จักรพรรดินีลฺหวี่

(เปลี่ยนทางจาก Empress Lü Zhi)

ลฺหวี่ จื้อ (จีนตัวย่อ: 吕雉; จีนตัวเต็ม: 呂雉; พินอิน: Lǚ Zhì; 241–180 ปีก่อนคริสตกาล) ชื่อรองว่า เอ๋อ-สฺวี่ (จีน: 娥姁; พินอิน: Éxǔ) โดยทั่วไปเรียก ลฺหวี่โฮ่ว (呂后) หรือ ลฺหวี่ไท่โฮ่ว (呂太后) เรียกขานอย่างเป็นทางการว่า ฮั่นเกาโฮ่ว (漢高后) เป็นพระมเหสีของจักรพรรดิฮั่นเกาจู่ (漢高祖) ผู้สถาปนาราชวงศ์ฮั่นแห่งจักรวรรดิจีน เท่าที่ทราบมีพระราชบุตรด้วยกันสองพระองค์ คือหลิว อิ๋ง (劉盈) กับลฺหวี่ ยฺเหวียน (魯元)

ลฺหวี่ จื้อ
ผู้สำเร็จราชการราชวงศ์ฮั่น
ช่วงเวลา195–180 ปีก่อนคริสตกาล
(15 ปี)
ผู้สำเร็จราชการฮั่นฮุ่ย
ฮั่นเฉียนเฉ่า
ฮั่นโฮ่วเฉ่า
หฺวังโฮ่วราชวงศ์ฮั่น
ช่วงเวลา202–195 ปีก่อนคริสตกาล
(7 ปี)
ถัดไปจาง ยาน
ไท่โฮ่วราชวงศ์ฮั่น
ช่วงเวลา195–188 ปีก่อนคริสตกาล
(7 ปี)
ถัดไปจาง ยาน
ไท่หฺวังไท่โฮ่วแห่งราชวงศ์ฮั่น
ช่วงเวลา188–180 ปีก่อนคริสตกาล
(8 ปี)
ถัดไปปั๋ว
ประสูติ241 ก่อนคริสตกาล
อำเภอชั่น จีน
สวรรคต180 ปีก่อนคริสตกาล (60–61 ชันษา)
พระสวามีฮั่นเกาจู่
พระราชบุตรหลิว อิ๋ง (ฮั่นฮุ่ย)
ลฺหวี่ ยฺเหวียน
พระราชบิดาลฺหวี่ เหวิน

พระนางลฺหวี่เป็นสตรีคนแรกที่ได้เป็นจักรพรรดินีตำแหน่ง "หฺวังโฮ่ว" (皇后) และเมื่อสิ้นจักรพรรดิฮั่นเกาจู่แล้ว ก็ได้เลื่อนฐานันดรศักดิ์เป็นพระราชชนนีพันปีหลวงตำแหน่ง "ไท่โฮ่ว" (太后) และ "ไท่หฺวังไท่โฮ่ว" (太皇太后) ในรัชสมัยของหลิว อิ๋ง พระโอรส ซึ่งขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิฮั่นฮุ่ย (汉惠帝), หลิว กง (劉恭) พระนัดดา ซึ่งขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิฮั่นเฉียนเฉ่า (漢前少帝), และหลิว หง (劉弘) พระนัดดา ซึ่งขึ้นครองราชย์เป็นจักพรรดิฮั่นโฮ่วเฉ่า (汉后少帝)

ภายในหนึ่งปีหลังจากจักรพรรดิฮั่นฮุ่ยขึ้นเสวยราชย์เมื่อ 194 ปีก่อนคริสตกาล พระนางลฺหวี่ใช้วิธีการโหดร้ายกำจัดพระมเหสีชี (戚姬) ซึ่งเคยร่วมสวามีเดียวกัน ทั้งยังวางยาปลงพระชนม์หลิว หรูอี้ (劉如意) โอรสของพระมเหสีชี ทำให้จักรพรรดิฮั่นฮุ่ยเสียพระทัยจนประชวรอยู่เป็นปีและไม่อาจว่าราชการได้อีก เปิดทางให้พระนางลฺหวี่เข้าชี้นำการเมืองเป็นเวลา 15 ปีจนพระนางสิ้นพระชนม์เมื่อ 180 ปีก่อนคริสตกาล

พื้นเพ แก้

ลฺหวี่ จื้อ เกิดในชานฟู่ (單父) ปัจจุบัน คือ อำเภอชั่น (单县) ในชานตง (山东) เวลานั้นเป็นปลายสมัยราชวงศ์ฉิน บิดาของลฺหวี่ จื้อ คือ ลฺหวี่ เหวิน (呂文) พาครอบครัวหนีศัตรูจากบ้านเกิดไปอาศัยอยู่ในอำเภอเพ่ย์ (沛縣) และได้สนิทสนมกับนายอำเภอ ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นมากหน้าหลายตายังพากันมาหาไม่ขาด ครั้งหนึ่ง ลฺหวี่ เหวิน จัดเลี้ยง และเซียว เหอ (蕭何) ปลัดอำเภอ มาช่วยตรวจเก็บของขวัญที่ได้จากแขกเหรื่อ เซียว เหอ ประกาศว่า คนที่ให้ของขวัญมูลค่าต่ำกว่าหนึ่งพันเฉียน (钱) ให้ออกไปนั่งข้างนอก ชายผู้หนึ่งนามว่า หลิว ปัง (劉邦) มางานโดยไม่ได้เตรียมของขวัญมาด้วย แต่กล่าวว่า "มอบหนึ่งหมื่นเฉียน" (錢錢一萬) ลฺหวี่ เหวิน มองมาที่หลิว ปัง และประทับใจในบุคลิกลักษณะ จึงลุกขึ้นต้อนรับหลิว ปัง เข้าไปข้างใน แล้วให้นั่งข้างกัน แม้เซียว เหอ จะบอกว่า หลิว ปัง ไม่ได้นำสิ่งใดมาเลยก็ตาม ลฺหวี่ เหวิน พินิจดูรูปร่างหลิว ปัง แล้วกล่าวว่า "ข้าทำนายลักษณะคนมาก็มาก แต่ไม่เคยพบผู้ใดมีลักษณะพิเศษเช่นท่านเลย" (我很會看面相,但是沒看過像你這麼相貌不凡的) ลฺหวี่ เหวิน จึงยก ลฺหวี่ จื้อ ผู้เป็นบุตรสาว ให้เป็นภริยาของหลิว ปัง ลฺหวี่ จื้อ และหลิว ปัง มีบุตรด้วยกันสองคน คนหนึ่งเป็นบุตรชาย คือ หลิว อิ๋ง ซึ่งภายหลังขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิฮั่นฮุ่ย อีกคนเป็นบุตรสาว ซึ่งภายหลังได้เป็นองค์หญิงหลู่-ยฺเหวียน (魯元公主)

หลิว ปัง เข้าร่วมกับรัฐฉู่ (楚国) ที่มีผู้ปกครอง คือ พระเจ้าฉู่ไหฺว (楚懷王) เพื่อเป็นกบฏต่อต้านราชวงศ์ฉิน ช่วงนั้น บุตรทั้งสองของหลิว ปัง กับลฺหวี่ จื้อ ต้องอาศัยอยู่กับลฺหวี่ จื้อ และครอบครัวของนางตลอด

ช่วงสงครามฉู่–ฮั่น แก้

ต้น 206 ปีก่อนคริสตกาล หลังจากราชวงศ์ฉินสิ้นสุดลง ขุนพลเซี่ยง อฺวี่ (項羽) แห่งรัฐฉู่ แบ่งจักรวรรดิฉินเดิมออกเป็นสิบแปดรัฐ (十八国) แล้วส่งหลิว ปัง ไปครองรัฐฮั่น (漢国) อันห่างไกล ซึ่งปัจจุบันอยู่ในซื่อชวน (四川) โดยมีตำแหน่ง "ฮั่นหวัง" (漢王) ส่วนครอบครัวของหลิว ปัง ยังอยู่ที่เทศมณพลเพ่ย์ต่อไป

หลิว ปัง จึงยึดรัฐทางเหนือ คือ สามฉิน (三秦) เพราะเห็นว่า ควรเป็นของตน เนื่องจากตนตีได้ก่อน นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างหลิว ปัง กับเซี่ยง อฺวี่ ในช่วง 206–202 ปีก่อนคริสตกาล เป็นเหตุการณ์ที่เรียก "สงครามฉู่–ฮั่น" (楚漢戰爭)

ในเดือนแปด หลิว ปัง ส่งผู้ใต้บัญชา คือ หวัง ซี (王吸) กับเซฺว โอว (薛歐) ไปพบหวัง หลิง (王陵) ที่หนานหยาง (南阳) เพื่อไปรับครอบครัวตนมา แต่เซี่ยง อฺวี่ ยกพลไปหยางเซี่ย (陽夏) เพื่อสกัดทัพฝ่ายหลิว ปัง ครั้นฤดูใบไม้ร่วง 203 ปีก่อนคริสตกาล เซี่ยง อฺวี่ ไปปราบกบฏในรัฐฉี (齐国) หลิว ปัง จึงอาศัยจังหวะนี้ออกโจมตีเผิงเฉิง (彭城) เมืองหลวงของรัฐฉู่ ปัจจุบัน คือ สฺวีโจว (徐州) ในเจียงซู (江苏) เซี่ยง อฺวี่ หันมาป้องกันได้ทัน และหลิว ปัง พ่ายแพ้ในยุทธการที่ซุยฉุ่ย (睢水) ครอบครัวหลิว ปัง ซึ่งรวมถึงลฺหวี่ จื้อ ถูกจับเป็นนักโทษของรัฐฉู่ ระหว่างนี้ ลฺหวี่ จื้อ เป็นชู้กับเฉิ่น อี้จี (審食其) ลูกน้องของหลิว ปัง ที่ถูกควบคุมตัวไว้ด้วยกัน

ต่อมา หลิว ปัง กับเซี่ยง อฺวี่ ทำสัญญาสงบศึก แบ่งแผ่นดินออกเป็นตะวันตกและตะวันออกให้กันปกครองคนละฟาก และเซี่ยง อฺวี่ ยอมปล่อยลฺหวี่ จื้อ พร้อมครอบครัว คืนให้แก่หลิว ปัง หลิว ปัง จึงพาลฺหวี่ จื้อ กลับไปครองรัฐฮั่นของตัว โดยตั้งลฺหวี่ จื้อ เป็น "ฮั่นหวังเฟย์" (漢王妃)

ภายหลัง หลิว ปัง เพิกถอนสัญญาหย่าศึก แล้วโจมตีเซี่ยง อฺวี่ พิชิตเซี่ยง อฺวี่ ได้ในยุทธการไกเซี่ย (垓下之戰) เมื่อ 202 ปีก่อนคริสตกาล เป็นอันรวมแผ่นดินทั้งปวงไว้ในอุ้งมือของตนผู้เดียว หลิว ปัง จึงสถาปนาตนเป็นจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฮั่นปกครองประเทศจีน ใช้พระนามว่า "ฮั่นเกาจู่" (漢高祖) ตั้งลฺหวี่ จื้อ มเหสี เป็นจักรพรรดินี เรียกว่า "หฺวังโฮ่ว" (皇后) และตั้งหลิว อิ๋ง บุตรชาย เป็นรัชทายาท เรียก "หฺวังไท่จื่อ" (皇太子)

ช่วงดำรงตำแหน่งหฺวังโฮ่ว แก้

แม้จักรพรรดิฮั่นเกาจู่จะมีชัยเหนือเซี่ยง อฺวี่ แล้ว ดินแดนบางส่วนในจักรวรรดิยังกระด้างกระเดื่อง พระองค์จำต้องเสด็จไปปราบปรามให้ราบคาบ จึงตั้งพระนางลฺหวี่ และหลิว อิ๋ง ให้รั้งพระนครฉางอาน (長安) และว่าราชการไปพลาง โดยมีเซียว เหอ (蕭何) ผู้เป็นอัครมหาเสนาบดี (丞相) และขุนนางคนอื่น ๆ คอยช่วยเหลือ พระนางลฺหวี่บริหารราชกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับขุนนางหลายคนขึ้นอย่างรวดเร็ว ขุนนางชื่นชมความสามารถของพระนาง แต่ก็หวาดกลัวความอำมหิตของพระนางเช่นกัน

การตายของหาน ซิ่น และเผิง เยฺว่ แก้

เป็นที่รู้กันว่า พระนางลฺหวี่มีบทบาทในการตายของหาน ซิ่น (韓信) และเผิง เยฺว่ (彭越) สองนายทัพคนสำคัญของจักรพรรดิฮั่นเกาจู่

ใน 196 ปีก่อนคริสตกาล ฮั่นเกาจู่นำทัพออกจากพระนครฉางอานไปปราบกบฏเฉิน ซี (陳豨) ในจฺวี้ลู่ (鉅鹿) ซึ่งปัจจุบัน คือ อำเภอผิงเซียง (平鄉縣) ในมณฑลเหอเป่ย์ (河北) หนึ่งปีก่อนหน้านี้ เฉิน ซี ได้พบหาน ซิ่น ก่อนเดินทางจากฉางอานไปจฺวี้ลู่ จึงเกิดข่าวว่า หาน ซิ่น มีส่วนในการกบฏ พระนางลฺหวี่สงสัยในตัวหาน ซิ่น และเมื่อปรึกษากับอัครมหาเสนาบดีเซียว เหอ แล้ว จึงมีพระเสาวนีย์เรียกหาน ซิ่น มาเข้าเฝ้า ณ วังฉางเล่อ (長樂宮) เมื่อหาน ซิ่น มาแล้ว พระนางรับสั่งให้จับกุมเขาไปทรมานจนตาย แล้วสั่งประหารชีวิตครอบครัวเขาทั้งโคตร

