กะละปังหา
กะละปังหา | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักรใหญ่: | Eukaryota |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Cnidaria |
ชั้นย่อย: | Octocorallia |
วงศ์ | |
|
กะละปังหา หรือ กัลปังหา (ยืมมาจากภาษามลายูคำว่า "kalam pangha") เป็นสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลัง แต่ละตัวมีขนาดเล็กมาก รูปร่างคล้ายทรงกระบอกหรือรูปถ้วย[1] จัดอยู่ในพวกเดียวกับปะการัง กะละปังหาประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ตัวกะละปังหา (โพลิป) ตัวของกะละปังหานี้มีลักษณะคล้ายดอกไม้ทะเลขนาดเล็ก มีเนื้อเยื่ออ่อนนุ่ม และมีหนวดรอบปากจำนวนแปดเส้น ฝังและกระจายตัวอยู่ตามโครงสร้างกะละปังหา และอีกส่วนเป็นส่วนโครงสร้างที่เป็นกิ่งแตกกิ่งก้านคล้ายพัดและซี่หวี แล้วแต่ชนิดกิ่งโครงสร้างนี้ตัวกะละปังหาสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับตัวเองและเป็นสารเขาจำพวกสัตว์[2]
กะละปังหาชอบอาศัยอยู่ตามที่มีกระแสน้ำไหล เนื่องจากกระแสน้ำจะช่วยพัดพาอาหารมาให้และจะช่วยพัดพาของเสียที่ถูกปล่อยออกจากกะละปังหาออกไป โดยกะละปังหาจะใช้หนวดในการดักจับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเพื่อนำมาเป็นอาหารส่วนเข็มพิษที่หนวดจะช่วยในการจับพวกแพลงก์ตอน กะละปังหามีประโยชน์โดยเป็นแหล่งที่อาศัยของสัตว์ทะเลขนาดเล็กหลายชนิดโดยสัตว์เหล่านี้จะเกาะตามกิ่งก้าน และนอกจากนี้กะละปังหาสามารถใช้เป็นสมุนไพรตามความเชื่อของชาวจีนโบราณ[3]
การสืบพันธุ์
แก้กะละปังหาสามารถสืบพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศเช่นเดียวกับปะการัง การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศนั้นใช้วิธีแตกหน่อหรือการแยกออกจากกัน ส่วนการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศเป็นการผสมภายในระหว่างเซลสืบพันธุ์ของเพศผู้และเพศเมียที่มาจากต่างโคโลนีกัน โดยที่แต่ละโคโลนีของกะละปังหาส่วนใหญ่จะมีเซลสืบพันธุ์เพียงเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น
ประโยชน์
แก้กะละปังหามีประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์ทะเลขนาดเล็กหลายชนิด แต่การที่กะละปังหามีรูปร่างและสีสันที่สวยงาม จึงเกิดค่านิยมผิดๆ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในอดีต เช่น นำมาประดับตู้ปลา นำมาใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้าน หรือแม้กระทั่งนำส่วนที่เป็นแกนในสีดำมาทำเป็นครื่องรางของขลัง ชาวจีนโบราณมีความเชื่อว่ากะละปังหาเป็นสมุนไพรที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง แต่ในปัจจุบันซึ่งมีการศึกษาระบบนิเวศและธรรมชาติ จึงพบว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหลายในโลกสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน การทำลายหรือย้ายกะละปังหาจากแหล่งที่อยู่เดิม ถือเป็นการกระทำที่ไม่สมควร เพราะเป็นการทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลขนาดเล็ก ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทำให้สัตว์น้ำขนาดเล็กไม่มีที่หลบสัตว์นักล่า จึงไม่สามารถเจริญเติบโตและอาจสูญพันธุ์ได้ ดังนั้นการนำกะละปังหาขึ้นมาจากทะเลจึงเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ขาดความรู้ และไร้ซึ่งสามัญสำนึกที่ดี
นอกจากนี้ ยังไม่มีงานวิจัยหรือข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ใดในปัจจุบัน สามารถรับรองได้เลยว่า กะละปังหา มีสรรพคุณที่ใช้ในการรักษาโรคได้จริง ตามความเชื่อของชาวจีนโบราณ
สถานภาพในปัจจุบัน
แก้กะละปังหาเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ว่าห้ามมีไว้ในครอบครองหรือเพื่อการค้าขาย ยกเว้นการวิจัยกะละปังหา เนื่องจากกะละปังหาเป็นสัตว์ทะเลที่เจริญเติบโตค่อนข้างช้า บางชนิดอาจจะใช้เวลาเป็นร้อยปีในการเติบโตเพียงแค่ 1 ฟุต และในหนึ่งต้นนั้นมีตัวกะละปังหาอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นการทำลายกะละปังหาหนึ่งต้นเท่ากับทำลายตัวกะละปังหาของกะละปังหาหลายหมื่นหลายแสนตัว[2] แต่ก็ยังมีผู้ลักลอบนำกะละปังหาและปะการัง มาจำหน่ายในตลาดตู้ปลาหลายแห่ง เช่น ตลาดสัตว์เลี้ยงจตุจักร(พ.ศ. 2557) เป็นต้น
อ้างอิง
แก้- ↑ ความหมายของคำว่า "กะละปังหา". พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
- ↑ 2.0 2.1 กัลปังหา[ลิงก์เสีย]. สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลับบูรพา
- ↑ กัลปังหา สัตว์ทะเลชนิดหนึ่ง เก็บถาวร 2011-08-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
- “กัลปังหา” หนวดพิษในม่านพริ้วไหว[ลิงก์เสีย]. โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย