โบสถ์คาทอลิกนักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่

โบสถ์คาทอลิกนักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่ เป็นโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ภายใต้การดูแลของเขตมิสซังจันทบุรี ตั้งอยู่เลขที่ 70 บ้านหัวไผ่ อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี มีที่ดินในปกครองประมาณ 13,000 ไร่ โบสถ์หลังแรกบาทหลวงมาธือแรง ฟรังซัว มารี เกโก มิชชันนารีชาวฝรั่งเศส สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2423 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ส่วนโบสถ์หลังปัจจุบันเป็นโบสถ์หลังที่สาม โดยบาทหลวงเอวเยน บุญชู ระงับพิศม์ออกแบบและสร้าง ลักษณะเด่นคือสถาปัตยกรรมเป็นทรงไทย และมีชีบอรีอุมคลุมพระแท่นไว้แห่งเดียวในไทย ปัจจุบันตัวโบสถ์หลังนี้อยู่ในระหว่างการรื้อถอนตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 เพื่อดำเนินการสร้างโบสถ์หลังใหม่

โบสถ์คาทอลิกนักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่
Saints Philip and James Catholic Church
แผนที่
ที่ตั้งตำบลโคกขี้หนอน อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี
ประเทศไทย
นิกายโรมันคาทอลิก
เว็บไซต์pj-huaphai.org
ประวัติ
ผู้ก่อตั้งบาทหลวงมาธือแรง ฟรังซัว มารี เกโก
เสกเมื่อพ.ศ. 2423
สถาปัตยกรรม
สถาปนิกบาทหลวงเอวเยน บุญชู ระงับพิศม์
รูปแบบสถาปัตย์ไทยประยุกต์[1]
ปีสร้างพ.ศ. 2423 (หลังแรก)
พ.ศ. 2471 (หลังที่ 2)
พ.ศ. 2508 (หลังที่ 3)
การปกครอง
มุขมณฑลเขตมิสซังจันทบุรี

ประวัติ แก้

โบสถ์หลังที่ 1 แก้

โบสถ์หลังแรกนั้นเริ่มก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2422 โดยบาทหลวงมาธือแรง ฟรังซัว มารี เกโก บาทหลวงเกโกได้อพยพชาวบ้าน และทาสมาทำการสำรวจหาพื้นที่ใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่ารกร้างว่างเปล่าประมาณ 15,000 ไร่[2] (ปัจจุบัน 13,000 ไร่) ไม่มีคนอาศัย มีแต่พวกสัตว์ร้าย บาทหลวงเกโกได้ซื้อปืนแก๊ป ปืนคาบหิน มากกว่า 30 กระบอกและปืนตั้งอีก 3 กระบอกสำหรับไล่ช้าง และสัตว์ร้ายต่าง ๆ ท่านปลูกบ้านไว้หลายหลัง และโบสถ์ชั่วคราวอีกหลังหนึ่งตรงใจกลางของพื้นที่ (ต่อมาให้ชื่อว่าโบสถ์นักบุญฟิลิปและยากอบ)[3][4]

