เมด อิน ไทยแลนด์
เมด อิน ไทยแลนด์ เป็นเพลงที่แต่งโดย ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด คาราบาว) โดยครั้งแรกอยู่ในอัลบั้ม เมด อิน ไทยแลนด์ ซึ่งออกจำหน่ายในปี พ.ศ. 2527
"เมด อิน ไทยแลนด์" | |
---|---|
![]() | |
เพลงโดยคาราบาว | |
จากอัลบั้มเมด อิน ไทยแลนด์ | |
วางจำหน่าย | พ.ศ. 2527 |
บันทึกเสียง | ห้องบันทึกเสียงศรีสยาม (2527) |
แนวเพลง | เพื่อชีวิต, ดนตรีไทย |
ความยาว | 4.10 นาที |
ค่ายเพลง | แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ |
ผู้ประพันธ์เพลง | ยืนยง โอภากุล |
โปรดิวเซอร์ | ยืนยง โอภากุล |
ประวัติ
แก้ยืนยงแต่งเพลงนี้จากคำพูดเริ่มต้นของ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้จัดการของแกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ซึ่งปรารภว่าในประเทศของเรามีของนอกสั่งเข้ามามากมาย คนไทยจึงรู้สึกว่าต้องใช้ของนอก น่าจะเขียนเพลงนี้เพื่อเชิญชวนให้คนไทยหันกลับมาใช้สินค้าของประเทศด้วยกันเอง ตามนโยบายของรัฐบาลสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยในภาคดนตรี บี๋ เดล โรซาริโอ ผู้จัดการวงในขณะนั้น ได้ฟังเพลงฟิวชั่น แจ็ซซ์ ของศิลปินผิวดำท่านหนึ่ง มีการขึ้นอินโทรเพลงด้วยเสียงฟลุ้ท หรือ ขลุ่ยฝรั่ง ทางวงจึงลงความเห็นว่า การใช้ขลุ่ยไทยกับขลุ่ยฝรั่งน่าจะสอดคล้องกับเนื้อหาของเพลงได้ เพลงนี้จึงเสร็จสมบูรณ์เป็นลำดับสุดท้ายและออกเผยแพร่ปลายปี พ.ศ. 2527 ในชื่ออัลบั้มเดียวกับชื่อเพลง โดยทางแกรมมี่รับผิดชอบด้านการโปรโมท [1]
การเผยแพร่และความสำเร็จ
แก้เมื่อเพลงนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ก็ได้รับความนิยมภายในระยะเวลาไม่นาน จนอัลบั้มขายได้มากถึง 5 ล้านชุด ซึ่งถือเป็นอัลบั้มที่สร้างชื่อเสียงให้กับคาราบาวมากที่สุดในยุคคลาสสิกที่มีสมาชิกแบบครบวงทั้ง 7 คน ส่วนหนึ่งของความสำเร็จคือ การแสดง "คอนเสิร์ตทำโดยคนไทย" ณ สนามเวลโลโดรม ในสนามกีฬาหัวหมาก และเป็นครั้งแรกที่ คาราบาว เข้าไปเกี่ยวพันกับหน่วยงานรัฐบาล โดยเริ่มด้วยการจัดทำมิวสิกวิดีโอเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ แต่ไม่ได้ส่งเสริมการขายอัลบั้มแต่อย่างใด[2]
นอกจากนี้ ผู้ฟังชาวต่างชาติก็ยังชื่นชอบเพลงนี้เนื่องจากมีเนื้อหาสอดคล้องกับความเป็นสากล ทำให้วงดนตรีและตัวเพลงได้สร้างชื่อเสียงไปยังประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ทางวงจึงได้จัดทำเพลง เมด อิน ไทยแลนด์ อีกครั้งหนึ่งในชื่อ "Made in Thailand in USA" โดยเพิ่มเนื้อร้องภาคภาษาอังกฤษ เพื่อมุ่งเป้าหมายคนฟังในสหรัฐอเมริกา โดยให้เทียรี่ เมฆวัฒนา ขับร้องในฉบับภาษาอังกฤษ และยืนยง ร้องเป็นภาษาไทยในฉบับเดิม แต่มีการปรับเปลี่ยนเนื้อเพลงท่อนแรกที่มีการพูดสดๆ เพียงเล็กน้อย[3]
