รายชื่อตัวละครในพระอภัยมณี

(เปลี่ยนทางจาก เสาวคนธ์)

วรรณคดีเรื่อง พระอภัยมณี มีตัวละครในลักษณะเดียวกับนิยายแฟนตาซี ประกอบด้วยชนเผ่าและสิ่งมีชีวิตรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งบางส่วนนำมาจากวรรณคดีโบราณหรือความเชื่อทางศาสนา ต่อไปนี้เป็นข้อมูลโดยสังเขปของตัวละครต่าง ๆ ที่ปรากฏในเรื่อง พระอภัยมณี

รูปปั้นพระอภัยมณีและนางเงือก สองตัวละครเอกจากวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี ที่หาดทรายแก้ว เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง

มนุษย์ แก้

ตัวละครมนุษย์มีชนชาติต่าง ๆ หลายเชื้อชาติ โดยมีตัวละครหลักเป็นชาติไทย นอกจากนี้ยังมีชนชาติจีน และฝรั่งหลายประเทศ พิจารณาตัวละครมนุษย์จากเมืองต่าง ๆ ได้ดังนี้

เมืองของตัวละคร แก้

กรุงรัตนา แก้

พระอภัยมณี

ตัวละครเอกของเรื่องพระอภัยมณี เป็นโอรสองค์โตของท้าวสุทัศน์และพระนางปทุมเกสร[1] เมื่อท้าวสุทัศน์ส่งตัวพระอภัยมณีไปศึกษาศิลปวิทยาปรากฏว่าพระอภัยมณีเลือกเรียนวิชาเพลงปี่ ทำให้ท้าวสุทัศน์ไม่พอใจมาก พระอภัยมณีจึงถูกขับออกจากเมืองพร้อมกับศรีสุวรรณ ระหว่างทางทั้งสองได้พบกับสามพราหมณ์ คือสานน วิเชียร และโมรา พระองค์จึงได้เป่าปี่ขึ้นเพื่ออวดวิชาที่ตนได้ร่ำเรียนมา ปรากฏว่าเพลงปี่ทำให้ศรีสุวรรณและสามพราหมณ์หลับใหลไม่ได้สติ และนางผีเสื้อสมุทรซึ่งอยู่ในบริเวณนั้นได้ยินเสียงเพลงปี่จึงจับตัวพระอภัยไปเป็นสามี[2] เรื่องราวตรงจุดนี้จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการผจญภัยอันพิสดารอีกยืดยาวของพระอภัยมณีในเวลาต่อมา

ต่อมาพระอภัยมณีได้ครองเมืองผลึกด้วยการเสกสมรสกับนางสุวรรณมาลี ธิดาของท้าวสิลราช เจ้าเมืองผลึก[3] และได้ทำสงครามกับเมืองลังกาอย่างยืดเยื้อยาวนานหลายปี จนกระทั่งได้นางละเวงวัณฬาเจ้าเมืองลังกาเป็นภรรยา[4] และมีบุตรด้วยกันคนหนึ่ง คือ มังคลา ตอนท้ายเรื่องหลังเสร็จสงครามปราบมังคลาซึ่งได้ก่อสงครามระหว่างญาติวงศ์ด้วยกันจนพระอภัยมณีต้องยกทัพไปปราบปราม พระอภัยมณีก็ได้ตัดสินใจออกบวชเป็นฤๅษีที่เขาสิงคุตร์ในเกาะลังกา โดยนางสุวรรณมาลีและนางละเวงได้ออกบวชตามพระอภัยมณีด้วย

โดยสรุปแล้ว พระอภัยมณีมีภรรยารวม 4 คน คือ นางผีเสื้อสมุทร (มีบุตรด้วยกันคือ สินสมุทร) นางเงือก (มีบุตรด้วยกันคือ สุดสาคร) นางสุวรรณมาลี (มีบุตรด้วยกันคือ สร้อยสุวรรณและจันทร์สุดา ซึ่งเป็นธิดาฝาแฝด) และนางละเวงวัณฬา (มีบุตรด้วยกันคือ มังคลา) นอกจากนี้ยังปรากฏในเรื่องว่าพระอภัยมณีได้รับสตรีนางหนึ่งเป็นสนม คือ นางวาลี เป็นหญิงมีปัญญา ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของฝ่ายพระอภัยมณีและเมืองผลึกในครั้งที่อุศเรนยกทัพมาตีเมืองผลึกจากเรื่องชิงนางสุวรรณมาลี

