การทดลองโรเซนแฮน
การทดลองโรเซ็นแฮน (อังกฤษ: Rosenhan experiment) เป็นการทดลองที่มีชื่อเสียงทำเพื่อกำหนดความสมเหตุสมผลของการวินิจฉัยทางจิตเวช โดยนักจิตวิทยา ศ. ดร. เดวิด โรเซ็นแฮนแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Science ในปี พ.ศ. 2516 โดยมีรายชื่อว่า "การเป็นคนปกติในที่ที่บ้า (On being sane in insane places)"[1][2] เป็นงานที่พิจารณาว่าสำคัญและทรงอิทธิพลโดยเป็นการวิจารณ์การวินิจฉัยทางจิตเวช[3] และได้แนวความคิดมาจากการฟังคำบรรยายของจิตแพทย์ R. D. Laing ซึ่ง ดร. โรเซ็นแฮนเริ่มคิดว่ามีวิธีไหนไหมที่ความน่าเชื่อถือของการวินิจฉัยทางจิตเวชสามารถทดสอบได้โดยการทดลอง[4]
การทดลองทำเป็นสองส่วน ส่วนแรกใช้คนปกติแปดคนเป็นคนไข้ปลอม (หญิง 3 ชาย 5 รวมทั้ง ดร. โรเซ็นแฮนเอง) ผู้แกล้งทำเป็นประสาทหลอนได้ยินเสียงเพื่อให้โรงพยาบาลจิตเวช 12 แห่งใน 5 รัฐของสหรัฐอเมริการับเข้าเป็นคนไข้ ซึ่งทั้งหมดก็ได้รับโดยเป็นคนไข้โรคทางจิตเวช หลังจากเข้า รพ. คนไข้ปลอมก็จะทำตัวปกติ และบอกเจ้าหน้าที่ว่าตนรู้สึกปกติและไม่มีประสาทหลอนอะไรอีกต่อไป ทั้งหมดถูกบังคับให้ยอมรับว่าป่วยเป็นโรคจิตและให้ยอมทานยาระงับอาการทางจิตโดยเป็นเงื่อนไขในการให้ออกจาก รพ. ระยะเวลาเฉลี่ยที่คนไข้แต่ละคนใช้เวลาในโรงพยาบาล คือ 19 วัน ทั้งหมดได้วินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภท ที่อยู่ใน "ระยะโรคสงบ" ก่อนจะได้กลับบ้าน
ส่วนที่สองเกิดเมื่อมีผู้บริหารโรงพยาบาลหนึ่งที่ไม่พอใจแล้วท้าให้ ดร. โรเซ็นแฮนส่งคนไข้ปลอมไปที่ รพ. ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยจับ ดร. โรเซ็นแฮนก็ตกลงและในอาทิตย์ต่อ ๆ มา ในจำนวนคนไข้ใหม่ 193 คน เจ้าหน้าที่ได้กำหนด 41 คนว่าอาจเป็นคนไข้ปลอม โดยมี 19 คนที่ได้ความสงสัยอย่างน้อยจากจิตแพทย์คนหนึ่งและเจ้าหน้าที่อื่นอีกคน แต่จริง ๆ ดร. โรเซ็นแฮนไม่ได้ส่งใครไปเลย
งานศึกษาสรุปว่า "มันชัดเจนมากว่าเราไม่สามารถแยกแยะคนบ้ากับคนปกติในโรงพยาบาลจิตเวช" และแสดงถึงอันตรายของการลดสภาพความเป็นมนุษย์ และการได้ป้ายว่าเป็นคนไข้โรงพยาบาลจิตเวช แล้วเสนอว่า ศูนย์สุขภาพทางจิตในชุมชนที่เน้นปัญหาและพฤติกรรมโดยเฉพาะแทนการกำหนดโรคโดยชื่อ อาจเป็นวิธีแก้ปัญหา และแนะนำให้ผู้บริการทางจิตเวชรับการศึกษาเพิ่มขึ้นเพื่อให้ตระหนักรู้ถึงสภาพความคิด/จิตใจของผู้ทำการบำบัดในโรงพยาบาลจิตเวช
การทดลองโดยคนไข้ปลอม
