เอมีล ไอเซินโฮเฟอร์

เอมีล ไอเซินโฮเฟอร์ (เยอรมัน: Emil Eisenhofer) เป็นวิศวกรชาวเยอรมัน เป็นที่รู้จักจากการเป็นผู้ควบคุมและวางแผนการก่อสร้างอุโมงค์ขุนตาน อุโมงค์ที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทยและสร้างบนที่สูงที่สุดในประเทศไทย และยังต้องใช้ระยะเวลาก่อสร้างนานที่สุดอีกด้วย

ประวัติ แก้

นายไอเซินโฮเฟอร์สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเทคนิคที่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ก่อนสำเร็จการศึกษาได้ทำงานเกี่ยวกับทางรถไฟในประเทศเยอรมนี ทั้งการสร้างอุโมงค์ในเวสปาเลีย กับสร้างประตูน้ำและทำนบในแม่น้ำ

นายไอเซินโฮเฟอร์เดินทางมาสยามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2446 และเข้าทำงานที่การรถไฟแห่งประเทศไทย[1] เมื่อปลายรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงที่กรมรถไฟหลวงได้จ้างชาวเยอรมันทำงานเป็นช่างเทคนิค และงานในหน้าที่อื่น ๆ เป็นจำนวนเกือบถึง 250 คน

มีการขุดอุโมงค์สองแห่ง ยาว 109 เมตร และ 1,362 เมตร ได้ใช้คนงานจีนทำงานเกี่ยวกับดิน ส่วนการขุดเจาะอุโมงค์ภูเขาใช้คนงานจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย แต่เนื่องจากทางรถไฟสายนี้เต็มไปด้วยป่า คนงานจึงเป็นไข้มาลาเรียและอหิวาตกโรค รวมถึงนายไอเซินโฮเฟอร์ที่เป็นไข้มาลาเรียเช่นกัน

ในการขุดเจาะอุโมงค์ขุนตาน เมื่อ พ.ศ. 2456 ใช้วิธีเจาะเข้าไปในภูเขาพร้อมกันทั้งสองด้าน โดยใช้ไดนาไมต์เจาะระเบิดภูเขา นายไอเซินโฮเฟอร์ได้ประดิษฐ์เครื่องระบายอากาศในระหว่างทำการก่อสร้างทางตอนลำปางถึงเชียงใหม่ จนเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เหล็กสะพานที่สั่งซื้อจากเยอรมนีไม่สามารถส่งมาได้ จึงได้ใช้ไม้เนื้อแข็งทำสะพานแทน ส่วนสะพานสูงใกล้อุโมงค์ ได้วางรางลัดเลาะไปตามเขาแล้วยกระดับรางให้สูงขึ้น เพื่อสะดวกในการวางรางเข้าไปสู่อุโมงค์ แต่เมื่อได้สร้างทางรถไฟเสร็จทั้งสองด้าน แต่อุโมงค์ยังไม่เสร็จ นายไอเซินโฮเฟอร์จึงลำเลียงหัวรถจักร รถบรรทุกและวัสดุในการก่อสร้างข้ามภูเขาดังกล่าว จนสามารถขุด หลังจากทำการขุดเจาะอุโมงค์ขุนตานมาได้ 4 ปี พอถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2460 ทางอุโมงค์ตอนลำปาง-ขุนตาน และตอนขุนตาน-เชียงใหม่ ก็สร้างเสร็จเรียบร้อย อุโมงค์ขุนตานเริ่มดำเนินการสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2450 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2461 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 11 ปี ค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 1,362,050 บาท อุโมงค์มีขนาดกว้าง 5.20 เมตร สูง 5.40 เมตร และยาว 1,352.10 เมตร เพดานผนังอุโมงค์โค้งรัศมี 2.50 เมตร เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก[2]

โดยในปี พ.ศ. 2460 นี้เองในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สยามอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับเยอรมนี นายไอเซินโฮเฟอร์และเพื่อนร่วมชาติถูกทางการส่งเข้าค่ายกักกันพลเรือน ถูกยึดทรัพย์ และต่อมาถูกส่งไปอินเดีย หลายปี ในวันปีใหม่ของปี พ.ศ. 2473 นายไอเซินโฮเฟอร์กลับมาสยามพร้อมภรรยา ทางการสยามเล็งเห็นคุณูปการที่เขาเคยสร้างและจ่ายเงินชดเชยให้เป็นค่าทรัพย์ที่ถูกยึด เขาได้อยู่ที่ศรีราชา โดยเป็นผู้จัดการบริษัทค้าไม้ จากนั้นกลับมายังกรุงเทพเมื่อ พ.ศ. 2478[3] ต่อมา ทำงานเป็นวิศวกรโยธาอยู่ที่ บริษัทเพาล์ พิคเคินพัค (Paul Pickenpack) เป็นผู้นำเข้าสินค้าหลายประเภท ทั้งเบียร์ ไวน์ สุรา นมกระป๋อง รถนั่งส่วนบุคคล รถบรรทุก รถราง อุปกรณ์รถไฟ เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์ถ่ายภาพ และเครื่องจักรอื่น ๆ[1]

นายไอเซินโฮเฟอร์เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2505 ปัจจุบันอัฐิของเขายังคงสถิตในอนุสาวรีย์อยู่ ณ ปากอุโมงค์ขุนตานทางด้านทิศเหนือ เขตแม่ทา จังหวัดลำพูน[4]

ชีวิตส่วนตัว แก้

นายไอเซินโฮเฟอร์มีภรรยาชื่อ นางเอียร์มการ์ท (Irmgard) เป็นครูสอนภาษาและสอนว่ายน้ำ เมื่อครั้งที่พระองค์เจ้าอานันทมหิดลและพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดชยังทรงพระเยาว์ นางได้ถวายการสอนว่ายน้ำแด่ทั้งสองพระองค์ในทะเลหัวหิน[1]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 "ตอน เหตุการณ์สำคัญที่เปลี่ยนเส้นทาง ของตระกูลภิรมย์ภักดี ไปตลอดกาล". สิงห์ แมกกาซีน. 4 กุมภาพันธ์ 2563. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2020.
  2. "มร. เอมิล ไฮเซนโฮเฟอร์และโคมเป็ด". หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-09. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  3. Reinhard Hohler. "Emil Eisenhofer and the German connection". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-27. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  4. เพ็ญสุภา สุขคตะ (15 ธันวาคม 2559). "ปริศนาโบราณคดี : "อุโมงค์ขุนตาน" สร้างนาน 14 ปี โศกนาฏกรรมแห่งแรงงานฝิ่น". มติชนรายสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)