 
โบสถ์คาทอลิกหัวไผ่ หลังแรก

โดยแรกเริ่มโบสถ์หลังแรกมีลักษณะเป็นบ้านไม้สองชั้น หลังคาทรงปั้นหยา มีดอกบัวประดับอยู่บนหลังคา 6 ดอก ผนังเป็นไม้ไผ่ฉาบปูน ชั้นล่างไว้เก็บวัวเก็บควาย ด้านหน้ามีบันไดขึ้นลงเรียกว่า บันได้ดิน ดำเนินการก่อสร้างโดย หมอมาก ซึ่งเป็นทาสที่บาทหลวงเกโกได้ไถ่มา หมอมากท่านนี้มีความสามารถในการทำไม้ ในการสร้างสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ[5] และรอบ ๆ ตัววัดเป็นป่าพงไพรทั้งสิ้น มีแต่สัตว์ป่าอาศัยอยู่เช่น เสือ ช้าง ควายป่า หมูป่า กวาง ละมั่ง จระเข้ และงูพิษต่าง ๆ คุณพ่อต้องให้ลูกบ้านพกปืนกระบอก เพื่อไว้ไล่ช้างเป็นโขลง ๆ มีการสร้างโรงเรียนโดยการให้ใช้ภาษาละตินในการสอน วัดหัวไผ่หลังแรกใช้งานมาทั้งสิ้น 49 ปี และได้ถูกรื้อถอนและสร้างโบสถ์หลังที่ 2 ขึ้นในสมัยของบาทหลวงยาโกเบ แจง เกิดสว่าง (ต่อมาได้รับการอภิเษกให้เป็นมุขนายกท่านแรกของมิสซังจันทบุรี)[6][7] ปัจจุบันพื้นที่บริเวณโบสถ์หลังที่หนึ่งนี้ได้ทำการถมดินสูงและสร้างถ้ำแม่พระประจักษ์ที่ลูร์ดไว้แทน ในสมัยของบาทหลวงเอวเยนบุญชู ระงับพิศม์ ขณะสร้างโบสถ์หลังที่สาม[8]

โบสถ์หลังที่ 2 แก้

บาทหลวงยาโกเบ แจง เกิดสว่างมารับหน้าที่เป็นอธิการโบสถ์แทนบาทหลวงอเล็กซิส บาทหลวงยาโกเบ แจง เห็นว่าสภาพโบสถ์หลังที่บาทหลวงเกโกสร้างไว้นั้นชำรุดแล้ว จึงได้ส่งคำร้องขออนุญาตสร้างโบสถ์หลังใหม่กับพระคุณเจ้าเรอเน แปร์รอส และก็ได้รับการอนุมัติในเวลาต่อมา บาทหลวงยาโกเบ แจง จึงเริ่มลงมือในการสร้างโบสถ์หลังใหม่ขึ้น โดยลักษณะของโบสถ์เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวประมาณ 8-10 ห้อง มีเสาร่วมในการรับโครงสร้างหลังคา จั่วมีขนาดใหญ่เนื่องจากอาคารมีขนาดกว้างมาก และมีเสาริมผนังที่ยึดผนังอาคารการวางตัวอาคารวางในแกนนอนยาวในทางทิศตะวันออก ภายในแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ส่วนโถงทางเข้าด้านหน้า และส่วนร่วมชุมนุมประกอบพิธีกรรม ทั้งสองส่วนถูกแบ่งด้วยระดับพื้นเตี้ย ๆ ด้านหน้าบริเวณศักดิ์สิทธิ์ประกอบไปด้วยแท่นบูชา ที่นั่งประธาน ตู้เก็บศีลมหาสนิท โดยที่มีรูปนักบุญอยู่เหนือพระแท่นบูชา และในส่วนของที่ชุมนุมประกอบไปด้วยที่นั่งของสัตบุรุษ ซึ่งแยกฝั่งซ้ายเป็นส่วนของผู้หญิง และฝั่งขวาเป็นส่วนของผู้ชาย มีการเจาะช่องเปิดด้านข้างของอาคาร มีประตูทางเข้าด้านหน้า 3 ประตู[9]

 
โบสถ์คาทอลิกหัวไผ่หลังที่ 2

และโบสถ์หลังที่สองหลังนี้เอง เคยเป็นที่อภิเษกบาทหลวงยาโกเบ แจง เกิดสว่าง เป็นมุขนายกไทยคนแรก โดยพระคุณเจ้าเรอเน แปรรอสเป็นผู้อภิเษกให้ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488[10] และหลังจากได้รับการอภิเษกแล้วพระคุณเจ้ายาโกเบ แจง ยังได้ใช้โบสถ์หัวไผ่เป็นสำนักมิสซังแห่งแรกอีกด้วย (ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปทำการที่อำเภอศรีราชาแทนในสมัยของ พระคุณเจ้า ฟรังซิส เซเวียร์ สงวน สุวรรณศรี) ปัจจุบันโบสถ์หลังที่ 2 นี้ได้แปรสภาพเป็นอาคารสงบ ในสมัยของบาทหลวงเอวเยน บุญชู ระงับพิศม์จนถึงปัจจุบัน