ศรีสุวรรณ

โอรสองค์รองของท้าวสุทัศน์และพระนางปทุมเกสร และเป็นพระอนุชาของพระอภัยมณี เมื่อคราวที่ท้าวสุทัศน์ให้พระอภัยมณีออกไปศึกษาศิลปวิทยา ศรีสุวรรณก็ได้ออกเดินทางไปกับพระอภัยมณีด้วย โดยได้เลือกเรียนวิชากระบี่กระบอง ทำให้ท้าวสุทัศน์ไม่พอใจและขับศรีสุวรรณออกจากเมืองด้วยเช่นกัน

หลังจากพลัดพรากกับพระอภัยมณี ศรีสุวรรณได้เดินทางร่วมกับสามพราหมณ์ตามหาพระอภัยมณีจนกระทั่งถึงเมืองรมจักร ศรีสุวรรณและสามพราหมณ์ได้พำนักอยู่ในเมืองนั้น และได้อาสาท้าวทศวงศ์ เจ้าเมืองรมจักร ออกรบกับกองทัพท้าวอุเทนชาวแขกชวา ซึ่งยกทัพมาเพื่อชิงนางเกษรา ราชธิดาของท้าวทศวงศ์ จนกระทั่งได้รับชัยชนะ[5]

หลังเสร็จศึกแล้วศรีสุวรรณได้อภิเษกกับนางเกษราและครองเมืองรมจักร มีธิดาด้วยกัน 1 คน คือ นางอรุณรัศมี นอกจากนี้ศรีสุวรรณยังได้นางศรีสุดา ซึ่งเป็นข้าหลวงของเกษราเป็นภรรยาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน มีบุตร 1 คน คือ พระกฤษณา (ต่อมาเป็นกำลังสำคัญของฝ่ายรมจักรในศึกปราบมังคลาช่วงท้ายเรื่อง) หลังได้ครองเมืองรมจักร ศรีสุวรรณได้พบกับสินสมุทรและร่วมกันออกตามหาพระอภัยมณีจนพบ และร่วมทัพกับพระอภัยมณีสู้กับทัพลังกา จนกระทั่งเมื่อข้ามไปยังลังกาก็ติดกลเสน่ห์ของนางรำภาสะหรี ซึ่งเป็นบริวารชาวลังกาของนางละเวง ศรีสุวรรณได้นางรำภาสะหรีเป็นชายา[6] มีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อ วลายุดา

ท้าวสุทัศน์

เป็นบิดาของพระอภัยมณีและศรีสุวรรณ ครองเมืองรัตนา มีความสำคัญในช่วงต้นเรื่อง คือได้ส่งให้โอรสทั้งสองไปเรียนวิชา แต่ก็ไม่พอใจในวิชาที่โอรสทั้งสองเลือกวิชาที่เรียน จึงไล่ทั้งสองออกจากเมืองไป[7]

พระนางประทุมเกสร

เป็นมารดาของพระอภัยมณีและศรีสุวรรณ[8]

เมืองรมจักร แก้

ท้าวทศวงศ์

กษัตริย์ผู้ครองเมืองรมจักร เมื่อศรีสุวรรณรบชนะทัพท้าวอุเทนก็ได้ยกเมืองรมจักรให้ศรีสุวรรณครองแทน จนเมื่อครั้งมังคลาได้ก่อศึกสงครามกับพระญาติวงศ์ก็ได้มาจับตัวท้าวทศวงศ์ไปด้วย[9]

เกษรา

ชายาเอกของศรีสุวรรณและเป็นพระธิดาของท้าวทศวงศ์ พบกันครั้งแรกจากการที่ศรีสุวรรณไปตามหาพระอภัยมณีซึ่งถูกนางผีเสื้อสมุทรลักพาตัวไป แต่กลับต้องมาติดในเมืองรมจักร และถูกจองจำในอุทยานหลวง เมื่อครั้งนางเกษราเสด็จประพาสอุทยานจึงได้เจอกัน เมื่อศรีสุวรรณรบชนะท้าวอุเทนก็ได้อภิเษกกับนางเกษรา ครองเมืองรมจักรต่อไป

