การนับรวมทุกกลุ่มคน

การนับรวมทุกกลุ่มคน (Inclusiveness or Inclusion) หมายถึง การเปิดช่องทางให้ปัจเจกบุคคลและกลุ่มทุกกลุ่มเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมของพลเมือง มีความเท่าเทียมกันทางสังคมในด้านสิทธิเสรีภาพ มีโอกาสและความเสมอภาคในกระบวนการอภิปรายถกเถียงและการตัดสินใจในทางการเมือง โดยการนับประชาชนทุกคนในสังคมให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นพลเมืองที่มีสิทธิเสรีภาพอย่างเสมอหน้ากัน ทุกคนสามารถเข้าถึงอำนาจตามกฎหมายในการมีส่วนร่วมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง อย่างไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ความเป็นส่วนหนึ่งของสังคมของพลเมืองจึงเป็นการรวมประชาชนทุกฝั่งฝ่ายเข้าเป็นสังคมเดียว ความหมายดังกล่าวจึงตรงข้ามกับความเหนือกว่าเฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะบุคคล (exclusiveness) ซึ่งหมายถึงการให้สิทธิพิเศษแก่คนบางกลุ่ม จนกลายเป็นอภิสิทธิชนในสังคม[1]

อรรถาธิบาย

แก้

การครอบคลุมทุกกลุ่มคน พลเมือง (citizen) และ ความเป็นพลเมือง (citizenship) ที่ปัจเจกบุคคลได้รับจากการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในศตวรรษที่ 18 เป็นหัวใจสำคัญของระเบียบและอัตลักษณ์ของรัฐธรรมนูญ ทั้งในด้านของการร่างและกำหนดเนื้อหารัฐธรรมนูญ ไปจนถึงการถูกบังคับใช้อย่างทั่วไปเสมอหน้ากัน โดยคุณลักษณะสำคัญของความเป็นพลเมืองสมัยใหม่ (modern citizenship) คือ ความเท่าเทียมกัน (equality) โดยความเท่าเทียมกันนี้ยังสามารถถกเถียงได้ว่าเป็นสิ่งที่มีความเป็นสากล (universal) คือ ความเป็นมนุษยชาติที่เท่าเทียมกัน กับความเป็นเฉพาะ (particular) ของแต่ละประเทศชาติที่จะกำหนดให้พลเมืองเท่าเทียมกัน ซึ่งในด้านของกฎหมายสูงสุด รัฐธรรมนูญได้กลายเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างชุมชนในจิตนาการ (imagined community) ให้กับประชาชนในชาติว่ามีความเท่าเทียมกันเสมอหน้าต่อกฎหมายสูงสุด ตราบเท่าที่ยังเป็นสมาชิกในชุมชนการเมืองนั้น ๆ นอกจากนี้ความเท่าเทียมดังกล่าวจึงมีความใกล้ชิดกับระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยและเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ให้สิทธิประชาชนในการเข้าแข่งขันกันอย่างเสรีในกลไกตลาด (Rosenfeld, 2010: 211-223)[2] บุคคลที่มีสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดทั้งในด้านของสิทธิ (rights) และ การให้สิทธิ (entitlements) ทำให้พลเมืองมีความใกล้ชิดและต้องเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับอำนาจรัฐเสมอ ไม่ว่าจะโดยการเลือกตั้ง การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เสรีภาพในการแสดงออก การควบคุมการออกฎหมาย ไปจนถึงการรับผลประโยชน์บางประการที่รัฐจัดหามาให้ ด้วยเหตุนี้ เสรีภาพในการแสดงออกของพลเมืองจึงต้องเป็นส่วนหนึ่งที่กำหนดไว้ในกฎหมายสูงสุดของประเทศเพื่อคุ้มครองความเป็นพลเมืองให้กับประชาชน

ฐานทางความคิดของการครอบคลุมทุกกลุ่มคนในระบบการเมือง มีที่มาจากการพัฒนาสังคมสู่ความเป็นสมัยใหม่ (modernization) และกระแสโลกาภิวัตน์ (globalization) ที่พยายามวางมาตรฐานของชีวิตทางสังคมการเมืองให้กลายเป็นแบบแผนเดียว จนทำให้เกิดปัญหาเรื่องการจัดการกับความแตกต่างทางสังคม ทั้งในเรื่องชาติกำเนิด ชาติพันธุ์ สีผิว เพศ และอัตลักษณ์เฉพาะบางอย่าง ที่อาจทำให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวถูกผลักออกจากการรับรองให้มีสิทธิเสรีภาพ หลักการความเป็นส่วนหนึ่งของสังคมของพลเมืองจึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อวางหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนทุกคนในสังคมจะต้องถูกรับรองและสามารถใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวได้อย่างเสมอหน้ากัน เช่น สิทธิมนุษยชน และสิทธิพลเมือง อย่างสิทธิในการเลือกตั้งและ เสรีภาพในการแสดงออก เป็นต้น

