กวน มึน โฮ
กวน มึน โฮ เป็นภาพยนตร์ไทยแนวโรแมนติก-คอมเมดี ผลิตโดยจอกว้างฟิล์ม และจัดจำหน่ายโดยจีทีเอช ออกฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553 เป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์ของบรรจง ปิสัญธนะกูล ได้รับการจัดอันดับ "น 18+ (ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 18ปีขึ้นไป) [3] นำแสดงโดย ฉันทวิชช์ ธนะเสวี และหนึ่งธิดา โสภณ ภาพยนตร์เป็นผลงานกำกับในแนวหนังรักเรื่องแรกของบรรจง โดยได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือ สองเงาในเกาหลี ของ ทรงกลด บางยี่ขัน[4]
กวน มึน โฮ | |
---|---|
ใบปิดภาพยนตร์ | |
กำกับ | บรรจง ปิสัญธนะกูล |
บทภาพยนตร์ | นนตรา คุ้มวงษ์ ฉันทวิชช์ ธนะเสวี บรรจง ปิสัญธนะกูล [1] |
สร้างจาก | สองเงาในเกาหลี โดย ทรงกลด บางยี่ขัน |
นักแสดงนำ | |
กำกับภาพ | นิรมล รอสส์ |
ตัดต่อ | ธรรมรัตน์ สุเมธศุภโชค |
ดนตรีประกอบ | ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์ |
บริษัทผู้สร้าง | |
ผู้จัดจำหน่าย | จีทีเอช |
วันฉาย | 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553 |
ความยาว | 117 นาที |
ประเทศ | ไทย |
ภาษา | ไทย |
ทำเงิน | 131.04 ล้านบาท (เฉพาะ กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่)[2] |
ข้อมูลจาก IMDb | |
ข้อมูลจากสยามโซน |
กวน มึน โฮ นำเสนอเรื่องราวของชายหนุ่มและหญิงสาวชาวไทยที่ไปเที่ยวประเทศเกาหลี แล้วพบกันโดยบังเอิญ ทั้งสองตกลงที่จะไม่บอกชื่อแก่กัน และออกเที่ยวเกาหลีด้วยกัน ใช้สถานที่ถ่ายทำในประเทศเกาหลีในหลากหลายฉากที่เกี่ยวข้องกับละครซีรีส์เกาหลีที่ฉายในประเทศไทย
ด้านกิจกรรม ทางค่ายหนังได้จัด กิจกรรม "กวน จน ดัง หวัง 100 ล้าน" โดยมีนักแสดง ผู้กำกับ และวงดนตรี ทเวนตีไฟฟ์อาวส์ ไปร่วมร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ "ยินดีที่ไม่รู้จัก"
เรื่องย่อ
แก้ชายหนุ่ม (ฉันทวิชช์ ธนะเสวี) ผู้ชายที่จะไปประเทศเกาหลี ด้วยรองเท้าแตะคีบ และเสื้อยืดย้วยๆบวกกางเกงขาสั้น เขาเป็นคนเดียวในกรุ๊ปทัวร์ที่ไม่มีครอบครัวหรือคนรักมาด้วย บางทีที่นั่งว่างเปล่าข้างๆ อาจเป็นสาเหตุให้เขาเมามายขนาดนี้ในวันเดินทาง หลังล้อเครื่องแตะพื้นผิวท่าอากาศยานกรุงโซลโปรแกรมเที่ยวตามรหัส 6-7-8 คือ ตื่นนอน 6 โมงเช้า - กินข้าว 7 โมงเช้า – ล้อหมุน 8 โมงเช้า
คืนนั้นชายหนุ่มเลยต้องพึ่งเหล้าโซจู ซึ่งเขามาเมาสลบอยู่หน้าเกสท์เฮาส์แห่งหนึ่งในชุดคลุมอาบน้ำโรงแรม เช้าวันรุ่งขึ้น ชายหนุ่มลุกพรวดขึ้นมาหมิ่นเหม่เวลาล้อหมุน หญิงสาว (หนึ่งธิดา โสภณ) ที่ยืนอยู่ตรงนั้นร้องโวยวาย เพราะต้องการทวงเสื้อหนาวที่เธอเสียสละให้เขาใช้คลุมกายคืน ชายหนุ่มผู้หลงทางจึงบังคับแกมตีมึนให้หญิงสาวพาไปส่งที่โรงแรม แต่เพราะหลงทางเสียเวลา หลงเสพสุราเสียอนาคต ชายหนุ่มตกรถพลาดทัวร์สุดเนิร์ด จนต้องตามหญิงสาวที่ตั้งใจมาทัวร์เดี่ยวตะลุยโลเกชั่นซีรีส์สสุดฮิตของเกาหลีแทน