นางเกษราเป็นหญิงใจเย็น แม้เมื่อรู้ว่าศรีสุวรรณไปติดพันนางรำภาสะหรีอยู่เมืองลังกาก็ไม่โกรธ กลับร้อนใจสงสารว่านางรำภาสะหรีจะดูแลศรีสุวรรณไม่ดีเท่าตน และได้ติดตามไปหาศรีสุวรรณที่ลังกาด้วยความภักดี[10]

ศรีสุดา

ชายารองของศรีสุวรรณ พี่เลี้ยงนางเกษรา และเป็นมารดาของพระกฤษณา

อรุณรัศมี

พระธิดาของศรีสุวรรณที่เกิดกับนางเกษรา มีอายุไล่เลี่ยกับสินสมุทร เมื่อศรีสุวรรณและสินสมุทรออกตามหาพระอภัยมณีนั้นก็ได้ร่วมเดินทางไปด้วย ทำให้สนิทสนมกับสินสมุทรมาก มีนิสัยขี้งอน เมื่อครั้งสิ้นศึกลังกาถูกจับให้แต่งงานกับสินสมุทร แต่สินสมุทรต้องง้ออยู่นานกว่าจะยอมเข้าหอ เพราะนางไม่ต้องการเป็นชายารองของสินสมุทร ซึ่งได้กับนางยุพาผกาก่อนหน้านี้

พระกฤษณา

โอรสของศรีสุวรรณกับนางศรีสุดา เป็นกำลังสำคัญในครั้งศึกลังกาครั้งที่ 2 เมื่อมังคลามาจับตัวท้าวทศวงศ์ไป พระกฤษณาก็ออกตามตีมังคลาไปจนสุดเขตแดนเมืองรมจักรเพื่อชิงท้าวทศวงศ์คืน แต่ก็ไม่สำเร็จ และยังได้ร่วมทัพเมืองผลึก เมืองรมจักร และเมืองการะเวกไปปราบปรามมังคลาที่ลังกา[11]

เมืองการเวก แก้

ท้าวสุริโยทัย

กษัตริย์เมืองการะเวก ได้พบกับสุดสาครเมื่องสุดสาครไล่ตามชีเปลือยเข้าไปถึงเมืองการะเวกเพื่อชิงม้าคืน และได้อุปถัมภ์สุดสาครตั้งแต่นั้นจนกระทั่งอายุได้ 17 ปี สุดสาครก็ลาไปตามหาพระอภัยมณีผู้เป็นพ่อต่อไป

พระนางจันทวดี

มเหสีของท้าวสุริโยทัย

เสาวคนธ์

ราชธิดาองค์โตของท้าวสุริโยทัย เชษฐภคินี (พี่สาว) ของหัสไชย อายุไล่เลี่ยกับสุดสาครและเป็นเพื่อนเล่นกันมาจนโต จนกระทั่งสุดสาครออกตามหาพระอภัยมณีต่อไปก็ได้ติดตามสุดสาครไปด้วย และมีบทบาทร่วมรบในศึกเก้าทัพกรุงลังกาตีเมืองผลึก จนกระทั่งสุดสาครไปติดพันนางสุลาลีวันอยู่เมืองลังกา นางเสาวคนธ์ก็ติดตามไปด้วยความหึงหวง จนกระทั่งถึงแก่โทสะ ใช้ธนูยิงแก้มนางสุลาลีวัน ต่อมาเมื่อเสร็จศึกลังกา ท้าวสุริโยทัยจะให้นางเสาวคนธ์แต่งงานกับสุดสาคร ซึ่งนางเสาวคนธ์ไม่พอใจที่จะต้องเป็นชายารองของสุดสาคร จึงปลอมตัวเป็นฤๅษีหนีไปจนถึงเมืองวาหุโลม และตีได้เมืองวาหุโลม จนกระทั่งสุดสาครไปง้องอนจึงกลับมาคืนดีและยอมแต่งงานด้วย หลังศึกลังกาครั้งที่ 2 เมื่อพระอภัยมณีออกบวชและมังคลาหนีไป เสาวคนธ์และสุดสาครได้ครองเมืองลังกา