โบสถ์หลังที่ 3 แก้

บาทหลวงเอวเยนบุญชู ระงับพิษม์มาเป็นอธิการโบสถ์ ได้ทำการสร้างโบสถ์หลังที่ 3 ขึ้นแทนหลังเดิมที่ชำรุดจากการใช้งานและสงคราม โบสถ์หลังที่ 3 เป็นโบสถ์ทรงไทยยาว 36 วา หรือ 72 เมตร (ตามการตรึงพระเยซูที่กางเขนเมื่ออายุ 36 ปี) ความกว้าง 11 วา หรือ 22 เมตร สูง 2 ชั้น ลักษณะเป็นทรงไทยด้านหน้าของวัดประกอบด้วยยอดสุดมีกางเขน แทนช่อฟ้า ใบระกา และหางหงษ์ มีจั่วหลังคาทรงสูง และมีแปรองรับจันทัน คานรองรับด้วยคันทวยหรือท้าวแขนที่ชายคา มีประตูทางเข้าด้านหน้า 3 ประตู ด้านข้างด้านละ 1 ประตู ทั้งหมดมีทรงเปนจั่วแหลม และมีบัวหัวเสาทุกประตู ผนังก่อซีเมนต์ ด้านในประกอบไปด้วยชีบอรีอุมที่คลุมเหนือพระแท่นไว้ ซึ่งชีบอรีอุมนี้มีลักษณะเป็นทรงไทยมีช่อฟ้าเป็นกางเขน ใบระกา และหางหงษ์สวยงาม ตรงกลางของชีบอรีอุมได้ห้อยกางเขนประธานของวัดไว้ ซึ่งปัจจุบันได้นำไปติดไว้ที่ผนังแทน ผนังด้านหลังของพระแท่นบูชาวาดเป็นรูปกลุ่มลายพุ่มข้าวบิณฑ์ เสารองรับน้ำหนักของวัดจะประดับด้วยบัวหัวเสารูปกาบไผ่ และใบหอก และมีกรอบลายนูนต่ำลายลูกฟักลายประจำยาม จะต่อลายกันด้วยลายก้ามปูลายประจำยามบนผนังชั้นลอยของวัดทั้งหลัง และฝ้าเพดานของวัดมีลายดาวเพดาน หรือกลุ่มดาวกระจาย ทั่วทั้งเพดานวัด และหน้าต่างประกอบไปด้วยกระจกสีสวยงาม[11] มีแท่นตู้ศีลศักดิ์สิทธิ์และแท่นนั้นก็มีลักษณะมีชีบอรีอุมคุลมไว้เช่นกันแต่มีขนาดย่อมกว่า โดยมีบาทหลวงเอวเยน บุญชู เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการสร้างด้วยตนเอง มูลค่า 1,700,000 บาท ลงมือสร้างครั้งแรกเมื่อ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 วางศิลาฤกษ์เมื่อ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 เปิดเสกเมื่อ 11 พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2508 รวมระยะเวลาการสร้างทั้งหมด 5 ปี[12] โบสถ์หลังที่ 3 เคยเป็นที่อภิเษกพระคุณเจ้าเทียนชัย สมานจิต เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2514[13]

 
โบสถ์คาทอลิกหัวไผ่หลังที่ 3

โบสถ์หัวไผ่หลังปัจจุบันนี้มีลักษณะพิเศษคือมีชีบอรีอุมครอบพระแท่นไว้ เนื่องจากโบสถ์คาทอลิกในประเทศไทยไม่มีโบสถ์หลังไหนมีชีบอรีอุมครอบพระแท่นเช่นหลังนี้มาก่อนและในตอนนี้ โบสถ์หลังนี้อยู่ในการบูรณะ เนื่องจากฝ้าเพดานเริ่มผุและพังทลายลงมา คานปูนด้านล่างของโบสถ์เริ่มกร่อนแตกร้าว เนื้อปูนเสื่อมสภาพ มากกว่า 70 เปอร์เซนต์ หลังจากทีมสำรวจของโบสถ์ได้ทำการสำรวจแล้ว บาทหลวงยอห์น บัปติส วีเชียร ฉันทพิริยะกุลซึ่งเป็นอธิการโบสถ์ในขณะนั้นมีความว่า เห็นสมควรที่จะต้องดำเนินการการรื้อถอนตัวโบสถ์หลังปัจจุบัน และดำเนินการสร้างโบสถ์หลังหลังใหม่ต่อไป[14]