ขณะปราบกบฏเฉิน ซี นั้น ฮั่นเกาจู่รับสั่งให้เผิง เยฺว่ นำกำลังหนุนมาช่วยพระองค์ แต่เผิง เยฺว่ ทูลว่า ตนป่วย และส่งลูกน้องมาช่วยพระองค์แทน เมื่อฮั่นเกาจู่ปราบกบฏสำเร็จ เกิดข่าวลือว่า เผิง เยฺว่ เป็นกบฏด้วย จึงรับสั่งให้จับกุมเขา ถอดยศเขาลงเป็นสามัญชน แล้วอัปเปหิเขาไปยังอำเภอชิงอี (青衣縣) ปัจจุบันเป็นท้องที่ของหย่าอาน (雅安) ในมณฑลเสฉวน ขณะเดินทางไปชิงอี เผิง เยฺว่ ได้พบพระนางลฺหวี่ และทูลขอพระนางให้ช่วยเขาพ้นโทษ เขาจะกลับไปบ้านเกิดที่ฉางอี้ (昌邑) ซึ่งปัจจุบัน คือ อำเภอจินเซียง (金鄉縣) ในมณฑลชานตง (山东) พระนางแสร้งตกลง แล้วให้นำเขาไปยังลั่วหยาง (洛阳) ณ ที่นั้น เขาถูกกล่าวหาอย่างเลื่อนลอยว่า เป็นกบฏ และถูกประหารชีวิต พระนางให้สับศพเขาเป็นชิ้น ๆ และให้ประหารครอบครัวเขาทั้งโคตรเช่นกัน

การสืบราชสมบัติ แก้

ปลายรัชสมัย จักรพรรดิฮั่นเกาจู่เริ่มโปรดปรานสนมวัยเยาว์นางหนึ่ง คือ สนมชี ผู้มีโอรสองค์หนึ่งให้แก่พระองค์ คือ หลิว หรูอี้ พระองค์จึงถอดจาง อ้าว (張敖) พระราชบุตรเขยของพระองค์เอง (สวามีขององค์หญิงหลู่-ยฺเหวียน พระธิดาของพระองค์กับพระนางลฺหวี่) ออกจากตำแหน่ง"จ้าวหวัง" (赵王) แล้วตั้งหลิว หรูอี้ เป็นจ้าวหวังแทนเมื่อ 198 ปีก่อนคริสตกาล โดยให้เหตุผลว่า จาง อ้าว "ใจเสาะและอ่อนแอ" เกินไป ขณะที่หลิว หรูอี้ มีลักษณะหลายอย่างที่คล้ายคลึงพระองค์

เนื่องจากพระนางลฺหวี่มีสายสัมพันธ์แข็งแกร่งกับหมู่ขุนนาง การตัดสินพระทัยดังกล่าวของฮั่นเกาจู่จึงถูกขุนนางคัดค้าน แต่ฮั่นเกาจู่มิทรงฟัง และมีแนวโน้มว่า จะถอดหลิว อิ่ง จากตำแหน่งหฺวังไท่จื่อด้วย พระนางลฺหวี่จึงเรียกจาง เหลียง (張良) มาช่วยรับมือ จาง เหลียง เห็นว่า ฮั่นเกาจู่กำลังเปลี่ยนแปลงการสืบราชสมบัติตามพระทัย จึงเชิญกลุ่มบัณฑิตสันโดษที่เรียก "สี่ปราชญ์แห่งเขาชาง" (商山四皓) มาช่วยกราบทูลให้ฮั่นเกาจู่เปลี่ยนพระทัย สี่ปราชญ์รับรองต่อพระพักตร์ว่า จะอนุเคราะห์หลิว อิ่ง ในภายภาคหน้า ถ้าหลิว อิ่ง ได้ขึ้นครองราชย์ ทำให้ฮั่นเกาจู่ดีพระทัย และตรัสแก่สนมชีว่า "ข้าอยากเปลี่ยนเขา แต่เขามีคนหนุนถึงสี่คน ก็เหมือนเขาติดปีก ยากจะโยกย้ายได้ มเหสีลฺหวี่มาเหนือจริง ๆ" (我欲易之,彼四人輔之,羽翼已成,難動矣。呂后真而主矣!)[1] หลิว อิ่ง จึงได้เป็นหฺวังไท่จื่อต่อไป

อ้างอิง แก้

  1. Sima Qian. Records of the Grand Historian, Volume 55, House of the Marquis of Liu.