หัสไชย

ราชโอรสของท้าวสุริโยทัย อนุชานางเสาวคนธ์ อายุห่างจากเสาวคนธ์ 2 ปี มีบทบาทในศึกเก้าทัพตีเมืองผลึกและศึกลังกา เมื่อพระอภัยมณี ศรีสุวรรณ สินสมุทร สุดสาครติดกลเสน่ห์หญิงลังกาทั้งสี่ หัสไชยก็ทำอุบายเข้าไปแก้เสน่ห์ให้ทั้งสี่พระองค์ แต่ไม่สำเร็จ หัสไชยยังเป็นกำลังสำคัญในการต่อตีกับนางละเวงวัณฬา โดยเป็นสารถีและคุ้มครองนางสุวรรณมาลี ต่อมาหัสไชยได้นางสร้อยสุวรรณและนางจันทร์สุดา ธิดานางสุวรรณมาลีกับพระอภัยมณีเป็นชายาทั้งสองคน

เมืองผลึก แก้

ท้าวสิลราช

ท้าวสิลราชเป็นเจ้าเมืองผลึกและเป็นพระบิดาของนางสุวรรณมาลี คราวหนึ่งนางสุวรรณมาลีเกิดนิมิตประหลาด โหรได้ทำนายว่าถ้านางออกเดินทางทะเลจะได้พบลาภ ท้าวสิลราชจึงพานางออกท่องทะเลจนกระทั่งมาถึงเกาะแก้วพิสดาร กองเรือของท้าวสิลราชและนางสุวรรณมาลีจึงพักอยู่ที่นั้นเพื่อเติมเสบียง หลังจากนั้นเมื่อกองเรือของพระองค์ออกจากเกาะแก้วพิสดารพร้อมกับพระอภัยมณีและสินสมุทรซึ่งขอโดยสารเรือไปด้วย ปรากฏว่านางผีเสื้อสมุทรซึ่งเป็นภรรยาคนแรกของพระอภัยมณีได้ตามมาอาละวาดจนเรือล่มทั้งหมด ท้าวสิลราชได้จมน้ำสิ้นพระชนม์จากเหตุการณ์ครั้งนั้น

พระนางมณฑา

มเหสีท้าวสิลราช และเป็นผู้ยกนางสุวรรณมาลีให้แก่พระอภัยมณี

สุวรรณมาลี

นางสุวรรณมาลีเป็นพระธิดาของท้าวสิลราชและพระนางมณฑาแห่งเมืองผลึก และเป็นคู่หมั้นของอุศเรน โอรสเจ้าเมืองลังกา แต่นางไม่ได้รักอุศเรนแม้แต่น้อย คราวหนึ่งนางสุวรรณมาลีเกิดนิมิตประหลาด โหรได้ทำนายว่าถ้านางออกเดินทางทะเลจะได้พบลาภ นางจึงออกเดินทางร่วมกับท้าวสิลราชผู้เป็นพระบิดาจนกระทั่งมาถึงเกาะแก้วพิสดาร นางจึงได้พบกับพระอภัยมณีและสินสมุทรซึ่งบวชเป็นฤๅษี ณ ที่นั้นเป็นครั้งแรก

เมื่อกองเรือของนางสุวรรณมาลีออกจากเกาะแก้วพิสดารพร้อมกับพระอภัยมณีและสินสมุทรซึ่งขอโดยสารเรือไปด้วย ปรากฏว่านางผีเสื้อสมุทรตามมาอาละวาดจนเรือแตกทั้งหมด ตัวนางสุวรรณมาลีนั้นรอดตายมาได้พร้อมกับสินสมุทรโดยความช่วยเหลือของสุหรั่งซึ่งเป็นโจรสลัดในแถบนั้น ภายหลังสุหรั่งคิดล่วงเกินนางสุวรรณมาลี สินสมุทรซึ่งเคารพนางสุวรรณมาลีในฐานะมารดาจึงฆ่าสุหรั่งพร้อมทั้งยึดกองเรือมาเป็นของตนเสีย หลังพบกับกองเรือของพระอภัยมณีและอุศเรนแล้ว นางจึงได้กลับไปที่เมืองผลึกอีกครั้งพร้อมกับพระอภัยมณีและสินสมุทร ต่อมาจึงได้อภิเษกกับพระอภัยมณี มีพระธิดาฝาแฝดด้วยกัน 2 องค์ คือ สร้อยสุวรรณและจันทร์สุดา