แก้ดร. โรเซ็นแฮนเอง และผู้ร่วมงานที่สุขภาพจิตปกติ ได้พยายามเข้าโรงพยาบาลจิตเวชโดยโทรศัพท์หาหมอ โดยแกล้งทำเป็นประสาทหลอนได้ยินเสียง และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลไม่ได้รับแจ้งว่าจะมีการทดลอง คนไข้ปลอมรวมทั้งนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในสาขาจิตวิทยาอายุในช่วง 20 คนหนึ่ง นักจิตวิทยา 3 คน กุมารแพทย์คนหนึ่ง จิตแพทย์คนหนึ่ง จิตรกรคนหนึ่ง และแม่บ้านอีกคนหนึ่ง ทั้งหมดไม่มีประวัติโรคจิต คนไข้ปลอมใช้ชื่อปลอม และคนที่ทำงานด้านสุขภาพจิตใช้อาชีพปลอมเพื่อไม่ให้ได้รับการบริการหรือการตรวจพิจารณาเป็นพิเศษ แต่นอกจากเรื่องชื่อและอาชีพแล้ว ประวัติอื่น ๆ เป็นเรื่องจริง
ในช่วงการประเมินทางจิตเวชเบื้องต้น พวกเขาอ้างว่าได้ยินเสียงคนเพศเดียวกันซึ่งบ่อยครั้งไม่ชัด แต่ดูเหมือนจะออกเสียคำว่า "empty (ว่าง)", "hollow (กลวง)", "thud (เสียงดังตุ้ม)" และไม่มีอะไรอย่างอื่น คำเหล่านี้เลือกเพื่อชวนให้คิดว่า กำลังมีปัญหาเรื่องว่าเกิดมาทำไม (existential crisis) โดยไม่มีวรรณกรรมวิชาการที่กล่าวถึงคำเหล่านี้ว่าเป็นอาการโรคจิต และ"คนไข้" ก็ไม่ได้แจ้งอาการอะไรอื่น ๆ
ถ้ารับเข้าโรงพยาบาล คนไข้ก็จะ "มีพฤติกรรมปกติ" โดยรายงานว่า รู้สึกปกติและไม่ได้ยินเสียงแล้ว ประวัติโรงพยาบาลที่ขอได้หลังจากการทดลองระบุว่า เจ้าหน้าที่กล่าวถึงคนไข้ปลอมทั้งหมดว่า มีมิตรสัมพันธ์ดีและให้ความร่วมมือ คนไข้ปลอมทั้งหมดได้รับเข้าโรงพยาบาล 12 แห่งในที่ต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งโรงพยาบาลเก่า ๆ ที่ได้เงินสนับสนุนไม่เพียงพอในเขตชนบท โรงพยาบาลที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยในเมืองที่มีชื่อเสียง และโรงพยาบาลเอกชนที่แพงลิ่วแห่งหนึ่ง
แม้ว่าจะแสดงอาการอย่างเดียวกัน แต่ 7 คนกลับได้วินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภทในโรงพยาบาลรัฐ และคนหนึ่ง manic-depressive psychosis (ปัจจุบันโรคอารมณ์สองขั้ว) ซึ่งเป็นวินิจฉัยที่มองในแง่ดีกว่าและมีโอกาสหายดีกว่าที่โรงพยาบาลเอกชน คนไข้อยู่ใน รพ. 7-52 วัน โดยเฉลี่ยที่ 19 วัน ทั้งหมดให้กลับบ้านโดยวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภทในระยะโรคสงบ (in remission) ซึ่ง ดร. โรเซ็นแฮนถือเป็นหลักฐานว่า ความเจ็บป่วยทางจิตใจมองว่าเป็นภาวะที่ฟื้นสภาพไม่ได้ ซึ่งสร้างมลทินชั่วชีวิต ไม่ใช่โรคที่หายได้
แม้ว่าคนไข้จะจดบันทึกบ่อย ๆ และอย่างเปิดเผยในเรื่องพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่และของคนไข้อื่น ๆ เจ้าหน้าที่ก็จับไม่ได้สักคนว่าเป็นคนไข้ปลอม แม้ว่า คนไข้ทางจิตเวชอื่น ๆ หลายคนดูเหมือนจะสามารถระบุพวกเขาได้ว่าเป็นคนไข้ปลอม ในการเข้าโรงพยาบาล 3 ครั้งแรก คนไข้อื่น 35 คนจาก 118 คนแสดงความสงสัยว่า คนไข้ปลอมเป็นคนปกติ โดยบางคนแม้แต่เสนอว่า คนไข้ปลอมเป็นนักวิจัยหรือนักข่าวที่กำลังตรวจสอบ รพ. ส่วนบันทึกโรงพยาบาลชี้ว่า เจ้าหน้าที่ตีความพฤติกรรมของคนไข้ปลอมว่าเป็นอาการโรคจิต ยกตัวอย่างเช่น พยาบาลคนหนึ่งกำหนดการจดบันทึกของคนไข้ปลอมว่าเป็น "พฤติกรรมการเขียน (writing behavior)" โดยพิจารณาว่ามันเป็นส่วนของโรค (pathological) ส่วนประวัติคนไข้ที่จริง ๆ เป็นคนปกติก็บันทึกตามที่คาดหวังเหมือนกับคนไข้โรคจิตเภท ตามทฤษฎีหลักที่ใช้ตอนนั้นว่าเป็นสมุฏฐานของโรค
