ไช่เอ้อ (蔡锷 ค.ศ.1882 - 1916) เจ้าของตำแหน่งและฉายา "จอมพลพิทักษ์ชาติ" (护国大将军) ที่ซุนจงซาน หรือซุนยัดเซ็น นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ชาติจีน ผู้โค่นล้มราชวงศ์ชิง สถาปนาระบอบสาธารณรัฐบนแผ่นดินจีน ตั้งให้แก่เขาเพื่อเป็นเกียรติยศ ในฐานะที่เขาเป็นทัพหน้าของฝ่ายกองทัพปฏิวัติในสงครามพิทักษ์ชาติ (护国战争) เมื่อปี ค.ศ.1915 เพื่อต่อต้านการปราบดาภิเษกขึ้นเป็นฮ่องเต้ของหยวนซื่อข่าย จนทำให้หยวนซื่อข่ายจำต้องยอมล้มเลิกความคิดที่จะเป็นฮ่องเต้ กลับมาเป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีนตามเดิมนั้น ความจริงแล้วเดิมทีครอบครัวของเขาปรารถนาจะให้เขาเป็นบัณฑิตสอบจอหงวนเป็นขุนนางของราชวงศ์ชิง แต่แล้วโชคชะตาก็บันดาลให้ไช่เอ้อกลายเป็นจอมพลใหญ่ในกาลภายหลัง

จอมพลไช่เอ้อในเครื่องแบบเต็มยศ

ไช่เอ้อมีชื่อเดิมว่าไช่เกิ่นอิ๋น (蔡艮寅) เกิดที่เมืองเป่าชิ่ง มณฑลหูหนาน (湖南省宝庆府) บิดาของเขาส่งไปเรียนหนังสือในโรงเรียนเอกชนตั้งแต่อายุ 6 ขวบ พออายุได้ 14 ปี ไช่เกิ่นอิ๋นก็สามารถสอบผ่านระดับอำเภอ ได้เป็นบัณฑิตซิ่วไฉตั้งแต่อายุยังน้อย แสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพของหนุ่มน้อยผู้นี้ว่าจะต้องประสบความสำเร็จในภายหน้าแน่นอน

จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของไช่เกิ่นอิ๋นเกิดขึ้นในช่วงที่เขาอายุได้ 15-16 ปี เมื่อเขาเดินทางไปยังเมืองฉางซา(长沙) นครหลวงของมณฑลหูหนาน เพื่อเตรียมตัวเข้าสอบจวี่เหริน หรือสอบคัดเลือกระดับมณฑล เวลานั้นไช่เกิ่นอิ๋นไปเจอสำนักสืออู้ (时务学堂) ซึ่งเป็นสำนักศึกษาวิชาการสมัยใหม่ของพวกกลุ่มบัณฑิตหัวก้าวหน้าในเมืองฉางซา ซึ่งมีบัณฑิตหลายคนในสำนักนั้นที่มีชื่อเสียงและกลายเป็นแกนนำสำคัญของการปฏิรูปอู้ซวี หรือการปฏิรูปร้อยวันในเวลาต่อมา เช่นถานซื่อถง (谭嗣同) เหลียงฉี่เชา(梁启超) เป็นต้น ไช่เกิ่นอิ๋นรู้สึกเลื่อมใสในอุดมการณ์ของสำนักสืออู้ที่สนับสนุนให้ปฏิรูปราชสำนักต้าชิงให้ทันสมัยแบบตะวันตกและญี่ปุ่น จึงสมัครเข้าเรียนในสำนักแห่งนี้ด้วย โดยอาจารย์ในสำนักแห่งนี้ที่สอนวิชาความรู้แก่เขาที่สำคัญก็มีเหลียงฉี่เชา กับถังไฉฉาง(唐才常) ไช่เกิ่นอิ๋นจึงได้รับซึมซับแนวคิดทางการเมืองสมัยใหม่ คือระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ(Constitutional Monarchy) จากสำนักแห่งนี้