โบสถ์น้อย แก้

บาทหลวงเอวเยนได้ให้ความสำคัญและส่งเสริมความศรัทธาต่อแม่พระ โดยให้ชนแต่ละกลุ่มของตนหาที่เหมาะสมที่จะสร้างโรงสวดขึ้นที่เรียกว่า โบสถ์น้อยประจำหมู่บ้าน เพื่อให้ชนกลุ่มนั้น ๆ ได้ร่วมสวดภาวนา และมีการฉลองโบสถ์น้อยปีละครั้ง โดยสัตบุรุษร่วมกันตั้งชื่อโบสถ์น้อย ดังนี้ [15]

โบสถ์น้อยแม่พระประจักษ์ที่ลูร์ด เนินวัด

ใช้พื้นที่ของโบสถ์หลังแรกที่บาทหลวงเกโกสร้างขึ้น นำมาถมดินจนสูงแล้วสร้างถ้ำแม่พระประจักษ์ที่ลูร์ดจำลอง มีเนื้อที่ 639 ไร่เศษ

โบสถ์น้อยแม่พระที่พึ่งแห่งปวงชน เนินท่าข้าม

ตั้งอยู่บนถนน 315 ตัดกับถนนเส้น 3127 ห่างจากตัวโบสถ์ไปทางทิศตะวันออก เนื้อที่ 3,430 ไร่เศษ

โบสถ์น้อยแม่พระนิจจานุเคราะห์ เนินคู้-กระพังบอน

ตั้งอยู่ซอยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโคกขี้หนอน (สถานีอานามัย บ้านหัวไผ่) ห่างจากตัวโบสถ์ทางทิศใต้ เนื้อที่ 2,379 ไร่เศษ

โบสถ์น้อยแม่พระมหาชัย เนินกลม

ตั้งอยู่บนถนน 3127 ห่างจากตัวโบสถ์ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ เนื้อที่ 2,995 ไร่เศษ

โบสถ์น้อยแม่พระฟาติมา เนินชวดล่าง

ตั้งอยู่บริเวณโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองตีนนก ห่างจากตัวโบสถ์ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เนื้อที่ 105 ไร่เศษ[16] [17]

ลำดับอธิการโบสถ์ แก้

ลำดับที่ รายนาม ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. สิ้นสุดตำแหน่ง พ.ศ.
1 บาทหลวงมาธือแรง ฟรังซัว มารี เกโก 2423 2439
2 บาทหลวงจิลล์ กียู 2439 2448
3 ฯพณฯ เรอเน แปรรอส 2448 2450
4 บาทหลวงจิลล์ กียู 2450 2460
5 บาทเหลวงเอวเยน เล็ตเชอร์ 2460 2462
6 บาทหลวงเปร์รูดองต์ 2462 2464
7 บาทหลวงอาแล็กซิศ 2464 2472
8 ฯพณฯ ยาโกเบ แจง เกิดสว่าง 2472 2482
9 บาทหลวงยออากิม เทพวันท์ 2482 2483
10 ฯพณฯ ยาโกเบ แจง เกิดสว่าง 2483 2487
11 บาทหลวงร็อค สนิท วรศิลป์ 2487 2498
12 บาทหลวงเอวเยน บุญชู ระงับพิศม์ 2498 2509
13 บาทหลวงเปโตร สุเทพ นามวงศ์ 2509 2515
14 บาทหลวงยอแซฟ เศียร โชติพงษ์ 2515 2518
15 บาทหลวงเปาโล เมธี วรรณชัยวงศ์ 2518 2523
16 บาทหลวงเปโตร แสวง สามิภักดิ์ 2523 2526
17 บาทหลวงเปโตร สมัคร เจ็งสืบสันต์ 2526 2533
18 บาทหลวงยอแซฟ เฉลิม กิจมงคล 2533 2539
19 บาทหลวงลูกา บรรจง พานุพันธ์ 2539 2543
20 บาทหลวงยอห์น บัปติส เพิ่มศักดิ์ เสรีรักษ์ 2543 2548
21 บาทหลวงดอมินิก วีระชน นพคุณทอง 2548 2549
22 บาทหลวงยอแซฟ ปรีชา สกุลอ่อน 2549 2553
23 บาทหลวงซีมอน เศกสม กิจมงคล 2553 2558
24 บาทหลวงยอห์น บัปติส วิเชียร ฉันทพิริยะกุล 2558 2563
25 บาทหลวงเปาโล ทรงวุฒิ ประทีปสุขจิต[18] 2563 ปัจจุบัน

