โอฟีเลีย (อังกฤษ: Ophelia) เป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่เขียนโดยจอห์น เอเวอเรตต์ มิเล จิตรกรสมัยกลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอลชาวอังกฤษ ที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่หอศิลป์เททบริเตนใน กรุงลอนดอนในอังกฤษ

โอฟีเลีย
ศิลปินจอห์น เอเวอเรตต์ มิเล
ปีค.ศ. 1851 - ค.ศ. 1852
ประเภทจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ
สถานที่หอศิลป์เททบริเตน, ลอนดอน

จอห์น เอเวอเรตต์ มิเลเขียนภาพ “โอฟีเลีย” ระหว่างปี ค.ศ. 1851 ถึงปี ค.ศ. 1852 เป็นภาพของตัวละครโอฟีเลียในบทละคร “แฮมเลต” โดยวิลเลียม เช็คสเปียร์ ขณะที่ร้องเพลงก่อนที่จะจมน้ำตายในลำแม่น้ำในเดนมาร์ก

“โอฟีเลีย” เป็นภาพเขียนที่มีอิทธิพลต่อศิลปะแขนงต่าง ๆ นอกไปจากในสาขาจิตรกรรมเองเช่นในศิลปะการถ่ายภาพ หรือการสร้างภาพยนตร์และอื่น ๆ เมื่อแสดงเป็นครั้งแรกที่ราชสถาบันศิลปะภาพเขียนไม่ได้รับการต้อนรับเท่าใดนัก แต่ต่อมาได้รับการชื่นชมมากขึ้นในความงามของภาพและรายละเอียดภูมิทัศน์ธรรมชาติของภาพ มูลค่าของภาพเขียนตีราคากันว่าประมาณ 30 ล้านปอนด์

หัวเรื่อง แก้

ภาพเขียนเป็นภาพของตัวละครโอฟีเลียร้องเพลงขณะที่ลอยละล่องมาตามสายน้ำก่อนที่จะจมน้ำตายในที่สุด ภาพนี้เขียนจากคำบรรยายภาพพจน์ในองค์ที่ 4 ฉากที่ 7 ของบทละครของพระราชินีเกอทรูด:

There is a willow grows aslant a brook,
That shows his hoar leaves in the glassy stream;
There with fantastic garlands did she come,
Of crow-flowers, nettles, daisies, and long purples,
That liberal shepherds give a grosser name,
But our cold maids do dead men's fingers call them:
There, on the pendent boughs her coronet weeds
Clambering to hang, an envious sliver broke,
When down her weedy trophies and herself
Fell in the weeping brook. Her clothes spread wide,
And, mermaid-like, awhile they bore her up;
Which time she chanted snatches of old tunes,
As one incapable of her own distress,
Or like a creature native and indu'd
Unto that element; but long it could not be
Till that her garments, heavy with their drink,
Pull'd the poor wretch from her melodious lay
To muddy death.[1]

ท่านอนของโอฟีเลีย—หงายแขนและมือที่กางออกไปเล็กน้อยและมองลอยขึ้นไป—เป็นท่าเดียวกับภาพพจน์ของธรรมเนียมการเขียนภาพนักบุญหรือผู้พลีชีพเพื่อศาสนา แต่ในขณะเดียวกันก็ตีความหมายได้ว่าเป็นภาพที่ทำให้ผู้ชมตื่นอารมณ์

