เฮนรี จอร์จ (อังกฤษ: Henry George; 2 กันยายน ค.ศ. 183929 ตุลาคม ค.ศ. 1897) เป็นนักเศรษฐศาสตร์การเมืองชาวอเมริกัน ผู้เขียนหนังสือ เรื่อง Progress and Poverty และได้เขียนบทความต่าง ๆ เกี่ยวกับที่ดินไว้มากมาย หนังสืออื่น ๆ ของเฮนรี จอร์จที่ควรกล่าวถึงคือ Social Problems, Protection or Free Trade ซึ่งได้มีการอ่านทั้งเล่มและบันทึกไว้ในบันทึกของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา,[1] The Condition of Labor ซึ่งเป็นจดหมายเปิดผนึกถึงสันตะปาปาเพื่ออธิบายตอบสาส์นเวียนของพระองค์ และ The Science of Political Economy ซึ่งพิมพ์หลังมรณะ

เฮนรี จอร์จ

ประวัติโดยสังเขป แก้

 
Science of political economy, 1898

เฮนรี จอร์จเกิดที่ฟิลาเดลเฟีย เขาเรียนจบเพียงประถม 6 เพราะความยากจน ต้องหยุดการเรียนขณะอยู่ชั้นมัธยม 1 แล้วก็ออกทำงานเป็นเด็กรับใช้ (cabin boy) ในเรือสินค้า ซึ่งเดินทางรอบโลก แต่ในการเดินทางไปกับเรือสินค้าครั้งที่ 2 ในฐานะกะลาสีชั้นสามารถ (able seaman) จอร์จก็ลาออกมาเป็นช่างเรียงพิมพ์ แล้วก็ได้เป็นผู้รายงานข่าว ผู้เขียนบทบรรณาธิการของ นสพ.ซานฟรานซิสโกไทมส์ บรรณาธิการจัดการ และยังเขียนเรื่องให้นิตยสารต่าง ๆ อีกด้วย ความรู้ความสามารถของจอร์จเกิดจากความช่างสังเกตและการพากเพียรศึกษาด้วยตนเอง[2]

เมื่อเดินทางจากซานฟรานซิสโกไปทำงานที่นิวยอร์ก จอร์จได้เห็นความยากจนร้ายแรงในเมืองใหญ่ทั้ง ๆ ที่ในเมืองใหญ่ปรากฏทรัพย์สินมหาศาล จึงเกิดแรงบันดาลใจให้ค้นหาสาเหตุของความแตกต่างนี้ เขาได้พบว่า อุตสาหกรรมปฏิวัติ ซึ่งคือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตจากระบบครัวเรือนมาเป็นระบบโรงงานเพราะความก้าวหน้าอย่างมโหฬารของเครื่องจักรกลที่ช่วยเพิ่มผลผลิต กลับทำให้คนงานเดือดร้อนจากค่าแรงต่ำ และค่าแรงทั่วไปมีแต่แนวโน้มจะต่ำลงในขณะที่ที่ดินแพงขึ้น การเก็งกำไรกักตุนที่ดินยิ่งทำให้หาที่ดินทำกินและหางานทำยากมากขึ้น ค่าแรงยิ่งต่ำ และทำให้วัฏจักรเศรษฐกิจแกว่งตัวรุนแรง

ในชั้นแรก จอร์จได้ใช้เวลา 4 เดือนในปี 1871 เขียนหนังสือขนาดเล็ก 48 หน้า เรื่อง Our Land and Land Policy พิมพ์ 1,000 เล่ม แต่ไม่ได้รับความสนใจมากนัก หลังจากนั้นกว่า 6 ปี คือในปี 1877 เขาจึงเริ่มเขียนหนังสือ Progress and Poverty ขนาด 565 หน้าเพื่ออธิบายสาเหตุและวิธีแก้ไขความยากจนให้ละเอียดยิ่งขึ้น ใช้เวลา 1 ปี 7 เดือนจึงเขียนจบ พิมพ์ครั้งแรกปี 1879 [3] เมื่อรวมกับการปาฐกถาในสหรัฐฯ เอง สกอตแลนด์ อังกฤษ ไอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมทั้งการโต้วาทีกับพรรคสังคมนิยมในนิวยอร์กและลอนดอน และการเขียนหนังสือและบทความจำนวนมาก ก็ทำให้เขามีชื่อเสียงในขณะที่เขามีชีวิตอยู่ เป็นลำดับ 3 ของสหรัฐฯ ต่อจาก Thomas Edison และ Mark Twain [2]

