เซอร์ แพทริก แมนสัน (อังกฤษ: Sir Patrick Manson; 3 ตุลาคม ค.ศ. 1844 – 9 เมษายน ค.ศ. 1922) เป็นแพทย์ชาวสกอต เป็นผู้ริเริ่มการศึกษาเวชศาสตร์เขตร้อน[1] เขาค้นพบว่ายุงเป็นพาหะของโรคเท้าช้าง ผลงานดังกล่าวก่อให้เกิดทฤษฎียุง-มาลาเรีย ซึ่งนำไปสู่การค้นพบว่ายุงเป็นพาหะของโรคมาลาเรีย[2]

เซอร์ แพทริก แมนสัน
เกิด3 ตุลาคม ค.ศ. 1844(1844-10-03)
โอลด์เมลดรัม, แอเบอร์ดีนเชียร์, สกอตแลนด์
เสียชีวิต9 เมษายน ค.ศ. 1922(1922-04-09) (77 ปี)
ลอนดอน, อังกฤษ
สัญชาติสกอต
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยแอเบอร์ดีน
มีชื่อเสียงจากริเริ่มวิชาเวชศาสตร์เขตร้อน
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาแพทยศาสตร์, ปรสิตวิทยา
สถาบันที่ทำงาน

ประวัติ

แก้

แพทริก แมนสันเกิดในปี ค.ศ. 1844 ที่เมืองโอลด์เมลดรัมในแอเบอร์ดีนเชียร์ เป็นบุตรชายคนที่ 2 ของจอห์น แมนสันกับเอลิซาเบธ ลิฟวิงสโตน เบลคกี ในปี ค.ศ. 1857 ครอบครัวของแมนสันย้ายไปอยู่ที่แอเบอร์ดีน เขาจึงเรียนที่โรงเรียนในเมืองแอเบอร์ดีนก่อนจะเรียนต่อด้านการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยแอเบอร์ดีน หลังเรียนจบ แมนสันทำงานที่โรงพยาบาลจิตเวชในเมืองเดอรัมเป็นระยะเวลาสั้น ๆ

แมนสันผู้ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากพี่ชาย เดวิด แมนสัน ซึ่งทำงานอยู่หน่วยแพทย์ในเซี่ยงไฮ้ ตัดสินใจเดินทางไปฟอร์โมซา (ไต้หวันในปัจจุบัน) ในปี ค.ศ. 1866 เพื่อทำงานเป็นเจ้าหน้าที่แพทย์ของกรมศุลกากรจีนและเริ่มต้นงานด้านเวชศาสตร์เขตร้อน หลังความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่นเหนือเกาะไต้หวัน เขาถูกย้ายไปอยู่ที่อามอย (เซี่ยเหมิน) ผลงานแรก ๆ ของแมนสันคือการค้นพบว่าหนอนฟิลาเรียที่เป็นสาเหตุของโรคเท้าช้างจะเจริญเติบโตในยุงที่ดูดเลือดมนุษย์ ทำให้ได้สมมติฐานว่ายุงเป็นพาหะของโรค เขาตีพิมพ์การค้นพบในปี ค.ศ. 1878 ในรายงานการแพทย์ของกรมศุลกากรจีน[3]

ผลงานชิ้นนี้ของแมนสันทำให้โรนัลด์ รอสส์ แพทย์ชาวบริติชตั้งสมมติฐานว่ายุงอาจเป็นพาหะนำโรคมาลาเรียเช่นกัน รอสส์หารือกับแมนสันจนกระทั่งในปี ค.ศ. 1898 รอสส์พิสูจน์ได้ว่ายุงเป็นพาหะของโรคมาลาเรียจริง ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ในปี ค.ศ. 1902 แต่การที่รอสส์ไม่ได้เอ่ยถึงผลงานของแมนสันว่ามีส่วนในการค้นพบของเขา ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองตกต่ำลง[4]

ระหว่างปี ค.ศ. 1883-1889 แมนสันทำงานในฮ่องกง ที่นั่นเขาได้ก่อตั้งบริษัทนมแดรีฟาร์มและก่อตั้งวิทยาลัยแพทยศาสตร์ฮ่องกง ซึ่งต่อมาเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยฮ่องกง[5] หลังทำงานอยู่ในเอเชียตะวันออกนาน 23 ปี แมนสันย้ายกลับไปที่ลอนดอนในปี ค.ศ. 1889 และทำงานที่โรงพยาบาลของสมาคมโรงพยาบาลทหารเรือบริเตนและเป็นอาจารย์สอนด้านโรคเขตร้อนของโรงพยาบาลเซนต์จอร์จ ในปี ค.ศ. 1897 เขาดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการแพทย์ของสำนักงานอาณานิคมและมีส่วนในการผลักดันให้เกิดวิทยาลัยสุขศาสตร์และเวชศาสตร์เขตร้อนลอนดอนในปี ค.ศ. 1899[5] แมนสันเกษียณจากสำนักงานอาณานิคมในปี ค.ศ. 1912

ด้านชีวิตส่วนตัว แมนสันแต่งงานกับเฮนเรียตตา อิซาเบลลา เธอร์บันในปี ค.ศ. 1876 ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน 4 คน แมนสันเสียชีวิตที่กรุงลอนดอนในปี ค.ศ. 1922

การเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2

แก้

ในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2450 เซอร์แพทริก แมนสัน พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ไฟเนอร์ จากเมืองไฮเดิลแบร์ก ได้ถวายการตรวจพระวรกาย ณ วิลลาโนเบล เมืองซันเรโม ประเทศอิตาลี เมื่อวันจันทร์ที่ 29 เมษายน 2450 โดยแพทย์ทั้งสองได้กราบทูลว่า ไม่มีพระโรคอย่างไรที่จะเกิดอันตราย แต่ได้กราบทูลเพิ่มเติมว่า ทรงมีพระโลหิต (เลือด) ไม่บริบูรณ์ และอ่อนพระกำลังเพราะพระอามาสัย (กระเพาะอาหาร) พิการเรื้อรัง มีพระเสมหะมากในพระศอ (คอ) และพระนาสิก (จมูก) เหตุเพราะทรงตรากตรำทรงงานมานาน จึงเป็นเหตุให้บรรทมไม่หลับเป็นปรกติ

อ้างอิง

แก้
  1. "Sir Patrick Manson". Britannica. สืบค้นเมื่อ 10 May 2018.
  2. Eldridge, BF (1992). "Patrick Manson and the discovery age of vector biology". Journal of the American Mosquito Control Association. 8 (3): 215–20. PMID 1402856.
  3. Chernin, Eli. "Sir Patrick Manson's studies on the transmission and biology of filariasis". PubMed - NCBI - NIH. สืบค้นเมื่อ 10 May 2018.
  4. The Beast in the Mosquito: The Correspondence of Ronald Ross and Patrick Manson. Edited by William F. Bynum, Caroline Overy (Cilo Media 51, 1998 ISBN 90-420-0721-4)
  5. 5.0 5.1 To, Kelvin KW; Yuen, Kwok-Yung (2012). "In memory of Patrick Manson, founding father of tropical medicine and the discovery of vector-borne infections". Emerging Microbes & Infections. 1 (10): e31. doi:10.1038/emi.2012.32. PMC 3630944. PMID 26038403.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้