เมืองคูบัว เป็นเมืองโบราณอยู่ห่างจากเมืองราชบุรีไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ 12 กิโลเมตร คาดว่าสร้างมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 ในอาณาจักรทวารวดี และเป็นหนึ่งในเมืองสำคัญของอาณาจักรนี้[1]: 299–300, 302, 307–309 

เมืองคูบัว
วัดโขลง เป็นหนึ่งในโบราณสถานภายในเมืองคูบัว
แผนที่
ที่ตั้งตำบลคูบัว, จังหวัดราชบุรี, ประเทศไทย
พิกัด13°29′11″N 99°50′9″E / 13.48639°N 99.83583°E / 13.48639; 99.83583
ประเภทโบราณสถาน
ความเป็นมา
วัสดุอิฐ และศิลาแลง[]
สร้างพุทธศตวรรษที่ 12
ละทิ้งพุทธศตวรรษที่ 16
สมัยทวารวดี
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่
ขุดค้นพ.ศ. 2504
ผู้ขุดค้นกรมศิลปากร
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนเมืองคูบัว
ขึ้นเมื่อ10 กันยายน พ.ศ. 2544
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในจังหวัดราชบุรี
เลขอ้างอิง0005944

ลักษณะทางกายภาพของเมืองนั้นมีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ มีลำห้วยธรรมชาติไหลผ่านหลายสาย ลำห้วยเหล่านี้เป็นลำห้วยสาขาของลำน้ำสายใหญ่ คือ แม่น้ำอ้อม (แม่น้ำแม่กลองสายเดิม) และแม่น้ำแม่กลอง

การสำรวจเมืองคูบัวตั้งแต่ พ.ศ. 2504 พบโบราณสถานที่ตั้งอยู่ภายในและภายนอกคูเมืองจำนวน 67 แห่ง กรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งแล้วจำนวน 23 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นซากฐานสถูปเจดีย์ที่สร้างขึ้นสืบเนื่องกับศาสนาพุทธ ทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน

ลักษณะทางกายภาพ

แก้

คูน้ำและคันดิน

แก้

คูน้ำอยู่ตรงกลางระหว่างคันดินสองชั้น ตัวคูน้ำกว้างเฉลี่ยประมาณ 50 เมตร ส่วนคันดินกว้างประมาณ 53 เมตร สูง 3 เมตร คูน้ำและคันดินด้านทิศเหนือและใต้ยาวด้านละประมาณ 800 เมตร ส่วนคูน้ำและคันดินด้านทิศตะวันออกและตะวันตกยาวด้านละประมาณ 2,000 เมตร รวมความยาวมั้ง 4 ด้านโดยรอบตัวเมืองประมาณ 5,680 เมตร

ศาสนสถาน

แก้

ศาสนสถานที่พบภายในเมืองคูบัว เป็นศาสนาพุทธในมหายานและเถรวาท

ในส่วนโบราณสถานศาสนาพุทธแบบมหายาน มักนิยมตกแต่งอาคารด้วยลวดลายทั้งที่เป็นแผ่นภาพดินเผา แผ่นภาพปูนปั้น ตลอดจนประติมากรรมนูนสูง ทั้งดินเผาและปูนปั้น โดยพบในโบราณสถานหมายเลข 39 และ 40 พบภาพดินเผารูปพระโพธิสัตว์, เทวดา, อมนุษย์[], และรูปสัตว์ โดยเฉพาะเศียรพระโพธิสัตว์ดินเผาที่แสดงถึงฝีมือช่างชั้นสูง[] รูปพระโพธิสัตว์ดินเผาที่ส่วนองค์ยังคงสภาพดีอยู่ ล้วนยืนในท่าตริภังค์ (ยืนเอียงสะโพก) ลักษณะเดียวกับประติมากรรมในศิลปะอินเดีย จนมีผู้สันนิษฐานว่าประติมากรรมดินเผาที่พบที่โบราณสถานหมายเลข 39 และ 40 นี้ อาจจะทำขึ้นโดยช่างฝีมือชาวอินเดียที่เดินทางเข้ามาตั้งหลักแหล่งบริเวณเมืองคูบัว ในราวพุทธศตวรรษที่ 11-13[2]: 60 

โบราณสถานศาสนาพุทธแบบเถรวาท ไม่นิยมการประดับตกแต่งมากนัก อาจมีเพียงแผ่นอิฐแต่งลวดลายหรือชิ้นส่วนลวดลายดินเผาประดับ หรืออาจเป็นแผ่นภาพเล่าเรื่องในศาสนาพุทธ เช่น ภาพปูนปั้นประดับโบราณสถานหมายเลข 10 เป็นภาพจากนิทานในนิกายสรวาสติวาส ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ราวพุทธศตวรรษที่ 12