เฮนรี จอร์จตาย 4 วันก่อนการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก ซึ่งเขาเข้าสมัครรับเลือกตั้งด้วยเป็นครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรก 11 ปี (ครั้งแรกเขาแพ้ Abram S. Hewitt แต่ชนะ Theodore Roosevelt ผู้ซึ่งต่อมาได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ) การสมัครรับเลือกตั้งทั้งสองครั้งเพราะสหภาพแรงงานขอร้อง งานศพของจอร์จมีผู้คนกว่าแสนคนมาเคารพศพและร่วมขบวนศพไปยังสุสานใน Brooklyn [4]

หนังสือ Progress and Poverty ที่ลือลั่นและขายดีในสมัยของจอร์จเองได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากมาย และกลุ่มผู้นิยมจอร์จได้ใช้เป็นตำราสั่งสอนกันต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบัน และใน ค.ศ. 1963 ห้องสมุดทำเนียบขาวได้เลือกหนังสือนี้ไว้ในกลุ่มหนังสืออเมริกันดีเด่น [5] เฮนรี จอร์จเองก็ได้รับการยกย่องจากบุคคลสำคัญจำนวนมาก [6] สำหรับองค์การเอกชนในประเทศต่าง ๆ ที่สนับสนุนแนวคิดของเฮนรี จอร์จ มีปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ International Directory of Georgist Organizations ที่ http://www.cgocouncil.org/showcgo.php เก็บถาวร 2009-12-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

ทฤษฎีและแนวความคิด แก้

เฮนรี จอร์จเห็นปัญหาความยากจน สาเหตุ และวิธีแก้ไขพอกล่าวได้อย่างสั้น ๆ ดังนี้

ปัญหาความยากจนจาก *ระบบ* ของรัฐเอง

1. ความก้าวหน้าอย่างมโหฬารของเครื่องจักรกลที่ช่วยเพิ่มผลผลิต กลับทำให้คนงานยากจนจากค่าแรงต่ำ

2. ค่าแรงทั่วไปมีแต่จะต่ำลงในขณะที่ที่ดินกลับมีแนวโน้มแพงขึ้น เพราะความเจริญก้าวหน้าของส่วนรวมไปเพิ่มราคาให้ที่ดิน

3. การเก็งกำไรกักตุนที่ดินยิ่งทำให้ที่ดินแพง หาที่ดินทำกินและหางานทำยากมากขึ้นไปอีก ค่าแรงยิ่งต่ำ และทำให้วัฏจักรเศรษฐกิจแกว่งตัวรุนแรง ก่อความเดือดร้อนทุกข์ยากมากขึ้น

สาเหตุ

1. รัฐปล่อยให้เอกชนถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยเก็บภาษีเพียงเล็กน้อย

2. ทำให้รัฐต้องเก็บภาษีจากการลงแรงลงทุนของแต่ละบุคคลเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งเป็นการลดรายได้ของเอกชน และเพิ่มต้นทุนการผลิตทำให้ค่าครองชีพสูง

3. ถ้าปล่อยไว้ ไม่แก้ไข เจ้าของที่ดินยิ่งได้ประโยชน์ คนจนยิ่งเดือดร้อน

วิธีแก้ไข

1. ยกเลิกภาษีทั้งหลายที่เป็นภาระแก่การลงแรงลงทุน เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม

2. เก็บภาษีมูลค่าที่ดินเท่าหรือเกือบเท่าค่าเช่ารายปีที่ควรเป็น

เฮนรี จอร์จกล่าวโจมตีการปล่อยให้เอกชนได้ประโยชน์จากกรรมสิทธิ์ที่ดินอย่างยืดยาว แต่พอถึงข้อเสนอแก้ความยากจนจากความไม่ยุติธรรมนี้เขากลับเสนอเพียงให้เก็บภาษีมูลค่าที่ดินเท่ากับค่าเช่าที่ดินรายปีและยกเลิกภาษีอื่น ๆ เหตุผลของเขาคือ:--

