มหาวิทยาลัยเคนซิงตัน

(เปลี่ยนทางจาก Kensington University)

มหาวิทยาลัยเคนซิงตัน (อังกฤษ: Kensington University) เป็นสถาบันการศึกษาทางไกลซึ่งเดิมตั้งทำการอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียและต่อมาเปิดทำการในรัฐฮาวาย จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งสองสั่งปิดเนื่องจากไม่ผ่านการรับรองคุณภาพ

ประวัติ แก้

แอลเฟรด คาลาโบร (Alfred Calabro) ก่อตั้งสถาบันนี้ขึ้นใน ค.ศ. 1976 ที่เกรนเดล แคลิฟอร์เนีย เพื่อรองรับความต้องการผู้ใหญ่วัยทำงาน[1] ที่ตั้งของสถาบันนี้ในเกรนเดลยังใช้เป็นสำนักงานกฎหมายของคาลาโบรด้วย และสถาบันนี้ประสาทปริญญาทุกระดับในหลายวิชา[2]

นับแต่ก่อตั้งใน ค.ศ. 1976 สถาบันนี้มีสถานะเป็นสถาบันอิสระซึ่ง "ได้รับอนุญาต" สำหรับการศึกษาหลังมัธยมศึกษาในแคลิฟอร์เนีย[3] แต่หลังจัดตั้งสภาการศึกษาเอกชนหลังมัธยมศึกษาและอาชีวะแคลิฟอร์เนีย (California Council for Private Postsecondary and Vocational Education) ใน ค.ศ. 1989 เพื่อจัดระเบียบสถาบันอุดมศึกษาในแคลิฟอร์เนียแล้ว มีการกำหนดให้สถาบันแห่งนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาดังกล่าว สภาเข้าตรวจสอบสถาบันนี้เป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1994 และพบความบกพร่องหลายประการ[1][2] หลังเป็นคดีความกันยืดเยื้อ สถาบันแห่งนี้ก็ถูกเจ้าหน้าที่รัฐแคลิฟอร์เนียสั่งปิดใน ค.ศ. 1996[2] สภาการศึกษาดังกล่าวแถลงว่า "ที่มหาวิทยาลัยเคนซิงตัน คุณสามารถได้รับปริญญาชั้นสูงโดยไม่ต้องมีมาตรฐานการศึกษาที่เคร่งครัดหรือน่าเชื่อถืออะไรมากมายหรือไม่ต้องมีเลยก็ได้"[2] ต่อมาในเดือนกันยายน ค.ศ. 1996 แอนโทนี คาลาโบร (Anthony Calabro) เปิดสถาบันแห่งนี้ใหม่[4] ที่เกาะโอวาฮู ฮาวาย[5] จนกระทั่งถูกศาลสั่งปิดอีกใน ค.ศ. 2003[6][7]

ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง แก้

มีรายงานใน ค.ศ. 1996 ว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้แล้ว 7,000 คน[8]

หนึ่งในผู้สำเร็จการศึกษาดังกล่าว คือ เจนนิเฟอร์ แคร์รอลล์ (Jennifer Carroll) ซึ่งดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการรัฐฟลอริดาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฟลอริดา แคร์รออล์ได้รับปริญญาบัตรชั้นมหาบัณฑิตสาขาบริหารธุรกิจจากสถาบันนี้ใน ค.ศ. 1995 แต่หลังรับทราบข้อชวนวิตกเกี่ยวกับความชอบธรรมของสถาบันแห่งนี้จากรายงานสืบสวนของสำนักข่าวซีบีเอสนิวส์ แคร์รอลล์ก็ถอดเรื่องการศึกษาดังกล่าวออกจากประวัติส่วนตัวใน ค.ศ. 2004 อย่างไรก็ดี ที่สุดแล้ว แคร์รอลล์ก็จำต้องลาออกจากตำแหน่งในคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยทุนการศึกษาจากประธานาธิบดี (National Commission on Presidential Scholars)[7][9] อีกผู้หนึ่งที่รายงานของซีบีเอสนิวส์ระบุว่า ได้รับปริญญาบัตรจากสถาบันแห่งนี้ คือ เรเน ดรูอิน (René Drouin) ซึ่งดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาประจำกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐ[7] ทั้งแคร์รอลล์และดรูอินให้สัมภาษณ์โดยยืนยันว่า ได้บากบั่นเล่าเรียนในการศึกษาที่สถาบันนี้ และเชื่อว่า หลักสูตรที่นี่ถูกต้อง[7][9]