ศาสนสถานที่ปรากฏหลักฐานทั้งแบบมหายานและแบบเถรวาท คือ โบราณสถานหมายเลข 18 หรือวัดโขลง ตั้งยู่เกือบกลางเมืองคูบัว มีขนาดสูงใหญ่ที่สุดในบรรดาโบราณสถานเมืองคูบัว สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นฐานของวิหาร เพราะมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้านอกจากนี้ยังได้พบประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์สำริดขนาดเล็ก มีรูปแบบคล้ายคลึงกับประติมากรรมที่พบในภาคใต้

โบราณสถานที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง คือ โบราณสถานหมายเลข 1 ซึ่งได้พบผอบทองคำ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุครอบด้วยผอบเงิน ฝาแกะลวดลายดอกบัว บรรจุในช่องกลางของกล่องรูปสี่เหลี่ยมซึ่งเจาะเป็นช่องห้า ช่อง วางอยู่ใต้ฐาน เพื่อบรรจุรูปสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อในเรื่องจักรวาลที่มีอิทธิพลมาจากอินเดีย ทั้งหมดสะท้อนเห็นถึงความเชื่อในเรื่องการเคารพบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และการวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอาคาร ซึ่งสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน[3]: 83 

วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นก้อนอิฐขนาดใหญ่ ความกว้างประมาณ 18 เซนติเมตร ความยาว 34 เซนติเมตร และความหนา 8 เซนติเมตร ดินที่ใช้เผามีส่วนผสมของแกลบข้าวเมล็ดใหญ่ โบราณสถานส่วนมากใช้อิฐเป็นวัสดุก่อสร้าง มีโบราณสถานเพียงแห่งเดียว คือ โบราณสถานหมายเลข 18 หรือวัดโขลง ที่มีฐานก่อด้วยศิลาแลง

โบราณวัตถุ

แก้

โบราณวัตถุที่พบภายในเมืองคูบัว เป็นโบราณวัตถุเกี่ยวกับศาสนาและชีวิตประจำวัน[4]

โบราณวัตถุที่ทำขึ้นเกี่ยวกับศาสนา พบประติมากรรมประดับอาคารศาสนสถาน, พระพุทธรูปดินเผาและปูนปั้น[], พระพิมพ์ ทั้งที่ทำจากดินเผาและหินชนวน, ชิ้นส่วนธรรมจักรศิลา, ประติมากรรมรูปบุคคลที่ทำด้วยดินเผาและปูนปั้น แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนภายในเมืองคูบัว เช่น ภาพดินเผารูปผู้ชายไว้เครา แต่งกายมีผ้าโพกศีรษะแหลม สวมรองเท้าบู๊ท สันนิษฐานว่าอาจเป็นชาวอาหรับที่เดินทางเข้ามาค้าขาย

โบราณวัตถุที่ทำขึ้นใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ ภาชนะดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยดินเผา อาทิ ตะคัน ตะเกียง แว ลูกกระสุน ที่ประทับลวดลาย เครื่องประดับทำจากโลหะ เครื่องมือโลหะ ลูกปัดแก้ว รูปแบบของเครื่องมือเครื่องใช้ และเครื่องประดับ ได้สืบต่อภูมิปัญญามาจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ แต่มีวิธีการที่ซับซ้อนขึ้น

โบราณสถาน

แก้

จากการสำรวจพบจำนวน 67 แห่ง บริเวณภายในเมืองพบโบราณสถานที่ยังปรากฏหลักฐานอยู่จำนวน 8 แห่ง[] และบริเวณที่เคยสำรวจพบเนินโบราณสถาน แต่ปัจจุบันถูกทำลายจนสิ้นสภาพอีก 6 แห่ง[] และโบราณสถานใกล้กับโบราณสถานหมายเลข 8 อีก 2 แห่ง ซึ่งขุดแต่งโดยนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี พ.ศ. 2524 - 2526

โบราณสถานที่พบนอกคูเมืองมีอยู่ทั้งหมด

นอกคูเมืองทิศ คงสภาพ (แห่ง) สิ้นสภาพ (แห่ง)
ตะวันออก 6[] 2[]
ใต้ 6[] 8[]
ตะวันตกเฉียงเหนือ 5[] 2[]
ตะวันตก 14[] 9[]

