กรมหลวงบาทบริจา

กรมหลวงบาทบริจา, กรมหลวงบาทบริจาริก หรือ กรมหลวงบาทบริจาริกา[1][2] มีพระนามเดิมว่า สอน หรือ ส่อน เป็นพระอัครมเหสีในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่เป็นชายาแต่เดิมก่อนการขึ้นครองราชย์และได้รับการสถาปนาเป็นอัครมเหสีภายหลัง

กรมหลวงบาทบริจา
พระอัครมเหสีกรุงศรีอยุธยา
ก่อนหน้ากรมขุนวิมลพัตร
ถัดไปสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี
พระราชสวามีสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
พระบุตร
ราชวงศ์ธนบุรี (อภิเษกสมรส)
ศาสนาพุทธ

หลังการผลัดแผ่นดินจากการปราบดาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ถูกถอดพระอิสริยยศเป็นสามัญชนตามเดิมว่า หม่อมสอน แม้กระนั้นท่านก็ได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี และดำรงชีวิตอยู่ในธนบุรีอย่างเงียบ ๆ

พระราชประวัติ แก้

พระชนม์ชีพช่วงต้น แก้

กรมหลวงบาทบริจา ชาววังออกพระนามว่า สมเด็จพระอัครมเหสีหอกลาง หรือ เจ้าส่อนหอกลาง หรือ เจ้าครอกหอกลาง มีพระนามเดิมว่า สอน[3] หรือ ส่อน[4] จุลลดา ภักดีภูมินทร์แสดงความเห็นว่าพระองค์น่าจะมีพระนามเดิมว่า "สอน" มากกว่า "ส่อน" โดยให้เหตุผลว่าคนในอดีตมักใช้วรรณยุกต์พร่ำเพรื่อเกินจำเป็น[5] ไม่มีข้อมูลบิดามารดาของพระองค์ว่าสืบมาจากสายสกุลใด จึงเป็นไปได้ว่าอาจเป็นเพียงหญิงสามัญซึ่งมิได้มาจากตระกูลใหญ่หรือมีสายสัมพันธ์กับชนชั้นผู้ดีในสมัยอยุธยา ทั้งนี้นิธิ เอียวศรีวงศ์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า สินอาจแต่งงานกับสอนก่อนหน้าดำรงตำแหน่งพระยาตาก[6] และมองว่าสอนมิใคร่มีญาติสนิทมากนัก[7] ส่วนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสันนิษฐานว่าสอนเป็นบุตรสาวของฮั้น น้าสาวของสิน (ซึ่งได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกรมหลวงเทวินทรสุดา) ดังปรากฏความว่า "...เจ้าหอกลางนี้ไม่ใช่ตระกูลอื่นยกขึ้น คงจะเปนญาติของเจ้ากรุงธนบุรีอย่างลูกพี่ลูกน้อง ฤๅเปนลูกของน้า อาจจะเปนลูกเจ้าฮั้น [กรมหลวงเทวินทรสุดา] ได้ฤๅไม่"[8]

สถาปนาเป็นเจ้า แก้

พระราชประวัติของพระองค์ปรากฏใน อภินิหารบรรพบุรุษ ว่าเป็นพระอรรคชายาเดิม มีสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชาย แต่ปรากฏว่าประสูติแล้วก็สิ้นพระชนม์จึงไม่ปรากฏพระนาม[1] ส่วน บางกอกรีกอเดอ ฉบับวันที่ 17 มกราคม จ.ศ. 1227 (ค.ศ. 1866) ระบุว่าพระอรรคชายาเดิมมีเจ้าฟ้าเพียงพระองค์เดียว ซึ่งสิ้นพระชนม์หลังผลัดแผ่นดิน[9]

ขณะที่หนังสือ ลำดับสกุลเก่าบางสกุล ภาค 1 และ ภาค 4 ระบุตรงกันว่าพระองค์มีพระราชบุตรสองพระองค์ คือ เจ้าฟ้าจุ้ยและเจ้าฟ้าน้อย[1] และ จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ระบุว่ากรมหลวงบาทบริจาประสูติกาลพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง ความว่า "เจ้าหอกลางประสูตร์เจ้าเปนพระราชกุมารแผ่นดินไหว ฉลูต้นปีโปรดปล่อยคนโทษในคุกสิ้นหมายสมโภชเจ้าฟ้าน้อย..."[10] ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวินิจฉัยว่า พระราชโอรสพระองค์หลังนี้คงมีพระชนมายุไล่เลี่ยกับพระพงษ์นรินทร์ราวปีหรือสองปี[11]

