เศาะลาฮุดดีน

สุลต่านแห่งอียิปต์และผู้สถาปนาราชวงศ์อัยยูบิด (ค.ศ. 1137–1193)

เศาะลาฮุดดีน อัลอัยยูบี หรือที่ชาวตะวันตกเรียกว่า ซาลาดิน มีชื่อภาษาอาหรับเต็มว่า เศาะลาฮุดดีน ยูซุฟ อิบน์ อัยยูบ บางครั้งก็ถูกเรียกว่า อัลมาลิก อัลนาศิร เศาะลาฮุดดีน ยูซุฟ เกิดเมื่อ ค.ศ.1137 ในตำบลติกรีต (ปัจจุบันอยู่ในอิรัก) และเสียชีวิตในวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1193 ที่เมืองดามัสกัส เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ปกครองมุสลิมผู้มีชื่อเสียงที่สุดและเป็นสุลต่านมุสลิมผู้ปกครองอียิปต์ ซีเรีย เยเมนและปาเลสไตน์และเป็นผู้ก่อตั้งราชวงศ์อัยยูบีย์ ในสงครามต่อต้านการรุกรานของนักรบครูเสด เศาะลาฮุดดีนประสบความสำเร็จในขั้นสุดท้ายด้วยการยึดเมืองเยรูซาเลมกลับคืนมาได้ในวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1187 ซึ่งทำให้การยึดครองของพวกแฟรงก์เป็นเวลา 88 ปีต้องสิ้นสุดลง

เศาะลาฮุดดีน ยูซุฟ
อัล-มาลิก อัน-นาซิร
อนุเสาวรีย์ในดามัสกัส
สุลต่านแห่งอียิปต์และซีเรีย
ครองราชย์ค.ศ.1174 – 4 มีนาคม ค.ศ.1193
ราชาภิเษกค.ศ.1174, ไคโร
ก่อนหน้าคนแรก
ถัดไป
ประสูติค.ศ.1137
ติกริต, เมโสโปเตเมียตอนเหนือ, รัฐเคาะลีฟะฮ์อับบาซียะฮ์
สวรรคต4 มีนาคม 1193 (อายุ 55–56)
ดามัสกัส, ซีเรีย, รัฐสุลต่านอัยยูบิด
ฝังพระศพมัสยิดอุมัยยะฮ์, ดามัสกัส
คู่อภิเษกอิสมัด อัด-ดิน คาทูน
พระนามเต็ม
อันนาซิร เศาะลาฮุดดีน ยูซุฟ อิบน์ อัยยูบ
ราชวงศ์อัยยูบิด
พระราชบิดานัจมุดดีน อัยยูบ
ศาสนาอิสลามนิกายซุนนี (ชาฟิอี)[1][2][3]
ภาพวาดซาลาดิน จากคริสต์ศตวรรษที่ 15

เศาะลาฮุดดีนเกิดในครอบครัวชาวเคิร์ด ในคืนที่เขาเกิด นัจญ์มุดดีน อัยยูบ พ่อของเขาได้รวมคนในครอบครัวเดินทางไปยังเมืองอะเลปโปเพื่อไปรับใช้อิมาดุดดีน ซางกี ผู้ปกครองชาวเติร์กที่มีอำนาจในซีเรียตอนเหนือ เขาเติบโตในเมืองบะอัลบักและดามัสกัส แต่ในตอนเริ่มแรกนั้นเศาะลาฮุดดีนให้ความสนใจในเรื่องของศาสนามากกว่าการฝึกฝนทางทหาร เขาเริ่มต้นอาชีพอย่างเป็นทางการเมื่อได้เข้าไปเป็นเจ้าหน้าที่ของอะซัดดุดดีน ชิรกูห์ ลุงของเขาซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารคนสำคัญของเจ้าชายนูรุดดีนลูกชายและทายาทผู้สืบอำนาจต่อจากซางกี เศาะลาฮุดดีนได้ประสบการณ์ในการรบระหว่างการเดินทางออกศึกสามครั้งยังอียิปต์ภายใต้การนำของชิรกูห์เพื่อป้องกันการรุกรานของพวกครูเสด