นางสุวรรณมาลีนั้นรักและหึงหวงพระอภัยมณีมาก ในคราวที่พระอภัยมณีทำศึกกับเมืองลังกาจนพลาดท่าตกเป็นสามีของนางละเวงนั้น นางสุวรรณมาลีต้องเป็นคนนำทัพต่อสู้กับลังกาแทนพระอภัยมณีด้วยความแค้นและความหึงหวง นางได้โต้คารมกับนางละเวงอย่างเจ็บแสบ แต่เมื่อศึกสงบลงพร้อมกับการเทศนาของพระฤๅษีแห่งเกาะแก้วพิสดาร นางก็หันมาปรองดองกับนางละเวงได้ในที่สุด

ในตอนท้ายเรื่อง นางสุวรรณมาลีได้ออกบวชพร้อมกับนางละเวง เพื่อติดตามไปรับใช้พระอภัยมณีที่ออกบวชเป็นฤๅษีเพราะเบื่อหน่ายเรื่องทางโลก

สร้อยสุวรรณและจันทร์สุดา

ธิดาฝาแฝดของนางสุวรรณมาลีกับพระอภัยมณี ต่อมาได้เป็นชายาพระหัสไชยแห่งเมืองการะเวก

วาลี

นางวาลีเป็นชาวเมืองผลึก นางมีหน้าตาไม่สะสวยแต่มีสติปัญญาที่เฉียบแหลม พระอภัยมณีจึงตั้งให้นางอยู่ตำแหน่งนางสนม นางวาลีเป็นผู้วางแผนช่วยให้พระอภัยมณีสามารถอภิเษกกับนางสุวรรณมาลีได้สำเร็จ และเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยพระอภัยมณีรบกับอุศเรนซึ่งมาตีเมืองผลึกด้วยเรื่องชิงนางสุวรรณมาลีจนฝ่ายพระอภัยมณีได้รับชัยชนะ ทั้งยังได้พูดจายั่วให้อุศเรนแค้นใจตาย แต่หลังเสร็จศึกไม่นาน นางก็ป่วยด้วยถูกปีศาจอุศเรนสิงและเสียชีวิตในเวลาต่อมา


เมืองลังกา แก้

เจ้าเมืองลังกา

พระบิดาของอุศเรนและนางละเวงวัณฬา

อุศเรน

คู่หมั้นของนางสุวรรณมาลี เมื่อพบกับพระอภัยมณีและสินสมุทรไม่ยอมคืนนางสุวรรณมาลีให้ก็โกรธและตามตีพระอภัยมณีจากทะเลไปจนถึงเมืองผลึก ต่อมาพระอภัยมณีได้อภิเษกกับนางสุวรรณมาลี ทำให้อุศเรนโกรธยิ่งขึ้นและจัดทัพมาตีเมืองผลึก พระอภัยมณีตีทัพอุศเรนแตกและอุศเรนถูกอุบายยั่วของนางวาลีจนอกแตกตาย

ละเวงวัณฬา

เป็นธิดากษัตริย์เมืองลังกาและเป็นน้องของอุศเรน เมื่อพ่อและพี่ชายของนางตาย นางก็ครองเมืองแทนโดยมีตราราหูเป็นของวิเศษประจำตัว นางต้องการแก้แค้นแทนพ่อและพี่ชายจึงส่งภาพวาดของนางซึ่งทำเสน่ห์ไว้พร้อมกับแนบจดหมายชักชวนให้ทำศึกกับเมืองผลึกไปถึงเจ้าเมืองต่าง ๆ โดยสัญญาว่าถ้าใครมีชัยชนะ นางก็พร้อมจะเป็นภรรยาและยกเมืองลังกาให้ครองด้วย บรรดาเจ้าเมืองเหล่านั้นหลงรูปของนางจึงยกทัพมารบกับเมืองผลึก แต่ก็พ่ายแพ้ไปหมดทุกกองทัพ พระอภัยมณีจึงยกทัพไปตีเมืองลังกาบ้าง นางละเวงใช้วิธีทำเสน่ห์ให้พระอภัยมณีหลงรักนาง รวมทั้งให้ลูกเลี้ยงและนางบริวารทำเสน่ห์นายทัพฝ่ายพระอภัยมณีหมดสิ้น แล้วนางก็ยุให้พระอภัยมณีสู้รบกับกองทัพฝ่ายเมืองผลึก จนโยคีแห่งเกาะแก้วพิสดารมาเทศนาโปรด สันติสุขจึงกลับคืนมา เมื่อพระอภัยมณีออกบวช นางก็บวชตามไปปรนนิบัติรับใช้เช่นเดียวกับนางสุวรรณมาลี

