ธนะสิทธิ์ พันธุ์พงษ์ไทย
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
ธนะสิทธิ์ พันธุ์พงษ์ไทย หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ อ้วน คาราบาว เป็น มือกลอง ของวง คาราบาว และยังเป็นสมาชิกคนล่าสุดของวง เดิมมีชื่อว่า เทพผจญ พันธุ์พงษ์ไทย มีชื่อเล่นว่า อ้วน เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2516 ที่อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา จบการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
ธนะสิทธิ์ พันธุ์พงษ์ไทย | |
---|---|
ชื่อเกิด | เทพผจญ พันธุ์พงษ์ไทย |
รู้จักในชื่อ | อ้วน คาราบาว |
เกิด | 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2516 จังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทย |
ที่เกิด | กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
แนวเพลง | ร็อก, เพื่อชีวิต |
อาชีพ | นักดนตรี, ยูทูบเบอร์ |
เครื่องดนตรี | กลองชุด, เพอร์คัชชัน, กีตาร์, ขลุ่ย, แซกโซโฟน, คีย์บอร์ด |
ช่วงปี | พ.ศ. 2544 - ปัจจุบัน |
ค่ายเพลง | วอร์นเนอร์ มิวสิก ไทยแลนด์ |
อ้วนมีความผูกพันกับคาราบาวมาตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อน้าของอ้วนเปิดเพลงเพื่อชีวิต รวมทั้งเพลงของคาราบาวให้ได้ยินมาตั้งแต่เด็ก ๆ เฉพาะคาราบาวน้าเปิดเพลงในอัลบั้มชุดที่ 4 ของวงคาราบาว คือ ท.ทหารอดทน
เริ่มต้นการเล่นดนตรีจากการเป็นนักดนตรีในวงดุริยางค์ เมื่อเข้าเรียนชั้นประถมศึกษา ที่จังหวัดนครราชสีมาซึ่งเป็นบ้านเกิดของอ้วนเอง
อ้วนเล่นดนตรีในฐานะนักดนตรีอาชีพ ด้วยการเป็นแบ๊คอัพให้กับนักร้องในบริษัทแกรมมี่หลายคน เช่น เสาวลักษณ์ ลีละบุตร, สมประสงค์ สิงหวนวัฒน์, ศรัณย่า ส่งเสริมสวัสดิ์, ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว หรือ หนู มิเตอร์ ในชื่อวง Power
มีโอกาสเข้าร่วมงานกับคาราบาวครั้งแรก จากการชักชวนของลือชัย งามสม ในการบันทึกเสียงเพลงประกอบการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 เมื่อปี พ.ศ. 2541 ที่กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพ โดยอ้วนเป็นมือกลอง อีกทั้งยังได้เรียนรู้ทฤษฎีดนตรีเพิ่มเติมจากบรูซ แกสตัน แห่งวงฟองน้ำอีกด้วย
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2545 เมื่อชูชาติ หนูด้วง มือกลองของวงป่วยเป็นโรคปลายเส้นประสาทอักเสบ ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล ตรงกับช่วงเวลาที่คาราบาวกำลังจะทำอัลบั้มพิเศษชุด คาราบาว อินเตอร์ อ้วนจึงมาทำหน้าที่มือกลองแทน และได้รับการตอบรับเป็นสมาชิกจากยืนยง โอภากุล หัวหน้าวง เมื่อได้หยิบขลุ่ยขึ้นมาเป่าขณะเล่นคอนเสิร์ตที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสามารถ อ้วนจึงกลายมาเป็นสมาชิกของคาราบาวอย่างเต็มตัว และถือเป็นสมาชิกที่มีอายุน้อยที่สุด
ในคอนเสิร์ต 20 ปี คาราบาว เรื่องราวของคน ดนตรี และเขาควาย เมื่อต้นปี พ.ศ. 2546 นั้น อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี อดีตสมาชิกซึ่งปกติจะเป็นผู้เป่าขลุ่ยและแซกโซโฟนเกิดติดธุระสำคัญที่ประเทศญี่ปุ่น ไม่อาจมาร่วมแสดงได้ อ้วนจึงรับหน้าที่นี้แทน โดยมีเวลาฝึกแซกโซโฟนก่อนคอนเสิร์ตจะเริ่มเพียง 3 วันเท่านั้น
ปัจจุบัน อ้วน รับหน้าที่ทั้งเล่นกลอง, คีย์บอร์ด, ขลุ่ย, แซกโซโฟน ตลอดจนร้องประสานด้วย รวมทั้งร้องนำในเพลง สุรชัย 3 ช่า โดยเสมือนตัวแทนของ สุรชัย จันทิมาธร(หงา คาราวาน) โดยมีนักดนตรีในดวงใจ คือ อากิระ จิมโบ มือกลองแห่งวง Casiopea วงฟิวชั่นแจ๊สของประเทศญี่ปุ่น[1][2]
ผลงานร่วมกับคาราบาว
แก้- สาวเบียร์ช้าง (พ.ศ. 2544)
- นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ (พ.ศ. 2545)
- สามัคคีประเทศไทย (พ.ศ. 2548)
- ลูกลุงขี้เมา (พ.ศ. 2550)
- โฮะ (พ.ศ. 2552)
- กำลังใจคาราบาว 30 ปี (พ.ศ. 2554)
- สวัสดีประเทศไทย (พ.ศ. 2556)
- 40 ปี ฅนคาราบาว (พ.ศ. 2565)
ออนไลน์
- พ.ศ. 2564 : ล้อมวงเล่า EP.1 ทางช่อง YouTuber:Carabao Official
อ้างอิง
แก้- ↑ บทสัมภาษณ์จาก หนังสือ ตามรอยควาย : บทบันทึกการเดินทาง 25 ปี โดย ดร.วรัตต์ อินทสระ สำนักพิมพ์โมโนโพเอท พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ISBN 9740951186
- ↑ "ประวัติจากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของวง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-19. สืบค้นเมื่อ 2011-03-21.