โบราณสถานที่ถูกทำลายจนสิ้นสภาพ และไม่สามารถระบุตำแหน่งที่ตั้งได้อีกจำนวน 1 แห่ง คือ โบราณสถานบริเวณบ้านนายมิ่ง แก้วสว่าง

โบราณสถานหมายเลข 1

แก้
ที่ตั้งโบราณสถานหมายเลข 1
 

โบราณสถานหมายเลข 1 หรือโคกนายใหญ่ หลงเหลือเฉพาะส่วนฐานเจดีย์สี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยอิฐ ฐานยาวด้านละ 6 เมตร ความสูงในปัจจุบันประมาณ 2 เมตร ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายคลึงกับโบราณสถานหมายเลข 44 คือฐานล่างสุดเป็นฐานเขียง ผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 6 เมตร ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัววลัย อยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยกเก็จหรือกระเปาะ แต่ที่แตกต่างจากโบราณสถานหมายเลข 44 คือโบราณสถานหมายเลข 1 มีการย่อมุมเพิ่มขึ้นมากกว่า และช่องสี่เหลี่ยมรอบฐาน (บริเวณท้องไม้) แบ่งออกเป็นสองชั้น ไม่พบการประดับรูปประติมากรรมภายในช่องดังกล่าว เหนือขึ้นเป็นส่วนขององค์เจดีย์ที่ปัจจุบันพังทลายหมดแล้ว

ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ให้ความเห็นว่าการทำฐานยกเก็จหรือยกกระเปาะ ทำให้ผนังอาคารเกิดเป็นช่อง เกิดความสวยงาม และคงมีวัตถุประสงค์เพื่อการประดับงานประติมากรรมด้วย เจดีย์ที่มีการยกเก็จขึ้นที่มุมทั้งสี่ ทำให้เกิดลักษณะคล้ายๆกับเสาประดับมุม ลักษณะเช่นนี้อาจเปรียบเทียบได้กับงานสถาปัตยกรรมที่ร่วมสมัยกัน เช่น ปราสาทของศิลปะจามในระยะแรกๆ ที่เรียกว่า “กาลัน” และ “จันทิ” ในศิลปะชวากลาง หรือปราสาทขอมในสมัยก่อนเมืองพระนคร[5]

ในปี พ.ศ. 2504 พบผอบเงินที่ตอนกลางขององค์เจดีย์ ภายในเป็นผอบทองบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 5 องค์

ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 87 ง เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2544

โบราณสถานหมายเลข 8

แก้
ที่ตั้งโบราณสถานหมายเลข 8
 

โบราณสถานหมายเลข 8 หรือวัดคูบัว สันนิษฐานว่าเป็นฐานของเจดีย์ขนาดใหญ่ ก่อด้วยอิฐ

ในชุดฐานชั้นล่างหรือชั้นที่หนึ่งส่วนล่างสุดเป็นฐานก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ความยาวด้านละประมาณ 20.8 เมตร ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัว รองรับฐานหน้ากระดานที่มีการเจาะเป็นช่องขนาดเท่ากันโดยรอบ เหนือขึ้นไปเป็นฐานชั้นที่สองในฐานชั้นที่หนึ่งนี้ พบร่องรอยปูนฉาบบางส่วน

ฐานชั้นที่สองเป็นฐานบัวยกเก็จในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีการย่อมุม ส่วนท้องไม้เจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยม

ส่วนบนของเจดีย์ไม่ปรากฏรูปแบบที่แน่ชัด[6]

ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 87 ง เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2544

โบราณสถานหมายเลข 10

แก้
 
ภาพสตรีห้าคนกำลังเล่นดนตรี ที่ค้นพบภายในโบราณสถานหมายเลข 10
ที่ตั้งโบราณสถานหมายเลข 10
 

โบราณสถานหมายเลข 10 ตั้งอยู่นอกคูเมืองของเมืองโบราณคูบัวด้านทิศตะวันตก สมศักดิ์ รัตนกุล ได้ให้รายละเอียดว่ามีลักษณะฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 10.25 เมตร สูง 1.20 เมตร ฐานก่ออิฐเป็นบัวเตี้ยเหนือบัวขึ้นไปมีซุ้มด้านละ 12 ซุ้ม ฐานทางด้านตะวันออกและตะวันตกมีบันไดขึ้นไปสู่องค์เจดีย์ทั้งสองด้าน ยื่นออกมาจากฐานประมาณ 2.5 เมตร กว้าง 1.5 เมตร ส่วนทางด้านเหนือและใต้ก่ออิฐเป็นมุขยื่นออกมาจากกึ่งกลางของฐานเท่านั้น