ภาพเขียนมีชื่อในด้านการวาดรายละเอียดของพืชพันธุ์ริมแม่น้ำและบรรยากาศริมฝั่งแม่น้ำที่เน้นวัฏจักรของการหมุนเวียนของชีวิตที่เริ่มด้วยการเจริญเติบโตไปจนถึงการเสื่อมโทรม แม้ว่าภาพตั้งใจจะให้เป็นเดนมาร์กแต่ภูมิทัศน์ของภาพกลายมาเป็นภาพพจน์ของภูมิทัศน์แบบอังกฤษ ภาพ “โอฟีเลีย” เขียนริมฝั่งแม่น้ำฮอกสมิลล์ในเซอร์รีย์ไม่ไกลจากโทลเวิร์ธในบริเวณนครลอนดอนและปริมณฑล บาร์บารา เวบบ์ผู้พำนักอยู่ที่โอลด์มาลเด็นไม่ไกลจากที่เขียนภาพเท่าใดนัก พยายามเสาะหาจุดที่มิเลใช้ในการวาดภาพและจากการค้นคว้าเชื่อว่าจุดที่วาดอยู่ที่ซิกซ์เอเคอร์เม็ดโดว์ริมถนนเชิร์ชในโอลด์มาลเด็น[2] ที่ไม่ไกลจากที่ที่วิลเลียม โฮลแมน ฮันท์เพื่อนร่วมงานที่สนิทสนมของมิเลขณะนั้นกำลังทำงานเขียนภาพ “คนรับจ้างเลี้ยงแกะ” (The Hireling Shepherd)[3]

 
รายละเอียดของภาพที่กล่าวกันว่าเป็นภาพหัวกะโหลก

ดอกไม้ที่ลอยในน้ำเลือกจากดอกไม้ในคำบรรยายมาลัยของโอฟิเลียในบทละคร แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นภาษาดอกไม้ที่แสดงความหมายที่ใช้กันในสมัยวิคตอเรีย เช่นดอกฝิ่นที่เด่นแดงในภาพ—มิได้กล่าวถึงในคำบรรยายในบทละคร—เป็นสัญลักษณ์ของการนอนหลับและความตาย[4]

สิ่งหนึ่งที่เชื่อกันว่ามีอยู่ในภาพคือภาพหัวกะโหลกในพงไม้ทางฝั่งแม่น้ำทางด้านขวา แต่ก็ไม่มีหลักฐานอะไรที่บ่งว่ามิเลตั้งใจจะเขียนหัวกะโหลกในภาพ[5] แต่ลักษณะหัวกะโหลกที่เกิดจากการสร้างของธรรมชาติใช้โดยฮันท์ในภาพ “คนรับจ้างเลี้ยงแกะ” เมื่อคนเลี้ยงแกะที่มีตัวม็อธ[1] (Death's-head Hawkmoth) ที่ตายแล้วอยู่ในอุ้งมือ

ในการเขียนขั้นแรกมิเลเขียนภาพตัวหนูน้ำ[2] (Water Vole)—ที่ผู้ช่วยไปจับมาจากแม่น้ำฮอกสมิลล์—มาให้พุ้ยน้ำข้าง ๆ โอฟีเลีย ในเดือนธ้นวาคม ค.ศ. 1851 มิเลแสดงภาพเขียนที่ยังไม่เสร็จให้ญาติของฮันท์ดู และบันทึกในบันทึกประจำวันว่า “ลุงและป้าของฮันท์มา, ทั้งสองคนเข้าใจทุกอย่างในภาพเป็นอย่างดี ยกเว้นตัวหนูน้ำ ฝ่ายชายเมื่อให้ทายว่าเป็นตัวอะไร ก็รีบประกาศว่าเป็นกระต่าย แต่จากสีหน้าก็ทราบว่าเป็นคำตอบที่ไม่ถูก จากนั้นก็คิดว่าอาจจะได้ยินคำทายว่าเป็นหมาหรือแมว” มิเลจึงลบตัวหนูน้ำออกจากภาพแต่ภาพร่างตัวหนูน้ำยังคงอยู่ทางมุมบนของผ้าใบที่ซ่อนอยู่ในกรอบ[3]

ขั้นตอนการเขียน แก้

 
ภาพเหมือนตนเองของเอลิซาเบธ ซิดดาล (Elizabeth Siddal) ค.ศ. 1854 ผู้ที่เป็นแบบสำหรับโอฟีเลีย.[6]

