แดนเนรมิต (อักษรโรมันDan Neramit; จีน: 神奇之地) เป็นชื่อของสวนสนุกกลางแจ้งในอดีตแห่งที่สองของไทย ตั้งอยู่ที่ริมถนนพหลโยธิน แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เยื้องกับศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว โดยเปิดให้บริการระหว่างปี พ.ศ. 2519 – พ.ศ. 2543

จ๊อดแฟร์ แดนเนรมิต

ต่อมาบริเวณพื้นที่ 33 ไร่[1] ได้ถูกพัฒนาเป็น จ๊อดแฟร์ แดนเนรมิต โดยเปิดบริการเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2566[2] คอนเซปโครงการจะแตกต่างจากจ๊อดแฟร์ รัชดา จะเน้นเป็นที่ถ่ายรูป ที่ท่องเที่ยว ธีมยุโรปวินเทจ ตลาดนัดกลางคืน คล้ายคลึงกับม่อนจ๊อด ที่เชียงใหม่

ตั้งแต่ 4 เมษายน พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป โครงการได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบร้านค้าไปเป็นตลาดนัด ในแต่ละสัปดาห์จะเปิดขายเฉพาะวันพฤหัสบดี - วันอาทิตย์เท่านั้น ในชื่อใหม่ว่า ตลาดนัดรถไฟ แดนเนรมิต[3]

ประวัติ

แก้
 
ปราสาทเจ้าหญิงนิทรา แดนเนรมิต ในปี พ.ศ. 2548

สวนสนุกแดนเนรมิต เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2519 โดยก่อสร้างบนเนื้อที่ 33 ไร่และใช้เงินลงทุนกว่า 70-80 ล้านบาท[4] มีเครื่องเล่นจากต่างประเทศกว่า 30 ชนิด มีความโดดเด่นตรงปราสาทเทพนิยายที่ตั้งอยู่ส่วนหน้าของสวนสนุก ซึ่งสร้างขึ้นตามแบบที่ผสมผสานจากปราสาทเทพนิยายของสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ กับปราสาทนอยส์ชวานสไตน์ของเยอรมนี ภายในสวนสนุกแดนเนรมิต จะมีเครื่องเล่นต่าง ๆ เช่น รถไฟเหาะ เครื่องเล่นรถไฟรางเดี่ยว เรือไวกิง และส่วนจัดแสดงสัตว์โลกล้านปี เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีพาเหรดแฟนตาซี ซึ่งจะออกเดินไปตามถนนรอบบริเวณ

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 แดนเนรมิตได้ปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เนื่องจากหมดสัญญาเช่าระยะเวลา 25 ปี[5] โดยไม่สามารถต่อสัญญาเช่าได้ เนื่องจากพื้นที่ของโครงการกลายเป็นพื้นที่ในเมือง ไม่เหมาะกับการทำกิจการสวนสนุก เห็นได้จากสวนสนุกใหม่ ๆ มักจะตั้งอยู่ย่านชานเมืองออกไป รวมถึงต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการบำรุงรักษาเครื่องเล่นเดิมและการจัดหาเครื่องเล่นใหม่ นอกจากนี้เจ้าของแดนเนรมิตยังมีกิจการสวนสนุกดรีมเวิลด์อีกแห่งหนึ่ง หลังจากปิดกิจการเครื่องเล่นได้ถูกรื้อถอนไป (เครื่องเล่นบางส่วนถูกเอาไปใช้ที่ดรีมเวิลด์) โดยยังคงเหลือปราสาทเทพนิยายเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้สวนสนุกแดนเนรมิตยังเคยเปิดที่ชั้น 8 เอ็มบีเคเซ็นเตอร์ แต่เลิกกิจการไปหลังเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539

กิจกรรม

แก้

แดนเนรมิตมีจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น คอนเสิร์ตจากศิลปินดังอย่าง พุ่มพวง ดวงจันทร์, สายัณห์ สัญญา, นันทิดา แก้วบัวสาย มีการแสดงโชว์อย่าง กายกรรมเหิรเวหาท้ามฤตยู จากคณะ The Nerveless Nocks ประติมากรรมปราสาทน้ำแข็งจากประเทศจีน กายกรรมสะท้านโลกจากเวียดนาม และ ซูเปอร์ด็อก บ๊อก บ๊อก โชว์ จากสหรัฐ[5]