ซุ้มที่ทำเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสบนฐานด้านละ 12 ช่องนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะมีรูปคนแคระและประติมากรรมอื่นๆติดประดับอยู่ภายใน เพราะขุดค้นพบประติมากรรมปูนปั้นในบริเวณเนินโบราณสถานค่อนข้างมาก ที่สำคัญ อาทิ ภาพบุคคลถูกมัดมือติดกันหรือภาพนักโทษ อาจเป็นภาพประกอบชาดกเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือเป็นภาพเล่าเรื่องสังคมในสมัยนั้น สะท้อนให้เห็นถึงว่าในสมัยนั้นมีการจับนักโทษและการลงโทษกันแล้ว นอกจากนี้จากภาพจะเห็นได้ว่า นักโทษไว้ผมยาวและเกล้าเป็นมวยแบบสตรี

ภาพกลุ่มสตรีห้าคนกำลังเล่นดนตรี สมัยโบราณของไทยเรียกว่า “วงขับไม้บรรเลงพิณ” [5]: 182  คนขวาสุดของภาพไม่ปรากฏเครื่องดนตรีชัดเจน เนื่องจากชำรุดเสียหาย แต่เมื่อพิจารณาจากท่าทาง สันนิษฐานว่าอาจกำลังเล่นกรับชนิดหนึ่ง คนถัดมาอยู่ในท่าเท้าแขน น่าจะเป็นผู้ขับร้อง คนกลางดีดเครื่องสายประเภทหนึ่งตระกูลพิณ ตรงกับพิณของอินเดีย “กัจฉะปิ” คนที่ 2 จากซ้ายมือถือเครื่องตี น่าจะเป็นฉิ่ง และคนซ้ายสุดดีดเครื่องสายประเภทพิณน้ำเต้าประเภทหนึ่ง[7] อาจชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับจีน

นอกจากนั้น ภาพกลุ่มนักดนตรี ยังทำให้ทราบถึงการแต่งกายของสตรีในสมัยนั้น กล่าวคือ สตรีจะนุ่งห่มผ้ายาวเกือบถึงส้น ทบชายผ้าไว้ด้านหน้า มีเข็มขัดเชือกหรือผ้าคาดที่เอว อาจเป็นเข็มขัดที่มีลวดลายหรือการพันผ้าที่เล่นลวดลาย มีชายผ้าหรือชายเข็มขัดห้อยลงมาข้างใดข้างหนึ่ง เท่าที่พบหลักฐานสตรีไม่สวมเสื้อ แต่มีผ้าผืนเล็กๆคาดหรือคล้องอยู่คล้ายกับสไบ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของกลุ่มคนในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาช้านาน[5]: 274 

ปัจจุบัน โบราณสถานหมายเลข 10 มีสภาพรกร้างและอยู่ในพื้นที่สวนของชาวบ้าน ไม่สามารถเข้าไปศึกษาได้

โบราณสถานหมายเลข 18

แก้
ที่ตั้งโบราณสถานหมายเลข 18
 
 
บันไดก่อด้วยอิฐขึ้นไปยังฐานวิหารก่อด้วยศิลาแลง

โบราณสถานหมายเลข 18 หรือวัดโขลง เป็นโบราณสถานที่มีขนาดที่ใหญ่ที่สุดในเมืองคูบัว มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สันนิษฐานว่าเป็นฐานของวิหาร ด้านบนฐานวิหาชั้นล่างสุดก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน ผนังด้านเหนือและใต้ของวิหารมีมุขขนาดเล็กยื่นออกมาด้านละ 3 มุข ผนังทางด้านตะวันตกซึ่งเป็นด้านหลังวิหารมีมุขเล็ก ยื่นออกมาตรงกลาง ฐานชั้นสองก่อด้วยอิฐ เป็นฐานบัวโค้ง ถัดขึ้นไปเป็นช่องซุ้มรูปสี่เหลี่ยมประดับปูนปั้น ชั้นต่อไปเป็นฐานหน้ากระดานรองรับซุ้มสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพื่อขึ้นไปเป็นเสาประดับผนังรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ระหว่างเสาเป็นซุ้ม

