การพบปะที่ทุ่งภูษาทอง
การพบปะที่ทุ่งภูษาทอง (อังกฤษ: Field of the Cloth of Gold, ฝรั่งเศส: Le Camp du Drap d'Or) “ทุ่งภูษาทอง” เป็นชื่อของสถานที่ในเบลิงเฮมระหว่าง Guînes และ Ardres ในฝรั่งเศสไม่ไกลจากคาเลส์ซึ่งเป็นที่พบปะระหว่างพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ และ พระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 แห่งฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 7 มิถุนายน จนถึงวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1520 วัตถุประสงค์ของการพบปะระหว่างพระมหากษัตริย์สองพระองค์ก็เพื่อเป็นการเพิ่มสัมพันธไมตรีระหว่างสองราชอาณาจักร หลังจากที่ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาในปี ค.ศ. 1518 การใช้วลี “ทุ่งภูษาทอง” เป็นคำที่ใช้โดยทั่วไปในภาษาอังกฤษมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18
ที่มา
แก้ในเวลานั้นในประวัติศาสตร์ยุโรปมีมหาอำนาจสำคัญสองมหาอำนาจ: ราชอาณาจักรฝรั่งเศสที่นำโดยพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 และ จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่นำโดยสมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 ทางราชอาณาจักรอังกฤษที่ยังคงเป็นมหาอำนาจรองจึงได้รับการหว่านล้อมจากทั้งฝ่ายฝรั่งเศสและฝ่ายจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ให้เข้าร่วมเป็นพันธมิตร ในปี ค.ศ. 1518 มหาอำนาจในยุโรปก็ลงนามในสนธิสัญญาลอนดอนซึ่งเป็นสนธิสัญญาเพื่อการไม่รุกรานซึ่งกันและกัน (non-aggression pact) ในการต่อต้านการรุกรานของจักรวรรดิออตโตมันเข้ามาทางตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรป นอกจากนั้นพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ก็ยังทรงจัดการพบปะกับพระจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 หนึ่งเดือนก่อนหน้าการพบปะที่ทุ่งภูษาทองในเนเธอร์แลนด์ และอีกครั้งหนึ่งที่คาเลส์หลังจากนั้น ซึ่งเป็นดินแดนผืนสุดท้ายของอังกฤษบนแผ่นดินใหญ่ยุโรป
ทั้งพระเจ้าฟร็องซัวและพระเจ้าเฮนรีต่างก็มีพระประสงค์จะสร้างภาพพจน์ว่าทรงเป็นบุคคลสมัยยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาอย่างเต็มพระองค์ ปรัชญาของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาเกี่ยวกับการเป็นผู้นำผู้มีความแข็งแกร่งคือผู้ที่เลือกสันติ การพบปะจึงเป็นการแสดงความเลิศเลอของราชสำนักของแต่ละฝ่ายอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการเป็นพื้นฐานของการยอมรับนับถือกันและกันของชาติสองชาติที่เคยเป็นศัตรูกันมานาน พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ต่างก็ทรงมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน มีพระชนมายุใกล้เคียงกัน และทรงมีชื่อเสียงพอๆ กัน ฉะนั้นจึงไม่น่าจะเป็นที่น่าแปลกใจถ้าต่างก็คงมีความสนพระทัยในกิจการของกันและกัน
การจัดการประชุมก็เป็นการจัดที่สร้างความเท่าเทียมกันของทั้งสองฝ่าย สถานที่พบปะกันเป็นชายแดนของฝ่ายอังกฤษไม่ไกลจากคาเลส์ หุบเขาที่พบปะกันก็ได้มีการจัดภูมิประเทศเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้เนื้อที่ที่มีระดับที่เท่าเทียมกัน รายละเอียดของการประชุมจัดการโดยคาร์ดินัลทอมัส โวลซีย์
การพบปะ