เครื่องเล่นและโซน

แก้

เครื่องเล่นต่าง ๆ ในแดนเนรมิตหลายชนิดมาจากญี่ปุ่น พร้อมทั้งมีวิศวกรทั้งชาวไทยและต่างประเทศร่วมงานกันสร้าง

  • รถไฟเหาะ มีรางรถยาว 670 เมตร แล่นไปตามรางเหล็กกล้าสูงจากพื้น 16.5 เมตร รถไฟควบคุมด้วยไฟฟ้า วิ่งความเร็ว 60 กม./ชม. ใช้เบรกแบบนูเมติกและมีเบรกฉุกเฉิน มีมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท
  • บ้านกระจก ภายในบ้านล้อมด้วยกระจก
  • บ้านแตก มีเก้าอี้ที่นั่งสบาย แต่จะปลุกให้ตื่นตระหนกด้วยระบบการสั่นสะเทือนเหมือนกับบ้านกำลังถล่ม
  • ดินแดนเทพนิยาย ซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนกรกฎาคม 2529[5]
  • ปราสาทเจ้าหญิงนิทรา
  • พิพิธภัณฑ์สัตว์โลกล้านปี
  • เมืองผี
  • กระเช้าลอยฟ้า สูง 35 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางของโครงเหล็กกล้ายาว 23 เมตร มีกระเช้า 15 กระเช้า แต่ละกระเช้าบรรจุผู้โดยสารได้ 4 คน อัตราความเร็ว 0.3 รอบต่อนาที
  • ล่องแก่งมหาภัย ตัวเรือในการล่องแก่งมีลักษณะคล้ายซุงมีร่องน้ำให้ได้ล่องยาว 360 เมตร
  • เรือไวกิ้ง
  • เฮอร์ริเคน
  • จักรยานน้ำ
  • เรือมหาสนุก เรือลำใหญ่ที่ตั้งอยู่บนบก ภายในมีอุปกรณ์และเกมสนุกต่าง ๆ เช่น พื้นห้องเคลื่อนที่ กระดานเลื่อนไปมา และพรมวิเศษ

ส่วนเครื่องเล่นสำหรับเด็ก ได้แก่ เรือบินประจัญบาน (วิหคสายฟ้า) เสืออากาศ ม้าหมุน รถมหาสนุก โมโนเรล หนอนวิเศษ และรถไฟเล็ก

สถานที่และการแสดง

แก้
  • สวนสัตว์
  • สตรีทโชว์

อ้างอิง

แก้
  1. WP (2023-02-24). ""จ๊อดแฟร์" ขยายต่อ! เตรียมเปิดที่ "แดนเนรมิต" 33 ไร่ บรรยากาศโรแมนติกสไตล์ "ม่อนจ๊อด เชียงใหม่"". Marketing Oops! (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  2. "ดีเดย์ 28 เม.ย.นี้ JODD FAIRS แดนเนรมิต พลิกตำนานสวนสนุกกลางกรุง 33 ไร่ เปิดไนท์มาร์เก็ต 1,200 ล็อค - Brand Buffet" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2023-03-04.
  3. จ๊อดแฟร์ แดนเนรมิต เปลี่ยนชื่อใหม่ ‘ตลาดนัดรถไฟ แดนเนรมิต’ พร้อมปรับวัน-เวลาเปิด
  4. ย้อนวันวาน 29 ม.ค. 2519 เปิดสวนสนุก "แดนเนรมิต" ในกรุงเทพฯ ประชาชาติธุรกิจ
  5. 5.0 5.1 5.2 "แดนเนรมิต สวนสนุกในตำนานของไทย ดินแดนแห่งความฝันที่เด็กๆ อยากมาสัมผัสความสนุกสักครั้งในชีวิต". เดอะคลาวด์.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°49′13″N 100°33′59″E / 13.82039°N 100.566251°E / 13.82039; 100.566251