การชักจากไข้สูง

การชักจากไข้สูงคืออาการชักที่เกิดร่วมกับภาวะไข้สูง โดยไม่มีสาเหตุร้ายแรงอื่น[1] ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 5 ปี[1][3] อาการชักส่วนใหญ่เป็นอยู่ไม่เกิน 5 นาที หลังชักมักฟื้นกลับเป็นปกติภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง[1][4] แบ่งออกเป็นสองชนิดหลักๆ คือชักจากไข้สูงแบบทั่วไป (simple) และชักจากไข้สูงแบบซับซ้อน (complex)[1] โดยในการชักจากไข้สูงแบบทั่วไปเด็กจะมีสุขภาพโดยทั่วไปปกติ มีอาการชักแบบเกร็ง-กระตุก ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง[1] ในขณะที่การชักจากไข้สูงแบบซับซ้อนเด็กอาจมีอาการเฉพาะที่ร่วมด้วย หรือชักนานกว่า 15 นาที หรือชักมากกว่า 1 ครั้งใน 1 วัน[5] โดยเด็กที่ชักจากไข้สูงกว่า 80% จะเป็นการชักจากไข้สูงแบบทั่วไป[6]

การชักจากไข้สูง
(Febrile seizure)
ชื่ออื่นFever fit, febrile convulsion
ปรอทวัดไข้แสดงอุณหภูมิ 38.8 องศาเซลเซียส ถือว่ามีไข้
สาขาวิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน, ประสาทวิทยา, กุมารเวชศาสตร์
อาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว[1]
การตั้งต้นอายุ 6 เดือน ถึง 5 ปั[1]
ระยะดำเนินโรคมักไม่เกิน 5 นาที[1]
ประเภทแบบทั่วไป, แบบซับซ้อน[1]
สาเหตุพันธุกรรม, สิ่งแวดล้อม[1]
ปัจจัยเสี่ยงประวัติครอบครัว[1]
โรคอื่นที่คล้ายกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ความผิดปกติทางเมตาบอลิก[1]
การรักษารักษาตามอาการ[1]
ยาเบนโซไดอาซีปีน (ใช้เป็นส่วนน้อย)[1]
พยากรณ์โรคดี[1]
ความชุกพบในเด็กประมาณ 5%[2]

สิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการชักในผู้ป่วยกลุ่มนี้คือการมีไข้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไข้ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส[6] เด็กที่มีคนในครอบครัวเคยมีภาวะนี้จะมีโอกาสมีภาวะนี้มากกว่าเด็กที่ไม่มี[1] กลไกที่เป็นสาเหตุของภาวะนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดแต่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม การพัฒนาของสมอง และสารสื่อกลางการอักเสบบางอย่าง[7][8][6] การวินิจฉัยทำได้โดยการพิจารณาจากประวัติและผลการตรวจร่างกาย ร่วมกับการตรวจให้แน่ใจว่าไม่มีสาเหตุที่มาจากการติดเชื้อในสมอง เมตาบอลิซึม และไม่เคยมีประวัติการชักที่ไม่ได้เป็นพร้อมกับการมีไข้[1][6] โดยทั่วไปแล้วไม่จำเป็นต้องตรวจเลือด สแกนสมอง หรือตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง[1] แต่อาจต้องมีการตรวจเพื่อหาตำแหน่งของการติดเชื้อที่เป็นสาเหตุของไข้[1][6] การตรวจน้ำไขสันหลังมีความจำเป็นในบางราย แต่ไม่เสมอไป[1]

ทางการแพทย์ไม่แนะนำให้ใช้ยากันชักหรือยาลดไข้เพื่อจุดประสงค์ในการป้องกันภาวะชักจากไข้[1][9] ในกรณีที่เด็กมีอาการชักนานกว่า 5 นาทีอาจจำเป็นต้องหยุดอาการชักด้วยยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีพีนเช่นลอราซีแพมหรือมิดาโซแลม[1][10] การพยายามลดไข้ (เช่น การเช็ดตัว) ให้ไข้ลงอย่างรวดเร็วขณะที่กำลังชักอยู่ถือว่าไม่มีความจำเป็น[11]

ภาวะชักจากไข้เป็นภาวะที่พบได้บ่อย โดยพบในเด็กประมาณ 2-10%[2] พบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง[12] เด็กที่เคยมีภาวะชักจากไข้มาแล้วครั้งหนึ่งจะมีโอกาสเป็นซ้ำในช่วงวัยเด็กประมาณ 35%[6] พยากรณ์โรคส่วนใหญ่ดี โดยเด็กที่เคยมีภาวะชักจากไข้แบบทั่วไปส่วนใหญ่มีผลการศึกษาเทียบเท่ากับเด็กที่ไม่เคยมีภาวะชักจากไข้และไม่เปลี่ยนแปลงอัตราการเสียชีวิต[1] มีข้อมูลที่ไม่ชัดเจนนักบ่งชี้ว่าคนที่เคยมีภาวะชักจากไข้อาจมีโอกาสเป็นโรคลมชักมากกว่าประชากรทั่วไปประมาณ 2%[1]

อ้างอิง แก้

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 1.17 1.18 1.19 1.20 1.21 1.22 1.23 Graves RC, Oehler K, Tingle LE (January 2012). "Febrile seizures: risks, evaluation, and prognosis". American Family Physician. 85 (2): 149–53. PMID 22335215.
  2. 2.0 2.1 Gupta, A (February 2016). "Febrile Seizures". Continuum (Minneapolis, Minn.). 22 (1 Epilepsy): 51–9. doi:10.1212/CON.0000000000000274. PMID 26844730. S2CID 33033538.
  3. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Stat2019
  4. "Symptoms of febrile seizures". www.nhs.uk. 1 ตุลาคม 2012. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 ตุลาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2014.
  5. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ AAP2017
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Leu2018
  7. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ BMJ2015
  8. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Kwon2018
  9. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Off2017
  10. Prasad P (2013). Pocket Pediatrics: The Massachusetts General Hospital for Children Handbook of Pediatrics. Lippincott Williams & Wilkins. p. 419. ISBN 9781469830094. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 กันยายน 2017.
  11. "Febrile Seizures". familydoctor.org. สืบค้นเมื่อ 24 January 2020.
  12. Ronald M. Perkin, บ.ก. (2008). Pediatric hospital medicine : textbook of inpatient management (2nd ed.). Philadelphia: Wolters Kluwer Health/Lippincott Williams & Wilkins. p. 266. ISBN 9780781770323. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 กันยายน 2017.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก