จิกเมินเจอราลา (มลายู: Cik Menjelara) เป็นที่รู้จักในนาม หม่อมเนื่อง (สกุลเดิม นนทนาคร; พ.ศ. 2392–2482) หรือเดิมคือ คุณหญิงเนื่อง ฤทธิสงครามรามภักดี เป็นหนึ่งในหม่อมชาวไทยของสุลต่านอับดุล ฮามิด ฮาลิมแห่งเกอดะฮ์ (เดิมคือเจ้าพระยาฤทธิสงครามรามภักดี) เจ้าพระยาไทรบุรีคนสุดท้ายภายใต้การปกครองของสยาม[1][2][3][4] และเป็นพระชนนีของตนกู อับดุล ระห์มัน นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย ซึ่งได้รับสมญาว่า "บิดาแห่งมาเลเซีย"

คุณหญิง

เนื่อง ฤทธิสงครามรามภักดี
เนื่องในปัจฉิมวัย (เบื้องหน้าคือตนกูคอดียะฮ์)
เกิดเนื่อง นนทนาคร
ราว พ.ศ. 2392
ปากเกร็ด เมืองนนทบุรี อาณาจักรสยาม
เสียชีวิตพ.ศ. 2482 (90 ปี)
อาโลร์เซอตาร์ รัฐสุลต่านเกอดะฮ์ (ในอารักขาของบริติช)
คู่สมรสสุลต่านอับดุล ฮามิด ฮาลิมแห่งเกอดะฮ์
บุตร12 พระองค์
บุพการีหลวงนราบริรักษ์ (เกร็บ นนทนาคร)
อิ่ม นราบริรักษ์

ประวัติ แก้

พื้นฐานครอบครัว แก้

เนื่องเป็นบุตรีของหลวงนราบริรักษ์ (เกร็บ นนทนาคร) กับนางนราบริรักษ์ (อิ่ม นนทนาคร) ครอบครัวเป็นคหบดีเชื้อสายมอญย่านปากเกร็ด แขวงเมืองนนทบุรี[5] โดยต้นตระกูลอพยพจากเมืองพะโค ในประเทศพม่า[6] บิดาเป็นน้องชายของหลวงรามัญนนทเขตร์คดี (เจ๊ก นนทนาคร) นายอำเภอปากเกร็ดคนแรกและผู้รับพระราชทานนามสกุลนนทนาครจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวกันว่าหลวงรามัญนนทเขตร์คดี (ทับ) ซึ่งเป็นทวด เป็นบุตรชายคนหนึ่งของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) กับท่านผู้หญิงทรัพย์แต่ไม่ปรากฏหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรที่แน่ชัด[5]

ภริยาพระราชทาน แก้

หลวงนราบริรักษ์นำเนื่องไปถวายตัวรับใช้ในวังโดยอยู่ในการปกครองของหม่อมลี ครั้นมีอายุได้ 19 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้เนื่องไปเป็นภริยาของเจ้าพระยาฤทธิสงครามรามภักดี (อับดุลฮามิด) ซึ่งขณะนั้นยังเป็นเจ้าพระยาไทรบุรีประเทศราชของสยาม[5] โดยในเอกสารของมาเลเซียระบุว่า ตนกูอามีนาพี่สาวของเจ้าพระยาฤทธิสงครามรามภักดีชื่นชมในอัธยาศัยของเนื่อง ทั้งเคยเอ่ยปากขอเนื่องจากหลวงนราบริรักษ์ไปเป็นบุตรบุญธรรมที่เมืองไทรบุรี ก่อนเลื่อนฐานะเป็นชายาคนที่สี่ ถือเป็นหม่อมชาวไทยคนหนึ่งจากทั้งหมดห้าคนของสุลต่านแห่งเกอดะฮ์[5] และมีพระโอรส-ธิดาด้วยกันกับสุลต่านอับดุล ฮามิดด้วยกัน 12 พระองค์ ได้แก่

