โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (อังกฤษ : Demonstration School of Khon Kaen University : สธ.มข. - DSKKU) เป็นหน่วยงานเทียบเท่าภาควิชา สังกัดคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยจัดการเรียนการสอนในระดับก่อนประถมศึกษาไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ที่ตั้ง
ข้อมูล
ชื่ออื่นสาธิต มข., สมข., SATIT KKU
คำขวัญวิชาการเด่น กล้าแสดงออก
สถาปนาพ.ศ. 2513
ผู้ก่อตั้งคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
หน่วยงานกำกับโรงเรียนสาธิต สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
ผู้อำนวยการอ.พวงทอง พูลเรือง
สี███ สีเทา สาธิต มข. (ศึกษาศาสตร์)
███ สีอิฐ สาธิต มข. (มอดินแดง)
เพลงมาร์ชสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น
เว็บไซต์www.satit.kku.ac.th

หน่วยงานภายใน แก้

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งอยู่ 2 แห่งภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น แบ่งเป็น 7 ฝ่าย ได้แก่

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์) แก้

เป็นโรงเรียนทดลองเพื่อศึกษาวิจัย ตั้งอยู่อยู่บริเวณริมบึงสีฐาน ประตูมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ 2 ถนนมะลิวัลย์ มีเนื้อที่ 60 ไร่ ประกอบด้วย

  1. โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายอนุบาล
  2. โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายประถมศึกษา (ศึกษาศาสตร์)
  3. โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์)
  4. โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายนานาชาติ

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง) แก้

เป็นโรงเรียนสวัสดิการสำหรับบุคลากรของมหาวิทยาลัย ตั้งอยู่บริเวณศาลเจ้าพ่อมอดินแดง ประตูมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ 1 ถนนมิตรภาพ ประกอบด้วย

  1. โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายประถมศึกษา (มอดินแดง)
  2. โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง)
  3. โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายการศึกษาพิเศษ (ศูนย์วิจัยออทิสติก)

ประวัติ แก้

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น เดิมชื่อ โรงเรียนสาธิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สังกัดคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2513 โดย ดร.สายสุรี จุติกุล คณบดีคนแรกของคณะศึกษาศาสตร์ เปิดสอนด้วยกัน 3 ระดับ คือ ระดับอนุบาล ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา

โดยโรงเรียนสาธิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นแหล่งค้นคว้า วิจัย ทดลอง และสาธิตวิทยาการทางการศึกษาเพื่อให้เหมาะสมกับความแตกต่างกันระหว่างบุคคล มีคณาจารย์จากคณะศึกษาศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการสอน โรงเรียนได้มีการรับนักเรียนโดยการทดสอบวัดความสามารถทางสติปัญญา ทั้งภายนอกและภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ไม่มีนโยบายรับสวัสดิการ

ภายหลังมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ขยายหน่วยงาน ก่อตั้งคณะวิชาและสำนักงานต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น บุคลากรที่มาปฏิบัติหน้าที่ก็เพิ่มมากขึ้นตาม ทำให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยมีปัญหาเรื่องที่เรียนของบุตร โรงเรียนสาธิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไม่สามารถสนองความต้องการนี้ได้ทั้งหมด เพราะต้องดำเนินตามวัตถุประสงค์และหลักการเดิมของการก่อตั้งโรงเรียนไว้ ในปี พ.ศ. 2524 รศ.นพ.กวี ทังสุบุตร อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นในขณะนั้น จึงมีดำริใหก่อตั้งโรงเรียนสวัสดิการขึ้น ใช้ชื่อว่า โรงเรียนสาธิตมอดินแดง มีสถานะเป็นโรงเรียนราษฎร์ สังกัดสำนักงานอธิการบดี เปิดสอน 3 ระดับเช่นเดียวกับโรงเรียนสาธิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อดำเนินการได้ระยะหนึ่งโรงเรียนสาธิตมอดินแดงได้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย โดยเฉพาะด้านการเงินและงบประมาณที่ไม่เพียงพอ บุคลากรขาดขวัญและกำลังใจ ลาออกเพื่อหางานที่มีความมั่นคงกว่า ทางผู้บริหาระดับคณะและมหาวิทยาลัยจึงได้ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินการใหม่

