เน็ตไอดอล

บุคคลที่มีหรือได้รับชื่อเสียงจากอินเทอร์เน็ต

เน็ตไอดอล (อังกฤษ: net idol) เป็นคำใช้เรียกบุคคลที่มีหรือได้รับชื่อเสียงจากในอินเทอร์เน็ต เน็ตไอดอลอาจมีลักษณะเช่นเดียวกับไอดอลประเภทอื่น ๆ ที่โดดเด่นในเรื่องของรูปลักษณ์ภายนอก บุคลิกภาพ หรือความสามารถในการให้ความบันเทิง และมักมีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมสมัยนิยม[1] ในบางประเทศคำว่า net idol (ญี่ปุ่น: ネットアイドルโรมาจิNetto aidoru) จะหมายถึงมีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นสมัยนิยมโดยตรง[1]

โดยทั่วไป ตัวบุคคลที่เป็นเน็ตไอดอล ที่ได้รับการยอมรับจากสังคมโดยรวม มักเป็นเน็ตไอดอลที่ทำประโยชน์และช่วยเหลือสังคม หรือเป็นบุคคลต้นแบบหรือแรงบันดาลใจให้หลาย ๆ คนยึดถือเป็นแบบอย่างที่ดี ส่วนผู้ที่ไม่มีชื่อเสียงในอินเทอร์เน็ต หรือผู้ที่เป็นที่รู้จักจากในอินเทอร์เน็ตในด้านลบ เช่นมีพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจมากเกินควร, ความเกรียน, มีการกระทำหรือลักษณะล่อแหลม ส่อไปในทางเพศ หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือสังคมส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ เป็นต้น แม้อาจถูกเรียกว่าเน็ตไอดอลได้ในช่วงแรก ๆ หรือถูกเรียกโดยกลุ่มผู้สนับสนุน แต่ในที่สุดสังคมส่วนใหญ่ก็จะไม่ยอมรับว่าเป็นเน็ตไอดอล ในประเทศไทยมีบุคคลที่มีพฤติกรรมหรือการแสดงออกที่ไม่เหมาะสม ที่เรียกตนเองหรือถูกเรียกว่าเป็นเน็ตไอดอลอยู่จำนวนหนึ่ง จนทำให้คำว่าเน็ตไอดอลนั้นมีความหมายในแง่ลบไปในบริบทของสังคมไทย[2][3]

ปัจจุบันได้มีคำอื่นที่ความหมายใกล้เคียงกัน แต่มีความหมายในแง่บวกมากกว่า หรือมีภาพลักษณ์ที่ดูดีกว่า เช่น อินเทอร์เน็ตเซเลบริตี (Internet Celebrity) และ อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer)[4] แต่อินเทอร์เน็ตเซเลบริตีจะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากกว่า อาจเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงมาก (เซเลบริตี) อยู่ก่อนแล้ว และอินฟลูเอนเซอร์ มักเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งจนเป็นที่ยอมรับ และสามารถมีอิทธิพลต่อผู้รับชมได้สูงกว่าเน็ตไอดอล ทำให้สินค้าหรือแบรนด์ต่าง ๆ ในปัจจุบันมักเลือกใช้เซเลบริตีหรืออินฟลูเอนเซอร์ที่เกี่ยวข้องในการทำการตลาดหรือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ มากกว่าที่จะใช้เน็ตไอดอลโดยทั่วไปที่มีความน่าเชื่อถือต่ำกว่า สร้างการรับรู้ได้น้อยกว่า (เช่น มีจำนวนผู้ติดตามน้อยกว่า)[5]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 Lukacs, Gabriella (13 October 2015). "The Labor of Cute: Net Idols, Cute Culture, and the Digital Economy in Contemporary Japan". positions. Duke University Press. 23 (3): 487–513. doi:10.1215/10679847-3125863.
  2. "Idol แท้จริงแล้วคืออะไร แค่ชื่อเสียงเพียงพอไหม". สนุก.คอม. 22 สิงหาคม 2562.
  3. "ปรากฏการณ์"เน็ตไอดอล"ชื่นชอบพฤติกรรมสุดเหวี่ยง". ทีเอ็นเอ็น 16. 8 มิถุนายน 2560. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 มิถุนายน 2560.
  4. "ต้องมีผู้ติดตามแค่ไหน ถึงเรียกว่าเป็น 'อินฟลูเอนเซอร์'". Motive Influence. 21 กันยายน 2565.
  5. สโรจ เลาหศิริ (26 กันยายน 2559). "ความแตกต่างระหว่าง Influencer, Celebrity และ Net Idol และวิธีเลือกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ". Positioning.