ชายหนุ่มอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมหญิงสาวถึงมาเที่ยวคนเดียว เธอตอบง่ายๆว่า เที่ยวคนเดียวไม่ต้องเกรงใจใคร อยากไปไหนก็ไป ไม่ต้องทะเลาะกับใครด้วย อาจเพราะความคะนอง หรือ ความเหงาทำงานเต็มที่ก็สุดจะเดา อยู่ๆ ชายหนุ่มก็ยื่นข้อเสนอว่า "งั้นเรามาเที่ยวด้วยกันมั้ย ถ้าเธอไม่ชอบเที่ยวกับคนรู้จัก เราก็ไม่ต้องรู้จักกัน ไม่รู้ชื่อ ไม่รู้ข้อมูลส่วนตัว" เขายิ้มร่าพลางสรุป "เราจะเป็นแค่คนแปลกหน้าสองคนที่ไปเที่ยวด้วยกัน"
นักแสดง
แก้- ฉันทวิชช์ ธนะเสวี รับบท ชายหนุ่ม ใช้นามแฝงว่า ด่าง
- หนึ่งธิดา โสภณ รับบท หญิงสาว ใช้นามแฝงว่า เม
- วรัทยา นิลคูหา รับบท ก้อย
- รสสุคนธ์ กองเกตุ รับบท ไกด์ทัวร์
งานสร้างภาพยนตร์
แก้บทภาพยนตร์
แก้บรรจง ปิสัญธนะกูล ที่โด่งดังมาจากการกำกับหนังสยองขวัญ อย่างเช่น ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ, แฝด, สี่แพร่ง (ตอน คนกลาง), ห้าแพร่ง (ตอน คนกอง) ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นหนังรักเรื่องแรกของบรรจง โดยได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือ สองเงาในเกาหลี ของ ทรงกลด บางยี่ขัน โดยบทภาพยนตร์เขียนโดยสามคน รวมทั้งตัวผู้กำกับและฉันทวิชช์ โดยบทที่ไม่ใช่เป็นความรักโรแมนติกเท่านั้น ยังใส่ความกวนที่เป็นสไตล์ของเขาเข้าไป โดยตัวละครพวกเขาเป็นคนคิดขึ้นมาใหม่
การคัดเลือกนักแสดง
แก้สำหรับตัวเอก ผู้ชาย ผู้กำกับเห็นแววในตัว เต๋อ ฉันทวิชช์ เห็นในความกวน จึงเลือกเขามารับบทนี้ อีกทั้งฉันทวิชช์ร่วมเขียนบทเองด้วย ส่วนตัวละครหญิง ผู้กำกับมีความตั้งใจว่าจะไม่ใช้นักแสดงที่เคยเป็นนางเอกมาก่อน ได้คัดเลือกนักแสดงหญิงจำนวน 1,500 คนจากทั่วประเทศ ในโครงการ"ลักส์ปั้นดาว" จนได้ตัวนักแสดงหญิงตัวเอก เป็น หนูนา หนึ่งธิดา โสภณ
การถ่ายทำ
แก้ภาพยนตร์ ถ่ายทำที่ประเทศเกาหลีใต้ ใช้เวลาถ่ายทำนานสองเดือนเต็ม[5] ในช่วงเวลารอยต่อฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ นอกจากนั้นยังมีการแก้ไขบทกว่า 20 ร่างและถ่ายทำไว้แบบหลากหลายอารมณ์ และยังมีบางฉากที่ต้องถ่ายในประเทศไทย โดยสมมติว่าเป็นที่เกาหลี
สถานที่ถ่ายทำในเกาหลีใต้ ผู้กำกับเลือกสถานที่ใน 2 ลักษณะคือ สถานที่ที่ชาวไทยมักไปท่องเที่ยวกัน เช่น ตามรอยซีรีส์เกาหลี โรงถ่ายละครแดจังกึม และ Winter Love Song ร้านกาแฟคอฟฟีพรินซ์ หอคอยนัมซาน เกาะนามิ สวนน้ำบลูแคนยอน ฟีนิกซ์พาร์กรีสอร์ต เซเวนลักคาซิโน สวนสนุกลอตเตเวิลด์ โซลทาวเวอร์ พิพิธภัณฑ์เท็ดดีแบร์ พระราชวังถ็อกซูกุง คลองชองเกชอน เมียงดง ทงแดมุน นัมแดมุน การแสดงไฮจัมป์โชว์[6] ส่วนอีกด้านหนึ่งคือในสถานที่ที่ไม่เป็นที่คุ้นเคย เช่นในฉากบ้านคนเกาหลีในชนบท ดูรอยเท้าไดโนเสาร์ ทะเลเกาหลี รวมถึงในฉากงานแต่งงานแบบดั้งเดิมของเกาหลี[7]
