กั้งตั๊กแตนเจ็ดสี

กั้งตั๊กแตนเจ็ดสี
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Arthropoda
ไฟลัมย่อย: Crustacea
ชั้น: Malacostraca
อันดับ: Stomatopoda
วงศ์: Odontodactylidae
สกุล: Odontodactylus
สปีชีส์: O.  scyllarus
ชื่อทวินาม
Odontodactylus scyllarus
(Linnaeus, 1758)
ชื่อพ้อง[1]

กั้งตั๊กแตนเจ็ดสี (อังกฤษ: Peacock mantis shrimp, Harlequin mantis shrimp, Painted mantis shrimp; ชื่อวิทยาศาสตร์: Odontodactylus scyllarus)[2] เป็นครัสเตเชียนชนิดหนึ่ง จำพวกกั้ง

จัดอยู่ในวงศ์ Odontodactylidae เป็นกั้งที่มีสีสวย มักอยู่ตามพื้นทราย นอกเขตแนวปะการัง บางครั้งอาจพบได้ในเขตน้ำตื้น ส่วนใหญ่หลบซ่อนอยู่ในรูที่มีทางออกหลายทาง แต่บางครั้งอาจเดินอยู่บนพื้นเพื่อหาอาหาร ได้แก่ หอยฝาเดียว, กุ้ง, ปู หรือปลาขนาดเล็ก ตามีการพัฒนาสูงสุด จนถือได้ว่าเป็นสัตว์ที่มีระบบการมองเห็นที่ดีที่สุดในบรรดาอาณาจักรสัตว์โลก โดยดวงตากลมโตทั้งสองข้างนั้นสามารถกลอกกลิ้งไปมาได้อย่างเป็นอิสระ มีเซลล์รับแสงมากถึง 12 สี เมื่อเทียบกับตามนุษย์ที่มีเซลล์รับแสงเพียงแค่ 3 สีเท่านั้น นอกจากจะมองเห็นสีสันได้มากมายหลายเฉดสีแล้ว ยังสามารถรับรู้แสงโพลาไรซ์ได้อีกด้วย[3] และสามารถสแกนภาพได้ โดยใช้เส้นขนานกลางตาเพื่อเล็งเหยื่อ ก่อนใช้ขาคู่หน้าที่คล้ายกับกำปั้นหรือสันหมัดของมนุษย์ดีดไปอย่างแรง ลักษณะคล้ายตั๊กแตนตำข้าวจับเหยื่อ อาจใช้ดีดจนกระดองปูหรือเปลือกหอยแตกได้ หรือดีดเพื่อเกี่ยวกลับเข้ามา ซึ่งแรงดีดนี้รุนแรงมาก แม้แต่จะทำให้มนุษย์บาดเจ็บได้ หรือแม้กระทั่งกระจกตู้ปลาอาจแตกด้วยแรงดีดเพียงครั้งเดียว เพราะเป็นสัตว์ที่มีแรงในการดีดหนักกว่าน้ำหนักของตัวเองมากกว่า 1,000 เท่า ในอัตราความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (มีอัตราเร่งใกล้เคียงกับกระสุนขนาด 5.6 มิลลิเมตร) และยังสามารถดีดได้มากถึง 50,000 ครั้งโดยที่ไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด เนื่องจากโครงสร้างภายในของขาคู่หน้านั้นมีลักษณะเป็นชั้น ๆ ที่ซับซ้อน บริเวณที่รับแรงกระแทกโดยตรง ประกอบด้วยไฮดรอกซิลอะพาไทต์แบบผลึกที่พบมากในกระดูกและฟันของมนุษย์ จึงทำให้ผิวชั้นนี้มีสมบัติทนทานต่อแรงกดอัดได้ดี อีกทั้งที่อยู่ด้านในมีลักษณะซ้ำ ๆ ของชั้นเส้นใยไคตินที่มีสมบัติด้านความแข็งตึง (ความสามารถในการรักษารูปร่าง) ต่ำ ซึ่งพบมากในโครงสร้างภายนอกของสัตว์ครัสเตเชียน มีการจัดเรียงตัวในลักษณะวนเป็นเกลียวและเติมเต็มด้วยสารอนินทรีย์ชนิดอสัณฐานที่โครงสร้างของสสารไม่เป็นผลึกอยู่ระหว่างกลาง ทำหน้าที่เป็นตัวดูดซับแรงกระแทกที่เกิดจากการจู่โจม ส่วนชั้นที่มีลักษณะเป็นลายริ้ว ๆ เป็นเส้นใยไคตินมีหน้าที่ห่อหุ้มขาคู่หน้าทั้งหมดเพื่ออัดองค์ประกอบอนินทรีย์ต่าง ๆ ให้อยู่ภายในระยางค์เพื่อป้องกันการบาดเจ็บได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ซึ่งลักษณะทางกายภาคที่ยอดเยี่ยมเช่นนี้เป็นต้นแบบให้นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาแคลิฟอร์เนีย, ริเวอร์ไซด์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย และมหาวิทยาลัยเพอร์ดู ของสหรัฐอเมริกาใช้ศึกษาเพื่อพัฒนาการสร้างวัสดุที่มีความแข็งแกร่งสูงแต่น้ำหนักเบา โดยเลียนแบบจากโครงสร้างอันนี้[4]

มีพฤติกรรมหลบซ่อนอยู่ในรู โดยโผล่มาแต่เฉพาะส่วนหัว เมื่อภัยอันตรายเข้ามาใกล้ จะหดหัวเข้าไป ก่อนจะโผล่หัวออกมาดูอีกครั้งภายในเวลา 2–3 นาที แต่ถ้าเดินหากินอยู่ไกลโพรง เมื่อพบเจอกับศัตรู บางครั้งจะชูตัวยกขึ้นแล้วชูขาหน้าเพื่อขู่ศัตรู หากไม่ได้ผล จะงอตัวกลิ้งกับพื้น หากจวนตัวจะดีดตัวอย่างรวดเร็วพุ่งหายไป

มีขนาดความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร พบในความลึกไม่เกิน 20 เมตร พบกระจายพันธุ์ในเขตอินโด-แปซิฟิก ตั้งแต่เกาะกวมจนถึงแอฟริกาตะวันออก[2] ในน่านน้ำไทยพบได้น้อยทางฝั่งอ่าวไทย แต่จะพบได้มากกว่าทางฝั่งทะเลอันดามัน

เป็นกั้งที่ไม่ได้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ เพราะมีเนื้อน้อย แต่มีการเลี้ยงเป็นสัตว์น้ำสวยงาม โดยผู้เลี้ยงอาจหาท่อพีวีซีใส่ในตู้ เพื่อให้เป็นที่หลบซ่อน[5][2]

อ้างอิง แก้

  1. WoRMS taxon details (อังกฤษ)
  2. 2.0 2.1 2.2 Species: Odontodactylus scyllarus (อังกฤษ)
  3. Science Illustrated Thailand
  4. สัมฤทธิ์เดชจร, อวรวรรณ (ธันวาคม 2557). "หมัดทรงพลังของกั้งตั๊กแตน 7 สี : ต้นแบบวัสดุที่รอคอย" (PDF). สาระวิทย์ ฉบับที่ 21.[ลิงก์เสีย]
  5. กั้งตั๊กแตนเจ็ดสี

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Odontodactylus scyllarus ที่วิกิสปีชีส์