กานาลดูว์มีดี (ฝรั่งเศส: Canal du Midi) เป็นลำคลองที่มีความยาวรวมถึง 240 กิโลเมตร ไหลผ่านทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส (Le midi) โดยเชื่อมระหว่างแม่น้ำการอน ไปยังทะเลสาบโต (Étang de Thau) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยเมื่อรวมกันกับกานาลเดอการอน (Canal de Garonne) ที่มีความยาวกว่า 193 กิโลเมตรแล้ว คลองทั้งสองจะเรียกรวมกันว่า กานาลเดเดอแมร์ (Canal des deux mers) ที่ตัดผ่านข้ามจากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกจรดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

กานาลดูว์มีดี *
  แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก
กานาลดูว์มีดี
ประเทศธงของประเทศฝรั่งเศส ฝรั่งเศส
ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม
เกณฑ์พิจารณา(i) (ii) (iv) (vi)
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน1996 (คณะกรรมการสมัยที่ 20)
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก
แผนที่แสดงความยาวของคลอง
เรือท่องเที่ยวในกานาลดูว์มีดี

จุดเริ่มต้นของคลองเริ่มจากเมืองตูลูซ และไหลลงมาจบที่ทะเลสาบโต กานาลดูว์มีดีเป็นผลงานสร้างโดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศส ปีแยร์-ปอล รีแก (Pierre-Paul Riquet) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996 กานาลดูว์มีดีได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก

รายละเอียดทางวิศวกรรม แก้

ตลอดความยาวของคลองกว่า 240 กิโลเมตร ประกอบไปด้วยประตูกั้นน้ำ (locks) จำนวน 91 แห่ง โดยมีหน้าที่เพื่อให้กระแสน้ำสามารถไหลขึ้นลงตามความสูงต่ำของคลองในเขตต่างๆ ซึ่งต่างระดับกันมากที่สุดถึง 190 เมตร และยังรวมถึงโครงสร้างทั้งหมดกว่า 328 รายการ รวมถึงสะพาน เขื่อน และอุโมงค์

ในปัจจุบันตัวคลองประกอบด้วยสะพานส่งน้ำ (aqueduct) กว่า 40 แห่ง ซึ่งในตอนแรกสร้างโดยริเกนั้นมีเพียง 3 แห่ง ได้แก่ สะพานส่งน้ำแห่งเรปูดร์ (pont-canal de Répudre) สะพานส่งน้ำแห่งแอกีย์ (pont-canal d'Aiguille) และสะพานส่งน้ำแห่งฌูอาร์ (pont-canal de Jouarres) โดยมีลักษณะคือเป็นสะพานสำหรับกานาลดูว์มีดี ซึ่งพาดเหนือแม่น้ำอื่น ๆ โดยที่เรือนั้นสามารถแล่นได้ตามปกติทั้งคลองด้านบนและด้านล่าง ต่อมาในปี ค.ศ. 1683-1693 โวบ็องได้ปรับปรุงเพิ่มเติมโดยมีการเพิ่มคลองสำหรับระบายน้ำ และสร้างสะพานส่งน้ำอีกกว่า 40 แห่ง โดยแหล่งที่สำคัญ ๆ ได้แก่ สะพานส่งน้ำแห่งออร์เบียล (pont-canal d'Orbiel) และสะพานส่งน้ำแห่งแซ็ส (pont-canal de Cesse) นอกจากนี้ยังมีสะพานส่งน้ำแห่งออร์บ (pont-canal d'Orb) ซึ่งสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1858 และแห่งล่าสุดได้แก่ สะพานส่งน้ำแห่งแอร์แบ็ต ซึ่งสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1983

ที่เมืองเบซีเย จะพบประตูกั้นน้ำเป็นขั้นบันไดประกอบด้วยประตูกั้นน้ำจำนวนเก้าประตู เรียกว่าประตูน้ำแห่งฟงเซราน (Fonsérannes) ซึ่งสร้างเพื่อลดระดับน้ำทีละนิดจนถึงระดับเดียวกันกับแม่น้ำออร์บ โดยสร้างจากหินและลดหลั่นกันลงมาตามเชิงเขา ซึ่งระหว่างประตูในแต่ละช่วงนั้นสามารถบรรจุน้ำได้บริเวณเท่า ๆ กัน โดยสร้างเสร็จอย่างสมบูรณ์ไม่ต้องมีการซ่อมแซมเพิ่มเติมใดๆ การก่อสร้างนี้รับเหมาโดยวิศวกรสองพี่น้องตระกูลเมดเดล (Medhailes) และสร้างโดยแรงงานซึ่งประกอบด้วยสตรีเป็นหลัก

เนื่องจากปัญหาเรื่องอุทกภัย จึงมีการสร้างสะพานส่งน้ำเป็นช่วง ๆ ในกานาลดูว์มีดี โดยแห่งแรกนั้นใช้ข้ามแม่น้ำเลอเรปูดร์ (Le Répudre) และภายหลังโวบ็องได้เป็นผู้ออกแบบต่อมาสำหรับสะพานส่งน้ำแห่งอื่น ๆ และในที่สุดได้มีการสร้างสะพานส่งน้ำผ่านบนสะพานส่งน้ำแห่งออร์บ ซึ่งได้ลัดประตูกั้นน้ำสองช่วงล่างสุดของฟงเซราน ในปี ค.ศ. 1982 ได้มีการสร้างคลองช่วงใหม่ซึ่งใช้แทนที่ประตูกั้นน้ำแห่งเดิมของฟงเซราน เดิมซึ่งในปัจจุบันปิดให้บริการทางน้ำอย่างถาวร

คลองแห่งนี้ยังรวมอุโมงค์สำหรับคลองแห่งแรกในโลกอีกด้วย มีชื่อว่า อุโมงค์มาลปัส (Tunnel de Malpas) ซึ่งมีความยาวถึง 173 เมตรผ่านบริเวณเขาที่เมืองอ็องเซรูน (Ensérune)

นอกจากนี้ โครงการยังรวมถึงการสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นเพื่อใช้สำรองน้ำสำหรับคลอง ได้แก่ ทะเลสาบแห่งแซ็ง-แฟเรออล (Bassin de St. Ferréol) และแห่งที่สองซึ่งสร้างทีหลังในปี ค.ศ. 1777-1781 ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแห่งล็องปี (Bassin de Lampy)

การก่อสร้างคลองแห่งนี้นั้นได้ถือว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ซึ่งทำโดยใช้แรงงานจากมนุษย์ และในปัจจุบันนั้นก็ยังเป็นประจักษ์พยานถึงความสำเร็จทางวิศวกรรมแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์ยุโรป

สมุดภาพ แก้

บรรณานุกรม แก้

  • (อังกฤษ) Roland, Claudine (1997). The Canal du Midi (English Translation ed.). MSM. ISBN 2-909998-66-5.
  • (ฝรั่งเศส) Morand, Jaques (1993). Le Canal du Midi et Pierre-Paul Riquet. Édisud.