เฮฟีสเทียน
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
เฮฟีสเทียน (อังกฤษ: Hephaestion) หรือ แฮไพส์ตีออน (กรีกโบราณ: Ἡφαιστίων) เป็นแม่ทัพกรีกชาวมาเกโดนีอาของอเล็กซานเดอร์มหาราช ความสัมพันธ์ตลอดช่วงชีวิตของทั้งสองมักถูกนำเปรียบเปรยโดยบุคคนอื่นรวมถึงตัวพวกเขาเองว่าเป็นดั่งอคิลลีสกับพะทรอคลัส
เฮฟีสเทียน แฮไพส์ตีออน | |
---|---|
รูปสลักของเฮฟีสเทียน | |
ชื่อเล่น | พะทรอคลัส (ปาโตรโกลส) |
เกิด | ปีที่ 356 ก่อนคริสต์กาล เพลลา |
เสียชีวิต | ตุลาคม ปีที่ 324 ก่อนคริสต์กาล (อายุ 32 ปี) เอกแบทานา |
รับใช้ | อาณาจักรมาเกโดนีอา |
ชั้นยศ | คีลีอาร์คอส (จอมพล) บัญชารองจากอเล็กซานเดอร์ |
บังคับบัญชา | กองทหารม้าเฮไตรอย |
เฮฟีสเทียนเป็นเพื่อนสนิทกับอเล็กซานเดอร์มาตั้งแต่เยาว์วัย จนความสัมพันธ์ของทั้งสองก็พัฒนาเกินเพื่อน อาจกล่าวได้ว่าเขาคือวิญญาณครึ่งหนึ่งของอเล็กซานเดอร์ และเป็นบุคคลที่อเล็กซานเดอร์ไว้ใจมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ด้วยการเสื่อมลงของวัฒนธรรมกรีกและการมีอิทธิพลขึ้นมาของศาสนาคริสต์ซึ่งต่อต้านการรักร่วมเพศ ทำให้ประวัติศาสตร์ได้บันทึกเรื่องราวของทั้งสองว่าเป็น "เพื่อนที่ดีที่สุด" แทนเพื่อให้ได้รับการยอมรับ
จริงอยู่ว่าข้อมูลวัยเด็กและการศึกษาของเฮฟีสเทียนมีน้อยมาก แต่สิ่งหลงเหลือก็พอจะยืนยันเรื่องราวในวัยโตของเขา ความสัมพันธ์ของเขากับอเล็กซานเดอร์นั่นเป็นความสัมพันธ์อมตะ ระหว่างอยู่ที่สำนักในเมืองเพลลา เฮฟีสเทียนได้รับการศึกษาบ่มเพาะเช่นเดียวกับมหากษัตริย์แห่งกรีกและเอเชียในอนาคต ไม่แปลกเลยที่ประสบการณ์เช่นนี้จะหล่อหลอมให้เขากลายเป็นชายที่วันหนึ่งมีจะอำนาจเป็นอันดับสองในจักรวรรดิ
เฮฟีสเทียนมีผลงานทางทหารที่โดดเด่น เขาเป็นนายทหารรักษาพระองค์ของอเล็กซานเดอร์ (Somatophylakes) และเป็นผู้บัญชาการหน่วยทหารม้า ตลอดจนและได้รับตำแหน่งสำคัญมากมาย ตลอดระยะเวลาสิบปีของการทัพในทวีปเอเชีย นอกจากเป็นทหารแล้ว ความรู้ด้านวิศวกรรมและการทูตที่ได้รับมาจากปราชญ์อริสโตเติลและเซโนคราแตสก็ล้วนเป็นประโยชน์ต่อแผนของอเล็กซานเดอร์ที่จะเข้ารุกรานอาณาจักรกรีกและเปอร์เซีย อเล็กซานเดอร์แต่งตั้งเฮฟีสเทียนเป็น "คีลีอาร์คอส" (χιλίαρχος) คนแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งก็คือจอมพลผู้มีอำนาจเป็นลำดับสองรองจากตัวเอง อเล็กซานเดอร์ยังรับเฮฟีสเทียนเป็นสมาชิกราชวงศ์ เมื่อเฮฟีสเทียนเสียชีวิตขณะมีอายุ 32 ปี อเล็กซานเดอร์ตกอยู่ในภาวะตรอมใจและสิ้นพระชนม์ในอีกแปดเดือนให้หลัง