ในภายหลัง มีการจัดทำเพลงเดียวกันในฉบับต่างๆ ดังนี้ โดยได้มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาสาระให้เข้ากับสภาวะทางเศรษฐกิจหรือตามกาลสมัย แต่ยังคงโครงสร้างดนตรีมาแต่เดิม ซึ่งใช้เสียงขลุ่ยเป็นสัญลักษณ์แทนประเทศไทย
- ครั้งที่ 1 : เมด อิน ไทยแลนด์ (Original) / พ.ศ. 2527
- ครั้งที่ 2 : Made in Thailand in USA / พ.ศ. 2528 (ค.ศ. 1985) เนื้อร้องภาษาไทยยังคงเดิม ภายหลังบรรจุในอัลบั้ม รวมเพลงคาราบาว พ.ศ. 2529
- ครั้งที่ 3 : เมด อิน ไทยแลนด์ '40 / พ.ศ. 2540 ในอัลบั้ม เส้นทางสายปลาแดก เนื้อร้องเปลี่ยนหมด มีการเสริมดนตรีด้วย Brass Section คอรัสหญิง และเสียงพูดกล่าวถึงโอกาส 12 ปี ของบทเพลง
- ครั้งที่ 4 : เมด อิน ไทยแลนด์ (สังคายนา) / พ.ศ. 2546 ในอัลบั้ม เมด อิน ไทยแลนด์ ภาค 2546 สังคายนา เนื้อร้องแบบเดียวกับครั้งแรก แต่เปลี่ยนเนื้อร้องบางส่วนในท่อนต้นเป็น "ยุคสมัยนี้เป็นไทยรักไทย เฮอะ เฮอะ มันอยู่ส่วนไหนของแผนที่ ไอ้จังหวัดที่ว่า ก็นั่นน่ะสิยังสงสัยอยู่เลย ฮ่า ฮ่า" ซึ่งเป็นการเสียดสีพรรคไทยรักไทยในขณะนั้น[4]
- ครั้งที่ 5 : เมด อิน ไทยแลนด์ '52 / พ.ศ. 2552 ในอัลบั้ม โฮะ มีเนื้อหาสรุปความเพื่อย้ำเตือนคนไทย เพิ่มสีสันดนตรีด้วยกลองยาว ฉิ่ง ฉับ
ปัจจุบัน เมด อิน ไทยแลนด์ เป็นเพลงยอดนิยมอีกหนึ่งเพลงของคาราบาว ที่แฟน ๆ ยังชื่นชอบ และถูกเปิดฟังตลอด แม้กระทั่งผู้ที่ไม่ใช่แฟนของคาราบาวหรือคอเพลงเพื่อชีวิต ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
บุคคลที่เกี่ยวข้อง
แก้ผู้ให้เสียงขลุ่ย
แก้- ครั้งที่ 1, 2 : ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี
- ครั้งที่ 3 : ศุภชัย แก่นสันเที๊ยะ
- ครั้งที่ 4, 5 : อ้วน คาราบาว
ผู้บันทึกเสียงเบส
แก้- ครั้งที่ 1 : ปรีชา ชนะภัย
- ครั้งที่ 2 - 5 : อ๊อด คาราบาว
ในวัฒนธรรมประชานิยม
แก้ในภาพยนตร์ตัวอย่างขนาดสั้นของ เดอะไวต์โลตัส ฤดูกาลที่ 3 ได้มีการนำเพลงนี้มาใช้ประกอบ[5]
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ "เมด อิน ไทยแลนด์ แดนไทย ทำเอง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-24. สืบค้นเมื่อ 2010-06-17.
- ↑ "ผลพวงจาก "เมด อิน ไทยแลนด์"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-23. สืบค้นเมื่อ 2010-06-19.
- ↑ "ประวัติคาราบาว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-28. สืบค้นเมื่อ 2010-06-17.
- ↑ นัย ของอัลบั้ม สังคายนา เมดอินไทยแลนด์
- ↑ "The White Lotus ซีซัน 3 เตรียมฉาย 16 ก.พ. 2025 โดย LISA จะโชว์ผลงานการแสดงครั้งแรก". THE STANDARD. 2024-12-17.