โจว ฉู่ (จีน: 周處; พินอิน: Zhōu Chǔ; ค.ศ. 236?[a]–297) ชื่อรอง จื๋ออิ่น (จีน: 子隱; พินอิน: Zǐyǐn) เป็นขุนพลชาวจีนในยุคราชวงศ์จิ้นตะวันตก เป็นบุตรชายของจิวหอง (周魴 โจว ฝาง) ขุนพลที่มีชื่อเสียงของรัฐง่อก๊ก

โจว ฉู่
周處
ประติมากรรมรูปโจว ฉู่สู้กับมังกรในนครอี๋ซิง มณฑลเจียงซู
ผู้ช่วยขุนนางตรวจสอบ
(御史中丞) ยฺหวี่ฉื่อจงเฉิง
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 297 (297)
กษัตริย์จักรพรรดิจิ้นฮุ่ย
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดค.ศ. 236
นครอี๋ซิง ง่อก๊ก (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเจียงซู)
เสียชีวิตค.ศ. 297 (60–61 ปี)
บุพการี
ชื่อรองจื๋ออิ่น (子隱)

โจว ฉู่มีชื่อเสียงในด้านความเที่ยงธรรมและซื่อสัตย์ ครั้งหนึ่งเคยกล่าวโทษซือหม่า หรง (司馬肜) ผู้เป็นอ๋องแห่งรัฐเหลียง เมื่อชนเผ่าเร่รอนในกวานจงก่อกบฏต่อราชวงศ์จิ้น โจว ฉู่ได้รับมอบหมายจากซือหม่า หรงให้เข้ารบกับข้าศึกที่แข็งแกร่งจำนวน 20,000 นายโดยให้คุมทหารเพียง 5,000 นายและไม่มีเสบียง โจว ฉู่เสียชีวิตในที่รบ โจว ฉู่ปรากฏในหนังสือภาพพิมพ์แกะไม้ อู๋ชฺวางผู่ (無雙譜, ทำเนียบผู้กล้าไร้เทียมทาน) ของจิน กู่เหลียง

กำจัดสามภัยร้าย แก้

ตำนานพื้นบ้านเกี่ยวกับโจว ฉู่ปรากฏในหนังสือ ชื่อชัวซิน-ยฺหวี่ ในปี ค.ศ. 430 และได้รับความนิยมอย่างมาก ตำนานอ้างว่าโจว ฉู่เป็นนักเลงที่โหดร้ายและหัวรุนแรงในช่วงวัยรุ่น โจว ฉู่ได้รับการขนานนามโดยโดยชาวบ้านในเมืองอี๋ซิง (義興郡 อี๋ซิงจฺวิ้น; ปัจจุบันคือนครอี๋ซิง มณฑลเจียงซู) บ้านเกิดว่าเป็นหนึ่งใน "สามภัยร้าย" ด้วยกันกับเสือและมังกร

โจว ฉู่รับคำขอจากชาวบ้านให้ไปปราบเสือและมังกรที่อาศัยในแม่น้ำ (เจียว[b]) การต่อสู้กับมังกรดำเนินไปเป็นเวลา 3 วันในทะเลสาบไท่ ระหว่างนั้นชาวบ้านเห็นว่าโจว ฉู่ยังไม่กลับมาก็เข้าใจว่าโจว ฉู่ตายไปแล้วจึงจัดงานเฉลิมฉลอง เมื่อโจว ฉู่กลับมาอย่างมีชัยพร้อมกับศีรษะมังกรและเห็นชาวบ้านจัดงานเฉลิมฉลอง จึงทำให้โจว ฉู่ตระหนักว่าตนคือภัยร้ายสุดท้ายที่ชาวบ้านหวาดกลัว โจว ฉู่มุ่งมั่นจะปรับปรุงตนจึงไปตามหาขุนพลง่อก๊กลู่ จี (陸機) และลู่ ยฺหวิน (陸雲) จึงได้รับแรงบันดาลใจ ในที่สุดโจว ฉู่ก็กลายเป็นขุนพลผู้ประสบความสำเร็จและเป็นที่รักของราษฎร[1][3][2]