พ.ศ. 2527 ได้มีการโอนโรงเรียนสาธิตมอดินแดงมาสังกัดคณะศึกษาศาสตร์ และได้รวมโรงเรียนสาธิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและโรงเรียนสาธิตมอดินแดงเข้าด้วยกัน และยังคงให้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งเดิม ภายใต้ชื่อ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วย โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์) เป็นโรงเรียนทดลองเพื่อศึกษาวิจัย และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง) เป็นโรงเรียนเพื่อสวัสดิการเพื่อบุคลากรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น นอกจากนี้ยังให้ปรับเปลี่ยนเครื่องแต่งกายของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง) จากเดิมสีน้ำตาลแก่ มาเป็น สีเทาแก่ ให้เหมือนเครื่องแบบนักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์)

พ.ศ. 2532 รศ.นพ.นพดล ทองโสภิต อธิการบดี และ รศ.ดร.แก้วตา คณะวรรณ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ขณะนั้น มีนโยบายให้ย้ายนักเรียนโรงเรียนสาธิตฯ (มอดินแดง) มารวมกันที่โรงรียนสาธิตฯ (ศึกษาศาสตร์) ทั้งหมด เพื่อความเป็นเอกภาพ แต่ทำได้เพียงรับนักเรียนระดับอนุบาล 1 ของโรงเรียนสาธิตฯ (มอดินแดง) มาเรียนรวมกันที่โรงเรียนสาธิตฯ (ศึกษาศาสตร์) เป็นปีแรกเท่านั้น ทำให้โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์) ระดับอนุบาล เปลี่ยนมาเป็น โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ระดับอนุบาล

พ.ศ. 2542 สภามหาวิทยาลัย ได้มอบหมายให้คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ปรับแก้โครงสร้างเชิงบริหารของโรงเรียนสาธิตทั้ง 2 แห่ง ให้เป็นเอกภาพโดยให้มีผู้อำนวยการคนเดียวกัน รวมทั้งใช้นโยบายการจัดการเป็นอันเดียวกัน เพื่อลดช่องว่างระหว่างความรู้สึกเปรียบเทียบของผู้ปกครองที่ต้องการความทัดเทียม จึงการยกเลิกข้อบังคับมหาวิทยาลัยขอนแก่นว่าด้วยโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2534 โดยใช้ข้อบังคับฯ ว่าด้วยโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2544 และระเบียบว่าด้วยโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2546 แทน

พ.ศ. 2545 ได้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาการจัดการศึกษาพิเศษแบบเรียมรวมสำหรับเด็กออทิสติก โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อพัฒนาหารูปแบบการพัฒนาเด็กออทิสติกให้เรียนรวมกับเด็กปกติได้

วันที่ 2 กันยายน 2557 ได้รับการแจ้งมติโครงการจัดตั้งโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (นานาชาติ) และได้รับแจ้งผลการขออนุมัติใช้พื้นที่สำหรับจัดตั้งโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายนานาชาติ โดยมีการรับนักเรียนระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 1 และ 2 ในปีการศึกษา 2560

ปัจจุบันโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหน่วยงานเทียบเท่าภาควิชา สังกัดคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งอยู่ 2 แห่งภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น แบ่งเป็น 7 ฝ่าย

สัญลักษณ์ประจำโรงเรียน แก้

ตราประจำโรงเรียน แก้

ตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นพระธาตุพนม ซึ่งเป็นปูชนียสถาน อันสำคัญและศักดิ์สิทธิ์แห่งภาคอีสาน ประดิษฐานอยู่เหนือขอนไม้แก่น สองข้างมีเทวดาอัญเชิญมิ่งขวัญสิริมงคลจากองค์พระธาตุพนมประทานสู่สถาบันแห่งนี้ พื้นหลังแบ่งเป็น 3 ช่อง หมายถึง คุณธรรมของนักเรียน ได้แก่ วิทยา คือ ความรู้ดี จริยา คือ ความประพฤติดี ปัญญา คือ ความฉลาดเกิดแต่เรียนและคิด

สีประจำโรงเรียน แก้

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์) ใช้สีเทา มาจากสีเครื่องแบบนักเรียน หมายถึง มันสมอง คือ ความฉลาดทั้งทางด้านวิชาการ อารมณ์ และสังคม อีกทั้งยังเป็นเป็นการรวมกันของสีต่างๆที่มีในโลกอย่างลงตัว หมายถึง การคิด การรวบรวมข้อมูลรอบด้านอย่างมีวิจารณญาณ การเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาสมรรถนะในการปรับตัวของบุคคลตามบริบทเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของของโลกอย่างมีคุณภาพ

