เสมอใจ จินดารักษ์

คุณหญิงเสมอใจ จินดารักษ์ หรือ เสมอใจ สวัสดิ์-ชูโต (นามเดิม เสมอ อมาตยกุล; 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2435 – 10 สิงหาคม พ.ศ. 2521) นามปากกา ซันเฟลาเวอร์ เป็นธิดาของเสวกเอก พระยาภูบาลบันเทิง (ประยูร อมาตยกุล) เป็นภรรยาของพระยาจินดารักษ์ (จำลอง สวัสดิ์-ชูโต) และเป็นนักแปลหญิงคนแรกของประเทศไทย

คุณหญิง

เสมอใจ จินดารักษ์

คุณหญิงจินดารักษ์ และพระยาจินดารักษ์ สามี
คุณหญิงจินดารักษ์ และพระยาจินดารักษ์ สามี
เกิดเสมอ อมาตยกุล[1]
15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2435
เสียชีวิต10 สิงหาคม พ.ศ. 2521 (81 ปี)
นามปากกาซันเฟลาเวอร์
อาชีพนักแปล
คู่สมรสพระยาจินดารักษ์ (จำลอง สวัสดิ์-ชูโต)
บุตรจำแลง สวัสดิ์-ชูโต
ดุษฎี สวัสดิ์-ชูโต
วลัย สวัสดิ์-ชูโต
จำทูล สวัสดิ์-ชูโต
บิดามารดาพระยาภูบาลบันเทิง (ประยูร อมาตยกุล)
คุณหญิงตระกูล ภูบาลบันเทิง

ประวัติ แก้

คุณหญิงเสมอใจเกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2435 มีนามเดิมว่า เสมอ อมาตยกุล[2] เป็นธิดาของเสวกเอก พระยาภูบาลบันเทิง (ประยูร อมาตยกุล) กับคุณหญิงตระกูล ภูบาลบันเทิง[1] มารดาเป็นธิดาของพระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) หลังพระปรีชากลการถูกประหารชีวิต แฟนนี นอกซ์ ภรรยาของพระปรีชากลการพาคุณหญิงตระกูลไปเมืองนอกด้วย[3] ด้วยเหตุนี้คุณหญิงตระกูลจึงมีทักษะภาษาอังกฤษ เมื่อกลับมาตุภูมิจึงเป็นล่ามหญิงคนแรกของประเทศไทย[1] ครั้นคุณหญิงเสมอใจมีอายุได้สองขวบ จึงได้รับพระราชทานนามว่า "เสมอ" เพราะเกิดในตระกูลที่เสมอกันทั้งฝ่ายบิดาและมารดา[1]

คุณหญิงเสมอใจสมรสกับพระยาจินดารักษ์ (จำลอง สวัสดิ์-ชูโต)[1] อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม มีบุตรด้วยกันสี่คน ได้แก่ จำแลง, ดุษฎี, วลัย และพลตำรวจตรี จำทูล สวัสดิ์-ชูโต ซึ่งสหรัถ สังคปรีชา เป็นเหลนของเธอในสายของจำแลง สวัสดิ์-ชูโต นอกจากนี้พระยาและคุณหญิงจินดารักษ์ยังดูแลอรุณ อมาตยกุล (น้าของคุณหญิง) และเยาวเรศ อมาตยกุล (อาของคุณหญิง) คู่สามีภรรยาซึ่งไม่มีบุตรด้วยกัน หลังสองสามีภรรยาสิ้นชีพไปแล้ว ก็ได้มอบมรดกต่าง ๆ แก่คุณหญิงเสมอใจ[2]

คุณหญิงเสมอใจถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2521[1] สิริอายุ 81 ปี พระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2521

งานเขียน แก้

คุณหญิงเสมอใจใช้นามปากกว่า "ซันเฟลาเวอร์" แปลว่าดอกทานตะวัน เพราะเป็นดอกไม้ที่สู้แดดเสมอ สอดคล้องกับชื่อตัวคือ "เสมอ" และหากเขียนซันเฟลาเวอร์เป็นภาษาอังกฤษ ก็จะเขียนขึ้นต้นด้วยตัว S เช่นเดียวกับชื่อจริงของเธอ[1]

คุณหญิงเสมอใจสามารถแปลนวนิยายภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยโดยเข้าถึงอรรถรสทางภาษา ถือเป็นสตรีไทยเพียงไม่กี่คนในยุคนั้นที่รู้ภาษาอังกฤษและไทยเป็นอย่างดี ในขณะนั้นมีนักแปลผู้หญิงอยู่ก่อนสองคนคือ ลม่อม สีบุญเรือง นามปากกา ยูปีเตอร์ และแดรดนอท ซึ่งแปลบทความลงหนังสือพิมพ์ จีนโนสยามวารศัพท์ รวมถึง พงศาวดารญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2456[4] และอีกคนคือหม่อมเจ้าศุขศรีสมร เกษมศรี (ร่วมกับสามีคือมหาอำมาตย์ตรี หม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี) นามปากกา ศ.ร. หรือ ศะระ เป็นผู้แปลและเรียบเรียงเรื่อง เต็ลมา (Thelma) ส่วนคุณหญิงเสมอใจ ใช้นามปากกว่า ซันเฟลาเวอร์ แปลนวนิยายเรื่อง ไข่มุกซึ่งมีค่า (The Pearl of Great Price) ซึ่งเป็นการแปลและถอดความหมายของนวนิยายทั้งเล่ม ถือว่าคุณหญิงเสมอใจ เป็นนักแปลหญิงคนแรกของประเทศไทย[1] หลังจากนั้นไม่นานคุณหญิงเสมอใจแปลนวนิยายเรื่อง มรดกชั่วร้ายของตระกูล ซึ่งปกของหนังสือเล่มนี้มีภาพประกอบวาดโดยขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต (เปล่ง ไตรปิ่น)[1]

ลำดับสาแหรก แก้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 1.8 "เปิดโลกวรรณกรรมในโลกหนังสือ ใครคือนักแปลหญิงคนแรกของเมืองไทย". สำนักพิมพ์สมมติ. 30 พฤษภาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา (19 พฤศจิกายน 2483). "สาส์นสมเด็จ (วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓)". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. ไกรฤกษ์ นานา (พฤษภาคม 2551). "ฟื้นปริศนาคดีประวัติศาสตร์ "นางแฟนนี่ น็อกซ์" แก้ต่างความผิดให้พระปรีชากลการ". ศิลปวัฒนธรรม (29:7), หน้า 116
  4. ชานันท์ ยอดหงษ์ (31 มีนาคม 2563). "ลม่อม สีบุญเรือง ปัญญาชนหญิงหัวก้าวหน้า ลูกสาวเซียวฮุดเสง". The People. สืบค้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. ประวัติบรรพบุรุษ และสกุลวงศ์อมาตยกุล. พระนคร : รุ่งเรืองรัตน์, 2507, หน้า 33
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๙ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๖๐, ๒๓ มกราคม ๒๕๐๐