“ข้าพเจ้าไม่เสนอให้ซื้อหรือริบกรรมสิทธิ์ของเอกชนในที่ดิน กรณีแรกจะเป็นการไม่ยุติธรรม กรณีที่สองไม่เป็นสิ่งจำเป็น จงปล่อยให้บุคคลที่ยึดถือที่ดินอยู่ขณะนี้ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในสิ่งที่เขาพอใจจะเรียกว่าที่ดิน ‘ของเขา’ ต่อไปถ้าเขาต้องการ ปล่อยให้เขาเรียกมันต่อไปว่าเป็นที่ดิน ‘ของเขา’ ปล่อยให้เขาซื้อขายและให้เป็นมรดกและทำพินัยกรรมยกให้กันได้ เราอาจจะปล่อยให้พวกเขาเก็บเปลือกไว้ได้โดยไม่มีอันตรายถ้าเราเอาเนื้อในออกมาแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องริบที่ดิน จำเป็นแต่เพียงจะต้องริบค่าเช่าเท่านั้น

“ทั้งการที่จะเก็บค่าเช่ามาเป็นสาธารณประโยชน์นั้นก็ไม่จำเป็นว่ารัฐจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการให้เช่าที่ดินด้วย ซึ่งมีทางทำให้เกิดฉันทาคติ การสมรู้ยินยอม และการฉ้อราษฎร์บังหลวงขึ้นได้ ไม่จำเป็นจะต้องจัดตั้งจักรกลใหม่ขึ้นมาอีกแต่ประการใด จักรกลเช่นนี้มีอยู่แล้ว แทนที่จะขยายมันออก ทั้งหมดที่เราจะต้องทำก็คือทำให้มันง่ายขึ้นและลดขนาดของมันลงเท่านั้น โดยการให้เจ้าของที่ดินได้รับเปอร์เซนต์จากค่าเช่าบ้าง ซึ่งอาจจะน้อยกว่ามูลค่าและความสูญเสียในการที่องค์การของรัฐจะเป็นผู้ให้เช่าที่ดินเองมาก และโดยการใช้ประโยชน์จากจักรกลที่มีอยู่แล้วนี้ เราก็อาจจะทำให้เกิดสิทธิของส่วนรวมร่วมกันในที่ดินได้โดยการ เก็บค่าเช่ามาเป็นสาธารณประโยชน์ ซึ่งไม่ทำให้เกิดการตื่นเต้นสะดุ้งสะเทือนกัน

“เราได้เก็บค่าเช่าแล้วเป็นบางส่วนในรูปของภาษี เราเพียงแต่จะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการเก็บภาษีบางประการเท่านั้นเพื่อให้ได้ค่าเช่าทั้งหมด

"เพราะฉะนั้นสิ่งที่ข้าพเจ้าเสนอในฐานะวิธีแก้ไขง่าย ๆ แต่ได้ผลใหญ่หลวง ซึ่งจะยกค่าแรงขึ้นสูง เพิ่มผลตอบแทนของทุน กำจัดความข้นแค้น ยกเลิกความยากจน ทำให้มีงานรายได้ดีว่างสำหรับผู้ใดก็ตามที่ต้องการงานทำ ทำให้ไม่มีขอบเขตจำกัดพลังความสามารถของมนุษย์ ทำให้อาชญากรรมลดลง ยกระดับศีลธรรม รสนิยม และสติปัญญา ทำให้การปกครองบริสุทธิ์หมดจดขึ้น และทำให้อารยธรรมเจริญสูงส่งยิ่งขึ้น เหล่านี้ ก็คือ – การริบเอาค่าเช่าโดยการเก็บภาษี