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง) ใช้สีอิฐ ซึ่งเป็นสีของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ต้นไม้ประจำโรงเรียน แก้

กาลพฤกษ์ (กัลปพฤกษ์) เป็นต้นไม้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงปลูกพระราชทาน เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนิน ประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พุทธศักราช 2510 ต้นกัลปพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ ว่า Cassia bakeriana Craib ลักษณะเป็นต้นไม้ขนาดย่อม พุ่มใบแบนกว้าง ดอกสีชมพู เมื่อโรยจะกลายเป็นสีขาว ออกดอกเป็นช่อช่วงฤดูหนาวย่างเข้าฤดูร้อน เป็นสัญญาณเข้าสู่ฤดูกาลแห่งการสอบไล่

คำขวัญประจำโรงเรียน แก้

คำขวัญโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์) คือ คุณธรรมนำปัญญา พลานามัยเข้มแข็ง วินัยมั่นคง ดำรงสังคมประชาธิปไตย ใฝ่หาความรู้ มุ่งสู่สากล

คำขวัญโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง) คือ ประพฤติดี มีพลานามัย ใฝ่หาความรู้ เชิดชูคุณธรรม

พระมหากรุณาธิคุณของราชวงศ์ต่อโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น แก้

"ประดู่แดง" พระราชทาน แก้

ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารสมเด็จพระโอรสาธิราชสยาม และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2517 ในการนี้ได้ทรงเยี่ยมและทอดพระเนตรการเรียนการสอนของโรงเรียนสาธิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งในขณะนั้นโรงเรียนสาธิตฯ ถือได้ว่าเป็นโรงเรียนที่ได้นำนวัตรกรรมการเรียนการสอนสมัยใหม่เข้ามาใช้กับนักเรียนเป็นครั้งแรก และได้ทรงปลูกต้นประดู่แดง (Phyllocarpus septentrionalis Donn. Smith) ไว้เป็นที่ระลึก ซึ่งประดู่แดงเป็นไม้มงคล อายุยืนและแข็งแรง ออกดอกสีแดงสะพรั่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เชื่อว่าหากปลูกต้นประดู่แดงไว้ จะเกิดพลังแห่งความรัก ความสามัคคี และความยิ่งใหญ่ของสถาบัน ตราบเท่าทุกวันนี้ต้นประดู่แดงที่ทรงปลูกนั้นเปรียบเสมือนการปลูกฝังคุณธรรมความดี ให้แก่นักเรียน และบรรดาครู อาจารย์ของโรงเรียน เป็นเครื่องเตือนใจให้รู้ว่าทุกคนมีส่วนร่วมในการดูแลสังคม รวมทั้งการสืบทอดเจตนรมย์ในการให้นักเรียนได้เห็นคุณค่าของการอนุรักษ์ต้นไม้และธรรมชาติ[1]

"พิทยอนันต์" นามมงคล แก้

ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปยังมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ในการนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์) ทรงเปิด"อาคารพิทยอนันต์" อันเป็นนามพระราชทานมีความหมายว่า อาคารที่มากด้วยความรู้ โอกาสนี้ได้ทอดพระเนตรนิทรรศการ การสาธิตการเรียนการสอนผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และผลงานของนักเรียนในด้านวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ ที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ โดยมีโครงการที่จะพัฒนาเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ที่ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยมหิดล อาคารพิทยอนันต์เป็นอาคาร 4 ชั้น สร้างขึ้นโดยงบสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และการสนับสนุนจากผู้ปกครอง ภายในประกอบด้วย ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ห้องพักอาจารย์ ห้องสมุดระบบอิเลคทรอนิค ห้องสมุดอาชีพ ห้องปฏิบัติการทางภาษาจีนที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันขงจื๊อ ห้องปฏิบัติการภาษาญี่ปุ่น ห้องปฏิบัติการภาษาอังกฤษ ซึ่งมีอาจารย์เจ้าของภาษามาสอนทั้งการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน[2]

บุคคลมีชื่อเสียง แก้

บุคคลจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์) แก้

บุคคลจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง) แก้

อ้างอิง แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้