วัยเด็กและการศึกษา
แก้เฮฟีสเทียนเป็นบุตรข้าราชการนามว่าอมินทอร์ (Amyntor) วันเกิดที่ชัดเจนของเฮฟีสเทียนนั้นไม่เป็นที่แน่ชัด แทบไม่มีข้อมูลเรื่องประวัติที่มาของเขา แต่นักวิชาการจำนวนมากเชื่อว่า เฮฟีสเทียนซึ่งเป็นเพื่อนตั้งแต่วัยเด็กกับอเล็กซานเดอร์ มีอายุเท่ากับอเล็กซานเดอร์ ทำให้คาดเดาได้ว่า เขาน่าจะเกิดเมื่อ 356 ปีก่อนคริสตกาล และมีเกร็ดเล็กน้อย จากตำนาน Alexander romance ซึ่งได้บันทึกว่า "...วันหนึ่ง เมื่ออเล็กซานเดอร์อายุได้ 15 ชันษา [...] ได้แล่นเรือไปกับสหายเฮฟีสเทียนจนไปถึงปิซา แล้วจึงลงไปเดินเล่นกับเฮฟีสเทียน"[1] ซึ่งอายุของอเล็กซานเดอร์ในบันทึกนี้เอง เป็นเบาะแสที่สำคัญต่อการศึกษาที่มาของเฮฟีสเทียน เพราะขณะอเล็กซานเดอร์อายุ 15 ชันษา เขาต้องกำลังศึกษาอยู่ที่มีเอซา ภายใต้การประสาทวิชาโดยอริสโตเติล และด้วยมิตรภาพของทั้งสองที่แน่นแฟ้น ทำให้รู้ได้ว่า เฮฟีสเทียนเป็นหนึ่งในนักเรียนที่นี่เช่นกัน
ความสัมพันธ์กับอเล็กซานเดอร์
แก้เป็นที่รู้กันว่า ความสัมพันธ์ของเฮฟีสเทียนและอเล็กซานเดอร์นั้นมีมากเกินกว่ามิตรภาพระหว่างเพื่อน ดังที่ อริสโตเติล ครูของทั้งสอง ได้อธิบายความสัมพันธ์ของทั้งคู่ว่าเปรียบดั่ง "...หนึ่งวิญญาณที่ดำรงอยู่ในสองร่าง" ครั้งที่อเล็กซานเดอร์รบชนะเปอร์เซีย เฮฟีสเทียนได้เดินนำอเล็กซานเดอร์ไปยังกระโจมที่คุมตัวสมาชิกราชวงศ์เปอร์เซียไว้ เมื่อพระพันปีแกมบิสแห่งเปอร์เซียทอดพระเนตรเห็นก็รีบเข้าไปคุกเข่าอ้อนวอนขอชีวิตราชวงศ์เปอร์เซียต่อเฮฟีสเทียนด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าเฮฟีสเทียนคืออเล็กซานเดอร์ เนื่องจากเฮฟีสเทียนนั้นตัวสูงกว่าอเล็กซานเดอร์ ประกอบกับทั้งคู่ยังหนุ่มและสวมชุดที่เหมือนกัน ซึ่งเมื่อพระพันปีแกมบิสทรงทราบก็เกิดความอับอาย แต่อเล็กซานเดอร์ก็รับสั่งแก่พระพันปีแกมบิสว่า "ท่านไม่ได้เข้าใจผิดไปหรอกท่านแม่ เขาคนนี้ก็คืออเล็กซานเดอร์เช่นกัน"[2]
