กรมหลวงเทวินทรสุดา

กรมหลวงเทวินทรสุดา หรือ กรมหลวงเทพินทรสุดา เป็นสมเด็จพระมาตุจฉาในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีนามเดิมว่า อั๋น[2] หรือ ฮั้น[1] สันนิษฐานว่าเป็นธิดาของขุนนางในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา[3] เป็นน้องสาวของนกเอี้ยง (ต่อมาคือ กรมพระเทพามาตย์ พระราชชนนีของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) สันนิษฐานว่าพระองค์อาจมีเชื้อสายจีนแซ่โหงว[4] และมีถิ่นฐานเดิมอยู่บ้านแหลม เขตจังหวัดเพชรบุรี[5] และได้อพยพเข้ามาพำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลาช้านาน[5]

กรมหลวงเทวินทรสุดา
พระนามเต็ม
อั๋น (หรือ ฮั้น)[1]
ราชวงศ์ธนบุรี

ทั้งนี้พระองค์เสกสมรสกับใครหรือพระภัสดาเสียชีวิตไปก่อนหน้านั้น ไม่เป็นที่ปรากฏ[6] ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว ได้ทรงสถาปนาอั๋นพระมาตุจฉาขึ้นทรงกรมเป็น กรมหลวงเทวินทรสุดา หรือ เทพินทรสุดา

เมื่อเกิดการผลัดแผ่นดินสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์ได้รับโปรดเกล้าฯ ลดพระยศเป็น "หม่อมอั๋น"[5] ด้วยเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหญิงก็จึงต้องโทษจองจำไว้ ขณะที่พระบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นชายมักถูกประหารพร้อมกับขุนนาง[7] ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ความว่า

"ยังเหลืออยู่แต่พระราชบุตร และบุตรีน้อย ๆ มีเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ [เจ้าฟ้าเหม็น] อันเป็นพระราชนัดดาของพระองค์นั้นเป็นต้น และเจ้าฮั้น [กรมหลวงเทวินทรสุดา] ซึ่งเป็นน้าของเจ้าตากสิน และเจ้าส่อนหอกลางซึ่งเป็นกรมหลวงบาทบริจาอัครมเหสี กับญาติวงศ์ซึ่งเป็นหญิงนั้นให้จำไว้ทั้งสิ้น"[1]

หลังจากการผลัดแผ่นดิน พระองค์ดำรงพระชนม์อย่างสงบสุขในธนบุรีนั้นเอง ซึ่งยังมีผู้คอยอุปถัมภ์ค้ำชูอยู่ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี พระเชษฐภคินีพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ด้วยมีความสนิทสนมคุ้นเคย[8] และสิ้นชีพลงในรัชสมัยดังกล่าว[5]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา. คลังวิทยา. 2516, หน้า 452
  2. กรมศิลปากร (2470). ลำดับสกุลเก่า บางสกุล ภาคที่ 4 สกุลเชื้อสายพระราชวงศ์กรุงธนบุรี (ฉะบับร่าง) (PDF). พระนคร: พระจันทร์. p. ก.
  3. ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2544. 490 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-222-648-2
  4. สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์. สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี "ลูกจีนกู้ชาติ" ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย. ในศิลปวัฒนธรรม., หน้า 104
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์. สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี "ลูกจีนกู้ชาติ" ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย. ในศิลปวัฒนธรรม., หน้า 105
  6. นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ : มติชน, 2548, หน้า 115
  7. ปรามินทร์ เครือทอง. กบฏเจ้าฟ้าเหม็น. พิมพ์ครั้งที่ 3 (ปรับปรุง). กรุงเทพฯ:มติชน. 2555, หน้า 61
  8. สมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่ เก็บถาวร 2010-08-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จุลลดา ภักดีภูมินทร์. นิตยสารสกุลไทย. ฉบับที่ 2482 ปีที่ 48 ประจำวันอังคารที่ 14 พฤษภาคม 2545