จีนโนสยามวารศัพท์
จีนโนสยามวารศัพท์ หรือ ฮั่วเซียมซินป่อ (華暹新報) เป็นหนังสือพิมพ์จีนรายวันในสยามประเทศ เริ่มออกฉบับภาษาสยาม เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2450 ออกฉบับสุดท้ายเมื่อ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2466 ส่วนฉบับภาษาจีนยกเลิกเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2468 มีสำนักงานและโรงพิมพ์ตั้งอยู่ถนนฮ่องกงแบ๊งค์ ปากคลองผดุงกรุงเกษม พระนครหลวงกรุงเทพ
ประเภท | หนังสือพิมพ์รายวัน |
---|---|
รูปแบบ | ข่าวทั่วไป |
เจ้าของ | นายเซียวฮุดเส็ง สีบุญเรือง (蕭佛成) |
บรรณาธิการ | นายเซียวฮุดเส็ง สีบุญเรือง (蕭佛成) |
ก่อตั้งเมื่อ | พ.ศ. 2450 |
ภาษา | ภาษาไทย, ภาษาจีน |
ฉบับสุดท้าย | ไม่มีข้อมูล |
สำนักงานใหญ่ | ถนนฮ่องกงแบ๊งค์ ปากคลองผดุงกรุงเกษม พระนครหลวงกรุงเทพ |
หนังสือพิมพ์มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นปากเสียงแก่ชาวจีนในราชอาณาจักรสยาม และเผยแพร่นโยบายของพวกก๊กมินตั๋ง ยึดมั่นในลัทธิชาตินิยม สนับสนุนและป้องกันชาวจีนในสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งเสนอข่าว ให้ความรู้ สร้างมิตรภาพสัมพันธไมตรีอันดีงามระหว่างชาวจีนและชาวสยาม
รูปแบบ
แก้รูปแบบเล่ม เมื่อออกในระยะแรกมี 4 หน้า กว้าง 18 นิ้ว ยาว 24 นิ้ว เมื่อออกครบ 1 ปี จึงนำมาเย็บเล่ม ต่อมาปี พ.ศ. 2454 ลดหน้ากระดาษเล็กลงแต่เพิ่มจำนวนหน้าเป็น 8 หน้า และเพิ่มพิเศษอีก 4 หน้า รวมเป็น 12 หน้า แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็นขนาดกว้าง 18 นิ้ว ยาว 24 นิ้ว เช่นเดิมและยังคงมี 12 หน้า
การจัดวางคอลัมน์ มักนิยมเขียนเสร็จเป็นเรื่อง ๆ แล้วขึ้นเรื่องเรียงใหม่ต่อกัน หัวเรื่องมักเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ แต่บางครั้งถ้าต่อเรื่องไป จะเขียนว่า "โปรดอ่านหน้า___ยังมีข่าว" การจัดหน้าและภาพ หน้า 1 และ 2 มักลงโฆษณา แจ้งความ คำปรารภของผู้จัดทำ ต่อจากคำปรารภจะเป็นข่าวและบทความ ในระยะหลังที่เพิ่มหน้ามากขึ้น จะมีนิยายจีนหรือเรื่องแปลบ้าง มีคอลัมน์อื่นอย่าง คอลัมน์วิจารณ์และเสียดสีสังคม ประกาศต่าง ๆ ของทางราชการและโฆษณา ไม่นิยมลงภาพประกอบบทความหรือข่าว ยกเว้นรายงานชิ้นสำคัญจริง ๆ เช่นบทความเกี่ยวกับการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่รูปภาพลายเส้นประกอบโฆษณามักทำอย่างแข่งขันและพิถีพิถันมาก
เนื้อหา เมื่อออกใน ร.ศ. 129 มีโฆษณาอยู่เต็มประมาณ 70-80% ของเนื้อหาทั้งหมด ส่วนข่าวและบทความจะแทรกระหว่างประกาศและโฆษณา ต่อมาเมื่อระยะหลังที่บ้านเมืองเกิดความเปลี่ยนแปลงและปัญหามากขึ้น บทความมักชี้ปัญหาที่เกิดในสังคมสยาม เช่น "การพนันเป็นรากเหง้าของความชั่ว" (25 พฤศจิกายน ร.ศ. 129) และการพูดถึงความพยายามเรียกร้องความสัมพันธ์อันดีของสยามกับจีน เช่น บทความ "จีนกับไทย" (24 พฤศจิกายน ร.ศ. 129) เป็นต้น[1]
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เพ็ญพิสุทธิ์ อินทรภิรมย์. เซียวฮุดเสง สีบุญเรือง: ทัศนะและบทบาทของจีนสยามในสังคมไทย. กรุงเทพฯ: ศูนย์ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศในเอเชีย ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547.
อ้างอิง
แก้- ↑ สุกัญญา ตีระวนิช. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการหนังสือพิมพ์ --: โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ กรุงเทพฯ, ISBN 974-7442-60-4