การทดลองกำหนดให้คนไข้ปลอมต้องออกจาก รพ. ได้โดยตนเอง คือให้ รพ. ปล่อยตัวกลับบ้าน แม้ว่าจะได้ว่าจ้างทนายไว้ล่วงหน้าเพื่อกรณีฉุกเฉินถ้าชัดเจนว่า จะไม่ปล่อยคนไข้ปลอมให้กลับบ้านอย่างง่าย ๆ หลังจากรับเข้าโรงพยาบาลและได้การวินิจฉัย คนไข้ปลอมจะไม่ได้กลับบ้านจนกระทั่งตกลงกับจิตแพทย์ว่าตนเป็นโรคจิต และเริ่มทานยารักษาโรคจิต ซึ่งจริง ๆ คนไข้ทิ้งลงในส้วม ไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนที่สังเกตเห็นคนไข้ทิ้งยาและก็ไม่ได้รายงานพฤติกรรมนี้ด้วย
ดร. โรเซ็นแฮน และคนไข้ปลอมอื่น ๆ รายงานความรู้สึกว่าถูกลดสภาพความเป็นมนุษย์ (dehumanization) ถูกบุกรุกภาวะเฉพาะส่วนตัวอย่างรุนแรง และความเบื่อหน่ายเมื่ออยู่ใน รพ. ทรัพย์สมบัติที่ตนมีจะถูกค้นโดยสุ่ม และบางครั้งแม้แต่ถูกสังเกตเมื่อใช้ห้องน้ำ คนไข้รายงานว่า แม้ว่าเจ้าหน้าที่ดูเหมือนจะตั้งใจดี แต่โดยทั่วไปก็ยังลดสภาพความเป็นมนุษย์และปฏิบัติต่อคนไข้เหมือนกับเป็นวัตถุ บ่อยครั้งถกประเด็นเกี่ยวกับคนไข้ต่อหน้าเหมือนกับไม่ได้อยู่ และจะเลี่ยงปฏิสัมพันธ์กับคนไข้โดยตรงยกเว้นเมื่อจำเป็นต่อหน้าที่ โดยเจ้าหน้าที่บางคนมีแนวโน้มที่จะทารุณคนไข้ทางกายหรือทางวาจาเมื่อไม่มีเจ้าหน้าที่อื่นอยู่ใกล้ ๆ มีหมอคนหนึ่งที่กล่าวกับนักศึกษาของตนถึงกลุ่มคนไข้ผู้กำลังแสดงความเบื่อรอรับอาหารกลางวันว่า คนไข้กำลังประสบกับอาการทางจิตเวชแบบ "สนองปาก" (oral-acquisitive) คนไข้พบหมอประมาณ 6.8 นาทีต่อวัน
ผมบอกเพื่อน ๆ บอกครอบครัวว่า "ผมจะออก (จากโรงพยาบาล) ตอนที่ออก แค่นั้นแหละ ผมอยู่ที่นั่นสัก 2-3 วันแล้วจะออก" แต่ไม่มีใครรู้ว่าผมจะต้องอยู่ที่นั่นถึง 2 "เดือน" ... วิธีเดียวที่จะออกได้ก็คือต้องบอกว่า พวกเขา (จิตแพทย์) ถูกต้องแล้ว (เพราะ) หมอบอกว่าผมบ้า (ผมก็เลยต้องบอกว่า) "ผมบ้า แต่กำลังดีขึ้น" นั่นเป็นคำยืนยันมุมมองของพวกเขาต่อผม
การทดลองคนไข้ปลอมที่ไม่มี
แก้ในการทดลองนี้ ดร. โรเซ็นแฮนทำกับโรงพยาบาลแพทย์ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่มีชื่อเสียงดี ที่เจ้าหน้าที่ได้ยินถึงผลการทดลองขั้นต้น แต่อ้างว่า ข้อผิดพลาดอย่างเดียวกันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ที่สถาบันของตน ดร. โรเซ็นแฮนจึงเตรียมการกับ รพ. ว่า ในช่วงเวลา 3 เดือน คนไข้ปลอมหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นจะพยายามเข้าโรงพยาบาล โดยเจ้าหน้าที่ของ รพ. จะให้คะแนนคนไข้ใหม่ทุกคนว่า มีโอกาสเป็นคนไข้ปลอมเท่าไร