  1. ร้อยเอก ตนกู ยูซฟ (Tunku Yusof)
  2. ตนกู อามีนะฮ์ (Tunku Aminah)
  3. ตนกู ซาเบดะฮ์ มันจาลารา (Zabedah Manjalara)
  4. ตนกู อับดุล ระห์มัน (Tunku Abdul Rahman)
  5. ตนกู บาฮารุม (Tunku Baharum) หรือตนกูอม
  6. ตนกู ดากียะฮ์ มันจาลารา (Tunku Dakiah Manjalara) หรือตนกูกลัด
  1. ตนกู ฮับซะฮ์ (Tunku Habsah)
  2. ตนกู จาฟาร์ ชาห์ (Tunku Jaafar Shah)
  3. ตนกู จาฮารา (Tunku Jahara)
  4. ตนกู กัลซม (Tunku Kalsom) หรือตนกูจม
  5. ตนกู มูฮัมมัด เจวา (Tunku Muhammad Jewa) หรือตนกูยิหวา
  6. ตนกู มูฮัมมัด ซาอัด (Tunku Mohamad Saad)

กล่าวกันว่าคุณหญิงเนื่องเป็นชายาที่เก่งกาจทางธุรกิจ และฉลาดหลักแหลมที่สุดของสุลต่าน[7] เป็นภรรยาคนโปรดแม้ว่าเธอจะมิได้เข้ารีตอิสลามตามพระสวามีก็ตาม โดยคุณหญิงเนื่องได้ขอพระราชานุญาตสร้างวัดสโมสรราชานุประดิษฐ์ (วัดบาการ์บาตาหรือวัดบ้านใต้)[8] ในเมืองอาโลร์เซอตาร์ เมืองหลวงของรัฐเกอดะฮ์เมื่อปี พ.ศ. 2453[5]

ถึงแก่กรรม แก้

คุณหญิงเนื่องเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2482 ขณะมีอายุได้ 90 ปี และศพถูกฝังในเจดีย์ในพระราชวังตีกาตังกา (Istana Tiga Tangga) ในรัฐเกอดะฮ์ ประเทศมาเลเซีย

อ้างอิง แก้

  1. วลัยลักษณ์ ทรงศิริ (26 เมษายน 2559). "ชุมชนมุสลิมมหานาค (๑)". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-05. สืบค้นเมื่อ 2 มกราคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. "ตนกู อับดุล ราห์มัน". คมชัดลึก. 28 กันยายน 2554. สืบค้นเมื่อ 2 มกราคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. ปกรณ์ พึ่งเนตร (4 กันยายน 2556). ""ทูตกฤต"เปิดสัมพันธ์ลึกไทย-มาเลย์ จากยุคหัวเมืองไทรบุรีสู่สหพันธรัฐ". อิศรา. สืบค้นเมื่อ 2 มกราคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. นูรุลฮูดา ฮามะ (กรกฎาคม 2559). "ตนกูอับดุล เราะห์มาน". สารานุกรมอาเซียน : ศูนย์ศึกษา ภาษา วัฒนธรรม และสังคมอาเซียน สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์. สืบค้นเมื่อ 2 มกราคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 องค์ บรรจุน (2 ธันวาคม 2560). "เชื้อสายขุนนางมอญในราชวงศ์สุลต่านแห่งมาเลเซีย". ศิลปวัฒนธรรม. (39:2), หน้า 24-31
  6. "Elite Malays and Mixed Marriage". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-14. สืบค้นเมื่อ 2009-03-09.
  7. องค์ บรรจุน (19 มีนาคม 2553). "ตนกูอับดุล เราะฮ์มาน (Tunku Abdul Rahman)". ลักษ์ไท รักษ์มอญ. สืบค้นเมื่อ 2 มกราคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. "รายชื่อวัด". องค์การคณะสงฆ์สยามในมาเลเซีย. สืบค้นเมื่อ 2 มกราคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น แก้