ต่อมาไช่เกิ่นอิ๋นได้ไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยหนานหยาง(南洋公学) ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาสมัยใหม่ของเอกชนแห่งแรกๆของจีนที่เซี่ยงไฮ้ ทว่าหลังจากที่เขาเข้าเรียนไม่กี่เดือน ก็ทราบข่าวว่าการปฏิรูปอู้ซวีประสบความล้มเหลวเพราะฮ่องเต้กวงสวี่ผู้นำการปฏิรูปถูกซูสีไทเฮายึดอำนาจคืน เหลียงฉี่เชา อาจารย์ของเขาและเป็นแกนนำการปฏิรูปคนสำคัญลี้ภัยไปญี่ปุ่น ไช่เกิ่นอิ๋นจึงตัดสินใจลาออกจากวิทยาลัยหนานหยางแล้วเดินทางตามอาจารย์ไปที่ญี่ปุ่นด้วย และได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนมัธยมปลายไดโด (大同高等学校) ที่กรุงโตเกียว ณ ที่นั่น ไช่เกิ่นอิ๋นได้เรียนวิชาปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ จนได้เปิดกว้างทางความคิดมากยิ่งขึ้น ต่อมาก็ย้ายไปเรียนต่อที่วิทยาลัยพาณิชยการเอเชียตะวันออก (东亚商业学校) จนกระทั่งในปี ค.ศ.1900 ไช่เกิ่นอิ๋นในวัย 18 ปี ทราบข่าวว่าถังไฉฉางอาจารย์ของเขาวางแผนก่อการเพื่อกำจัดซูสีไทเฮาและพวกอนุรักษ์นิยมในราชสำนักต้าชิง ช่วยฮ่องเต้กวงสวี่ออกจากที่คุมขังในตำหนักอิ๋งไถและถวายพระราชอำนาจคืน ให้พระองค์ชูธงนำการปฏิรูปต้าชิงอีกครั้ง ไช่เกิ่นอิ๋นจึงตัดสินใจเดินทางกลับประเทศจีนเพื่อเข้าร่วมก่อการดังกล่าว แต่สุดท้ายการก่อการก็ล้มเหลว ถังไฉฉางและแกนนำอีกหลายคนถูกจับกุมและถูกประหารชีวิต ไช่เกิ่นอิ๋นต้องลี้ภัยไปญี่ปุ่นอีกครั้ง และเปลี่ยนชื่อเป็น "ไช่เอ้อ"

การมาญี่ปุ่นเป็นครั้งที่สองนี้ ไช่เกิ่นอิ๋น หรือในชื่อใหม่ของเขาคือไช่เอ้อ ตัดสินใจสมัครเข้าเรียนโรงเรียนเตรียมทหารโตเกียว (东京振武学校) เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งร่างกาย จิตใจ และองค์ความรู้สำหรับการสอบเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายร้อยทหารบก (陆军士官学校) ของญี่ปุ่น จนกระทั่งไช่เอ้อสามารถสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยทหารบกญี่ปุ่นได้สำเร็จในปี ค.ศ.1903 การตัดสินใจเบนเข็มเปลี่ยนทิศทางชีวิตจากการเป็นบัณฑิตปัญญาชนมาเรียนสายทหารนักรบเต็มตัวของไช่เกิ่นอิ๋น หรือไช่เอ้อ คงมาจากประสบการณ์ความล้มเหลวที่เขาพบเห็นจากอาจารย์ของเขาทั้งเหลียงฉี่เชาและถังไฉฉางที่ต่างเป็นบัณฑิตปัญญาชน ซึ่งไม่อาจนำการปฏิรูปทางการเมืองให้สำเร็จได้ ต้องพ่ายแพ้แก่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมในราชสำนักต้าชิงที่มีกำลังกองทัพในมืออยู่ร่ำไป ไช่เอ้อคงเกิดตาสว่างและเข้าใจว่า การเป็นบัณฑิตปัญญาชนในสภาวการณ์เช่นนี้ คงไม่อาจช่วยเหลือบ้านเมืองให้ก้าวหน้าไปสู่ความทันสมัยได้อย่างแท้จริง มีแต่จะต้องมีกำลังทหารและอาวุธในมือ และมีความสามารถทำการรบเท่านั้น จึงจะนำความเปลี่ยนแปลงสู่ประเทศชาติได้