แก้พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ต่างก็ทรงพยายามแต่งพระองค์ประกวดประขันกันอย่างเต็มที่ ในบริเวณที่มีพลับพลาที่ตกแต่งอย่างงดงามหรูหรา ระหว่างการเลี้ยงอันใหญ่โต, ดนตรี, การประลองทวนบนหลังม้า ที่พบปะเต็มไปด้วยพลับพลาและเครื่องแต่งกายที่ทอจากไหมและทองที่ทำให้การพบปะได้รับชื่อดังว่า
ทางฝ่ายพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ก็ทรงทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อสร้างความประทับใจแก่ฝ่ายฝรั่งเศส โดยการสร้างพลับพลาชั่วคราวหน้าปราสาทที่ Guînes ทีมีเนื้อที่เกือบ 10,000 ตารางเมตร พลับพลาแบ่งออกเป็นสี่ด้านรอบลานกลาง แต่ละด้านยาว 91 เมตร ฐานพลับพลาเป็นอิฐสูง 2.4 เมตร บนฐานเป็นปรำสูง 10 เมตรที่ทำด้วยผ้าและผ้าใบบนโครงไม้ที่ทาสีที่ทำให้ดูเหมือนหินหรืออิฐ หลังคาลาดทำด้วยผ้าอาบน้ำมันทาสีที่ทำให้ดูเหมือนกระเบื้องหินสีดำ (slate) ผู้ร่วมสมัยให้ความเห็นถึงการใช้กระจกกว้างที่ทำให้ดูเหมือนอยู่ภายนอกปรำ การตกแต่งก็เป็นไปอย่างหรูหราด้วยสิ่งประดับที่เป็นสีทอง นอกปรำเป็นน้ำพุไวน์สองอัน นอกจากนั้นก็ยังมีชาเปลที่จุผู้เข้าทำการสักการะ 35 คน
คีตกวีฌอง มูตองคงจะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องดนตรีสำหรับพระเจ้าฟรองซัวส์ ชาเปลหลวงของฝรั่งเศสได้ชื่อว่ามีนักขับเพลงสวดที่มีชื่อเสียงไปทั่วยุโรป และผู้ร่วมสมัยบรรยายว่าการขับเพลงของคณะนักขับเพลงสวดเป็นที่ชื่นชมของผู้ฟัง[1] ส่วนผู้รับผิดชอบเรื่องดนตรีของฝ่ายอังกฤษอาจจะเป็นคีตกวีวิลเลียม คอร์นิสผู้เป็นมาสเตอร์ของชาเปลหลวงในพระเจ้าเฮนรี[2]
ขนาดของการเลี้ยงก็เป็นไปอย่างใหญ่โตที่เห็นได้จากการล้มแกะถึง 2200 ตัวและสัตว์กินเนื้ออื่นๆ ในจำนวนพอพอกันในหนึ่งเดืนอ และครัมเพ็ทอีก 1350 ชิ้น และ แยมอีก 70 ขวด[3] นอกไปจากพลับพลาหลวงแล้วก็ยังมีปรำสำหรับแขกชั้นรองที่เข้าร่วมในโอกาสการพบปะอีก 2800 พลับพลา
ผลของการพบปะ
แก้การพบปะสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ร่วมสมัยเป็นอันมาก แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับมีไม่มากเท่าใดนัก ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายเสื่อมลงเมื่อคาร์ดินัลทอมัส โวลซีย์หันไปทำสัญญาพันธมิตรกับพระจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 ผู้ประกาศสงครามกับฝรั่งเศสต่อมาที่กลายมาเป็นสงครามอิตาลี (ค.ศ. 1521-1526)
อ้างอิง
แก้- ↑ Gustave Reese, Music in the Renaissance, p. 291. New York, W.W. Norton & Co., 1954. ISBN 0-393-09530-4
- ↑ http://www.hoasm.org/IVM/CornyshJr.html
- ↑ Arthur Kinney, Tudor England: An Encyclopedia (Garland Science, 2000)
- Russell, J.G. (1969). Field of Cloth of Gold: men and manners in 1520. London: Routledge. ISBN 0-7100-6207-9.
- บทความนี้ ประกอบด้วยข้อความจากสิ่งพิมพ์ซึ่งปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติ: Chisholm, Hugh, บ.ก. (1911). สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์.
{{cite encyclopedia}}
:|title=
ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ การพบปะพลับพลาทอง
- Detailed description of the image from Alecto Historical Editions - Publications Group เก็บถาวร 2006-03-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- RealAudio stream and edited transcript from BBC Radio 4 discussion (6 October 2005, 42')