รำภาสะหรี

บุตรอิเรนแม่ทัพลังกา บริวารนางละเวงวัณฬา เป็นผู้ทำเสน่ห์ศรีสุวรรณ ทำให้ศรีสุวรรณหลงรักและติดพันอยู่ในเมืองลังกา มีบุตรกับศรีสุวรรณคือวลายุดา

ยุพาผกา

ลูกเลี้ยงของนางละเวงวัณฬา พี่สาวนางสุลาลีวัน ซึ่งนางละเวงวัณฬาไปขอมาจากบาทหลวงปีโปจากบ้านสิกคารนำ เป็นผู้ทำเสน่ห์สินสมุทร ทำให้สินสมุทรหลงรักและติดพันอยู่ในเมืองลังกา มีบุตรกับสินสมุทรคือวายุพัฒน์

สุลาลีวัน

ลูกเลี้ยงของนางละเวงวัณฬา น้องสาวนางยุพาผกา ซึ่งนางละเวงวัณฬาไปขอมาจากบาทหลวงปีโปจากบ้านสิกคารนำ เป็นผู้ทำเสน่ห์สุดสาคร ทำให้สุดสาครหลงรักและติดพันอยู่ในเมืองลังกา มีบุตรกับสุดสาครคือหัสกัน

สังฆราชบาทหลวง

สังฆราชเมืองลังกา เป็นผู้คอยส่งอุบายต่าง ๆ ให้แก่นางละเวงวัณฬา และเมื่อนางละเวงวัณฬายอมหย่าศึกกับฝ่ายผลึก พระบาทหลวงก็ไม่พอใจ เมื่อมังคลาขึ้นครองลังกาแทนมารดาแล้ว พระบาทหลวงได้ยุยงให้มังคลาไปชิงโคตรเพชรที่นางเสาวคนธ์ขอจากนางละเวงวัณฬาและเปิดศึกทะเลาะเบาะแว้งกับพระญาติวงศ์ ทำให้เกิดเรื่องวุ่นวายตามมา ตอนปลายเรื่องพระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีจากการจับกุมของพระญาติวงศ์ไปได้

บาทหลวงปีโป

บาทหลวงมีปัญญาแห่งบ้านสิกคารนำ ได้ช่วยเหลือนางละเวงวัณฬาไว้จากการถูกตีทัพแตก และมอบนางยุพาผกาและสุลาลีวันซึ่งตนรับเลี้ยงไว้ให้แก่นางละเวงวัณฬา

มังคลา

พระโอรสของพระอภัยมณีและนางละเวงวัณฬา ถูกพระบาทหลวงยุยงให้ทำสงครามกับพระญาติวงศ์ของตนเอง

วลายุดา

พระโอรสของศรีสุวรรณกับนางรำภาสะหรี ช่วยพระมังคลารบพระญาติวงศ์ด้วย

วายุพัฒน์

พระโอรสของสินสมุทรกับนางยุพาผกา มีเขี้ยวเป็นยักษ์เหมือนสินสมุทร ช่วยพระมังคลารบพระญาติวงศ์ด้วย

หัสกัน

พระโอรสของสุดสาครกับนางสุลาลีวัน ช่วยพระมังคลารบพระญาติวงศ์ด้วย

ย่องตอด

เดิมทีเป็นชายร่างเล็ก มีนิสัยประหลาด ชอบอยู่คนเดียว ต่อมาได้หนีจากหมู่บ้านไปอยู่ในป่า มีตาเดียว มีฤทธิ์สะกดคนหลับได้ นางละเวงวัณฬาจับได้เมื่อย่องเข้ามาจะกินม้าศึก และเอาไว้ใช้งาน

