การขนส่งระบบรางในนครวาติกัน

การขนส่งระบบรางในนครวาติกัน ประกอบด้วยทางรถไฟสายวาติกัน (อิตาลี: Ferrovia Vaticana) ที่มีความยาว 300 เมตร สำหรับขนส่งผู้โดยสารและสินค้าที่สถานีรถไฟนครวาติกัน (อิตาลี: Stazione Città del Vaticano) ซึ่งเป็นสถานีรถไฟเพียงแห่งเดียวในนครรัฐวาติกัน และถือเป็นชาติที่มีการขนส่งระบบรางที่สั้นที่สุดในโลก[1] เส้นทางสายนี้เชื่อมเข้ากับทางรถไฟของอิตาลีโดยได้รับการรับรองจากสนธิสัญญาลาเตรันเมื่อปี ค.ศ. 1929 ทางรถไฟและตัวสถานีถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 11 เพื่อความสะดวกในการขนส่งสินค้าและผู้คนจากอิตาลีเข้าสู่ภายในนครวาติกัน

ทางรถไฟสายวาติกัน
Ferrovia Vaticana
สถานีรถไฟนครวาติกัน
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเปิดให้บริการ
เจ้าของสันตะสำนัก
ที่ตั้งนครรัฐวาติกันและประเทศอิตาลี
ปลายทาง
จำนวนสถานี1
การดำเนินงาน
ระบบสายสันตะสำนัก
ผู้ดำเนินงานการรถไฟแห่งประเทศอิตาลี
ประวัติ
เปิดเมื่อ2 ตุลาคม ค.ศ. 1934
ข้อมูลทางเทคนิค
ระยะทาง1.27 กิโลเมตร (0.79 ไมล์)
จำนวนทางวิ่งทางเดี่ยว
รางกว้าง1,435 mm (4 ft 8 12 in) สแตนดาร์ดเกจ
ระบบจ่ายไฟไม่
แผนที่เส้นทาง

ปัจจุบันทางรถไฟสายนี้จะบริการขนส่งสินค้าขาเข้าเป็นส่วนใหญ่ มีขนส่งผู้โดยสารเข้ามาเป็นครั้งคราว ซึ่งโดยมากมักจะมาในรูปแบบเชิงสัญลักษณ์หรือเชิงพิธีการเสียมากกว่า[2][3]

ประวัติ

แก้

แต่เดิมทางรถไฟไม่ได้รับการอนุญาตให้ก่อสร้างในเขตนครรัฐวาติกัน ปรากฏในรัชกาลสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 16 มีพระราชวินิจฉัยมิให้ก่อสร้างทางรถไฟ และทรงกล่าวว่า "รางรถไฟคือทางของนรกภูมิ" (ฝรั่งเศส: chemin de fer, chemin d'enfer)[4] หลังสิ้นรัชกาลเก่า สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 9 จึงดำรงตำแหน่งประมุขแห่งคริสตจักรสืบมา พระองค์เริ่มก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากโบโลญญาไปอังโกนา แต่ถูกกองทัพของราชอาณาจักรซาร์ดิเนียยึดครองในปี ค.ศ. 1861 ก่อนที่จะสร้างทางรถไฟสำเร็จ[5]

ในรัชสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 11 มีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟและสถานีรถไฟในเขตนครรัฐวาติกันเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟของประเทศอิตาลีตามสนธิสัญญาลาเตรันเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1929 โดยกระทรวงโยธาธิการของราชอาณาจักรอิตาลีเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1929 โดยยกมูนดินให้สูงขึ้น 38 เมตรจากระดับน้ำทะเลเท่ากับระดับความสูงของสถานีรถไฟโรมาซันปีเอโตรของประเทศอิตาลี[6] หลังจากนั้นจึงได้ก่อสร้างสะพานทอดไปยังเขตแดนของวาติกันโดยรัฐบาลอิตาลีออกใช้จ่ายให้ ส่วนเงินที่ใช้ในการก่อสร้างสถานีรถไฟนครวาติกันคือทุนที่ได้รับตามข้อตกลงในสนธิสัญญา จำนวน 750 ล้านลีราอิตาลี[7] โดยตัวสถานีสร้างตั้งแต่ปี ค.ศ. 1929–1933

มีรถจักรไอน้ำเข้าไปวาติกันครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1932 ก่อนจะมีพิธีเปิดสถานีรถไฟนครวาติกันอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1934[8] โดยการรถไฟแห่งประเทศอิตาลีได้ให้ประโยชน์ในกิจการรถไฟสายนี้ให้แก่สันตะสำนักสำหรับใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างสองประเทศเมื่อวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 1934[6] กระทั่งเดือนตุลาคมปีเดียวกัน กระทรวงโยธาธิการจึงได้ส่งมอบเส้นทางรถไฟที่สมบูรณ์แก่การรถไฟแห่งประเทศอิตาลีและสันตะสำนัก[6]

สถานีรถไฟ

แก้

สถานีรถไฟนครวาติกัน (อิตาลี: Stazione Città del Vaticano) เป็นสถานีรถไฟเพียงแห่งเดียวในทางรถไฟสายวาติกัน ตั้งอยู่ห่างจากประตูข้ามพรมแดนวาติกัน-อิตาลีราว 20 เมตร ออกแบบโดยจูเซปเป โมโม[6] เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1929 ก่อนเปิดให้บริการในปี ค.ศ. 1933[6] ตัวอาคารมีขนาด 61 x 21.5 เมตร สร้างด้วยหินอ่อนสีขาว ตรงกลางมีความสูง 16.85 เมตร และด้านข้าง 5.95 เมตร[9] เฮนรี วอลลัม มอร์ตัน นักเขียนชาวอังกฤษ อธิบายลักษณะของตัวอาคารไว้ว่า "เหมือนธนาคารบาร์คลีส์สาขาลอนดอน"[1]

ปัจจุบันส่วนหนึ่งของอาคารยังใช้เป็นสถานีรับ-ส่งผู้โดยสารและสินค้า ส่วนหนึ่งถูกดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์กษาปณ์และตราไปรษณียากร และอีกส่วนถูกดัดแปลงเป็นห้างสรรพสินค้าปลอดภาษีเปิดบริการเฉพาะบุคคลที่มีสัญชาติวาติกันและนักการทูตเท่านั้น[10]

ระเบียงภาพ

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 Korn, Frank J. 2000. A Catholic's Guide to Rome: Discovering the Soul of the Eternal City. Paulist Press. ISBN 0-8091-3926-X. p. 49.
  2. Walsh, Michael J. 2005. Roman Catholicism: The Basics. Routledge. ISBN 0-415-26380-8. p. 95.
  3. Garwood, Duncan. 2006. Rome. Lonely Planet. ISBN 1-74059-710-9. p. 141.
  4. Pollard, John. 2005. Money and the Rise of the Modern Papacy. ISBN 0-521-81204-6. p. 29.
  5. Prusak, Bernard P. 2004. The Church Unfinished: Ecclesiology Through the Centuries. Paulist Press. ISBN 0-8091-4286-4. p. 271.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 Holy See Press Office. 28 January 2001. Trans. Glyn Williams. "The Vatican City State Railway."
  7. Reese, Thomas J. 1996. Inside the Vatican: The Politics and Organization of the Catholic Church. Harvard University Press. ISBN 0-674-93261-7. p. 203.
  8. Infos about the station on www.vatican.va (อิตาลี)
  9. Infos about the building on www.vatican.va (อิตาลี)
  10. Vatican Tax-Free Department Store Busy This Season

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้