จากคนไข้ 193 คน 41 คนได้พิจารณาว่าเป็นคนไข้ปลอม และ 42 คนพิจารณาว่าน่าสงสัย แต่ความจริงแล้ว ดร. โรเซ็นแฮนไม่ได้ส่งคนไข้ปลอมไปเลย และคนไข้ที่สงสัยว่าเป็นคนไข้ปลอมทุกคนเป็นคนไข้ธรรมดา ซึ่งทำให้สรุปได้ว่า "กระบวนการวินิจฉัยที่สามารถพลาดได้ถึงขนาดนี้ไม่สามารถเป็นกระบวนการที่น่าเชื่อถือ"[2]
ผลติดตามและข้อขัดแย้ง
แก้ดร. โรเซ็นแฮนพิมพ์ผลงานของเขาในวารสารวิชาการ Science โดยวิจารณ์ความน่าเชื่อถือของวินิจฉัยทางจิตเวช และการดูแลคนไข้ที่ลดสมรรถภาพลดสภาพมนุษย์ของผู้ร่วมงานของเขาในงานศึกษานี้ ซึ่งเป็นบทความที่จุดชนวนระเบิดความขัดแย้ง[6] โดยมีผู้ป้องกันจิตเวชเป็นจำนวนมาก และอ้างว่า การวินิจฉัยทางจิตเวชต้องอาศัยรายงานประสบการณ์ของคนไข้เอง เพราะฉะนั้น การแกล้งทำเป็นป่วยไม่ได้แสดงปัญหาอะไรอื่น ๆ ในการวินิจฉัย ยกเว้นปัญหาที่คนไข้โกหกเรื่องอาการเจ็บป่วยของตน ในทำนองนี้ จิตแพทย์คนหนึ่ง (Robert Spitzer) อ้างคำของ นพ. ซีมอร์ เค็ตตี เพื่อวิจารณ์งานศึกษาของ ดร. โรเซ็นแฮนในปี 2518 ว่า[7]
ถ้าผมดื่มเลือดสัก 1/4 แกลลอน แล้วปิดบังว่าผมได้ทำอะไร มาที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลใดก็ได้แล้วอาเจียนเลือดออก พฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ รพ. จะเป็นอะไรที่พยากรณ์ได้ง่ายมาก ถ้าพวกเขากำหนดและรักษาผมว่ามีแผลทางเดินอาหารแบบเลือดออก ผมไม่คิดว่าผมจะสามารถเถียงได้อย่างน่าเชื่อถือว่า วิทยาทางการแพทย์ไม่รู้จักวิธีการวินิจฉัยสภาพเช่นนั้น
นพ. เค็ตตียังอ้างด้วยว่า ไม่ควรจะคาดหวังให้จิตแพทย์สมมุติว่าคนไข้อาจจะแกล้งป่วย และดังนั้น งานศึกษานี้จึงไม่สมจริง[8] แต่ ดร. โรเซ็นแฮนเรียกว่านี้เป็นความเอนเอียงของผู้ทดลอง (experimenter effect, expectation bias) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ปัญหาที่เขาค้นพบ (คือหมอคาดหวังว่า คนไข้ป่วย ไม่ใช่ไม่ป่วย) ไม่ใช่เป็นปัญหาเกณฑ์วิธีการทดลองของเขา[9]
งานทดลองมีผลเป็น "การเร่งขบวนการปรับปรุงแก้ไขสถาบันทางจิต และการปล่อยคนไข้ออกจากโรงพยาบาลให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้"[10]
การทดลองที่เกี่ยวข้องกัน