จอมพลไช่เอ้อในเครื่องแบบปกติแห่งกองทัพสาธารณรัฐจีน

ไช่เอ้อจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกของญี่ปุ่น และเดินทางกลับจีนในปี ค.ศ.1904 และได้เข้ารับราชการในกองทัพบกสมัยใหม่ของต้าชิง โดยเริ่มจากเป็นครูฝึกทหารในโรงเรียนทหารสมัยใหม่ของต้าชิงประจำมณฑลต่างๆ จนกระทั่งถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1911 ไช่เอ้อได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผู้บังคับกองพันที่ 37 กรมทหารบกที่ 19 (陆军第19镇第37协协统) ประจำมณฑลยูนนาน ไม่กี่เดือนต่อมา คือวันที่ 10 ตุลาคม ปีเดียวกันนั้น เกิดการลุกฮือที่อู่ชาง (武昌起义) โดยพวกทหารในกองพันทหารช่างของกองทัพบกต้าชิงประจำมณฑลหูเป่ย อันเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติซินไฮ่ล้มล้างราชวงศ์ชิง ไช่เอ้อรอคอยโอกาสนี้มานานแล้ว จึงวางแผนร่วมกับนายทหารหัวก้าวหน้าในกองทัพที่ยูนนานทั้งหลี่เกินหยวน(李根源) กับถังจี้เหยา(唐繼堯) จนนำมาสู่ "การลุกฮือฉงจิ่ว" (重九起义) ในวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ.1911 หลังการลุกฮือที่อู่ชาง 20 วัน ปฏิบัติการครั้งนี้ ไช่เอ้อสามารถจับตัวหลี่จิงซี(李经羲) ผู้ว่าราชการมณฑลยูนนานและกุ้ยโจวของต้าชิง หลานชายของหลี่หงจาง อำมาตย์คนสำคัญของราชวงศ์ชิงได้สำเร็จ และประกาศปลดปล่อยมณฑลยูนนานจากการปกครองของต้าชิง จนกระทั่งเมื่อฮ่องเต้เซวียนถ่ง หรือปูยี ประกาศสละราชบัลลังก์ในปี ค.ศ.1912 สิ้นสุดการปกครองของราชวงศ์ชิงโดยสมบูรณ์แล้ว ไช่เอ้อจึงได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลสาธารณรัฐให้เป็น "ข้าหลวงใหญ่มณฑลยูนนาน" (云南省都督) มีอำนาจทั้งการปกครองและการทหารทั้งหมดในเขตมณฑลยูนนาน

ในปี ค.ศ.1912 ซุนเหวิน (孙文) หรือซุนยัดเซ็น ได้สละตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐจีน (中华民国) เพื่อเปิดทางให้หยวนซื่อข่าย (袁世凯) เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีน (中华民国大总统) ตามที่เคยได้ตกลงกันไว้ หยวนซื่อข่ายจึงตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐขึ้นที่กรุงปักกิ่ง ประวัติศาสตร์ขนานนามรัฐบาลสาธารณรัฐจีนของหยวนซื่อข่ายว่า "รัฐบาลเป่ยหยาง" (北洋政府) ในปี ค.ศ.1913 ไช่เอ้อถูกหยวนซื่อข่ายเชิญจากมณฑลยูนนานมาที่ปักกิ่ง แล้วแต่งตั้งให้เขาเป็นรองเจ้ากรมสัสดีทหารบก (陸軍部编译处副总裁) ต่อมาหยวนซื่อข่ายยังได้แต่งตั้งให้เขาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ (政会議議員) สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (参政院) เสนาธิการประจำกองบัญชาการทหารสูงสุด (陸海軍大元帥統率办事处办事員) รวมทั้งยังได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(全国经界局督办) อีกด้วย

