โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา
โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา เป็นโรงพยาบาลศูนย์เขตสุขภาพที่ 4 สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ขนาด 522 เตียง ตั้งอยู่ที่ 46/1 หมู่ 4 ถนนอู่ทอง ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีศูนย์แพทยศาสตรศึกษาโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทซึ่งจัดอบรมแพทย์ให้แก่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา | |
---|---|
กระทรวงสาธารณสุข | |
ภูมิศาสตร์ | |
ที่ตั้ง | 46/1 หมู่ 4 ถนนอู่ทอง ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ไทย |
หน่วยงาน | |
ประเภท | โรงพยาบาลศูนย์เขตสุขภาพที่ 4 |
สังกัด | คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ |
บริการสุขภาพ | |
จำนวนเตียง | 522 เตียง |
ประวัติ | |
เปิดให้บริการ | 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2455 |
ลิงก์ | |
เว็บไซต์ | www |
ประวัติ
แก้โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2455 โดยพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ได้ร่วมกับข้าราชการและราษฎรบริจาคเงินสร้างโรงพยาบาล เพื่อเป็นพระราชกุศลในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยใช้ชื่อว่า โรงพยาบาลปัญจมาธิราชอุทิศ โดยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2455 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว[1] เมื่อแรกสร้างเป็นตึก 9 ห้อง ตึก 7 ห้อง 1 หลัง เรือนแพทย์ 4 ห้อง ได้สร้างถนน และสะพาน สิ้นทรัพย์ก่อสร้างเป็นเงิน 47,513 บาท 66 สตางค์ ส่วนเครื่องใช้จัดซื้อเป็นเงิน 3,739 บาท 89 สตางค์[2] นับเป็นโรงพยาบาลแผนปัจจุบันแห่งแรกในมณฑลกรุงเก่า[3] สังกัดเทศบาลพระนครศรีอยุธยาในกระทรวงมหาดไทย โดยมีนายแพทย์จ๊วน รัตนิน ศัลยแพทย์ จากโรงพยาบาลศิริราชมาเป็นผู้ปกครองโรงพยาบาล
ต่อมา พ.ศ. 2483 ได้มีการก่อสร้างโรงพยาบาลใหม่ มีตึก OPD หลังแรก หอผู้ป่วย 1 หลัง 2 ชั้น ตึกกายภาพที่ชั้นล่าง และเวชกรรมสังคมที่ชั้นบน อาคารไม้ 3 หลัง คือ โรงครัว ห้องเก็บศพ ห้องชันสูตร จน พ.ศ. 2486 กรมการแพทย์ได้ซื้อที่ดินจากชาวบ้าน จำนวน 3 งาน 70 ตารางวา พร้อมขุดเป็นคลองจากแม่น้ำเข้ามาถึงริมถนนอู่ทอง เพื่อให้เรือของคนไข้เข้ามาใกล้ OPD มากขึ้น จากนั้นโรงพยาบาลค่อย ๆ พัฒนามาตามลำดับ ได้สร้างตึกพิเศษกิมลี้-กิจจาทร (พ.ศ. 2505) ตึกศัลยกรรม (พ.ศ. 2510) ตึกสงฆ์อาพาธ "เทพประชา" (พ.ศ. 2511) ตึกโอสถ (อายุรกรรม พ.ศ. 2514) ตึกเด็ก (พ.ศ. 2514) ปัจจุบันคือ อาคารจันทร์เกษม (หอพักแพทย์) ตึก ICU-2 (พ.ศ. 2528) ตึกแยกโรค ปัจจุบันคือ ห้องผู้ป่วย R.C.U. และ หอผู้ป่วย EENT และตึกสูติ-นรีเวชกรรม (พ.ศ. 2535) ปัจจุบันคือตึกศรีสุริโยทัย
พ.ศ. 2533 ได้มีการปรับปรุงและรื้ออาคารอาคารเก่าๆปรับปรุงให้เป็นอาคารใหม่ทั้งหมด สร้างอาคารใหม่ เช่น อาคารเอนกประสงค์ (เฉลิมพระเกียรติฯ) อาคารหอผู้ป่วยศรีสุริโยทัย อาคารบริการ (ปัจจุบันคืออาคารศรีอโยธยา) และปรับปรุงหอผู้ป่วยเก่าทั้งหมดไม่น้อยกว่า 10 หลัง หอผู้ป่วยศรีสรรเพ็ชญ์ อาคารบริการ "ศรีอโยธยา" และอาคารเฉลิมพระเกียรติ เป็นหลังสุดท้าย[4]
ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก
แก้ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา เป็นศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก สังกัดโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา กระทรวงสาธารณสุข และเป็นสถาบันร่วมผลิตแพทย์กับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเขตภาคกลาง ณ อำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
หลักสูตรการศึกษา
แก้ปัจจุบัน ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา จัดการเรียนการสอนในระดับชั้นคลินิก ตามหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใน 1 หลักสูตร คือ
|
ระยะเวลาในการศึกษา
แก้ใช้ระยะเวลาในการศึกษาตลอดหลักสูตรรวม 6 ปี ดังนี้
|
|
การรับบุคคลเข้าศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต
แก้ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา รับสมัครบุคคลเข้าศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ผ่านคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในระบบรับตรงประจำปีตามประกาศคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ้างอิง
แก้- ↑ เรื่องสร้างโรงพยาบาลปัญจมาธิราชอุทิศเมืองกรุงเก่า (13 ธันวาคม – 11 มกราคม 2455), เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 6 กระทรวงมหาดไทย ,ม.12.3/3, สํานักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
- ↑ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ประวัติของโรงพยาบาลปัญจมาธิราชอุทิศ, แผ่นจารึก, พ.ศ.2455.
- ↑ "ร.พ พระนครศรีอยุธยาทำบุญวันคล้ายวันสถาปนา ครบรอบ 80 ปี". พิมพ์ไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-16. สืบค้นเมื่อ 2021-08-16.
- ↑ "ประวัติโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-16. สืบค้นเมื่อ 2021-08-16.