มาร์ติน เอส. รอเดน (Martin S. Roden) อาจารย์สอนวิศวกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (ยูซีแอลเอ) เป็นอีกบุคคลที่ได้รับปริญญาบัตรชั้นดุษฎีบัณฑิตจากสถาบันแห่งนี้ใน ค.ศ. 1982 ซึ่งในเวลานั้นรอเดนได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์เต็มขั้นประจำยูซีแอลเอไปแล้ว[1][10] ใน ค.ศ. 1996 รอเดนให้สัมภาษณ์ว่า สถาบันแห่งนี้ "ไม่ใช่ของเก๊ แต่แน่นอนว่า คนจบจากที่นั่นเทียบชั้นกับคนจบจากยูซีแอลเอไม่ได้"[1] ภายหลัง รอเดนให้สัมภาษณ์แก่ ครอนิเคิลออฟไฮเออร์เอดยูเคชัน ว่า ตนมีปริญญาบัตรชั้นดุษฎีบัณฑิต (ชั้นดอกเตอร์) จากสถาบันนี้เพียงเพื่อจะได้ไม่ต้องคอยแก้ไขคำพูดของนักศึกษาที่เรียกตนผิด ๆ ว่า "ดอกเตอร์"[10]

อนึ่ง ปริญญาบัตรจากสถาบันแห่งนี้เป็นปริญญาบัตรจากสถาบันการศึกษาแห่งเดียวในโลกตะวันตกที่จัดแสดงไว้ ณ ทำเนียบของคิม อิล-ซ็อง ประธานาธิบดีเกาหลีเหนือผู้ล่วงลับแล้ว และภายหลังก็แสดงไว้ที่สุสานของเขาด้วย[11][12]

กฎหมายอาญาเท็กซัส แก้

ตามประมวลกฎหมายอาญาเท็กซัส การใช้ปริญญาบัตรจากสถาบันแห่งนี้เป็นความผิดอาญาลหุโทษ ถ้าเป็นการใช้ "ในการโฆษณาหรือส่งเสริมอย่างอื่นในทางธุรกิจ ไม่ว่าเป็นลายลักษณ์อักษรหรือเป็นวาจา หรือเพื่อความมุ่งประสงค์ที่จะได้รับเลือกเข้าทำงาน ได้รับใบอนุญาตหรือใบรับรองให้ประกอบการค้า วิชาชีพ หรืออาชีพ ได้รับการส่งเสริม ค่าตอบแทน หรือประโยชน์อย่างอื่น หรือได้รับการเพิ่มค่าตอบแทนหรือประโยชน์อย่างอื่นในการทำงานหรือในการประกอบการค้า วิชาชีพ หรืออาชีพ หรือได้รับการยอมรับเข้าหลักสูตรการศึกษาในรัฐนี้ หรือได้มาซึ่งตำแหน่งหน้าที่ทางราชการซึ่งมีอำนาจเหนือบุคคลอื่น ไม่ว่าผู้กระทำได้รับค่าตอบแทนสำหรับตำแหน่งหน้าที่นั้นหรือไม่"[13] ความผิดอาญาดังกล่าวมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 ดอลลาร์ จำคุกไม่เกิน 180 วัน หรือทั้งปรับทั้งจำดังกล่าว[14]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Chandler, John (April 23, 1996). "Kensington University Faces Closure Hearing". Los Angeles Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 16, 2012.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Chandler, John (January 4, 1996). "State Orders Closure of Area School: Regulators say the private, Glendale-based Kensington University lacks 'credible academic standards'". Los Angeles Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 16, 2012.
  3. California Postsecondary Education Commission. "California Colleges and Universities" (PDF). p. 13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ August 10, 2013. สืบค้นเมื่อ July 22, 2013.
  4. "BREG Online Services - powered by eHawaii.gov". สืบค้นเมื่อ 29 July 2014.
  5. Chandler, John (June 27, 1996). "University Sidesteps Close Order: Kensington correspondence school transfers Glendale student enrollment to 'paper campus' in Hawaii". Los Angeles Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 16, 2012.
  6. "Kensington University". State of Hawai’i Office of Consumer Protection. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 15, 2011. สืบค้นเมื่อ May 25, 2013.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 "Top Officials Hold Fake Degrees". CBS News. May 10, 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 12, 2004.
  8. Chandler, John (April 6, 1996). "Lawyer Fights to Keep His School Going". Los Angeles Times.
  9. 9.0 9.1 Majors, Stephen (May 12, 2004). "Lawmaker to check her degree's status". Florida Times-Union.
  10. 10.0 10.1 Bartlett, Thomas; Smallwood, Scott (June 25, 2004). "Psst. Wanna Buy a Ph.D.?". Chronicle of Higher Education.
  11. Burdick, Eddie (2010). Three Days in the Hermit Kingdom: An American Visits North Korea. McFarland. pp. 115–116. ISBN 978-0786448982.
  12. Lindval, Bengt. "Inside the Democratic People's Republic of Korea". Now Toronto. January 13, 2016.
  13. "Institutions Whose Degrees are Illegal to Use in Texas". Texas Higher Education Coordinating Board. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 12, 2017. สืบค้นเมื่อ July 19, 2017.
  14. "Section 12.22, Texas Penal Code ('Class B Misdemeanor')". Texas Constitution and Statutes. สืบค้นเมื่อ July 19, 2017.