เขาจึงมีนโยบายส่งเสริมให้มีการเติบโตและแพร่ขยายสถาบันต่าง ๆ ของมุสลิม เขาให้การอุปการะนักวิชาการและนักเผยแผ่คำสอนอิสลาม ก่อตั้งวิทยาลัยและมัสญิดสำหรับคนเหล่านั้นและแนะนำให้บรรดานักวิชาการเขียนงานวิชาการออกมาโดยเฉพาะเรื่องการญิฮาด ฟื้นฟูขวัญกำลังใจและสร้างความเชื่อมั่นให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน

เศาะลาฮุดดีนประสบผลสำเร็จในการเปลี่ยนดุลอำนาจทางทหารให้เขาเป็นฝ่ายได้เปรียบ โดยการที่เขาสามารถรวบรวมและจัดระเบียบกองกำลังที่ไร้ระเบียบวินัยมากกว่าการที่จะใช้เทคนิคใหม่ ๆ ทางทหาร ในที่สุด เมื่อกำลังทหารของเขาพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับกองทัพครูเสด ในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1187 เศาะลาฮุดดีนก็สามารถทำลายกองทัพของพวกครูเสดได้ที่ฮัตตีนใกล้กับทะเลสาบไทเบเรียในปาเลสไตน์ตอนเหนือ

สงครามครั้งนั้นสร้างความเสียหายให้แก่พวกครูเสดอย่างหนัก จนกองทัพมุสลิมสามารถเข้ายึดราชอาณาจักรเยรูซาเลมได้เกือบทั้งหมด เมืองอัคเร, โตรอน, เบรุต, ไซดอน, นาซาเรท, ซีซาเรีย, นะบลุส, จาฟฟา และอัสคาลอนได้ตกเป็นของมุสลิมภายในสามเดือน

วันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1187 เศาะลาฮุดดีนสร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่พวกครูเสด เมื่อเมืองเยรูซาเลมซึ่งเป็นเมืองสำคัญต่อทั้งมุสลิมและคริสเตียนได้ยอมจำนนต่อกองทัพของเขา หลังจากที่ตกอยู่ในมือของพวกแฟรงก์มาเป็นเวลา 88 ปี ชาวเมืองเยรูซาเลมได้รับการปฏิบัติจากกองทัพของเศาะลาฮุดดีนอย่างดีและมีอารยธรรม ผิดกับเมื่อตอนที่พวกแฟรงก์เข้ามายึดครองซึ่งทำให้ชาวเมืองต้องถูกสังหารหมู่อย่างเหี้ยมโหดทารุณนับหมื่น ๆ คน

หลังจากที่กรำศึกมาเป็นเวลานาน ในที่สุด เศาะลาฮุดดีนก็มาถึงจุดสุดท้ายของชีวิต ในขณะที่ญาติพี่น้องของเขากำลังแย่งส่วนต่าง ๆ ของอาณาจักรกันอยู่นั้น เพื่อนของเขาก็พบว่า ผู้ปกครองที่เป็นนักรบอัจฉริยะและมีคุณธรรมในโลกมุสลิมผู้นี้ไม่ได้ทิ้งเงินทองไว้มากมายพอที่จะทำหลุมฝังศพให้สมศักดิ์ศรีได้ หลังจากนั้น ครอบครัวของเศาะลาฮุดดีนก็ยังปกครองอียิปต์และแผ่นดินใกล้เคียงต่อไปอีกไม่นานและในที่สุดก็ถูกพวกมัมลูกเข้ามายึดอำนาจต่อใน ค.ศ. 1250

อ้างอิง

แก้
  1. Spevack, Aaron (2014) [2008]. The Archetypal Sunni Scholar: Law, Theology, and Mysticism in the Synthesis of Al-Bajuri. State University of New York Press. p. 44. ISBN 978-1-4384-5371-2.
  2. Lēv, Yaacov (1999). Saladin in Egypt. Brill. p. 131. ISBN 9004112219.
  3. Halverson, Jeffry R.; Corman, Steven R.; Goodall Jr., H. L. (2011). Master Narratives of Islamist Extremism. Palgrave Macmillan. p. 201. ISBN 0230117236.