แก้นักข่าวเชิงสืบสวนชาวอเมริกัน เนลลี บลาย ได้แกล้งป่วยเป็นโรคจิตเพื่อที่จะเข้าสถานสงเคราะห์คนวิกลจริตในปี 2430 แล้วรายงานสภาพที่แย่มากในสถาบัน ซึ่งเขาพิมพ์ในบทความ 10 วันในบ้านคนบ้า (Ten Days in a Mad-House) ในปี 2511 นักจิตบำบัดชื่อดัง (ผู้เลี้ยงลูกลิงชิมแปนซีชื่อว่าลูซีเหมือนเด็กมนุษย์) ได้แบ่งจิตแพทย์ 25 คนออกเป็นสองกลุ่มแล้วให้ฟังนักแสดงแสดงบทบาทของคนมีสุขภาพจิตปกติ โดยแจ้งกลุ่มหนึ่งว่านักแสดง "เป็นชายที่น่าสนใจเพราะเขาดูออกจะประสาท (neurotic) แต่ว่าความจริงเขาเป็นโรคจิต (psychotic)" แต่ไม่แจ้งอะไรต่ออีกกลุ่มหนึ่ง แพทย์ 60% ในกลุ่มแรกวินิจฉัยนักแสดงว่าเป็นโรคจิต บ่อยที่สุดโรคจิตเภท ในขณะที่แพทย์ทั้งหมดในกลุ่มควบคุม (กลุ่มหลัง) ไม่ได้วินิจฉัยโรคจิต[11]
งานศึกษา 2531 ดำเนินการโดยให้บันทึกสัมภาษณ์คนไข้แก่จิตแพทย์ 290 คนโดยแจ้งแพทย์ครึ่งหนึ่งว่า คนไข้เป็นคนผิวดำ และอีกครึ่งหนึ่งว่า เป็นคนผิวขาว แล้วสรุปจากผลที่ได้ว่า "แพทย์ดูจะกำหนดความรุนแรง ความน่าสงสัย และความเป็นอันตรายของคนไข้ผิวดำ แม้ว่ารายงานกรณีผู้ป่วยจะเป็นอันเดียวกันกับที่ใช้ในคนไข้ผิวขาว"[12]
นักจิตวิทยาและนักเขียนคนหนึ่ง (Lauren Slater) อ้างว่าได้ทำการทดลองคล้าย ๆ กับของ ดร. โรเซ็นแฮนในหนังสือปี 2547 ของเธอ[3] โดยเขียนว่า เธอได้ไปที่ห้องฉุกเฉินทางจิตเวช 9 แห่งโดยแกล้งเป็นมีประสาทหลอนได้ยินเสียง แล้วได้รับวินิจฉัย "เกือบทุกครั้งว่า" เป็นโรคซึมเศร้าแบบจิตหลอน (psychotic depression) แต่ว่า เมื่อท้าให้แสดงหลักฐานว่าได้ทำการทดลองนี้ เธอก็ไม่สามารถยืนยันได้[13]
ในปี 2551 รายการทางวิทยาศาสตร์ Horizon ของ BBC ได้ทำการทดลองที่เกี่ยวกันโดยแบ่งเป็น 2 ตอนชื่อว่า "คุณบ้าแค่ไหน (How Mad Are You?)" ซึ่งมีผู้ร่วมงาน 10 คน 5 คนเคยได้วินิจฉัยว่ามีปัญหาสุขภาพจิต และอีก 5 คนไม่เคยมี รายการให้ผู้ชำนาญการทางสุขภาพจิต 3 ท่านทำการวินิจฉัย และข้อท้าทายก็คือให้ระบุบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพจิตโดยพฤติกรรมของบุคคลเหล่านั้นเท่านั้น โดยที่ไม่สามารถพูดกับผู้ร่วมการทดลองหรือสืบหาประวัติเพิ่มขึ้น[14] ผู้ชำนาญการวินิจฉัยคนไข้ถูก 2 คน วินิจฉัยคนไข้ผิดคนหนึ่ง และวินิจฉัยคนปกติ 2 คนว่ามีปัญหาสุขภาพจิต แต่ไม่เหมือนกับการทดลองอื่น ๆ ที่กล่าวถึงแล้ว เป้าหมายของการทดลองนี้ไม่ใช่เพื่อวิจารณ์กระบวนการวินิจฉัย แต่เพื่อลดความเป็นมลทินทางสังคมของผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต คือ เพื่อจะแสดงว่า บุคคลที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่ามีโรคจิตสามารถใช้ชีวิตปกติโดยอยู่ร่วมกับปัญหาที่ไม่ปรากฏอาการชัดเจนต่อคนอื่น ๆ โดยพฤติกรรม[15]
ดูเพิ่ม
แก้เชิงอรรถและอ้างอิง
แก้- ↑ Gaughwin, Peter (2011). "On Being Insane in Medico-Legal Places: The Importance of Taking a Complete History in Forensic Mental Health Assessment". Psychiatry, Psychology and Law. 12 (1): 298–310. doi:10.1375/pplt.12.2.298. S2CID 53771539.