ความรักของทั้งคู่ไม่ใช่เรื่องลับ เฮฟีสเทียนเคยเขียนจดหมายตอบพระนางโอลิมพีอัส ผู้เป็นมารดาอเล็กซานเดอร์ว่า "ท่านก็รู้ว่าอเล็กซานเดอร์มีค่าสำหรับข้ามากกว่าสิ่งใด"[3] นักวิชาการพอล คาร์ตเลดจ์ อธิบายความใกล้ชิดของทั้งคู่ว่า "ที่จริงแล้วอเล็กซานเดอร์มักพูดถึงเฮฟีสเทียนว่าเป็นตัวเขาอีกคนหนึ่ง"[4] ศาสตราจารย์แฮมมอนด์สรุปความสัมพันธ์ของทั้งคู่ว่า "ไม่แปลกเลยที่อเล็กซานเดอร์ยึดติดกับเฮฟีสเทียนเหมือนที่อคิลลีสยึดติดกับพะทรอคลัส"[5]
แอร์เรียนเคยกล่าวถึงเหตุการณ์ที่อเล็กซานเดอร์และเฮฟีสเทียนได้แสดงตนเป็นดั่งวีรบุรุษในตำนานอย่างอคิลลีสกับพะทรอคลัส ก่อนที่จะยกทัพบุกทวีปเอเชีย กองทัพของอเล็กซานเดอร์ได้ไปเยือนกรุงทรอย ฉากหนึ่งในตำนานอีเลียดที่อเล็กซานเดอร์โปรดปราน อเล็กซานเดอร์วางพวงหรีดที่วิหารของอคิลลีส เฮฟีสเทียนวางพวงหรีดที่วิหารพะทรอคลัส แล้วทั้งคู่จึงแก้ผ้าวิ่งแข่งกันเพื่อเป็นการสดุดีแก่วีรบุรุษกรุงทรอยทั้งสอง[6]
พลูทาร์กเคยบันทึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสอง โดยกล่าวถึงอุปนิสัยของพระพันปีโอลิมพีอัสว่านางชอบส่งจดหมายส่วนตัวมาให้ลูกชายเสมอ: "โอลิมพีอัสมักเขียนจดหมายมาหาพระองค์เสมอ อเล็กซานเดอร์จะเก็บจดหมายพวกนี้ไว้อ่านคนเดียว แต่ยกเว้นคนหนึ่งไว้ เฮฟีสเทียนชอบอ่านจดหมายของกษัตริย์หนุ่มกับท่าน เมื่อสายตาตกกระทบบนจดหมายที่เปิดออก กษัตริย์หนุ่มไม่ได้ห้ามเขาไม่ให้อ่าน กลับกันได้ถอดพระธำมรงค์แล้วเอาหัวแหวนไปแตะที่ริมฝีฝากของเขา เหมือนจะบอกว่าให้เก็บไว้เป็นความลับ"[7]
อะทีแนอุส นักเรียนชาวโรมเคยอ้างถึงปราชญ์ดีแคอาร์ชุส ผู้ร่วมสมัยกับอเล็กซานเดอร์ว่า กษัตริย์หนุ่ม "ชอบพยายามทำให้นี่เป็นกระแสนิยม" (หมายถึงการรักร่วมเพศ)[8] ซึ่งสอดคล้องกับพลูทาร์กที่เคยกล่าวทำนองนี้เช่นกัน นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่บางคนเชื่อว่า อเล็กซานเดอร์ไม่ได้มีสัมพันธ์ทางเพศกับเฮฟีสเทียนแค่ในวัยเยาว์เท่านั้น แต่พวกเขายังดำเนินความสัมพันธ์เช่นนี้ต่อไปในวัยผู้ใหญ่เช่นกัน ขณะนั้นการรักร่วมเพศถือเป็นเรื่องผิดปกติในบางนครรัฐกรีกอย่างเช่นเอเธนส์[9][10] นักวิชาการสมัยใหม่บางส่วนเสนอว่าอาณาจักรมาเกโดนีอาอาจอดทนต่อการรักร่วมเพศได้มากกว่า[11]
เสียชีวิต
