เพื่อนร่วมห้อง, เพื่อนร่วมหอ, เพื่อนร่วมบ้าน หมายถึงบุคคลผู้ร่วมอาศัยอยู่ในห้องพักเดียวกันในอะพาร์ตเมนต์ หอพัก หรือบ้านเป็นต้น เหตุผลหลักของการมีเพื่อนร่วมห้องคือ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของการเช่าห้อง หากพิจารณาตลาดห้องเช่า ห้องในอะพาร์ตเมนต์ที่มีเตียงนอนสองหรือสามเตียงจะมีค่าเช่ารายเดือนตามสัดส่วนถูกกว่าอะพาร์ตเมนต์ที่มีเตียงนอนเดียว หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ ถึงแม้จะมีเตียงนอนสามเตียง ค่าเช่ามากกว่าเตียงนอนเดียว แต่ราคาก็จะไม่มากถึงสามเท่า และเมื่อเพื่อนร่วมห้องหารค่าเช่าด้วยกัน ค่าใช้จ่ายต่อคนก็จะน้อยกว่า แต่ก็แลกกับความเป็นส่วนตัวที่ลดลงไป นอกจากนี้ยังมีการจูงใจอย่างอื่นเช่น การเพิ่มความรื่นรมย์ได้มากกว่าการอยู่คนเดียว การช่วยแบ่งเบางานบ้าน และการมีสัมพันธไมตรีต่อผู้อื่น

ผู้ที่อาศัยอยู่กับเพื่อนร่วมห้อง แก้

เพื่อนร่วมห้องโดยทั่วไปมักเป็นผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาวที่เป็นโสด ซึ่งรวมไปถึงนักเรียนนักศึกษาและคนทำงาน ส่วนผู้ใหญ่วัยกลางคนหรือวัยสูงอายุที่โสด หย่าร้าง หรือม่าย ก็ใช่ว่าพบได้ยากที่จะมีเพื่อนร่วมห้อง อย่างไรก็ดี คู่สมรสที่ได้แต่งงานแล้วมักจะเลิกอาศัยอยู่กับเพื่อนร่วมห้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาต้องการมีลูก

ผู้คนจำนวนมากที่ย้ายไปอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่หรือต่างประเทศ อาจตัดสินใจหาเพื่อนมาร่วมอยู่อะพาร์ตเมนต์หรือบ้านด้วยเพื่อไม่ให้เกิดความเปล่าเปลี่ยว

การมีเพื่อนร่วมห้องเป็นจุดอ้างอิงที่สามัญพอสมควรในวัฒนธรรมตะวันตก ผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาวส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกาเคยใช้ชีวิตในช่วงเวลาสั้น ๆ ช่วงเวลาหนึ่งเป็นอย่างน้อยอาศัยอยู่กับเพื่อนร่วมห้อง หลังจากที่พวกเขาออกจากบ้านของครอบครัว เพราะฉะนั้นจึงทำให้นวนิยาย ภาพยนตร์ ละคร และรายการโทรทัศน์หลายเรื่องใช้เพื่อนร่วมห้องเป็นหลักการพื้นฐานหรือกลไกโครงเรื่อง (plot device) เช่นซีรีส์ยอดนิยมอย่างเฟรนด์ส การร่วมอาศัยในบ้านหรืออะพาร์ตเมนต์ก็พบได้ทั่วไปอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศยุโรปอย่างเช่นประเทศฝรั่งเศส (ฝรั่งเศส: colocation การเช่าร่วม) หรือประเทศเยอรมนี (เยอรมัน: WG: Wohngemeinschaft ชุมชนอาศัย[อยู่ด้วยกัน]) เว็บไซต์หลายเว็บไซต์เป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดหาเพื่อนร่วมห้อง ในทางตรงข้าม บุคคลไม่ว่าวัยใดที่อาศัยอยู่กับเพื่อนร่วมห้องก็พบได้น้อยในบางประเทศ ตัวอย่างเช่นประเทศญี่ปุ่น ที่ซึ่งอะพาร์ตเมนต์ห้องเดี่ยวสำหรับคนเดียวมีมากมาย