กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร

กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร หรือเดิมเป็น สถานอารยธรรมศึกษาโขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดตั้งขึ้นเพื่อสืบค้น รวบรวม วิจัย พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ รวมทั้งการประสานงานเครือข่ายวิชาการ การประชุมวิชาการ และการจัดนิทรรศการ ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง-สาละวิน โดยรวมศูนย์ศิลปวัฒนธรรมและพิพิธภัณฑ์ผ้าของมหาวิทยาลัยเข้าเป็นหน่วยงานเดียวกันเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
มหาวิทยาลัยนเรศวร
Institute of Mekong-Salween Civilization Studies
Naresuan Univeristy
สัญลักษณ์ "พลังแห่งความรุ่งเรือง"
สถาปนา9 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
ผู้อำนวยการนางนิพัทธ์ เกษาพร
ที่อยู่
อาคารอาคารวิสุทธิกษัตริย์ ชั้น 3 มหาวิทยาลัยนเรศวร
99 หมู่ 9 ถนนพิษณุโลก-นครสวรรค์ ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก 65000
วารสารวารสารอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน
มาสคอต
พลังแห่งความรุ่งเรือง
สถานปฏิบัติพิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร,
หอศิลป์ มหาวิทยาลัยนเรศวร,
พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช,
พิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำโขง-สาละวิน
เว็บไซต์www.nuac.nu.ac.th/

สำนักงานตั้งอยู่ที่อาคารสถานบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ชั้น 2 ปัจจุบันได้ย้ายอยู่ในอาคารวิสุทธิกษัตริย์ หอศิลป์ ภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก มีพื้นที่ดำเนินงาน 2 ส่วน คือมหาวิทยาลัยนเรศวร ส่วนหนองอ้อ และมหาวิทยาลัยนเรศวร ส่วนสนามบิน (หรือในปัจจุบันคือโรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร)

ประวัติ แก้

เดิมหอศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวรจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 ณ บริเวณมหาวิทยาลัยนเรศวร (ส่วนสนามบิน) ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นที่ตั้งเดิมของมหาวิทยาลัย โดยมีหน้าที่ในการประสานงานจัดแสดงนิทรรศการงานศิลปกรรม ดนตรี นาฏศิลป์ จิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรมไทยเพื่อเผยแพร่สู่ชุมชน และได้ปรับปรุงอาคารบริเวณชั้นบนเพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์และห้องอบรมทางด้านศิลปวัฒนธรรม ต่อมาทางหอศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับความเห็นชอบจากมหาวิทยาลัยให้เปลี่ยนชื่อเป็น "ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร" เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 โดยภายในประกอบไปด้วยหอศิลป์ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และหอประวัติมหาวิทยาลัยนเรศวร

พิพิธภัณฑ์ผ้า เกิดขึ้นจากมหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นว่า ทรัพยากรอย่างหนึ่งของประเทศ คือ “ฝ้าย” ซึ่งเป็นผลผลิตของประเทศที่สมควรได้รับการศึกษาและส่งเสริม จึงได้ร่วมกับองค์กรภายนอก คือ “ร้านจิตรลดา” อันเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งรับสนองพระราชเสาวนีย์ โดยท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ทำให้ร้านจิตรลดาได้ถือกำเนิดขึ้น และเป็นองค์กรที่ได้สนับสนุนให้เกิดโครงการพิพิธภัณฑ์ผ้า จาก กองทุนสนับสนุนของร้านจิตรลดาในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ผ้า เป็นการจัดแสดงชุดฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถที่พระราชทานแก่มหาวิทยาลัยนเรศวร จำนวน 6 องค์ พร้อมผลิตภัณฑ์จากร้านจิตรลดา และห้องนิทรรศการซึ่งจัดแสดงผ้าทอมือจากแหล่งต่างๆ ของประเทศในลักษณะหมุนเวียน โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์ผ้า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2542

ต่อมาปี 2543 มหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เนื่องจากได้พิจารณาถึงศักยภาพ และความสำคัญของโครงการพิพิธภัณฑ์ผ้าแล้วเห็นว่าเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดกิจกรรมทางการท่องเที่ยว และเป็นโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวใหม่ เพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวเดิมภายในตัวเมืองพิษณุโลก รวมทั้งเป็นการขยายเครือข่ายโครงการจิตรลดาอีกทางหนึ่งจึงได้สนับสนุนงบประมาณ เพื่อดำเนินการพัฒนาปรับปรุงอาคารพิพิธภัณฑ์ผ้า และก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ชีวิต จำนวน 9 หลัง เพื่อเป็นศูนย์กลางการสาธิต และจัดแสดงกระบวนการผลิตผ้าแบบครบวงจร เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิต อาจารย์ บุคลากรและประชาชนทั่วไป ได้เกิดการเรียนรู้และซาบซึ้งในภูมิปัญญาไทยเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสาร และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในภาคเหนือตอนล่าง และในปี 2544 มหาวิทยาลัยนเรศวรได้สนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อทำการตกแต่ง ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ชีวิต อุปกรณ์ทอผ้าต่างๆ ตกแต่งภูมิทัศน์รอบๆ อาคารพิพิธภัณฑ์ชีวิต และจัดสร้างห้องพิพิธภัณฑ์ผ้าไทครั่ง