เทคนิคงานสร้าง
แก้ถ่ายทำด้วยกล้อง Sony EX3 XDCAM EX HD, Canon DSLR HD บันทึกเสียง sync sound on location
เพลงประกอบ
แก้เพลง "ยินดีที่ไม่รู้จัก" ขับร้องโดย 25hours (ทเวนตีไฟฟ์อาวส์) กำกับมิวสิกวิดีโอโดย นิธิวัฒน์ ธราธร และได้นักแสดงจากภาพยนตร์มาแสดง คือฉันทวิชช์ ธนะเสวี และหนึ่งธิดา โสภณ[8] และได้ นางเอก หนึ่งธิดา โสภณ มาร้องเพลง "รักไม่ต้องการเวลา" ซึ่งเป็นการนำเพลง "รักไม่ต้องการเวลา" ของ วงเคลียร์มาทำใหม่
การออกฉายและรายได้
แก้ภาพยนตร์เรื่องนี้ ออกฉายทั่วไปในโรงภาพยนตร์เมื่อ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553 เปิดตัวในวันแรกทำรายได้กว่า 7.2 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดในปี พ.ศ. 2553[9] ทำรายได้ใน 4 วันแรกที่ 40 ล้านบาท เปิดตัวใน 4 วันแรกน้อยกว่าภาพยนตร์ในปีที่แล้วของจีทีเอชอย่าง รถไฟฟ้ามาหานะเธอ และ 5 แพร่ง ที่ทำได้ 57 และ 51 ล้านบาทใน 4 วันแรกตามลำดับ และรายได้ 7 วัน 70 ล้านบาท[10] ในสัปดาห์ที่ 3 จากการฉายเพียง 16 วันทำรายได้เกินร้อยล้าน ในขณะที่ภาพยนตร์เรื่องอื่นอย่าง ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ ใช้เวลา 19 วัน และ 5 แพร่ง ใช้เวลา 18 วัน และสามารถทำรายได้ได้เป็นอันดับ 3 ของค่ายจีทีเอช[11] ภาพยนตร์ทำรายได้รวม 131.04 ล้านบาท เป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้สูงสุดประจำปี พ.ศ. 2553[12]
ภาพยนตร์ออกฉายที่อินโดนีเซีย ติดอันดับ 3 บ็อกซ์ออฟฟิสของอินโดนีเซีย เป็นรองหนังฮอลลีวูด เรื่อง Grown Ups และหนังอินเดียเรื่อง We are Family[13] สามารถขึ้นอันดับ 1 อันดับหนังทำเงินที่อินโดนีเซียได้
รางวัล
แก้- Osaka Asian Film Festival 2011[14]
- ABC Award
- Most Promising Talent Award (บรรจง ปิสัญธนะกูล)
- รางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 20 ประจำปี 2553[15]
- นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (หนึ่งธิดา โสภณ)
- Starpics Thai Film Awards ครั้งที่ 8[16]
- นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (หนึ่งธิดา โสภณ)
- Gmember Award 2010[17]
- เพลงประกอบภาพยนตร์ยอดนิยม (หนึ่งธิดา โสภณ)
- คมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 8[ต้องการอ้างอิง]
- ภาพยนตร์ยอดนิยม
- ท็อปอวอร์ด 2010[18]
- ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (บรรจง ปิสัญธนะกูล)
อ้างอิง
แก้- ↑ "พระเอกมาดกวน "เต๋อ-ฉันทวิชช์ ธนะเสวี" เล่นเองเขียนเอง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2011-03-02.