- ↑ 2.0 2.1 Rosenhan, David (19 January 1973). "On being sane in insane places". Science. 179 (4070): 250–258. Bibcode:1973Sci...179..250R. doi:10.1126/science.179.4070.250. PMID 4683124. S2CID 146772269. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 November 2004.
- ↑ 3.0 3.1 Slater, Lauren (2004). Opening Skinner's Box: Great Psychological Experiments of the Twentieth Century. W. W. Norton. ISBN 0-393-05095-5.
- ↑ "Rosenhan's Experiment: Being Sane in Insane Places speaker's voice over at 2:50". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-01. สืบค้นเมื่อ 2016-12-18.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ An excerpt from the BBC program with this statement by David Rosenhan can be viewed in Drug Pushers, Drug Users, Antidepressants, & School Shooters.
- ↑ Kornblum, William (2011). Mitchell, Erin; Jucha, Robert; Chell, John (บ.ก.). Sociology in a Changing World (Google Books) (9th ed.). Cengage learning. p. 195. ISBN 978-1-111-30157-6.
- ↑ Spitzer, Robert (October 1975). "On pseudoscience in science, logic in remission, and psychiatric diagnosis: a critique of Rosenhan's "On being sane in insane places"". Journal of Abnormal Psychology. 84 (5): 442–52. doi:10.1037/h0077124. PMID 1194504.
- ↑ Rosenhen, David (1973). "Key Study: On Being Sane in Insane Places". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-05. สืบค้นเมื่อ 2016-12-18.
- ↑ "The Rosenhan experiment examined". Frontier Psychiatrist. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-14. สืบค้นเมื่อ 2016-12-18.
- ↑ Kornblum, William (2011). Mitchell, Erin; Jucha, Robert; Chell, John (บ.ก.). Sociology in a Changing World (Google Books) (9th ed.). Cengage learning. p. 195. ISBN 978-1-111-30157-6.
- ↑ Temerlin, Maurice (October 1968). "Suggestion effects in psychiatric diagnosis". The Journal of Nervous and Mental Disease. 147 (4): 349–353. PMID 5683680.
- ↑ Loring, Marti; Powell, Brian (March 1988). "Gender, race, and DSM-III: a study of the objectivity of psychiatric diagnostic behavior". Journal of Health and Social Behavior. 29 (1): 1–22. doi:10.2307/2137177. JSTOR 2137177. PMID 3367027.
- ↑ Moran, Mark (2006-04-07). "Writer Ignites Firestorm With Misdiagnosis Claims". Psychiatric News. American Psychiatric Association. 41 (7): 10–12. ISSN 1559-1255. สืบค้นเมื่อ 2009-12-03.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "BBC Headroom Horizon: How Mad Are You?". BBC.
- ↑ "How Mad Are You? - Spotlight". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-02. สืบค้นเมื่อ 2016-12-18.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- Slater, Lauren (2004). Opening Skinner's Box: Great Psychological Experiments of the Twentieth Century. W. W. Norton. pp. 64–94. ISBN 0-393-05095-5.
- On being sane in insane places เก็บถาวร 2020-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Rosenhan experiment summary
- BBC Radio 4, "Mind Changers", Series 4 Episode 1: The Pseudo-Patient Study