โยเซ็ฟ อันโทน ฟ็อยชท์ไมเออร์

โยเซ็ฟ อันโทน ฟ็อยชท์ไมเออร์ (เยอรมัน: Joseph Anton Feuchtmayer) ทำพิธีศีลจุ่มเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 1696 ที่เมืองลินทซ์ ประเทศออสเตรีย เสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1770 ที่มิมเมินเฮาเซิน (Mimmenhausen) ใกล้เมืองซาเล็ม (Salem) ประเทศเยอรมนี โยเซ็ฟ อันโทน เป็นประติมากรและช่างปูนปั้น (stuccoist) แบบโรโกโกเวสโซบรุน (Wessobrunn) ที่มีชื่อเสียงของ[[ประเทศเยอรมนี และเป็นสมาชิกของตระกูลฟ็อยชท์ไมเออร์ที่มีชื่อเสืยงทางศิลปะแบบโรโกโก งานส่วนใหญ่ของโยเซ็ฟ อันโทน อยู่ทางใต้ของประเทศเยอรมนีและประเทศสวิตเซอร์แลนด์

"Honigschlecker" putto ภายในวัดเบียร์เนา (Birnau) ที่อือเบอร์ลิงเงิน (Überlingen) ประเทศเยอรมนี
เซนต์แอนนา (ค.ศ. 1750) ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่อือเบอร์ลิงเงิน
แท่นบูชาภายในวัดฟรานซิสกัน (Franziskanerkirche) ที่อือเบอร์ลิงเงิน

ประวัติ แก้

โยเซ็ฟ อันโทน เริ่มศึกษาประติมากรรมที่เมืองเอาคส์บวร์ค (Augsburg) เมื่อปี ค.ศ. 1715 และเริ่มทำงานที่ไวน์การ์เทิน (Weingarten) เมื่อปี ค.ศ. 1718 หลังจากที่ฟรันทซ์ โยเซ็ฟ ฟ็อยชท์ไมเออร์ผู้เป็นพ่อเสียชีวิต โยเซ็ฟ อันโทน ก็กลับมารับกิจการที่โรงฝึกงานของพ่อที่มิมเมินเฮาเซินต่อ ขณะเดียวกันก็มีตำแหน่งเป็น "ช่างประจำวัด" ของมหาวิหารซาเล็ม โดยรับงานชิ้นแรกคือสร้างตู้ออร์แกน

งานของโยเซ็ฟ อันโทน ได้รับอิทธิพลจากดีเยโก ฟรันเชสโค คาร์โลเน (Diego Francesco Carlone) ช่างปูนปั้นชาวอิตาลีที่ทำงานด้วยกันที่ไวน์การ์เทิน สิ่งที่โยเซ็ฟ อันโทน เรียนจากดีเยโก ฟรันเชสโค คือวิธีปั้นรูปปูนปั้นให้เป็นเงา ซึ่งกลายมาเป็นลักษณะที่ทำให้ผลงานของเขามีชื่อเสียง

พร้อม ๆ กับที่ศิลปินสำคัญสมัยเดียวกันเช่น โยฮัน โยเซ็ฟ คริสทีอัน (Johann Joseph Christian) และฟรันทซ์ โยเซ็ฟ ชปีเกิล (Franz Joseph Spiegler) โยเซ็ฟ อันโทน ส่วนใหญ่ก็จะทำงานกับสำนักสงฆ์หรืออารามแบบบารอกแถว "ถนนบารอก" ในรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทิมแบร์ค งานที่มีเด่นที่สุดก็คืองานปูนปั้น แท่นบูชาเซนต์เบอร์นาร์ด ("Bernhardsaltar") ที่อือเบอร์ลิงเงิน (Überlingen) ที่เรียกกันว่า "ปากอาบน้ำผึ้ง" ("Honigschlecker" หรือ ภาษาอังกฤษ: "honey eater") ซึ่งเป็นคำที่กล่าวถึงนักบุญเบอร์นาร์ดผู้มีพรสวรรค์ในการเทศนา[1]

ปัจจุบันนี้โรงฝึกงานและบ้านของโยเซ็ฟ อันโทน เป็นพิพิธภัณฑ์ที่อุทิศให้แก่ชีวิตและงานของเขา

ประติมากรรม แก้

  • บ็อยโรน (Beuron) — สำนักสงฆ์เบ็นเนดิกทีนแห่งเซนต์มาร์ตินและเซนต์มารีอา (Benedictine Abbey of St. Martin and St. Maria) - แท่นบูชาเอก
  • แมร์สบวร์ค (Meersburg) — ชาเปลของปราสาท (Chapel in the Neues Schloss) - ปูนปั้น
  • ป่าดำ (Schwarzwald) — วัดเซนต์ปีเตอร์ที่ป่าดำ (St. Peter im Schwarzwald) - รูปปั้นบนเสา และรูปสาวกที่แท่นบูชาเอก
  • ซาเล็ม (Salem, Bodensee) — มหาวิหารซาเล็ม - ตู้ออร์แกนและตู้สารภาพบาปสี่ตู้
  • อือเบอร์ลิงเงิน (Überlingen) — อารามซิสเตอร์เชียนเบียร์เนา (Cistercian Priory of Birnau) - กรอบหน้าต่าง, "Maria Immaculata", ปูนปั้น, แท่นบูชา, รูปปั้นที่แท่นบูชา, ธรรมมาสน์, "ทางสู่กางเขน" (stations of the cross)
  • อือเบอร์ลิงเงิน (Überlingen) — วัดฟรานซิสกัน (Franziskanerkirche) - แท่นบูชาเอก
  • ไวน์การ์เทิน (Weingarten) — สำนักสงฆ์เบ็นเนดิกทีนแห่งเซนต์มาร์ตินแห่งตูร์และเซนต์ออสวอลด์ (Benedictine Monastery of St. Martin of Tours and St. Oswald) - ที่นั่งสำหรับนักร้องสวด (choir stalls)
  • บาทววทซ์นัค (Bad Wurznach) — วัดเซนต์เวเรนา (Church of St. Verena) - รูปปั้นบนแท่นบูชาเอก
  • ล็อยท์เคียร์ชอิมอัลก็อย (Leutkirch im Allgäu) — วัดเซนต์มารีอา ฮิมเมิลฟาร์ท (Church of Mariä Himmelfahrt ) – แท่นบูชาเอก

อ้างอิง แก้

  1. Germany: A Phaidon Cultural Guide. Oxford: Phaidon, 1985. p. 710. ISBN 0-7148-2354-6.

ข้อมูลเพิ่มเติม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

สมุดภาพ แก้