- ↑ "10 อันดับหนังไทยทำเงินสูงสุดประจำปี 2553". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-06. สืบค้นเมื่อ 2011-03-18.
- ↑ เมเจอร์ซีนิเพล็กซ์ กวน มึน โฮ ข้อมูลภาพยนตร์ เรียกข้อมูลวันที่ 21 สิงหาคม 2553
- ↑ "โต้ง-บรรจง ได้แรงบันดาล สองเงาในเกาหลี ทำหนังโฮแมนติก กวนมิดี้ กวน มึน โฮ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-31. สืบค้นเมื่อ 2010-08-21.
- ↑ กวน มึน โฮ thaicinema.org
- ↑ ทัวร์เกาหลี แพ็คเกจทัวร์เกาหลี
- ↑ รายการเอ็มทีวีออนแอร์ไลฟ์ ช่องเอ็มทีวีไทยแลนด์ ทรูวิชันส์ 85 วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553 เวลา 19.00-20.00
- ↑ ""เต๋อ-หนูนา" ลุยถ่ายเอ็มวี "ยินดีที่ไม่รู้จัก" วง 25 hours ทึ่ง!! ฉากลอยตัว ไอเดียล้ำ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-10. สืบค้นเมื่อ 2010-08-23.
- ↑ โพสต์ทูเดย์ เก็บถาวร 2010-08-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กวน มึน โฮ เปิดตัววันแรกโกยรายได้คับคั่ง ฉบับวันที่ 20 สิงหาคม 2553 เรียกข้อมูลวันที่ 21 สิงหาคม 2553
- ↑ "กวน มึน โฮ" 4 วัน 4000 ล้าน, "สิ่งเล็กเล็กฯ" 11 วัน 4000.5 ล้าน[ลิงก์เสีย]
- ↑ ""กวนมึนโฮ"แซง"5แพร่ง-ชัตเตอร์" ขึ้นอันดับ3หนังทำเงินGTH". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-10. สืบค้นเมื่อ 2010-09-06.
- ↑ รายได้หนังปีเสือ ไม่ดุไม่แรงแต่โดน[ลิงก์เสีย] เดลินิวส์
- ↑ ภาพยนตร์ออกฉายที่อินโดนีเซีย ติดอันดับ 3 บ็อกซ์ออฟฟิสของอินโดนีเซีย
- ↑ "กวนมึนโฮ" คว้า2รางวัล เทศกาลหนังที่โอซากา
- ↑ รางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 20 ประจำปี 2553
- ↑ Starpics Thai Film Awards ครั้งที่ 8[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Gmember Award 2010". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-27. สืบค้นเมื่อ 2011-02-19.
- ↑ "ท็อปอวอร์ด 2010". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-02-03. สืบค้นเมื่อ 2011-03-18.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์หลักของภาพยนตร์ กวน มึน โฮ เก็บถาวร 2010-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- กวน มึน โฮ จากเว็บไซต์เอ็มไทยดอตคอม เก็บถาวร 2010-07-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- กวน มึน โฮ (2010) ที่สยามโซน