"โดยวิธีนี้ รัฐก็จะกลายเป็นเจ้าของที่ดินทั่วไปได้โดยไม่ต้องเรียกตนเองเช่นนั้น และโดยไม่ต้องรับหน้าที่ใหม่แม้แต่ประการเดียว โดยรูปแบบแล้ว กรรมสิทธิ์ในที่ดินจะยังคงเป็นอยู่เหมือนกับในขณะนี้ ไม่จำเป็นจะต้องทำให้เจ้าของที่ดินหมดสภาพความเป็นเจ้าของ และไม่จำเป็นจะต้องจำกัดปริมาณที่ดินที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะยึดถือ เพราะว่าโดยที่รัฐเป็นผู้เก็บค่าเช่าในรูปของภาษี ที่ดินจึงย่อมเป็นกรรมสิทธิ์ของส่วนรวมโดยแท้จริง ไม่ว่าจะมีชื่อใครเป็นผู้ครอบครอง หรือจะอยู่ในส่วนใดก็ตาม และสมาชิกของประชาคมทุกคนย่อมจะมีส่วนในผลประโยชน์แห่งความเป็นเจ้าของที่ดินเหล่านี้" [7]


การเก็บภาษีที่ดินเพิ่ม และเลิกภาษีอื่น ๆ มีความเป็นธรรม เพราะ:-

1. ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ต้องมีที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและทำกิน เพราะถ้าไม่มี เขาตาย แต่เขาเกิดมาแล้ว เขาก็มีสิทธิ์มีชีวิตต่อไป

2. ไม่มีมนุษย์คนไหนลงแรงหรือลงทุนผลิตหรือสร้างที่ดินขึ้นมา จึงไม่ควรมีใครอ้างว่ามีสิทธิ์ในที่ดิน

3. มูลค่าของที่ดินส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะที่ดินย่านชุมชนซึ่งมีราคาสูง) เกิดจากกิจกรรมของส่วนรวมที่แยกไม่ออกว่าเป็นของคนไหนเท่าไรและจากภาษีที่เก็บเอาไปสร้างสิ่งสาธารณูปโภค แต่ที่แน่ ๆ คือมูลค่าที่ดินไม่ได้เกิดจากบุคคลในฐานะเจ้าของที่ดิน (ยกเว้นการเก็งกำไรที่ดิน) เจ้าของที่ดินอาจลงแรงลงทุนก่อสร้างและทำการผลิตหรือค้าในที่ดินของตนเอง แต่ที่ทำเช่นนั้นเขาทำในฐานะผู้ลงแรงและหรือผู้ลงทุน ซึ่งเขาควรได้รับผลตอบแทนจากการลงแรงหรือลงทุนของเขาเต็มที่ ส่วนประโยชน์จากมูลค่าที่ดินควรเป็นของส่วนรวม (แต่ไม่ใช่เอาที่ดินมาแบ่งกันเพราะที่ดินมีมูลค่าแตกต่างกันตามทำเลและสภาพอื่น ๆ ที่แตกต่างกัน ซึ่งให้ผลตอบแทนแก่การลงแรงลงทุนต่างกัน และจะต้องแบ่งกันไม่รู้จบเพราะคนในครอบครัวมีตายมีเกิดทำให้จำนวนเปลี่ยนแปลงเรื่อย ๆ)

4. การซื้อที่ดินมิใช่การลงทุนที่แท้ คือลงทุนผลิตของกินของใช้ (โภคทรัพย์) หรือเครื่องมือช่วยการผลิต (ทุน) แต่เป็นการซื้อสิทธิ์สืบต่อตามกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเพื่ออำนาจเรียกแบ่งผลตอบแทนจากผู้ทำงานและนายทุน และการเก็งกำไรกักตุนที่ดินกันไว้มาก ๆ ทำให้ที่ดินแพง ค่าแรงต่ำ หางานทำยาก คนจนก็เดือดร้อนยิ่งขึ้น

5. การเก็บภาษีจากรายได้จากการลงแรงลงทุนผลิต (รวมทั้งจำหน่าย) ไม่ยุติธรรม เพราะเป็นการเอาจากแต่ละคนไปบำรุงส่วนรวม ในกรณีนี้ควรเก็บจากมูลค่าที่ดินเพราะมูลค่าที่ดินเกิดจากกิจกรรมของส่วนรวม[8] และภาษีมูลค่าที่ดินจะขจัดความได้เปรียบเสียเปรียบกันเนื่องจากการได้ครอบครองที่ดินดีเลวมากน้อยผิดกันออกไปด้วย