การครอบคลุมทุกกลุ่มคนในระบบการเมือง มีความสัมพันธ์กับประชาธิปไตย (democracy) และสังคมที่เป็นประชาธิปไตย (democratic society) อย่างยิ่ง โดยงานของ Dahl (1989: 221)[3] ได้กล่าวถึงส่วนประกอบของประชาธิปไตยไว้ 7 ประการคือ

  1. ผู้ปกครองมาจากการเลือกตั้ง (elected officials)
  2. การเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม (free and fair election)
  3. การเลือกตั้งที่พลเมืองทุกคนมีสิทธิลงคะแนน (inclusive election)
  4. สิทธิในการเข้าแข่งขันในการเลือกตั้ง (the right to run for office)
  5. เสรีภาพในการแสดงออก (freedom of expression)
  6. การรับรู้ข้อมูลทางเลือก (alternative information)
  7. ความเป็นอิสระของการรวมกลุ่ม (associational autonomy)

ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย

แก้

สำหรับการนิยามหลักการครอบคลุมทุกกลุ่มคนในสังคมไทย ปรากฏตัวอย่างเช่นในบทความของ สามชาย ศรีสันต์ (2555)[4] ได้แปลคำว่า social inclusion ว่า การนับรวมทางสังคม หมายถึง การที่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนด้อยโอกาส กลุ่มคนชายขอบ และคนจน ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาและไม่เคยได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย จะต้องถูกนับรวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มีสิทธิเสรีภาพและได้รับผลประโยชน์จากสังคมอย่างเท่าเทียมกับประชาชนคนอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีบทความวิชาการของสถาบันพระปกเกล้า (2553: 11)[5] ได้กล่าวถึง social inclusion ว่าคือการยอมรับเป็นสมาชิกในสังคมของบุคคลทุกกลุ่มในสังคม ซึ่งหมายถึง การที่ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางสังคม บริการที่รัฐจัดหา และการเข้าถึงการจ้างงานอย่างเสมอภาค เท่าเทียมกัน เข้าใจในสิทธิและหน้าที่ในฐานะพลเมืองของประเทศในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม การถูกรวมให้เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันต่าง ๆ ทั้งที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย และที่เกิดจากค่านิยม บรรทัดฐาน และวัฒนธรรมร่วมของชุมชนจนกลายเป็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน เช่น มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง สิทธิเด็กและสตรี การได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมตามสิทธิ เป็นต้น

ในทางปฏิบัติ เนื่องจากคำว่า inclusiveness หรือ social inclusion ยังไม่มีคำเฉพาะในการเรียกใช้ แต่จะถูกใช้ผ่านคำว่าความเป็นส่วนหนึ่งของสังคม การนับรวมประชาชนทุกคน การให้โอกาสประชาชนทุกคน และการให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพอย่างเสมอหน้ากัน ตัวอย่างเช่น สิทธิชุมชนท้องถิ่น (community rights) ในการจัดการปกครอง การจัดการทรัพยากรท้องถิ่น และการดูแลวัฒนธรรมประเพณีพื้นฐานของตนให้สามารถดำรงอยู่ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปสู่โลกาภิวัตน์

ดังนั้น แม้คำว่าการนับรวมทุกกลุ่มคน (inclusiveness) จะยังไม่มีคำศัพท์เฉพาะที่เป็นภาษาไทยอย่างชัดเจน แต่ในด้านการทำความเข้าใจความหมายถือว่าทั้งในความหมายระดับสากลและความหมายของสังคมไทยมีความแตกต่างกันไม่มากนัก หรือกล่าวได้ว่ามีจุดร่วมเหมือนกันคือการนับรวมประชาชนทุกคนให้มีความเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในฐานะพลเมืองอย่างเท่าเทียมกัน และสามารถมีสิทธิเสรีภาพเสมอหน้ากัน

อ้างอิง

แก้
  1. Young, Iris Marion (2002). Inclusion and Democracy. Oxford : Oxford University Press.
  2. Rosenfeld, Michel (2010). The Identity of the Constitutional Subject: Selfhood, Citizenship, Culture, and Community. London: Routledge.
  3. Dahl, Robert (1989). Democracy and Its Critics. New Haven: Yale University Press.
  4. สามชาย ศรีสันต์ (2555). “1 ปีการทำงานของรัฐบาล ถึงเวลาที่ต้องดำเนินนโยบายการนับรวมทางสังคม (social inclusion)”. เข้าถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2555 ใน http://prachatai.com/journal/2012/08/42291.
  5. สถาบันพระปกเกล้า (2553). เอกสารประกอบการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 12 ประจำปี 2553 เล่ม 1. “คุณภาพสังคมกับคุณภาพประชาธิปไตยไทย” (Social Quality and Quality of Thai Democracy). กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า.