ส่วนบนของฐานเป็นลานประทักษิณขนาดใหญ่ มีฐานก่ออิฐยกพื้นสี่เหลี่ยมผืนผ้าด้านทิศตะวันตกทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวิหารห่างออกไปประมาณ 9 เมตร มีฐานอาคารขนาดเล็กแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสลักษณะของฐานจะเป็นอิฐก่อเรียงซ้อนกันสามชั้น ถัดขึ้นไปเป็นซุ้มรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสโดยรอบด้านละ 16 ซุ้ม มีร่องรอยการฉาบปูนสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยหลัง

โบราณสถานได้ขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีหลายอย่าง สถาปัตยกรรมในเมืองโบราณคูบัว ได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะจากช่างสมัยคุปตะ ประเทศอินเดีย ส่วนโบราณวัตถุสำคัญต่างที่ถูกขุดพบจากโบราณสถานแห่งนี้ ได้แก่ เศียรพระพุทธรูปสมัยโบราณ, เทวดาปูนปั้น, เชิงเทียนสัมฤทธิ์, คนแคระรูปปั้น, หินชนวนสีดาที่จารึกอยู่ด้านหลัง ด้านหน้าเป็นแม่พิมพ์พระพุทธรูปปางสมาธิ, คนโทแก้วหรือขวดน้ำหอม, เต้าปูนสัมฤทธิ์ เป็นต้น เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และบางส่วนเก็บที่วัดโขลงสุวรรณคีรี

ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 79 ตอนที่ 97 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2505

โบราณสถานหมายเลข 24–25

แก้
ที่ตั้งโบราณสถานหมายเลข 24–25
 

โบราณสถานหมายเลข 24 และ 25 หรือโคกนายพวง มีสภาพเป็นเนินโบราณสถาน[8]

โบราณสถานหมายเลข 24 มีลักษณะเป็นฐานเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีขนาดความกว้างและความยาวด้านละ 10 เมตร ความสูง 1.80 เมตร ฐานก่ออิฐเป็นบัวขึ้นไปห้าชั้น มีร่องรอยการก่ออิฐทำเป็นช่องซุ้มสี่เหลี่ยมรอบฐาน แต่ได้เสื่อมสภาพเสียหมด ในการขุดแต่งแต่แรกไม่พบโบราณวัตถุแต่อย่างใด สันนิษฐานว่าโบราณสถานหมายเลข 24 เป็นซากสถูปเจดีย์ก่ออิฐสอดินฉาบปูนเหลือหลักฐานอยู่เพียงส่วนฐานซ้อนกันสองชั้น มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานเจดีย์แต่ละชั้นเป็นฐานบัว ประกอบด้วยฐานเขียงสองชั้นรองรับฐานบัวมีลักษณะโค้งมนเรียกว่า “ฐานบัววลัย” เหนือชั้นฐานเป็นส่วนองค์เจดีย์ซึ่งชำรุดหักพังลงมาบริเวณกึ่งกลางด้านทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศเหนือ มีแนวเรียงอิฐยื่นจากฐาน

โบราณสถานหมายเลข 25 หรือแนวกำแพงแก้ว มีลักษณะเป็นฐานวิหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดความยาว 29 เมตร ความกว้าง 15.30 เมตร และความสูง 1 เมตร ตัววิหารตั้งอยู่บนฐาน 2 ชั้น ก่ออิฐเหลี่ยมขึ้นไปอย่างธรรมดา ไม่พบร่องรอยของบันไดทางขึ้นสูงวิหารทางด้านทิศตะวันออก หลักฐานที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ประกอบด้วยแนวกำแพงแก้วด้านทิศใต้ แนวกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก และแนวกำแพงแก้วด้านทิศตะวันตก ลักษณะเป็นกำแพงที่มีรูปผังเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบศาสนสถานสิ่งก่อสร้างบางอย่าง ซึ่งในปัจจุบันไม่พบร่องรอยหลักฐาน เนื่องจากพื้นที่ด้านในกำแพงถูกทำลาย และแนวกำแพงด้านเหนือถูกทำลายจากการขุดตักดินในบริเวณนี้ออกไป เป็นสระน้ำขนาดใหญ่

ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122 ตอนพิเศษ 126 ง เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548