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหลวงบาทบริจา แม้จะเป็นพระอัครมเหสีแต่พระองค์ก็เป็นพระอัครมเหสีที่มิได้เป็นเจ้ามาแต่เดิม เมื่อมีพระประสูติกาลพระราชบุตร พระราชบุตรที่ประสูติจึงมีพระยศเป็นพระองค์เจ้าแล้วจึงได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าภายหลัง[12] โดยกรมขุนอินทรพิทักษ์พระโอรสองค์ใหญ่ เคยมีเรื่องหมางพระทัยกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แล้วพาลมาถึงกรมหลวงบาทบริจาด้วย ถึงกับออกคำสั่งขับกรมหลวงบาทบริจาออกจากวังไปประทับกับพระราชโอรสพระองค์นั้น ดังปรากฏใน จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี คือ "ขับเจ้าหอกลางไปอยู่ที่วังนอก"[13] ทว่าภายหลังเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีหายพิโรธแล้วก็ได้หมายพระทัยที่จะรั้งพระโอรสพระองค์นี้ครองกรุงกัมพูชาสืบไป[14]

หลังการผลัดแผ่นดิน แก้

 
สถูปหน้าพระอุโบสถหลังเดิม วัดอินทารามวรวิหาร เชื่อว่าอาจเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของกรมหลวงบาทบริจา

เมื่อเกิดการผลัดแผ่นดินสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์และกรมหลวงเทวินทรสุดา ได้ถูกลดพระอิสริยยศเป็น "หม่อมสอน" และ "หม่อมอั๋น" ตามลำดับ[15] ส่วนพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเป็นชายในราชวงศ์ธนบุรีส่วนใหญ่มักถูกประหารพร้อมกับเหล่าขุนนาง ส่วนพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหญิงก็ต้องโทษจองจำไว้[16] ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชเลขา ความว่า

"ยังเหลืออยู่แต่พระราชบุตร และบุตรีน้อย ๆ มีเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ [เจ้าฟ้าเหม็น] อันเป็นพระราชนัดดาของพระองค์นั้นเป็นต้น และเจ้าฮั้น [กรมหลวงเทวินทรสุดา] ซึ่งเป็นน้าของเจ้าตากสิน และเจ้าส่อนหอกลางซึ่งเป็นกรมหลวงบาทบริจาอัครมเหสี กับญาติวงศ์ซึ่งเป็นหญิงนั้นให้จำไว้ทั้งสิ้น"[4]

หลังจากการผลัดแผ่นดิน จุลลดา ภักดีภูมินทร์อ้างว่า พระองค์ดำรงพระชนม์อย่างสงบในธนบุรีนั้นเอง โดยมีผู้คอยอุปถัมภ์ค้ำชูอยู่ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี พระเชษฐภคินีพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ด้วยมีความสนิทสนมคุ้นเคยมาตั้งแต่อาศัยในกรุงเก่าด้วยกัน[17] แม้ตัวจะมิใช่เจ้าแล้ว แต่คนในแวดวงยังคงเรียกขานว่า เจ้าสอนหอกลาง หรือ เจ้าส่อนหอกลาง ตามเดิม[18] และเสด็จสวรรคตในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั่นเอง[15]

พระราชโอรส แก้

กรมหลวงบาทบริจามีพระราชโอรสสองพระองค์ คือ

  1. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ เป็นพระมหาอุปราชครั้งกรุงธนบุรี ถูกสำเร็จโทษในรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2325 เป็นต้นสกุลสินสุข และอินทรโยธิน[19]
  2. เจ้าฟ้าน้อย ถูกสำเร็จโทษในรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2325 ตามพระราชบิดาคราวเดียวกับพระเชษฐา ไม่มีวงศ์สืบราชสกุล