ผลร้ายของการเก็บภาษีที่ดินน้อยไปและเก็บภาษีอื่น ๆ มากไป :-

1. สังคมมีความแตกต่าง เกิดการแตกแยก

2. ผิดศีลข้ออทินนาทาน เอาจากกลุ่มอื่นไปให้แก่กลุ่มเจ้าของที่ดินด้วยวิธีการภาษี โดยภาษีและกิจกรรมของส่วนรวมไปทำให้สังคมมีความน่าอยู่และปลอดภัยขึ้น ที่ดินก็เลยแพง จึงมีการเก็งกำไรที่ดินกันในวงกว้างทั่วไป ที่ดินก็ยิ่งแพงขึ้น คนยากคนจนหรือจะแข่งขันด้วยได้ จำใจต้องยอมเป็นผู้เช่า ต้องเสีย 2 ต่อ ทั้งค่าเช่าที่ดิน ทั้งภาษีอื่น ๆ

3. ภาษีปัจจุบันเป็นตัวถ่วง แทนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ดูตัวอย่างสหรัฐฯ เขากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีลดภาษีอื่น ๆ มาหลายต่อหลายหนแล้ว

4. การไม่เก็บภาษีที่ดินหรือเก็บน้อยไปก็กลับเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจซ้ำเข้าไปอีก เพราะที่ดินถูกเก็งกำไรเก็บกักกันไว้เฉย ๆ มากมาย หรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ ทำให้การจ้างงานน้อย และค่าแรงต่ำ ผลตอบแทนต่อการใช้ทุนเครื่องทุ่นแรงก็ต่ำ

5. ภาษีเงินได้ ภาษีกำไร พวกนี้ไปลดรายได้จริงของคนทำงานและผู้ลงทุน

6. ภาษีทางอ้อมจำพวกภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต และภาษีขาเข้า ไปทำให้ของแพง และทำให้ความสามารถแข่งขันกับต่างประเทศลด ไม่ดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวเหมือนฮ่องกง สิงคโปร์

7. ราคา/ค่าเช่าที่ดินและบ้านแพงกว่าที่ควร แฟลต/คอนโดในเมืองก็มีน้อย เกิดปัญหาต้องเดินทางเช้าเข้าเมืองเย็นกลับออกนอกเมืองติดขัดอัดแอเสียเวลามาก เกิดปัญหาแหล่งเสื่อมโทรมหรือชุมชนแออัดในเมือง การย้ายบ้านก็ยากเพราะต้องใช้เงินมาก

8. เพราะที่ดินมีราคา จึงมีคดีที่ดินเป็นภาระแก่ศาลยุติธรรมมากมาย คนจำนวนมากต้องเสียเงินเสียเวลาขึ้นศาลกันนาน ๆ ระหว่างนั้นที่ดินก็อาจไม่ได้ใช้ประโยชน์ [9] (ถ้าเก็บภาษีที่ดินเท่าค่าเช่าศักย์ ราคาที่ดินจะเป็นศูนย์หรือเกือบศูนย์ คนเราจะซื้อขายที่ดินได้ง่าย แม้ราคาที่ดินจะเป็นศูนย์ เอาเป็นหลักทรัพย์ค้ำกู้ไม่ได้ แต่การซื้อขายที่ดินเองก็คงไม่ต้องกู้แล้ว และก็จะทำให้คนเรากู้หนี้เพื่อลงทุนอย่างอื่นเกินตัวไม่ได้ ถือว่าถูกหลักเศรษฐกิจพอเพียง)

ลัทธิ ภาษีเดี่ยว จากที่ดินของเฮนรี จอร์จจะว่าเป็นสังคมนิยม แรงงานนิยม หรือ ทุนนิยม ก็ได้