แก้ในฤดูใบไม้ผลิ 324 ปีก่อนค.ศ. เฮฟีสเทียนพร้อมอเล็กซานเดอร์ได้เคลื่อนพลไปยังเอกแบทานา (ปัจจุบันอยู่ในอิหร่าน) และไปถึงในฤดูใบไม้ร่วง วันหนึ่งเฮฟีสเทียนเดินทางไปยังโรงละคร และทานไก่ต้มและไวน์เย็น แล้วจึงเกิดอาการไข้ เขาป่วยอยู่เจ็ดวัน วันที่เจ็ดนั้นมีอาการหนักมาก จนอเล็กซานเดอร์ต้องรีบละทิ้งการชมการแข่งขันและมาหาเฮฟีสเทียนในทันที แต่ก็มาไม่ทัน เมื่ออเล็กซานเดอร์มาถึงเฮฟีสเทียนได้เสียชีวิตแล้ว มีทฤษฎีว่าเฮฟีสเทียนอาจถูกวางยาพิษหรืออาจป่วยด้วยไข้รากสาดน้อย
แอร์เรียนระบุว่า: "เขาโอบร่างของสหายรักและอยู่เช่นนั้นเกือบทั้งวันด้วยน้ำตา ไม่ยอมแยกจากไปไหนต่อให้ผู้น้อยเข้ามาฉุดก็ตาม...สองวันเต็มหลังความตายของเฮฟีสเทียน อเล็กซานเดอร์มิได้เสวยสิ่งใด ไม่ตอบสนองหรือประสงค์สิ่งใด ได้แต่นอนร้องไห้อยู่บนเตียงเงียบๆด้วยความโทมนัส”[12] อีกส่วนกล่าวว่า "เขากอดศพและอยู่อย่างนั้นทั้งวันและทั้งคืน"[12] และยังกล่าวว่ากลัฟเคียสผู้เป็นหมอ ถูกประหารฐานดูแลไม่ดีพอ[13] ระบุอีกว่า อเล็กซานเดอร์ยังสั่งให้ทำลายวิหารของเทพแอสคลีเพียสในเอกแบทานา[14] กษัตริย์หนุ่มยังตัดผมสั้นเพื่อไว้ทุกข์[15] และยังระบุว่า "แม่ทัพนายกองจำนวนมากหมดความเคารพอเล็กซานเดอร์ เหมือนว่าพวกเขากำลังอุทิศตนเพื่อชายที่หมดอาลัยตายอยาก"[16] อเล็กซานเดอร์ไม่ได้แต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้บัญชาการหน่วยทหารม้าเฮไตรอยแทนที่เฮฟีสเทียน เขาอยากให้ชื่อเฮฟีสเทียนอยู่กับหน่วยทหารม้าเฮไตรอยตลอดกาล
พลูทาร์กระบุว่า: "ความตะลึงพลันตกแก่อเล็กซานเดอร์ที่เอกแบทานา เขาเสียเฮฟีสเทียน รักแรกตั้งแต่วัยเด็ก เฮฟีสเทียนจากไปแล้ว...เพื่อนที่เป็นมากกว่าเพื่อน สนิทยิ่งกว่าพี่น้อง ผู้คอยสร้างความรู้สึกสงบในจิตใจของจอมพิชิตผู้เปล่าเปลี่ยว..."[17]
ในบรรดาเรื่องราวเกี่ยวกับเฮฟีสเทียนที่พอสืบค้นได้ เอกสารโบราณมักจะกล่าวถึงการตายของเขามากที่สุด เนื่องจากมันมีผลโดยตรงต่ออเล็กซานเดอร์ บันทึกของพลูทาร์กระบุว่า: "ความเศร้าโศกต่อการสูญเสียครั้งนี้ของอเล็กซานเดอร์เกินจะควบคุม และเพื่อเป็นการไว้อาลัย ทรงสั่งให้ตัดขนหางและขนแผงคอของม้าทุกตัว สั่งให้รื้อใบเสมาบนกำแพงเมืองข้างเคียงทุกแห่ง สั่งตรึงกางเขนแพทย์ผู้เคราะห์ร้ายและสั่งห้ามเป่าขลุ่ยรวมถึงเครื่องดนตรีอื่นทุกชนิดในค่ายทหารเป็นเวลายาวนาน และเมื่อโหรหลวงเดินทางมาจากอัมโมน