โบราณสถานหมายเลข 40

แก้
ที่ตั้งโบราณสถานหมายเลข 40
 

โบราณสถานหมายเลข 40 หรือโคกหนองเกษร ตั้งอยู่ด้านทิศใต้นอกคูเมืองของเมืองคูบัว ในปี พ.ศ. 2504 พบฐานของสิ่งก่อสร้างก่ออิฐ สันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์สมัยวัฒนธรรมทวารวดี ลักษณะของฐานล่างเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 9.8 เมตร บนฐานจัตุรัสประกอบด้วยอิฐก่อเหลื่อมออกมา และกำกับด้วยบัว มีร่องรอยให้เห็นว่าเหนือฐานบัวมีช่องซุ้มสี่เหลี่ยมก่อรอบองค์เจดีย์แบ่งออกเป็น 3 ส่วน แต่ละส่วนทำเป็นมุขหรือกะเปาะยื่นออกมา ภายในซุ้มสี่เหลี่ยมบนฐานชั้นที่ 2 ติดประดับลวดลาย ซึ่งแตกต่างจากโบราณสถานอื่นๆในเมืองคูบัวที่ในส่วนนี้มักประดับด้วยประติมากรรมรูปคนแคระหรือรูปสิงโต

การขุดแต่งเจดีย์องค์นี้ พบโบราณวัตถุที่ทำด้วยดินเผามากกว่าโบราณสถานแห่งอื่นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งชิ้นส่วนพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ เทวรูป รวมทั้งประติมากรรมต่างๆ เช่น เศียรยักษ์ ศีรษะคนต่างชาติ (แขก) หัวสิงโต ลวดลายประดับสถูป เป็นต้น

ผู้ขุดแต่งโบราณสถานแห่งนี้ ให้ความเห็นว่าโบราณวัตถุที่ขุดค้นได้จากเจดีย์องค์นี้มีจำนวนมาก เมื่อเทียบกับขนาดของฐานค์เจดีย์ที่ยาวด้านละ 9.8 เมตร อีกทั้งยังไม่เหมาะที่จะใช้ประดับประดาเจดีย์ขนาดเล็กเช่นนี้ จากลักษณะประติมากรรมดินเผา แสดงให้เห็นอิทธิพลของศิลปะคุปตะที่ถ้ำอชันตา ประเทศอินเดีย[9]: 30–34 

โบราณสถานหมายเลข 44

แก้
ที่ตั้งโบราณสถานหมายเลข 44
 

โบราณสถานหมายเลข 44 หรือโคกนายผาด ตั้งอยู่นอกคูเมืองด้านทิศใต้ ล้อมรอบด้วยที่ราบลุ่ม เป็นส่วนฐานของสิ่งก่อสร้างที่ก่อด้วยอิฐ สันนิษฐานว่าเป็นส่วนฐานของเจดีย์สมัยวัฒนธรรมทวารวดี ความสูงจากฐานล่างถึงยอดเนินประมาณ 2 เมตร บางส่วนขององค์เจดีย์ปรากฏร่องรอยปูนฉาบ

ฐานเจดีย์ชั้นล่างสุดเป็นฐานเขียง มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง (ตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก) 13.7 เมตร ความยาว (ตามแนวทิศเหนือ-ใต้) 17.8 เมตร สูง 3.7 เมตร มีบันไดยื่นออกมาทั้ง 4 ด้าน ด้านบนของฐานชั้นนี้มีลานประทักษิณ ฐานชั้นที่ 2 เป็นฐานบัววลัย อยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยกเก็จหรือกระเปาะ มีการย่อมุม (สามชั้น) คล้ายคลึงกับโบราณสถานหมายเลข 1 ในฐานชั้นนี้จากการขุดแต่งในปี พ.ศ. 2504 ทางด้านทิศตะวันออกพบประติมากรรมรูปสิงโตนั่งสลับกับสิงโตยืน ส่วนผนังอีก 3 ด้านเป็นรูปคนแคระแบก มีอิทธิพลของศิลปะลังกา นอกจากนั้นยังมีเศียรพระพุทธรูป ชิ้นส่วนพระพุทธรูป เทวรูป หรือเทวดา ซึ่งล้วนทำมาจากปูนปั้น[9]

ประวัติ

แก้

การค้นพบ

แก้

เมืองคูบัวถูกค้นพบเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2494 โดยพระพุทธวิริยากรแห่งวัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร ร่วมกับสมเด็จพระพุทธปาพจนบดีแห่งวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร, พระภิกษุสะอาดแห่งวัดลาดเมธัง, และสามเณรไสวแห่งวัดศรีสุริยวงศ์ กลุ่มพระภิกษุนี้ได้ทำการสำรวจและได้พบซากโบราณสถานที่ปรากฏอยู่ภายในตำบลคูบัว[10]: 1155 

ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2500 พระภิกษุลมูล คุณาภิรโตแห่งวัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร พร้อมกับชาวบ้านจังหวัดราชบุรีได้ปรึกษาแล้วร่วมกันทำหนังสือแจ้งไปยังกรมศิลปากรว่ามีคนหลายกลุ่มบุกรุกเข้าไปยังพื้นที่ในบริเวณวัดร้างแห่งหนึ่งเพื่อขุดหาสมบัติในตำบลคูบัว และได้ทรัพย์สมบัติเป็นโบราณวัตถุอยู่หลายชิ้น กลุ่มพระภิกษุจึงขอให้ทางกรมศิลปากรได้เข้าไปสำรวจพื้นที่ดังกล่าว เมื่อทางกรมศิลปากรทราบเรื่องจึงได้ส่งคณะเจ้าหน้าที่ออกสำรวจ และได้พบเนินดินขนาดใหญ่อยู่หลายแห่ง มีก้อนอิฐกระจัดกระจายอยู่ตามเนินดิน ผู้สำรวจสันนิษฐานว่าเนินดินเหล่านั้นน่าจะเป็นโบราณสถาน และพบเศียรพระพุทธรูปที่ชาวบ้านพบในบริเวณนั้น มีลักษณะทางศิลปะเช่นเดียวกับพระพุทธรูปสมัยทวารวดี[10]: 1156 

การสำรวจและขุดค้น

แก้

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2503 กรมศิลปากรได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจอีกครั้งหนึ่ง พบเนินดินอีกหลายแห่ง แต่อยู่ในที่ดินของเอกชน จึงจำเป็นต้องขออนุญาตเจ้าของที่ดินก่อน ทำให้ยังไม่สามารถดำเนินการสำรวจหรือขุดค้นได้อย่างจริงจัง เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2504 ถึง พฤษภาคม พ.ศ. 2506 สมศักดิ์ รัตนกุล สำรวจพื้นที่และขุดค้นเนินดินหลายแห่งทั้งพื้นที่ภายในและภายนอกคูเมืองของเมืองคูบัว พบเนินดินซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นโบราณสถานมากกว่า 44 แห่ง แต่คณะทำงานได้กำหนดหมายเลขโบราณสถานไว้เพียง 44 แห่ง และได้ขุดแต่งโบราณสถานเหล่านั้นจำนวน 23 แห่ง[9]

พบว่าส่วนใหญ่เป็นส่วนฐานเจดีย์หรือวิหาร ลักษณะการก่อสร้างโบราณสถาน ส่วนใหญ่สร้างด้วยอิฐเนื้อผสมแกลบ ใช้ดินสอ

จากซากโบราณสถานทำให้สันนิษฐานได้ว่ามีเจดีย์ 8 แบบ ดังนี้

ลักษณะของฐานโบราณสถานภายในเมืองคูบัว[9]: 24–26 
  1. ฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่ออิฐขึ้นไปตรงอย่างธรรมดาไม่มีการย่อมุข
  2. ฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส บนฐานสี่เหลี่ยมมีองค์เจดีย์รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่ละด้านมีมุขยื่นออกมาด้านละ 3 มุข
  3. ฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีฐานเขียงซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้น และมีซุ้มรอบองค์เจดีย์
  4. ฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีบันไดยื่นออกมาจากฐานทั้งสี่ด้านหรือด้านเดียว
  5. ฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีมุขยื่นออกมาจากมุมทั้งสี่
  6. ฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
  7. ฐานกลม
  8. ฐานแปดเหลี่ยม

นอกจากนี้ จากการขุดแต่งโบราณสถาน ยังพบประติมากรรมที่ทำด้วยดินเผาและปูนปั้น ซึ่งใช้ตกแต่งโบราณสถาน เช่น รูปเทวดา สัตว์ ยักษ์ พระโพธิสัตว์ และพระพุทธรูป หลักฐานเหล่านี้แสดงถึงความสำคัญของเมืองโบราณแห่งนี้ว่าเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่เมืองหนึ่งในสมัยทวารวดี[11]: 47–52 

นิติ แสงวัณณ์ นักโบราณคดีประจำหน่วยศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี เป็นหัวหน้าคณะทำงาน เดินทางเข้าสำรวจเก็บข้อมูลในเขตเมืองคูบัว โดยเน้นที่การจัดทำแผนที่ โดยพบโบราณสถานเพิ่มอีก 5 แห่ง คือ โบราณสถานหมายเลข 45, 46, 47, 48 และ 49 ทั้งยังขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข 8 ในปี พ.ศ. 2538 กรมศิลปากรดำเนินการบูรณะโบราณสถานในเขตเมืองคูบัว 3 แห่ง คือ โบราณสถานหมายเลข 8, โบราณสถานหมายเลข 18, และโบราณสถานหมายเลข 44[12]: 133 