ต่อมาในวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 สภามหาวิทยาลัยนเรศวรได้มีมติให้รวมศูนย์ศิลปวัฒนธรรมและพิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวรเข้าด้วยกัน โดยให้จัดตั้งเป็นหน่วยงานขึ้นใหม่ ในช่วงแรกให้ใช้ชื่อว่า "สถาบันอารยธรรมศึกษาโขง-สาละวิน" ต่อมาได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น "สถานอารยธรรมศึกษาโขง-สาละวิน" โดยเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ตามประกาศมหาวิทยาลัยนเรศวร เรื่อง จัดตั้งและปรับปรุงโครงสร้างของส่วนราชการและหน่วยงานภายในสำนักงานอธิการบดี (เพิ่มเติม) โดยประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ให้เปลี่ยนสถานภาพ และชื่อคำเรียกหน่วยงาน จากสถาบันอารยธรรมศึกษาโขง – สาละวิน เป็นสถานอารยธรรมศึกษาโขง–สาละวิน และให้ย้ายไปสังกัดสำนักงานอธิการบดี โดยมีฐานะเทียบเท่ากองและให้แบ่งหน่วยงานภายในเป็น ๔ งาน ประกอบด้วย ๑. งานธุรการ ๒.งานวิจัยและสารสนเทศ ๓. งานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ๔. งานพิพิธภัณฑ์

เมื่อคราวประชุมครั้งที่ ๒๐๗ (๕/๒๕๕๘) เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ให้ได้มีการปรับโครงสร้างการบริหารตามนโยบายของท่านอธิการบดี โดยผ่านสภามหาวิทยาลัย เพื่อให้การบริหารงานมีความชัดเจนและคล่องตัวในการขับเคลื่อนงาน ในทุกบริบท

จึงได้มีประกาศสภามหาวิทยาลัยนเรศวร เรื่อง การปรับปรุงโครงสร้างส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร (สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน) บังคับใช้ประกาศตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ให้แบ่งส่วนงานภายใน ดังนี้ ๑.งานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ๒.งานวิจัยและสารสนเทศ โดยทำหน้าที่ศึกษาสืบค้น รวบรวม วิจัย พัฒนา รวมทั้งการสร้างจิตสำนึกความมีตัวตนและอัตลักษณ์ให้กับคนในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจในกลุ่มชุมชนชาติพันธุ์พื้นที่ลุ่มน้ำโขง-สาละวิน ๖ ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศไทย สาธารณรัฐประชาชนจีน สหภาพพม่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ตลอดจนเผยแพร่ ถ่ายทอดองค์ความรู้ และการสร้างเสริมเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ประสานสัมพันธ์กับหน่วยงานของภาครัฐบาล และเอกชน ทั้งภายในประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ อย่างสอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกที่เชื่อมโยงนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ต่อมาสภามหาวิทยาลัยในคราวประชุมครั้งที่ ๒๓๗ (๑๒/๒๕๖๐) เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๐ ระเบียบวาระที่ ๖.๗ เรื่องการปรับโครงสร้างหน่วยงานภายใต้สำนักงานอธิการบดี เห็นชอบให้เปลี่ยนชื่อจาก สถานอารยธรรมศึกษาโขงสาละวิน เป็น กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นต้นไป โดยแยกเป็น ๒ งาน ๑ หน่วยได้แก่ ๑.งานบ่มเพาะและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ๒.งานวิจัยสร้างสรรค์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ๓.หน่วยสนับสนุน

ในเวลาต่อมามติสภามหาวิทยาลัยนเรศวร ในการประชุมครั้งที่ ๒๖๓ (๗/๒๕๖๒) เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ได้ปรับโครงสร้างส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร สำนักงานอธิการบดี กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม เปลี่ยนเป็นหน่วยงานภายในกองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ดังนี้ ๑.งานศิลปวัฒนธรรม ๒.งานพัฒนานวัตศิลป์ ประกาศ ณ วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๒ เป็นต้นไป โดยนายกสภามหาวิทยาลัยนเรศวร[1]


 
หอศิลป์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

หอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ แก้

สถานอารยธรรมศึกษาโขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวรประกอบด้วยหอศิลป์ และพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ดังนี้