ที่ว่าเป็นสังคมนิยมนั้นถูกเฉพาะเมื่อคิดถึงปัจจัยที่ดินอย่างเดียว (คือถือว่าที่ดินเป็นของสังคม จึงเก็บภาษีที่ดินมาบำรุงสังคม แต่ไม่ต้องการให้รัฐเข้าไปจัดการที่ดินโดยตรง เช่น บังคับจัดแบ่งที่ดิน)

ที่ว่าเป็นแรงงานนิยมก็ถูกเพราะพยายามไม่เก็บภาษีจากแรงงานเลย

แต่ก็ต้องถือว่าเป็นทุนนิยมสุดขั้วด้วยอย่างไม่เคยปรากฏ เพราะพยายามไม่เก็บภาษีจากทุนเหมือนกัน

วิธีของเฮนรี จอร์จนี้ไม่คิดเอาของที่ส่วนบุคคลควรมีควรได้มาเป็นของส่วนรวมเลย เช่น ค่าแรงสมอง/แรงกาย และผลตอบแทนต่อทุน จึงคิดเลิกภาษีทางอ้อมที่ไปเพิ่มต้นทุนการผลิตและภาษีเงินได้ซึ่งเป็นภาษีทางตรง

เขาขอให้เก็บภาษีที่ดินอย่างเดียว จึงเรียกว่า ภาษีเดี่ยว (Single Tax แต่สมัยนี้คงต้องรวมภาษีทรัพยากรธรรมชาติหรือค่าภาคหลวง ค่าเอกสิทธิ์ ค่าสัมปทาน และค่าชดใช้การก่อมลพิษทำความเสียหายแก่แผ่นดินและทรัพยากรธรรมชาติด้วย)

ส่วนเฮนรี จอร์จเองได้เขียนไว้ในคำนำของหนังสือ Progress and Poverty ว่าสิ่งที่ตนได้พยายามกระทำนั้นถือว่าก่อให้เกิดความสอดคล้องต้องกันระหว่างอุดมคติของฝ่ายเสรีนิยมในเรื่อง เสรีภาพ และ ปัจเจกนิยม (Individualism) กับจุดประสงค์ของฝ่ายสังคมนิยมในเรื่อง ความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ เป็นการเชื่อมสัจจะตามความคิดของสำนัก Smith และ Ricardo กับสัจจะตามความคิดของสำนัก Proudhon และ Lassalle ให้รวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน[10]

อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีที่ดินเพิ่มและเลิกภาษีอื่น ๆ ควรค่อย ๆ ทำ อาจใช้เวลาหลายสิบปี เพื่อมิให้เจ้าของที่ดินเดือดร้อนมากเกินไป

อ้างอิง แก้

  1. The Life of Henry George III เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกข้อมูลวันที่ 4 มิย. 2550.
  2. 2.0 2.1 Who Was Henry George? คำนำในหนังสือ Progress and Poverty ฉบับครบ 100 ปี เก็บถาวร 2007-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกข้อมูลวันที่ 9 เมย. 2550.
  3. HOW THE BOOK CAME TO BE WRITTEN คำนำในหนังสือ Progress and Poverty ฉบับครบ 25 ปี เก็บถาวร 2007-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกข้อมูลวันที่ 9 เมย. 2550.
  4. Henry George Papers, 1840s-1950. เรียกข้อมูลวันที่ 9 เมย. 2550.
  5. Henry George Shool of Social Science Bulletin 1968-9, New York, N.Y., p.23.
  6. [1]. เรียกข้อมูลวันที่ 6 กย. 2551.
  7. Progress and Poverty ฉบับภาษาไทย เก็บถาวร 2009-08-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. หน้า 405-406. เรียกข้อมูลวันที่ 3 มิย. 2550.
  8. Progress and Poverty ฉบับภาษาไทย เก็บถาวร 2009-08-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ภาค 7. เรียกข้อมูลวันที่ 11 เมย. 2550.
  9. Progress and Poverty ฉบับภาษาไทย เก็บถาวร 2009-08-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ภาค 9. เรียกข้อมูลวันที่ 11 เมย. 2550
  10. Progress and Poverty ฉบับภาษาไทย เก็บถาวร 2009-08-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. หน้า XX. เรียกข้อมูลวันที่ 11 เมย. 2550.

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้