ในปี พ.ศ. 2539–2540 สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี ขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข 31 สำรวจพื้นที่เมืองคูบัว เพื่อรวบรวมข้อมูลโบราณสถานทั้งหมดประกอบการประมวลจัดทำแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองคูบัว จากการสำรวจพบโบราณสถานเพิ่ม 1 แห่ง คือ โบราณสถานหมายเลข 50 ส่วนโบราณสถานหมายเลข 51-59 นั้น เป็นการให้หมายเลขเพิ่มเติมจากโบราณสถานที่สำรวจพบเมื่อปี พ.ศ. 2504–2506[12]

หมายเหตุ

แก้
  1. เฉพาะวัดโขลงเท่านั้น
  2. เช่น นาค ครุฑ คนธรรพ์ ยักษ์ รากษส คนแคระ
  3. คล้ายคลึงกับภาพเขียนภายในถ้ำอชันตา ประเทศอินเดีย
  4. ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท มีดอกบัวรองรับ ปางแสดงพระธรรมเทศนา
  5. คือ โบราณสถานหมายเลข 8, 15, 18, 24, 25, 28, 36 และ 46
  6. คือ โบราณสถานหมายเลข 9, 16, 17, 23
  7. คือ โบราณสถานหมายเลข19, 26, 31, 32, 33 และ 49
  8. คือ โบราณสถานหมายเลข 29 และ 30
  9. คือ โบราณสถานหมายเลข 34, 39, 41, 43, 44 และ 50
  10. คือ โบราณสถานหมายเลข 35, 37, 38, 40, 42, โบราณสถานบริเวณบ้านนายต่อม เอี่ยมโฉม, โบราณสถานบริเวณบ้านนางสาวสนุ่น ขำเลิศ และโบราณสถานบริเวณบ้านนายเลิศ พิบูลย์แถว
  11. คือ โบราณสถานหมายเลข1, 2, 5, 6 และ 7
  12. คือ โบราณสถานหมายเลข 3 และ 4
  13. คือ โบราณสถานหมายเลข 10, 11, 12, 14, 20, 21, 45, 51, 52, 53, 54, 55, 56 และ 57
  14. คือ โบราณสถานหมายเลข 13, 22, 27, 47, 48, 58, 59, โบราณสถานบริเวณบ้านนายเปี้ย จันทะ และโบราณสถานบริเวณบ้านนางผาด คล้ายพั้ง

อ้างอิง

แก้
  1. Higham, C., 2014, Early Mainland Southeast Asia, Bangkok: River Books Co., Ltd., ISBN 9786167339443
  2. ศิลป พีระศรี. สมุดนำชมโบราณวัตถุสถานสมัยทวารวดี ตำบลคูบัว จังหวัดราชบุรี. 2504.
  3. พัชรินทร์ ศุขประมูล. ราชบุรี. 2534.
  4. พยุง วงษ์น้อย. ลายศิลป์ดินเผาเมืองคูบัว : รายงานผลการศึกษาโครงการศึกษาประติมากรรมดินเผาแบบทวารวดีที่เมืองคูบัว. 2545.
  5. 5.0 5.1 5.2 ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมพุทธศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. 2547.
  6. สมศักดิ์ รัตนกุล. โบราณคดีเมืองคูบัว. 2535.
  7. พิริยะ ไกรฤกษ์. ประวัติศาสตร์ศิลปในประเทศไทย ฉบับคู่มือนักศึกษา. 2528.
  8. กลุ่มวิชาการโบราณคดี สำนักงานศิลปากรที่ 1 ราชบุรี
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 สมศักดิ์ รัตนกุล. โบราณคดีเมืองคูบัว. 2535.
  10. 10.0 10.1 ธิติพงศ์ มีทอง. การศึกษาโบราณสถานเมืองโบราณคูบัวของจังหวัดราชบุรี เก็บถาวร 2022-11-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. 2562
  11. ตรี อมาตยกุล. เมืองโบราณที่บ้านคูบัว จากสมุดนำชมโบราณวัตถุสถานสมัยทวารวดี ตำบลคูบัว จังหวัดราชบุรี. 2523.
  12. 12.0 12.1 ณัฐพล บุญอุทิศ. พระมหาเจดีย์และพิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี. 2546.