  • หอประวัติมหาวิทยาลัยนเรศวร หอประวัติมหาวิทยาลัยนเรศวรเกิดขึ้นจากการดำเนินการศึกษาสืบค้นและรวบรวมข้อมูลความเป็นมาของประวัติและพัฒนาการของมหาวิทยาลัยนเรศวรเริ่มตั้งแต่การเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลกมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก และมหาวิทยาลัยนเรศวรในปัจจุบัน ซึ่งมีรายละเอียดข้อมูลประกอบด้วยประวัติความเป็นมา ตราสัญลักษณ์ และเรื่องราว เหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยในแต่ละยุค เช่น ประวัติบุคคลสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงสิ้นสุด ประกอบด้วย ประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา และการพัฒนางานที่สำคัญ การผลิตบัณฑิต สภาพแวดล้อมทางกายภาพ การบริการวิชาการ การวิจัย และการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม รวมทั้งความโดดเด่นของมหาวิทยาลัยในแต่ละยุคให้มีความครบถ้วนรอบด้านมากที่สุด เพื่อเป็นองค์ความรู้ จดหมายเหตุสำคัญไว้เป็นสมบัติที่มีคุณค่าของมหาวิทยาลัย อันจะหล่อหลอมอดีต และสืบสานสู่การพัฒนาในอนาคตต่อไป[2]
  • หอศิลป์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ตั้งเดิมอยู่ภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร ส่วนสนามบิน (หรือในปัจจุบันคือโรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร) ภายในจัดแสดงผลงานศิลปะของศิลปินต่าง ๆ กว่า 100 ชิ้น อาทิเช่น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศน์ศิลป์ รวมทั้งศิลปินที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ ของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการและผลงานศิลปะหมุนเวียนตลอดทั้งปีด้วย

ที่ตั้งปัจจุบันนี้หอศิลป์ได้ย้ายมาอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ส่วนหนองอ้อ อาคารวิสุทธิกษัตริย์ ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก

  • พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตั้งอยู่บนชั้น 3 ของหอศิลป์ ภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร ส่วนสนามบิน(ปัจจุบันอยู่ส่วนหนองอ้อ อาคารวิสุทธิกษัตริย์ ชั้น 4) มีการจัดแสดงพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเท่าพระองค์จริง เหรียญที่ระลึก และศาสตราวุธต่าง ๆ
  • พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร ส่วนหนองอ้อ อยู่บริเวณชั้นล่างอาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยนเรศวร แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้
    • พิพิธภัณฑ์ผ้า ตั้งอยู่ชั้นล่างของอาคารอเนกประสงค์ จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของผ้าจากชนชาติต่าง ๆ รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับเครื่องนุ่งห่มและการแต่งกาย นอกจากนี้ยังมีการจัดอบรมและนิทรรศการเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายและของประดับเป็นระยะ ๆ ตลอดทั้งปี และมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าชนิดต่าง ๆ และของที่ระลึกของมหาวิทยาลัยอีกด้วย
    • พิพิธภัณฑ์ชีวิต(Live Museum) ประกอบด้วยกลุ่มอาคารทรงไทยที่อยู่ข้างสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งภายในจะให้ความรู้ในด้านความเป็นมาของผ้าและการทอผ้า ตั้งแต่การปลูกฝ้าย เลี้ยงหม่อน จนถึงการทอผ้าพื้นฐานและการทอผ้าชั้นสูง นำเสนอในรูปแบบ Animation ผสมผสานภูมิปัญญากับเทคโนโลยี บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาก่อนที่จะเป็นผืนผ้า บนพื้นที่ 200 ตารางเมตร ปรับโฉมตกแต่งให้มีความร่มรื่นของต้นไม้ สายน้ำเป็นสวนหย่อม บริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ชีวิตให้เป็น “สวนประติมาธรรม” จัดแสดงผลงานประติมากรรมและดำเนินกิจกรรมทางพุทธศาสนา สำหรับผลงานประติมากรรม ได้รับความอนุเคราะห์จากคณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ มอบผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงทั่วประเทศจำนวน 13 ชิ้น ประกอบด้วย ประติมากรรมเหล็ก ประติมากรรมหิน และประติมากรรมดินเผา และยังมีเครือข่ายศิลปินทั่วประเทศที่ยินดีมอบผลงานเพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธารณชน[3]
  • พิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำโขง-สาละวิน

การบริหารส่วนงานราชการ แก้

กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร มีการแบ่งหน่วยงานต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • งานศิลปวัฒนธรรม
    - หน่วยอำนวยการ
    - หน่วยวิจัยและสารสนเทศ
    - หน่วยเผยแพร่วัฒนธรรม
  • งานพัฒนานวัตศิลป์
    - หน่วยพัฒนาศิลปวัฒนธรรม
    - หน่วยส่งเสริมผลิตภัณฑ์[4]

อ้างอิง แก้

  1. "ประวัติความเป็นมา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-23. สืบค้นเมื่อ 2020-03-11.
  2. เกี่ยวกับหอประวัติ[ลิงก์เสีย]
  3. "ข้อมูลพิพิธภัณฑ์ชีวิต". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-23. สืบค้นเมื่อ 2020-03-11.
  4. "โครงสร้างองค์กร/โครงสร้างการบริหาร กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-23. สืบค้นเมื่อ 2020-03-11.

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้