ก็ทรงสั่งให้สักการะเฮฟีสเทียนและบรวงสรวงเป็นวีรบุรุษ ยิ่งกว่านั้น อเล็กซานเดอร์มุ่งทำสงครามเพื่อพยายามลืมความโศกเศร้า ถึงขั้นตามล่าและเข้าทำลายชนชาวคอสแซน ประหารชายวัยหนุ่มขึ้นไปทั้งหมดเอาเป็นการบรวงสรวงแก่ดวงวิญญาณของเฮฟีสเทียน"[18] นักประวัติศาสตร์บางรายมองว่าการประหารชายชาวคอสแซนเป็นการทำตามเนื้อหาในมหากาพย์อีเลียดที่ระบุว่าอคิลลีสทำการสังหาร "ชายหนุ่มสูงศักดิ์สิบสองคน" เพื่อไว้อาลัยต่อสหายรักพะทรอคลัส[18]
พิธีการศพ
แก้หลังการตายของเฮฟีสเทียน อเล็กซานเดอร์มัวแต่หมกหมุ่นกับพิธีการศพและการไว้อาลัยสหายรัก อเล็กซานเดอร์ถึงกับต้องการให้มีการบูชาเฮฟีสเทียนเยี่ยงเทพเจ้า แต่ถูกปฏิเสธโดยโหรหลวงว่ามิอาจทำได้แต่สามารถบรวงสรวงในฐานะวีรบุรุษจากสวรรค์ได้ ซึ่งก็ทำให้อเล็กซานเดอร์พอพระทัย การสร้างวิหารและการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเหล่านี้มีต้นทุนแรงงานช่างกว่า 10,000 ถึง 12,000 ชีวิต เคยมีการคำนวณว่าการพิธีศพทั้งหมดถ้าจัดขึ้นในยุคปัจจุบันจะใช้เงินถึง 1.5 พันล้านยูโร
อเล็กซานเดอร์บังคับรถม้าขนศพกลับกรุงบาบิโลนด้วยองค์เองเป็นช่วง ๆ มีการจัดมหกรรมการแข่งขันขึ้นที่บาบิโลนเพื่อไว้อาลัยเฮฟีสเทียน ตั้งแต่ด้านวรรณกรรมไปจนถึงกีฬา ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 3,000 คน
อ้างอิง
แก้- ↑ Chugg 2006 p.67
- ↑ Curtius 3.12.17
- ↑ Diodorus 17.114.3
- ↑ Cartledge p. 19
- ↑ Hammond 1980, p.16
- ↑ Arrian I.12
- ↑ Penguin edition, pg. 324
- ↑ Deipnosophistae, 13.80.
- ↑ Marilyn Skinner (2013). Sexuality in Greek and Roman Culture (Ancient Cultures), 2nd edition. Wiley-Blackwell. p. 190. ISBN 978-1-4443-4986-3.
- ↑ Sacks 1995, p. 16.
- ↑ Thomas Hubbard (2014). "Chapter 8: Peer Homosexuality". ใน Hubbard, Thomas (บ.ก.). A Companion to Greek and Roman Sexualities. Blackwell Publishing Ltd. p. 143. ISBN 978-1-4051-9572-0.
- ↑ 12.0 12.1 Arrian 7.14.6
- ↑ Arrian 7.14.7
- ↑ Arrian 7.14.9
- ↑ Arrian 7.14.8
- ↑ Arrian 7.15.3
- ↑ Plutarch. Life of Alexander เก็บถาวร 2014-10-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ 18.0 18.1 Plutarch, Alexander Bernadotte Perrin, Ed.