นางสุนีบาต

เป็นนางนาคมีฤทธิ์ คอยช่วยเหลือพระมังคลารบกับพระญาติวงศ์

เกาะแก้วพิสดาร แก้

พระฤๅษีแห่งเกาะแก้วพิสดาร

เป็นฤๅษีมีตบะญาณมาก อาศัยบนเกาะแก้วพิสดารคอยช่วยเหลือพวกเรือแตก จึงมีศิษย์บนเกาะหลายชาติหลายภาษาทั้งจีน แขก มลายู ไทย ฝรั่ง, เป็นผู้ช่วยพระอภัยมณีและนางเงือกจากนางผีเสื้อสมุทรและไล่นางผีเสื้อสมุทรไป

สินสมุทร

เป็นโอรสของ พระอภัยมณีกับนางผีเสื้อสมุทร เป็นคนที่ผลักหินเปิดปากถ้ำให้พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทรโดยความช่วยเหลือของพวกเงือก ซึ่งตัวเขาเองก็หนีตามพ่อไปด้วยจนไปถึงเกาะแก้วพิสดาร ต่อมานางสุวรรณมาลีได้รับสินสมุทรเป็นลูกบุญธรรม

สินสมุทรมีบทบาทสำคัญในศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก และเมื่อไปรบลังกาก็ได้ติดตามพระอภัยมณีไปด้วย จนไปหลงกลเสน่ห์นางยุพาผกาติดพันอยู่ที่เมืองลังกา

นางเงือก

เป็นชายาของพระอภัยมณี มารดาของสุดสาคร

สุดสาคร

โอรสของพระอภัยมณีกับนางเงือก เมื่อพระอภัยมณีออกจากเกาะแก้วพิสดารไปได้ราว 6 เดือน สุดสาครก็เกิด ด้วยเลือดเงือกทำให้สามารถดำน้ำได้เก่ง มีพาหนะคือม้านิลมังกร

เมื่อเติบโตขึ้น สุดสาครได้ออกติดตามหาพระบิดาจนพบและมีบทบาทสำคัญในศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก และได้ติดตามพระอภัยมณีไปตีลังกาจนไปหลงกลเสน่ห์นางสุลาลีวันติดพันอยู่ที่เมืองลังกา เมื่อเสร็จศึกลังกาท้าวสุริโยทัยจะตบแต่งนางเสาวคนธ์ให้ แต่นางเสาวคนธ์หนีไปเมืองวาหุโลม ทำให้สุดสาครต้องตามง้องอน


เมืองวาหุโลม แก้

เจ้าวาหุโลม

กษัตริย์ครองเมืองวาหุโลม มีโอรสคือวาโหม

นายด่านปากน้ำ

เป็นผู้นับถือนางเสาวคนธ์ (ฤๅษีแปลง) มาก และช่วยให้นางเสาวคนธ์ตีด่านชั้นในต่อ ๆ ไปจนกระทั่งจับเจ้าวาหุโลมได้ และได้เมืองวาหุโลม

ราหู

นายด่านชั้นนอก คิดจับนางเสาวคนธ์ แต่ถูกนางเสาวคนธ์จับและได้เป็นพวกพ้อง ตีเมืองวาหุโลม

ตรีเมฆ

นายด่านชั้นกลาง คิดจับนางเสาวคนธ์ แต่ถูกนางเสาวคนธ์จับและได้เป็นพวกพ้อง ตีเมืองวาหุโลม

พระกาล

นายด่านชั้นใน คิดจับนางเสาวคนธ์ แต่ถูกนางเสาวคนธ์จับและได้เป็นพวกพ้อง ตีเมืองวาหุโลม

วาโหม

โอรสเจ้าวาหุโลม ต่อมาเมื่อเสร็จศึกวาหุโลม นางเสาวคนธ์ได้ให้เป็นเจ้าครองวาหุโลมต่อไป และมีความภักดีต่อนางเสาวคนธ์มาก เมื่อมีศึกมังคลาก็ช่วยยกทัพไปปราบปรามด้วย


เมืองอื่น ๆ ที่กล่าวถึง แก้

  • เมืองเจ้าละมาน
  • เมืองท้าวอุเทน


สัตว์ แก้

ยักษ์ แก้

ยักษ์ที่ปรากฏในเรื่องได้แก่ นางผีเสื้อสมุทร นอกจากนี้ยังมีตัวละครที่เป็นลูกครึ่งมนุษย์-ยักษ์ ได้แก่ สินสมุทร