อ้างอิงและเชิงอรรถ แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ฐานบุ๊คส์. 2554, หน้า 35
  2. ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ภาคปกิรณกะ ส่วนที่ 1. กรุงเทพฯ : หอพระสมุดวชิรญาณ. 2467, หน้า 84-7
    "...อนึ่งชื่อเจ้ากรมข้างในว่า กรมหลวงประชาบดี ในแผ่นดินทรงปลา แลกรมหลวงอภัยนุชิต กรมหลวงพิพิธมนตรี ในแผ่นดินบรมโกษฐ แลกรมหลวงบาทบริจาริก ในแผ่นดินเจ้าตากไม่มีคำนำนาม..."
  3. ปรามินทร์ เครือทอง. กบฏเจ้าฟ้าเหม็น. พิมพ์ครั้งที่ 3 (ปรับปรุง). กรุงเทพฯ : มติชน. 2555, หน้า 36
  4. 4.0 4.1 พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา. คลังวิทยา. 2516, หน้า 452
  5. จุลลดา ภักดีภูมินทร์. "เจ้าจอมมารดาฉิม". เด็กดีดอตคอม. สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี.. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ : มติชน, 2548, หน้า 95
  7. นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ : มติชน, 2548, หน้า 68
  8. จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์). กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2562, หน้า 123
  9. หนังสือจดหมายเหตุ (PDF). กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 2537. p. 271. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-06-24. สืบค้นเมื่อ 2020-04-09. ๏ เมื่อครั้งแผ่นดินกรุงธนบุรี, แรกตั้งแผ่นดินบางกอกก่อนพระวงษนี้, มีพระเจ้าลูกเธอชายเป็นเจ้าฟ้าสามพระองค์. พระองค์หนึ่งเกิดแต่พระอรรคชายาเดิม, อีกพระองค์หนึ่งเกิดแต่มารดาที่เปนญาติวงษของพระเจ้าแผ่นดินในเวลานั้น. อีกพระองค์หนึ่ง, เกิดแต่มารดาที่เปนพระบุตรีของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์, ซึ่งเวลานั้นพระเจ้าแผ่นดินโปรด, ให้ถืออาญาสิทธเหมือนพระเจ้าแผ่นดินในการสงคราม. ในเจ้าฟ้าทั้งสามนั้น, องค์สองสิ้นชีพแต่ยังเยาว์. องค์ที่หนึ่งสิ้นชีพเมื่อล่วงแผ่นดินนั้นไป. แต่องค์ที่สามสืบมาเปนสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้า, ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์.
  10. จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์). กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2562, หน้า 34
  11. จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์). กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2562, หน้า 62
  12. ปรามินทร์ เครือทอง. กบฏเจ้าฟ้าเหม็น. พิมพ์ครั้งที่ 3 (ปรับปรุง). กรุงเทพฯ : มติชน. 2555, หน้า 36-37
  13. ประชุมพงศาวดารภาคที่ 8. คุรุสภา. 2507, หน้า 118
  14. ปรามินทร์ เครือทอง. กบฏเจ้าฟ้าเหม็น. พิมพ์ครั้งที่ 3 (ปรับปรุง). กรุงเทพฯ : มติชน. 2555, หน้า 38-39
  15. 15.0 15.1 กรมศิลปากร (2470). ลำดับสกุลเก่า บางสกุล ภาคที่ 4 สกุลเชื้อสายพระราชวงศ์กรุงธนบุรี (ฉะบับร่าง) (PDF). พระนคร: พระจันทร์. p. ก–ข.
  16. ปรามินทร์ เครือทอง. กบฏเจ้าฟ้าเหม็น. พิมพ์ครั้งที่ 3 (ปรับปรุง). กรุงเทพฯ : มติชน. 2555, หน้า 61
  17. จุลลดา ภักดีภูมินทร์ (14 พฤษภาคม 2545). "สมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่". สกุลไทย. 48 (2482)
  18. จุลลดา ภักดีภูมินทร์ (21 พฤษภาคม 2545). "พระราชวงศ์กรุงธนบุรีกับพระราชจักรีวงศ์". สกุลไทย. 48 (2483), หน้า 78
  19. ส.พลายน้อย. พระเจ้าตากสิน มหาราชแห่งชาติไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : พิมพ์คำ, 2553, หน้า 179
ก่อนหน้า กรมหลวงบาทบริจา ถัดไป
กรมขุนวิมลพัตร
(กรุงศรีอยุธยา)
  พระอัครมเหสีแห่งกรุงศรีอยุธยา
(28 ธันวาคม พ.ศ. 2310 – 6 เมษายน พ.ศ. 2325)
  สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี
(กรุงรัตนโกสินทร์)