มิเลแบ่งการเขียนภาพ “โอฟีเลีย” เป็นสองขั้น: ขั้นแรกเขียนภูมิทัศน์และขั้นที่สองเขียนตัวโอฟีเลีย เมื่อพบฉากที่ต้องการแล้วมิเลก็นั่งเขียนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำฮอกสมิลล์—ไม่ไกลจากที่พักของเพื่อนร่วมกลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอล วิลเลียม โฮลแมน ฮันท์ เพียงไม่เท่าไหร่—11 ชั่วโมงต่อวัน, หกวันต่อหนึ่งสัปดาห์ เป็นเวลากว่าห้าเดือนในปี ค.ศ. 1851

การใช้เวลามากเช่นนี้ทำให้สามารถเขียนธรรมชาติได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน แต่ระหว่างการเขียนมิเลก็ประสบปัญหาต่าง ๆ ที่มิเลบรรยายไปในจดหมายถึงเพื่อนว่า “แมงวันที่เซอร์รีย์นี่ตัวอ้วนกว่าที่บ้านและยิ่งกว่านั้นมันยังมีความสามารถในการเจาะทะลุผิวหนัง ตอนนี้ผมก็ยังถูกขู่ด้วยหมายเตือนให้ไปปรากฏต่อหน้าผู้พิพากษาเพราะไปเดินบุกรุกทุ่งนาเหยียบย่ำข้าวที่ชาวนาเขาปลูกเอาไว้ ...และแถมยังดูน่ากลัวว่าอาจจะถูกลมพัดหล่นลงไปในน้ำอีก และรับรองได้เลยว่าการเขียนภาพในบรรยากาศเช่นนั้นร้ายพอกับเป็นการถูกลงโทษที่หนักกว่าการถูกแขวนคอของฆาตกร” เมื่อย่างเข้าปลายฤดูใบไม้ผลิต้นฤดูหนาวในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1851 อากาศก็เริ่มแปรปรวนด้วยลมและหิมะจนมิเลต้องสร้างที่กำบังอากาศที่ทำจากแผงไม้สี่แผงที่นำมาต่อกัน และบุด้วยฟางด้านนอก[7] คล้ายคอกทหารยาม มิเลกล่าวว่ามีความรู้สึกเหมือนโรบินสัน ครูโซ (Robinson Crusoe) เมื่อนั่งเขียนอยู่ในคอก เมื่อฮันท์เห็นเข้าก็มีความประทับใจจนสั่งให้สร้างอีกคอกหนึ่งสำหรับตนเอง[3]

ผู้เป็นแบบโอฟีเลียคือจิตรกรเอลิซาเบธ ซิดดาล (Elizabeth Siddal) ผู้ขณะนั้นมีอายุ 19 ปี มิเลให้เอลิซาเบธแต่งตัวเต็มยศนอนในอ่างอาบน้ำในห้องเขียนภาพในลอนดอน[8] โดยจุดตะเกียงน้ำมันใต้อ่างให้น้ำอุ่นขึ้นเพราะตอนนั้นเข้าหน้าหนาวแล้ว แต่มิเลมักจะตั้งอกตั้งใจเขียนจนลืมและปล่อยให้ตะเกียงดับเสมอ ซึ่งทำให้เอลิซาเบธหนาวจนเป็นหวัด มิเลได้รับใบเสร็จค่ายา £50 จากซิดดาล[3]

การตอบรับภาพ แก้

เมื่อภาพ “โอฟีเลีย” ตั้งแสดงเป็นครั้งแรกที่ราชสถาบันศิลปะในกรุงลอนดอนค.ศ. 1852 ก็ไม่ได้รับการต้อนรับอย่างดีเท่าใดนัก นักวิจารณ์ของ “The Times” กล่าวถึงภาพว่า “คนที่เขียนต้องมีจินตนาการที่ออกจะแปลกที่ให้โอฟีเลียนอนในคูหญ้า ที่ทำให้ความสวยงามของสตรีที่กำลังจะจมน้ำตายสลายไปจนหมด” หนังสือพิมพ์อีกฉบับหนึ่งกล่าวว่า “โอฟีเลียของมิเลในบ่อ...ทำให้เราคิดถึงหญิงรีดนมที่กำลังสนุก”[3] แม้แต่นักวิจารณ์จอห์น รัสคินผู้ที่ตามปกติแล้วจะสนับสนุนงานเขียนของมิเลก็ยังมีความเห็นว่าแม้ว่าวิธีการเขียนจะเป็นเยี่ยม แต่มีความกังขาในเรื่องที่มิเลใช้ภูมิทัศน์ของเซอร์รีย์และตั้งคำถามว่า “Why the mischief should you not paint pure nature, and not that rascally wirefenced garden-rolled-nursery-maid's paradise?”[9]

ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซาลวาดอร์ ดาลีสรรเสริญภาพนี้ในบทความที่พิมพ์ในปี ค.ศ. 1936 ว่า “จะเป็นไปได้อย่างไรที่ซาลวาดอร์ ดาลีจะไม่ตื่นเต้นไปกับงานเหนือจริงที่หอมหวานของกลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอลของอังกฤษ จิตรกรกลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอลเขียนผู้หญิงที่หยาดเยิ้ม แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสตรีที่เป็นที่น่าต้องการที่สุดและน่ากลัวที่สุดที่มีอยู่” ในปี ค.ศ. 1906 นักประพันธ์ชาวญี่ปุนนัทซุเมะ โซเซกิ (Natsume Sōseki) เรียกงานเขียนว่า “สิ่งที่พิจารณาว่าคือความสวยงาม” ในนวนิยายเรื่องหนึ่ง; ตั้งแต่นั้นภาพนี้ก็เป็นที่นิยมในญี่ปุ่นและถูกนำไปตั้งแสดงในญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1998 และอีกครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 2008

ประวัติการเป็นเจ้าของและมูลค่า แก้

“โอฟีเลีย” ได้รับการซื้อจากมิเลโดยนักค้าศิลป์เฮนรี ฟาร์เรอร์เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1851 เป็นจำนวน 300 กินนีส์ ฟาร์เรอร์ขายต่อให้ บี.เจ. วินดัสนักสะสมศิลปะกลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอลผู้ขายในปี ค.ศ. 1862 เป็นจำนวน 748 กินนีส์ ปัจจุบันภาพเขียนเป็นของหอศิลป์เททบริเตนในกรุงลอนดอนซึ่งตีราคาว่ามีมูลค่าอย่างต่ำประมาณ 30 ล้านปอนด์[3]

อ้างอิง แก้

  1. "Millais Ophelia: Behind the painting". Retrieved on 16 January 2008.
  2. Webb, Barbara C.L. (1997). Millais and the Hogsmill River. [England]: B. Webb. ISBN 0953007405 (pbk.). {{cite book}}: ตรวจสอบค่า |isbn=: ตัวอักษรไม่ถูกต้อง (help) For a description of Webb's findings, see Millais and the Hogsmill River, Probus Clubs of Ewell, สืบค้นเมื่อ 2007-10-11.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 Benjamin Secher (22 September 2007), "Ten things you never knew about โอฟีเลีย: Benjamin Secher reveals the roles of a tin bath, a straw hut and a deformed vole in the birth of Britain's favourite painting", The Daily Telegraph (Review), คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-26, สืบค้นเมื่อ 2021-08-12.
  4. "Millais's Ophelia". Tate Gallery Online. Retrieved on 16 January 2007.
  5. Tate Gallery: Ophelia symbolism[ลิงก์เสีย]
  6. Elkan, Jenny. "Elizabeth Eleanor Siddal". Tate Gallery. Retrieved on 16 January 2007.
  7. A hurdle is "a portable panel usually of wattled withes and stakes used especially for enclosing land or livestock": [Definition of "hurdle"], Merriam-Webster's Online Dictionary, สืบค้นเมื่อ 2007-10-11.
  8. A blue plaque identifies the building as the place where "The Pre-Raphaelite Brotherhood was founded in 1848".
  9. James, William (ed.) "The Order of Release: The Story of John Ruskin, Effie Gray and John Everett มิเล". New York: Charles Scribner's Sons, 1947, p. 176.

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้