เสียชีวิต แก้

โจว ฉู่ขึ้นมามีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยขุนนางตรวจสอบ (御史中丞; ยฺหวี่ฉื่อจงเฉิง) ไม่หวั่นเกรงที่จะกล่าวโทษและเปิดเผยการกระทำผิดของขุนนางคนอื่น ๆ จึงทำให้หลายคนไม่พอใจโจว ฉู่รวมไปถึงซือหม่า หรง (司馬肜) บุตรชายของสุมาอี้ (司馬懿 ซือหม่า อี้) และเป็นพระปิตุลา (อา) ของสุมาเอี๋ยน (司馬炎 ซือหม่า เหยียน) หรือจักรพรรดิจิ้นอู่ตี้ ผู้สถาปนาราชวงศ์จิ้นตะวันตก ในปี ค.ศ. 296 เมื่อซือหม่า หรงได้ขึ้นเป็นมหาขุนพลในการนำทัพบุกตะวันตกปราบกบฏชี่ ว่านเหนียน โจว ฉู่ได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนพลทัพหน้า ซุน ซิ่ว (孫秀) ขุนพลผู้ติดตามของโจว ฉู่แนะนำให้โจว ฉู่ไปอำลามารดาผู้ชราเป็นครั้งสุดท้าย โจว ฉู่ตอบว่า "ไม่มีใครสามารถบรรลุคุณธรรมของความกตัญญูและความภักดีได้ในเวลาเดียวกัน ในเมื่อข้าได้รับเลือกให้รับใช้แผ่นดินแล้ว ข้าก็ยอมตายเพื่อแผ่นดิน"

โจว ฉู่ได้รับมอบหมายให้นำทหาร 5,000 นายไปโจมตีข้าศึกที่แข็งแกร่ง 20,000 นาย หลังการโจมตีเริ่มต้นขึ้น ซือหม่า หรงก็สั่งให้ตัดการส่งเสบียงไปยังกองกำลังของโจว ฉู่ออกทั้งหมด กองกำลังของโจว ฉู่ใช้ลูกเกาทัณฑ์จนหมด และขุนพลที่ได้รับมอบหมายให้มาเสริมกำลังแก่โจว ฉู่ก็ไม่ได้เข้าช่วยเหลือ เมื่อเหล่าทหารขอให้โจว ฉู่หนีไป โจว ฉู่จึงตอบว่า "ข้าเป็นขุนนางของแผ่นดิน ไม่สมควรที่จะตายเพื่อแผ่นดินหรอกหรือ" โจว ฉู่ต่อสู้จนเสียชีวิตในที่รบ[4][5]

หมายเหตุ แก้

  1. แหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ไม่ได้บันทึกว่าโจว ฉู่เกิดในปีใด บัณฑิตยุคราชวงศ์ชิงชื่อเหลา เก๋อ (勞格) อ้างในหนังสือ จิ้นชูเจี้ยวคานจี้ (晉書校勘記) ของตนว่าโจว ฉู่เสียชีวิตขณะอายุ 62 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) โดยไม่ได้อ้างอิงว่าได้ข้อมูลมาจากแหล่งใด ในบทชีวประวัติซุนกวนและจิวหองในจดหมายเหตุสามก๊กระบุว่าจิวหองได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองกวนหยงเมื่อต้นปี ค.ศ. 226 และรับราชการอยู่ที่เมืองกวนหยงเป็นเวลาประมาณ 13 ปี ดังนั้นปีที่จิวหองเสียชีวิตควรเป็นต้นปี ค.ศ. 239 ชีวประวัติโจว ฉู่ในจิ้นชูระบุว่าโจว ฉู่กำพร้าตั้งแต่อายุยังน้อย ปีที่โจว ฉู่เกิดจึงควรเป็นปี ค.ศ. 239 หรือก่อนหน้านั้น
  2. เจียว ดู Mather tr. และข้อความภาษาจีน[1][2]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Liu Yiqing (2017). Shih-shuo Hsin-yu: A New Account of Tales of the World. แปลโดย Richard B. Mather (Second ed.). University of Michigan Press. pp. 341–. ISBN 978-1-938-93701-9.
  2. 2.0 2.1 Liu Yiqing 劉義慶. "Chapter 15. Self-renewal 自新第十五". Shishuo xinyu 世說新語 – โดยทาง Wikisource.
  3. Minford, John; Lau, Joseph S.M., บ.ก. (2002). "Hearing the Way in the Morning". An Anthology of Translations: Classical Chinese Literature, Volume I: From Antiquity to the Tang Dynasty. แปลโดย Richard B. Mather. Columbia University Press. pp. 667–668. ISBN 0-231-09676-3.
  4. Wu Fusheng (2008). Panegyric Poetry in Early Medieval China. State University of New York Press. p.67.
  5. Kleeman, Terry F. (1998). Great Perfection: Religion and Ethnicity in a Chinese Millennial Kingdom. University of Hawaii Press. p.91.