จอมพลไช่เอ้อกับเหล่าขุนพลที่ร่วมรบในสงครามพิทักษ์ชาติ ต่อสู้กับหยวนซื่อข่าย ในปี ค.ศ.1915


ต่อมาในปี ค.ศ.1915 หยวนซื่อข่ายได้ทรยศต่อการปฏิวัติและประชาชนจีนด้วยการสถาปนาตนเป็นจักรพรรดิ(ฮ่องเต้)หงเสี้ยน (洪宪帝) ฟื้นฟูระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมาบนแผ่นดินจีนอีกครั้ง แม้จอมพลไช่เอ้อจะได้รับลาภยศสรรเสริญจากหยวนซื่อข่ายมากมายเพียงใด แต่เขาก็ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการคิดล้มล้างสาธารณรัฐจีน สถาปนาระบอบฮ่องเต้อีกครั้งของหยวนซื่อข่าย ไช่เอ้อจึงตัดสินใจวางแผนหนีออกจากปักกิ่งกลับไปยังมณฑลยูนนานเพื่อไปรวบรวมทหารเก่าของเขา จัดตั้งกองทัพต่อสู้กับกองทัพของรัฐบาลเป่ยหยางของหยวนซื่อข่าย (เรื่องราวการหลบหนีจากปักกิ่งของไช่เอ้อนี้ ได้เกิดเป็นตำนานเล่าขานกันว่า มีหญิงงามเมือง (นางคณิกา) สาวผู้เลื่องชื่อของปักกิ่งในสมัยนั้นนามว่าเสี่ยวเฟิ่งเซียน (小凤仙) เป็นผู้ช่วยเหลือให้ไช่เอ้อสามารถหนีออกจากปักกิ่งได้) ชัยชนะอย่างต่อเนื่องของจอมพลไช่เอ้อ ทำให้บรรดาขุนศึกมณฑลต่างๆ พากันลุกฮือเรียกร้องให้หยวนซื่อข่ายสละราชสมบัติ หยวนซื่อข่ายไม่มีทางเลือก จำต้องยอมสละราชย์ ยุบเลิกระบอบกษัตริย์ กลับมาเป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีนตามเดิม ประวัติศาสตร์จีนขนานนามสงครามระหว่างจอมพลไช่เอ้อกับหยวนซื่อข่ายในครั้งนี้ว่า "สงครามพิทักษ์ชาติ" (护国战争) แต่น่าเสียดายที่หลังจากรบชนะหยวนซื่อข่ายไม่นานนัก อาการป่วยวัณโรคของจอมพลไช่เอ้อก็กำเริบหนักจนต้องไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยคิวชู (九州大學) เมืองฟุกุโอกะ (福冈县) ประเทศญี่ปุ่น กระทั่งถึงแก่อนิจกรรมที่นั่น ด้วยวัยเพียง 34 ปีเท่านั้น[1][2][3]

  1. https://books.google.co.th/books?id=vl16DwAAQBAJ&pg=PT5&lpg=PT5&dq=%E8%94%A1%E9%94%B7&source=bl&ots=KogcBSO-xW&sig=ACfU3U0W3fugzYGK1y3Fb-78LQrGQ8ry5g&hl=th&sa=X&ved=2ahUKEwjwuoyo7_XpAhXv4XMBHY9sATo4ChDoATACegQIBRAB#v=onepage&q=%E8%94%A1%E9%94%B7&f=false
  2. https://zh.wikipedia.org/zh-hans/%E8%94%A1%E9%94%B7
  3. https://baike.baidu.com/item/%E8%94%A1%E9%94%B7