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ
  1. จันทร, แก้วบูชา & เรืองชีวิน 2560, p. 117
  2. จันทร, แก้วบูชา & เรืองชีวิน 2560, p. 15
  3. จันทร, แก้วบูชา & เรืองชีวิน 2560, pp. 44–45
  4. นิคม, โยธารักษ์ (1990). 1880-1990 ศตสมโภช ชุมชนแห่งความเชื่อ 110 ปี หิรัญสมโภช โบสถ์หลังปัจจุบัน. กรุงเทพฯ, ประเทศไทย: ม.ป.ท.หน้า97
  5. จันทร, แก้วบูชา & เรืองชีวิน 2560, pp. 115
  6. จันทร, แก้วบูชา & เรืองชีวิน 2560, pp. 114
  7. นิคม, โยธารักษ์ (1990). 1880-1990 ศตสมโภช ชุมชนแห่งความเชื่อ 110 ปี หิรัญสมโภช โบสถ์หลังปัจจุบัน. กรุงเทพฯ, ประเทศไทย: ม.ป.ท.หน้า48-49
  8. หอจดหมายเหต. "คุณพ่อ มาทือแรง ฟรังซัว (มารี) เกโก" (PDF).
  9. จันทร, แก้วบูชา & เรืองชีวิน 2560, p. 118
  10. "Diocese of Chanthaburi". GCatholic.
  11. จันทร, แก้วบูชา & เรืองชีวิน 2560, pp. 140–142
  12. นิคม, โยธารักษ์ (1990). 1880-1990 ศตสมโภช ชุมชนแห่งความเชื่อ 110 ปี หิรัญสมโภช โบสถ์หลังปัจจุบัน. กรุงเทพฯ, ประเทศไทย: ม.ป.ท.หน้า 56
  13. นิคม, โยธารักษ์ (1990). 1880-1990 ศตสมโภช ชุมชนแห่งความเชื่อ 110 ปี หิรัญสมโภช โบสถ์หลังปัจจุบัน. กรุงเทพฯ, ประเทศไทย: ม.ป.ท.หน้า 150
  14. "เข้าเงียบประจำปี 2020 พระสงฆ์สังฆมณฑลจันทบุรี". สังฆมณฑลจันทบุรี.
  15. นิคม, โยธารักษ์ (1990). 1880-1990 ศตสมโภช ชุมชนแห่งความเชื่อ 110 ปี หิรัญสมโภช โบสถ์หลังปัจจุบัน. กรุงเทพฯ, ประเทศไทย: ม.ป.ท.หน้า56
  16. จันทร, แก้วบูชา & เรืองชีวิน 2560, p. 54
  17. เศกสม, กิจมงคล (2015). ฉลองชุมชนแห่งความเชื่อ วัดนักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่ ปีที่ 135 (1880-2015). ชลบุรี, ประเทศไทย.หน้า27
  18. "ประกาศสังฆมณฑลจันทบุรี เรื่องการแต่งตั้งพระสงฆ์ปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ" (PDF). สังฆมณฑลจันทบุรี.
บรรณานุกรม