นางผีเสื้อสมุทรเป็นยักษ์ อาศัยอยู่ในถ้ำซึ่งอยู่กลางทะเล สามารถแปลงร่างเป็นหญิงสาวสวยได้ ชาติก่อนได้พรจากพระอิศวรให้ถอดดวงใจใส่ไว้ในก้อนหินได้ นางจึงกำเริบใจไปต่อสู้กับพระเพลิงจึงถูกไฟกรดเผาจนร่างมอดไหม้ นางจึงกลายเป็นปีศาจสิงอยู่ในก้อนหินที่ฝากดวงใจไว้ ครั้นเวลาผ่านไปเนิ่นนานหลายปี ก้อนหินก็มีแขน ขา หน้าตา งอกออกมา แล้วในที่สุดก็มีชีวิตขึ้นมาอีก วันหนึ่งนางเห็นพระอภัยมณีก็นึกรัก จึงอุ้มไปอยู่กับนางในถ้ำ จนมีลูกชายด้วยกันชื่อสินสมุทร ต่อมาพระอภัยมณีกับสินสมุทรก็พากันหนีไปจากนาง นางผีเสื้อสมุทรออกติดตามไปด้วยความรัก แต่แล้วนางก็ต้องตายด้วยเสียงปี่ของพระอภัยมณี ร่างของนางก็กลับกลายเป็นหินอยู่ที่ชายหาดริมทะเลนั่นเอง

เงือก แก้

มีปรากฏในเรื่องคือ นางเงือกชายาพระอภัยมณี และพ่อเงือก แม่เงือก

เงือกในเรื่องพระอภัยมณีนั้นเป็นสัตว์ครึ่งคนครึ่งปลา แต่ไม่มีหลักฐานว่าจะมีลักษณะที่แน่นอนอย่างใด นักวิชาการบางท่านออกความเห็นว่าเงือกของสุนทรภู่นั้นได้รับอิทธิพลจากเงือกของทางตะวันตก คือมีกายท่อนบนเป็นมนุษย์ แต่มีท่อนล่างเป็นหางปลา

 
เงือกน้ำ ที่มา ภาพจิตรกรรมเรื่อง สุวรรณหงส์ วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

แต่บางท่านก็ออกความเห็นว่า จากลักษณะที่สุนทรภู่อธิบายไว้ เงือกในเรื่องนี้น่าที่จะมีลักษณะเหมือนมนุษย์ทุกประการ และมีขาเหมือนมนุษย์ เพียงแต่มีหางเพิ่มขึ้นมา ซึ่งเงือกที่มีขาเหมือนมนุษย์นี้ เรียกว่า เงือกน้ำ และมียังปรากฏอยู่ในวรรณคดีเรื่องอื่นๆ เช่น ดาราวงศ์ สุวรรณหงส์(สุวรรณหงส์ยนต์) และ โสวัตกลอนสวด อีกด้วย

อ้างอิง แก้

  1. สุนทรภู่. พระอภัยมณี เล่ม 1 ตอน พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร. 2544.
  2. สุนทรภู่. พระอภัยมณี เล่ม 1 ตอน นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร. 2544.
  3. สุนทรภู่. พระอภัยมณี เล่ม 1 ตอน พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร. 2544.
  4. สุนทรภู่. พระอภัยมณี เล่ม 2 ตอน พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร. 2544.
  5. สุนทรภู่. พระอภัยมณี เล่ม 1 ตอน ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร. 2544.
  6. สุนทรภู่. พระอภัยมณี เล่ม 2 ตอน ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร. 2544.
  7. สุนทรภู่. พระอภัยมณี เล่ม 1 ตอน พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร. 2544.
  8. สุนทรภู่. พระอภัยมณี เล่ม 1 ตอน พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร. 2544.
  9. สุนทรภู่. พระอภัยมณี เล่ม 2 ตอน มังคลาจับท้าวทศวงศ์และนางสุวรรณมาลี. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร. 2544.
  10. สุนทรภู่. พระอภัยมณี เล่ม 2 ตอน นางสุวรรณมาลีข้ามไปลังกา. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร. 2544.
  11. สุนทรภู่. พระอภัยมณี เล่ม 2 ตอน มังคลาจับท้าวทศวงศ์และนางสุวรรณมาลี. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร. 2544.