เป็นกิจกรรมร่วมเพราะคนนิยมเริ่มอ่านหนังสือแบบเงียบ ๆ และตามลำพัง ซึ่งเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นพร้อมกับการที่คนเริ่มไม่ได้นอนร่วมห้องกันหลายคนเพราะการนอนแยกห้องเริ่มแพร่หลายขึ้น สิ่งแปลกใหม่เหล่านี้ทำให้ชาวยุโรปคิดว่าการอ่านบนเตียงจะทำให้เกิดไฟไหม้ขึ้น โดยจะเริ่มจากเทียนที่วางไว้ข้างเตียง อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์ปัจจุบันคาดว่าความกลัวเช่นนี้ อาจเกิดขึ้นจากความเชื่อที่ว่า การอ่านหนังสือแบบเดี่ยว ๆ โดยเฉพาะโดยผู้หญิง เป็นการหลีกเลี่ยงภาระทางครอบครัวและสังคม และเป็นการละเมิดกฎหมายทางศีลธรรมอันเกิดขึ้นจากการท่องโลกในจินตนาการต่าง ๆ จากหนังสือ[5]

อ้างอิง

แก้
  1. Andrew J. Coulson. "Delivering Education" (PDF). Hoover Institution: 117. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-08-17. สืบค้นเมื่อ 2008-11-22. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  2. 2.0 2.1 Carruthers, Mary. 2008. The Book of Memory: A Study of Memory in Medieval Culture. 2nd. ed. Cambridge: Cambridge University Press, pp. 212 ff..
  3. Jajdelska, Elspeth. 2007. Silent Reading and the Birth of the Narrator. Toronto: University of Toronto Press, p. 5.
  4. 4.0 4.1 De Certeau, Michel. "Reading as Poaching." The Practice of Everyday Life. Trans. Steven F. Rendall. Berkeley: University of California Press, 1984. 165-176.
  5. Mavrody, Nika (19 May 2017). "The Dangers of Reading in Bed". The Atlantic. สืบค้นเมื่อ 23 May 2017.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้